- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- สังคมไทยเรียนรู้อะไรจาก 'เสือดำ-เปรมชัย' หรือเราจะหยุดคุยกันแค่นี้ แล้วลืมไป
สังคมไทยเรียนรู้อะไรจาก 'เสือดำ-เปรมชัย' หรือเราจะหยุดคุยกันแค่นี้ แล้วลืมไป
“ถ้าวันนี้เราเสียใจเพราะเสือดำหนึ่งตัว ประเด็นเล็กไป สิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เรื่องทุ่งใหญ่นเรศวร ต้องให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกที่ ถ้าเราไม่พอใจกับการตายของเสือดำ เราทุกคนต้องกลับไปดูแลบ้านใครบ้านมัน กลับไปรักสิ่งแวดล้อมบ้านเรา ให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ไม่ใช่ไปสงสารเพราะเขากินมาม่า ปลากระป๋อง กรณีเสือดำและนายเปรมชัย เป็นประเด็นเล็กๆ แต่เราอย่าทำให้เล็กแค่นี้ ต้องไปให้ไกล” หม่อมเชน -ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่า
จากเหตุการณ์ที่นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กับพวก 4 คน ถูกเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกเข้าจับกุมขณะตั้งแคมป์ในพื้นที่หวงห้ามของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และตรวจพบซากเสือดำ ซากไก่ฟ้าหลังเทา ซากเก้ง อาวุธปืน และเครื่องกระสุนจำนวนมาก
กรณีนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในเรื่องที่สังคมไทยให้ความสนใจ มีการออกมาพูดถึงจำนวนมาก ขณะที่คดีความของนายเปรมชัยปัจจุบัน พนักงานสอบสวนได้ประสานผ่านทางทนายความส่วนตัวและนายประกัน ของนายเปรมชัย เพื่อเรียก นายเปรมชัย พร้อมพวก มาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม พร้อมกับรับทราบข้อกล่าวหา ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในข้อหา ทารุณกรรมสัตว์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557
และก่อนหน้านี้ได้ออกหมายเรียกครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 15 ก.พ. แต่ทนายความส่วนตัวนายเปรมชัยได้แจ้งว่า มีเหตุขัดข้องไม่สามารถเดินทางมาพบพนักกงานสอบสวนได้ ทางพนักงานสอบสวนจึงได้ออกหมายเรียกอีกครั้งให้มาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 22 ก.พ. ในเวลา 09.00 น. ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี
กรณีเสือดำ และการกระทำของนายเปรมชัยและพวกจะพาสังคมไทยไปยังจุดใด โดยเฉพาะแง่การกระตุกสังคมในเรื่องงานอนุรักษ์และการทำงานของเจ้าหน้าที่ตัวเล็กๆ ผู้พิทักษ์ป่า
ในงานสืบตำนานบริบาลผู้พิทักษ์ป่า จัดโดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เมื่อวันที่18 ก.พ.61 ที่ผ่านมา
"สมโภชน์มณีรัตน์" หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริหาร โฆษกประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช พยายามตั้งคำถามกับกระแสสังคมไทยต่อเรื่องนี้ว่า วันนี้ที่ข่าวของเปรมชัยกลายเป็นข่าวใหญ่หน้าสื่อนั้น เป็นเพราะ เสือดำถูกยิง หรือเพราะคนใหญ่คนโตโดนจับ บทเรียนของเหตุการณ์นี้ จึงชวนคนไทยช่วยทบทวนว่า ทำไมเราให้ความสนใจ เพราะอะไร แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดบนความอ่อนแอหรือความไม่พร้อมของคน เช่นการที่นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก โดนตำรวจตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่มีส่วนรู้เห็นหรือเปล่า ทำไมไม่เก็บค่าเข้าพื้นที่
