ข้อกังวลต่อโครงการสร้างไฮเวย์ของอิตาเลี่ยนไทย ตัดผ่านผืนป่าอนุรักษ์ในเมียนมา
โครงการสร้างไฮเวย์ของอิตาเลี่ยนไทย เชื่อมทวายกับไทย จะตัดผ่านผืนป่าอนุรักษ์ในเมียนมากำลังถูกจับตาว่า หากสร้างจริง จะมีสัตว์ป่าอีกกี่ตัวที่ต้องตาย ขณะที่คนในพื้นที่ไม่มั่นใจว่า นายเปรมชัยหัวเรือใหญ่จะมีธรรมาภิบาลพอในการทำตามกฎหมาย
(ถนนที่ทางบริษัทอิตาเลียนไทยฯได้สร้างไว้เพื่อรองรับโครงการทวาย เป็นเส้นทางที่ต้องตัดทาง ตัดเขา เพื่อเดินทางจากชายแดนไทยไปสู่เมืองทวาย/ ภาพจาก https://pantip.com/topic/34543295 ถ่ายเมื่อปี2558)
จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จับกุมนายเปรมชัย กรรณสูต กับพวกรวม 3 คน ในพื้นที่ที่ไม่อนุญาตให้ตั้งแคมป์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และตรวจยึดซากสัตว์ป่าคุ้มครองพร้อมอาวุธปืนและเครื่องกระสุน และปลอกกระสุนปืนนั้น ไม่เพียงเป็นที่สนใจของคนไทยเท่านั้น หากแต่สื่อต่างชาติยังให้ความสนใจ ในฐานะผู้บริหารบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ของไทย ซึ่งได้รับสัมปทานในการก่อสร้างในเขตพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจทวาย ประเทศเมียนมา
จะเห็นว่า ช่วงที่ผ่านมาองค์การภาคประชาสัมคม หน่วยงานด้านอนุรักษ์ได้เคยออกมาโจมตี วิพากษ์การพัฒนาในพื้นที่ว่ากำลังพาทวายสู่ความหายนะทางทรัพยากรธรรมชาติ
โดยหนึ่งในโครงการที่ถูกจับตามากนั่นคือ การสร้างถนนตัดผ่านป่าอนุรักษ์เก่าแก่ของเมียนมา รับผิดชอบงานก่อสร้างโดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) แน่นอนว่า หากโครงการนี้เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูลแมว อย่างเสือดาวและเสือโคร่ง ซึ่งใช้ผืนป่ารอยต่อของสองประเทศในการอาศัย ที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษ์ ประชาชนชาวเมียนมา และกลุ่มติดอาวุธกะเหรี่ยง KNU ต่างออกมาแสดงความกังวลในโครงการพัฒนาถนนดังกล่าว
“ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศของนายเปรมชัยนั้น ช่วยสร้างให้เกิดข้อชวนสงสัยต่อธรรมาภิบาลการทำงานของบริษัทอิตาลเลียนไทยได้เป็นอย่างดี” Petch Manopawitr รองผู้อำนวยการ สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ประจำภูมิภาคอินโด-พม่า (Indo-Burma for the International Union for the Conservation of Nature -IUCN) กล่าวถึงกรณีของเปรมชัย
โครงการพัฒนาเส้นทางถนนที่จะตัดผ่านผืนป่าอนุรักษ์เก่าแก่นั้น มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางจากฝั่งประเทศไทยไปยังเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทวาย
“เราค่อนข้างเป็นห่วงต่อพฤติการณ์ของนายเปรมชัย ขนาดกฎหมายในประเทศของเขา เขายังรักษาไม่ได้ นับประสาอะไรกับกฎหมายในประเทศเมียนมา” Thant Zin ผู้อำนวยการ สมาคมพัฒนาทวายกล่าวกับสำนักข่าว ABC ของออสเตรเลีย พร้อมทั้งยังเปิดเผยอีกว่า ถนนที่จะสร้างโดยบริษัทของนายเปรมชัยนั้นได้สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เราต้องขึ้นบัญชีดำกับบริษัทนี้เสียที
เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เป็นโครงการของรัฐบาลเมียนมาที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ฝั่งตะวันตกให้กลายเป็นเมืองท่าสำคัญ โครงการสร้างถนนที่ว่านั้นมีความยาว 150 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับประเทศไทย โดยจุดประสงค์เพื่อการขนส่งสินค้าที่สะดวก รวดเร็วมากขึ้น โดยไม่ต้องไปอ้อมที่แหลมมลายูอย่างเคยเป็นมา
แต่โครงการถนนสองเลนนี้จะต้องตัดผ่านผืนป่า Taninthariya ของเมียนมา ซึ่งเป็นผืนป่าสำคัญที่มีบริเวณเชื่อมสองประเทศ ทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ตระกูลแมวใหญ่อย่าง เสือดาว เสือลายเมฆ และเสือดำ
นอกจากนั้นยังมีสัตว์ขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น ช้างเอเชีย แมวสีทอง แมวป่าหินอ่อนและหมี
“ นี่คือผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ใช่เพียงแค่สัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังเป็นผืนป่ารอยต่อสองประเทศที่สำคัญซึ่งเกี่ยวพันกับการเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่า ซึ่งช่วยให้การเคลื่อนที่ในการหาอาหาร หาคู่ การขยายพันธุ์ ซึ่งช่วยให้เพิ่มจำนวนของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์กลุ่มนี้” Hanna Helsingen จาก กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund's -WWF) กล่าวกับ สำนักข่าว ABC