“ต้องชื่มชนเจ้าหน้าที่ พวกเขาเก่งที่จับได้ และการที่เขาไม่ได้ตรวจแบบเพื่อความมั่นคง เราไม่ได้ชำแหละรถ เพราะเจ้าหน้าที่อุทยาน เราทำงานบริการ ดังนั้นการจะบอกว่ าต้องตรวจการเข้า-ออกละเอียด ต้องเอามาพิจารณา หลายเรื่อง ขณะนี้กรมอุทยานกำลังขยายผล หลายเรื่องที่เป็นประเด็นในสังคมเราทำมาก่อนแล้ว และจะขยายผลทั้งประเทศให้เข้มแข็ง” สมโภชน์ กล่าว
ขณะเดียวกันหนึ่งในเรื่องที่สังคมกลับมาพูดถึงคือเรื่องสวัสดิการ สมโภชน์ มองว่า สภาพเจ้าหน้าที่ที่ทำงานหนัก หลายปีมานี้เรื่องสวัสดิการดีขึ้นเยอะ กระแสสังคมดีขึ้น มีหลายส่วนดีขึ้น มีความพยายามในการร่างกฎหมายหลายเรื่องที่กำลังกลับมาเป็นประเด็นในวันนี้
“จึงอยากบอกว่า เราทำมานานแล้ว สังคมอาจไม่รับรู้ นี่คือบทเรียนว่า ต่อไปต้องให้สังคมรับรู้มากขึ้น การทำงานอนุรักษณ์นั้นอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่า การที่เสือดำถูกล่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิด เพราะใกล้สูญพันธ์ หลายๆ ป่า ความสมบูรณ์ล่มไปแล้ว ไม่มีห่วงโซ่อาหาร เมื่อมีแค่สัตว์ประเภทเดียว และปริมาณเพิ่มมากขึ้น ก็ออกมาในชุมชน มีปัญหากับคน เพราะสัตว์ในห่วงโซ่ถูกล่าหายไป สมมติหมาในล่าไล่กวาง คนเมืองที่เข้าไปเห็นภาพนี้รับไม่ได้ แต่ต้องไม่ลืมว่า นี่เป็นกระบวนการระบบนิเวศ การบอกให้เจ้าหน้าที่ดูแลกวางหนึ่งตัวที่กำลังโดนล่า แต่กำลังทำให้ลูกหมาในตาย 6 ตัว แบบนี้ก็ไม่ถูกต้อง”
การที่เสือหายไป ยังไม่เห็นผลทันที แต่ต่อไปจะมีปัญหา เมื่อสัตว์ในพีระมิดของห่วงโซ่ สัตว์นักล่าหายไป สัตว์กลุ่มที่อยู่ในชั้นรองลงมาจะเริ่มมีปัญหากับชุมชนนอกป่า อย่างที่เป็นข่าว
สมโภชน์ บอกว่า เวลาพูดเรื่องการอนุรักษ์ ไม่ได้หมายถึงต้องตัวใดตัวหนึ่ง แต่คือการดูแลความสมดุลของป่าทั้งป่า ทำอย่างไรที่ความสมดุลจะเกิดขึ้น เป็นเรื่องประเด็นที่จะต้องทำ เวลาเห็นสัตว์ผู้ล่าล่าเหยื่อ ถ้าเป็นไปกลไกตามธรรมชาติปล่อยไป อย่างเอามือไปแหย่ เพราะทุกครั้งที่มนุษย์ไปยุ่งมักฉิบหาย
เขายังเล่าอีกว่า เดิมที่การลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ เป็นเพียงเครื่องมือที่ทำไป แทนที่จะให้คนอยู่ไปวันๆ ก็ออกเดินหวังอยากได้ผู้ต้องหา แต่ตอนนี้การลาดตระเวนไม่ใช่แบบอดีตแล้ว เราให้ความสำคัญในการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ต่างๆ ซึ่งทุกวันนี้เราวิเคราะห์ข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ การทำงานแบบนี้มีมา10 กว่าปีเเล้ว แม้ว่าจะไม่สามารถทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็อยู่ในช่วงกำลังพัฒนาให้ดีขึ้น อย่างน้อยที่สุดการลาดตระเวนวันนี้ ควรจะมีกี่คน หนึ่งชุดควรทำอย่างไร เป็นบทเรียนที่จะกลับมาดูว่า ถ้าเราไม่อยากให้มีเสือดำตายตัวที่ 4 ตัวที่ 5 และเพื่อป้องกันไม่ให้มีการสูญเสียอีกจะทำอย่างไร เพราะที่ผ่านมาต้องชื่นชมเจ้าหน้าพวกนี้ ที่ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่โดยมีความเป็นมืออาชีพ
“ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ แต่พวกเขารักที่จะทำ เราคนเมืองก็ไปคิดแทนว่า อยู่ในป่าต้องลำบาก ความจริงยิ่งลำบาก พวกเขาชอบ คนเรารักต่างกัน เมื่อเราเอาตัวเองไปเทียบแน่นอนสภาพที่พวกเขาเป็นย่อมลำบากกว่า แต่การจะออกมาระดมทุนช่วยเหลืออะไรก็ตาม อย่าคิดว่าพวกเขาเป็นขอทาน ถ้าจะช่วยให้ช่วยเพราะเขามีคุณค่า ดูแลแผ่นดินแทนเรา มีศักดิ์ศรี”
สมโภชน์ ระบุด้วยว่า ถ้าเรามองเรื่องข้อมูล เปอร์เซ็นต์ป่าเริ่มนิ่งขึ้น เป้าหมายของรัฐบาลบอกว่าต้องมีพื้นที่ป่า 40% วันนี้มีเรา 32% แล้ว ป่าบ้านเราอยู่ในระดับที่ไม่ได้เป็นลบ แต่ถ้าพูดคำว่า ป่าไม้คงไม่ใช่แค่เรื่องต้นไม้ แต่คือความหลากหลาย มีความสมบูรณ์ มีสัตว์ป่า วันนี้เราบอกว่าแค่เข้าไปเห็นไก่ป่าก็เป็นบุญแล้ว ฟังแล้วน่าหดหู่ โจทย์จึงไม่ใช่แค่มีพื้นที่ป่าแต่ทำอย่างไรให้ระบบนิเวศดีขึ้นมาด้วย
“ทรัพยากรไม่อาจดูแลโดยรัฐฝ่ายเดียว ต้องมีภาคี ไม่ได้หมายความว่า วันนี้ป่าเราอยู่ในระดับดีแล้วหยุดทำงานอนุรักษ์ ไม่ต้องเน้นงานป้องกัน แบบนี้ไม่ใช่ สมมติง่ายๆ วันนี้เราไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ให้เอาเม็ดเลือดขาวออกได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะงานของเม็ดเลือกขาวคืองานป้องกัน ป่าก็เช่นกันต้องดูแล หยุดป้องกันไม่ได้ เผลอไม่ได้” สมโภชน์ ให้มุมมอง และว่า ประเด็นหลักของภัยคุกคาม ไม่ว่าจะป่าหรือสัตว์ คือความต้องการเชิงสังคม หลายที่บอกว่า ความยากจนต้องรุกป่า ล่าสัตว์ แต่ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ การต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรม ความเชื่อ” อันนี้น่ากลัวกว่า
“วัฒนธรรม ความเชื่อ” เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากราชการทำได้ เป็นเรื่องนอกป่า เช่น
- ความเชื่อว่าการมีหัวกระทิงในบ้านถือว่ามีความยิ่งใหญ่
- บางคนเก้าอี้ทำงานต้องรองด้วยหนังสัตว์ชนิด เพื่อเสริมบารมี ต้องมีหน้าผากเสือ มีเขี้ยวหมูตัน
นี่คือค่านิยมที่ราชการสู้ไม่ได้ สังคมต้องช่วยกันแก้ ต้องช่วยประณามคนที่ทำแบบนี้
“วัฒนธรรมควรเป็นสิ่งดีงาม ถ้าอย่างนั้น มนุษย์คงอยู่แต่กับการฆ่าฟัน และก็คงถูกมองเป็นเรื่อธรรมดา ถ้าไม่พูดถึงวัฒนธรรมอันดี ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปแล้ว เรากำลังอยู่ในสังคงอีกแบบ ความเชื่อล้าหลังแบบนั้นต้องหมดได้แล้ว เพียงแต่วันนี้ความเลวร้ายยังไม่ได้หมดไปจากสังคมนี้ รอวันที่จะโผล่ขึ้นมา การล่าเสือ ยังมีอยู่แต่เปลี่ยนรูปแบบ ”
หลายคนอาจอ้างว่า ที่เมืองนอกสามารถล่าได้ โฆษกประจำกรมอุทยานฯ เห็นแย้ง พร้อมกับอธิบายว่า การล่าพวกนั้น เกิดขึ้นภายใต้ตามกฎหมาย มีกฎกติกาบังคบ มีข้อมูลชัดเจนว่าต้องล่าออกในเขตพื้นที่ไหน ล่าอะไรได้บ้าง บ้านเราก็ทำได้ ถ้าเรามีสัตว์มากพอที่จะทำแบบนั้น แต่วันนี้สัตว์ป่าบ้านเราอยู่ต่ำกว่าจุดวิกฤตด้วยซ้ำ
ด้าน "หม่อมเชน" ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพและนักเขียนผู้อุทิศชีวิตให้กับการเก็บเกี่ยวบันทึกเรื่องราวชีวิตสัตว์ป่ามาอย่างยาวนาน มองว่า การจับเปรมชัยเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับนักล่าคนอื่น เพียงแต่ว่ าเปรมชัยเป็นที่รู้จัก เป็นคนดังของสังคมเท่านั้นเอง
เขามองย้อนดูค่านิยมของคนในการล่าสัตว์ว่า ทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก แต่ไม่มากพอ เรายังเห็นในเฟซบุ๊คที่มีคนอยากได้สัตว์ป่ามาเลี้ยงเป็นเจ้าของอยู่เลย และถ้าวันหนึ่งเจ้าสัวตื่นขึ้นมาแล้วบอกว่า อยากมีได้ยาโด๊ปจากอวัยวะเพศเสือ เสือในป่าก็จะเดือดร้อนทันที
หม่อมเชน อธิบายว่า ในงานวิจัยเสือโคร่ง ทำใมต้องมีเสือ และทำอย่างไรให้เสืออยู่ได้ สิ่งแรกต้องมีเหยื่อให้ล่า การรักษาเหยื่อไว้ ก็คือการรักษาเสือ เราต้องไม่ลืมวิทยาศาสตร์เรื่องการควบคุมจำนวนสัตว์ในระบบนิเวศ สัตว์กินพืชช่วยควบคุมวัชพืช ตัวเงินตัวทองช่วยดูแลสิ่งสกปรกในน้ำ ดังนั้นเสือตายตัวหนึ่งจึงไม่ใช่เพียงแค่เสือ เราไม่ควรแยกว่าคนหรือสัตว์เป็นคนละอย่างกัน เพราะในระบบนิเวศ โลกไม่ได้เป็นที่อยู่ของคนอย่างเดียว เป็นของทุกชีวิต มีแต่คนเท่านั้นที่ละโมบไม่พอแล้วไปรุกล้ำชีวิตอื่นๆ
ในฐานะที่ทำงานอยู่ในป่าในการเก็บภาพชีวิตสัวตว์ป่า หม่อมเชน เล่าจากประสบการณ์ว่า วันนี้สัตว์ป่าเพิ่มจำนวนมากขึ้น เห็นได้ง่ายมากขึ้น ทุ่งใหญ่ฯ ห้วยขาแข้งเจอวัวแดงได้ง่ายที่สุดในโลก เจอกระทิง เสือช้าง สมเสร็จ แต่ก็ยังพบซากสัตว์ป่าที่ถูกฆ่า แต่จับไม่ได้ เพราะนักล่าพวกนี้ไม่ได้ "กระจอก" แบบเปรมชัย
"วันนี้ถ้าเปรมชัยออกจากอิตาเลี่ยนไทยเป็นคนปกติ ไม่ได้มีอะไรเลย กระจอกด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่นักล่าสัตว์มืออาชีพทำ พวกนี้จะไม่ยอมให้โดนจับ และการล่าทุกครั้งมีใบสั่ง ได้ค่าแรงสูงมาก เพราะต้องเสี่ยงการปะทะบาดเจ็บ ส่วนนายเปรมชัยทำได้เพียงนั่งป่วยๆ หน้าแคมป์ ซึ่งกระจอกมาก การเป็นเรื่องปกติที่จับได้ และก็ปกติที่จะประกันตัวและลอยนวล"
เวลาพูดถึงการล่า หม่อมเชน มองว่า ไม่ใช่การล่าเพื่อบริโภคในหมู่บ้าน แค่เป็นการล่าเพื่อการค้าที่มีโครงข่ายใหญ่มาก ในงานด้านการตรวจสอบ วันนี้การทำงานของคนในป่าพัฒนาไปมาก มีกรณีหนึ่ง เจ้าหน้าที่พบซองยาซองเดียว สามารถสืบไปจับคนในป่าได้ แต่ขณะเดียวกันกระบวนการล่าสัตว์ก็พัฒนา ดังนั้นเมื่อเปรมชัย คิดว่าจะข่มขู่เจ้าหน้าที่และตัดสินบนได้ปกติ จึงทำไม่ได้
ส่วนคนทำงาน หม่อมเชน บอกว่า ให้เราลืมเรื่องมาม่า และปลากระป๋องไปเลย
สิ่งที่ควรทำ คือวันนี้พวกเขาลาดตระเวนโดนยิงตาย ลูกเมียเขาอยู่ยังไง บริษัทประกันชีวิตควรลงมาทำงานร่วมกันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ดีกว่าที่จะไปโฆษณาไร้สาระ บริษัทประกันชีวิตลองลงมาทำให้เป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ วันนี้พวกเขาขาดแคลนในเรื่องทุนเสี่ยงภัย สิ่งที่พวกเขาทำเท่มากๆ สิ่งที่ควรเรียกร้องผลักดัน เป็นเรื่องความั่นคง ทำให้พวกเขาเท่แบบในหนัง
“ถ้าวันนี้เราเสียใจเพราะเสือดำหนึ่งตัว ประเด็นเล็กไป สิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เรื่องทุ่งใหญ่นเรศวร ต้องให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกที่ ถ้าเราไม่พอใจกับการตายของเสือดำ เราทุกคนต้องกลับไปดูแลบ้านใครบ้านมัน กลับไปรักสิ่งแวดล้อมบ้านเรา ให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ไม่ใช่ไปสงสารเพราะเขากินมาม่า ปลากระป๋อง กรณีเสือดำและนายเปรมชัย เป็นประเด็นเล็กๆ แต่เราอย่าทำให้เล็กแค่นี้ ต้องไปให้ไกล” หม่อมเชน กล่าวทิ้งท้าย