(แผนที่แสดงผืนป่ารอยต่อของสองประเทศ)
ผืนป่าตะวันตกของไทยเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่พบจำนวนของเสือโคร่งมากที่สุดในภูมิภาค นอกเหนือจากอินเดียและเนปาล
นอกจากนี้ในพื้นที่ป่าทางใต้อย่างอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งมีรอยต่อเชื่อมกับป่าอนุรักษ์สองแห่งใหญ่ๆ ของเมียนมา ก็ยังเป็นพื้นที่ที่พบประชากรเสือได้มากที่สุดแห่งหนึ่ง
โครงการถนนไฮเวย์ที่วางแผนไว้จากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายถึงชายแดนไทยที่จะตัดผ่านผืนป่านี้หากเกิดขึ้นจริง ย่อมสร้างอุปสรรคต่อการเคลื่อนที่ของเสืออย่างแน่นอน
รัฐบาลเมียนมามีความพยายามผลักดันในประเด็นเรื่องการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ก่อนจะไฟเขียวให้โครงการเดินหน้า
“ความกังวลเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพหรือการขาดการบรรเทาผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ คือสาเหตุหลักที่ทำให้รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้รับการอนุมัติ” Helsingen เผย
นอกจากนี้โครงการถนนดังกล่าวยังตัดผ่านมาชุมชนซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มติดอาวุธชาวกะเหรี่ยง KNU ซึ่งปัจจุบัน KNU กำลังเรียกร้องในการปรึกษาหารือกับรัฐบาลพม่าในเรื่องนี้ โดยมีข้อกังวลว่าหากมีการไฟเขียวโครงการมีความเสี่ยงที่ทางกลุ่มอาจจะฝ่าฝืนข้อตกลงหยุดยิงในปี 2015
ไอเดียสร้างอุโมค์ลอดผืนป่า สร้างสะพานให้สัตว์ป่าได้ข้ามไปมา เป็นไอเดียที่ถูกเสนอเพื่อเปิดทางให้การก่อสร้างเกิดขึ้น
เรื่องนี้นักอนุรักษ์ส่วนใหญ่ประกาศชัดเจนว่าไม่สามารถรับแนวความคิดนี้ได้ หากจะมีการสร้างจริง
ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ได้จัดตั้งทีมเฉพาะกิจร่วมกับสถาปนิกที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง ในการพัฒนาการข้อมูลเพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างถนน โดยเสนอให้สร้างทางข้ามจำนวน 12 จุดที่คาดว่าจะเป็นจุดที่สัตว์ป่าใช้ในการข้ามไปมาระหว่างป่าสองผืนนี้
“เราได้เสนอการปรับเปลี่ยนทางลอดเพื่อให้สัตว์จำพวกแมวป่าในการข้ามถนน นอกจากนี้ยังได้เสนอให้ยกระดับถนนส่วนหนึ่งขึ้นเพื่อให้ช้างได้ใช้พื้นที่ด้านล่างในการข้าม” Helsingen เปิดเผย นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกว่า “ เราได้แนะนำไปว่า อุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของแสงและเสียงที่มีความสำคัญต่อนก รวมถึงสะพานลอยข้ามในพื้นที่ที่เรารู้ว่ามีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ชะนี ซึ่งไม่สามารถข้ามถนนได้โดยการอยู่บนพื้นดิน พวกเขาจะต้องบนต้นไม้ในการปีนป่ายเพื่อเคลื่อนที่"
แน่นอนว่าความคิดที่จะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่ว่านี้ย่อมใช้เงินมหาศาลในการออกแบบ
อย่างไรก็ตาม WWF ได้ยกตัวอย่างการก่อสร้างถนนลาดยางบนทางหลวงที่ 304 ของไทย เพื่อใช้เป็นเครืองยืนยันว่า โครงสร้างพื้นฐานที่ว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับสัตว์ได้
(ภาพจำลองอุโมงค์ยักษ์ทางหลวง304)
โครงการ การก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 304 ตอนกบินทร์บุรี-ปักธงชัย เส้นทางเชื่อมภาคตะวันออก จ.ปราจีนบุรี กับภาคอีสาน จ.นครราชสีมา เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 19 กิโลเมตร งบประมาณรวม 2,908 ล้านบาท โดยมีการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ เพื่อเชื่อมป่าในส่วนของพื้นที่รอยต่อระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อปี 2548 โดยมีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง งบประมาณ 1,319 ล้านบาท ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 72%
ทั้งนี้ โครงการทวายเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2008 แต่เริ่มล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากทางอิตาเลียน ซึ่งได้สัมปทานในการพัฒนาพื้นที่อ้างว่ามีปัญหาทางการเงิน
ปัจจุบัน สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร) กำลังพิจารณาเงินกู้ยืนระยะยาวมูลค่า 180 ล้านเหรียญสหรัฐฯให้กับเมียนมา นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ลงทุนเม็ดเงินจำนวนหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่ทวายและการสำรวจถนนในอดีตที่ผ่านมา
ในวันที่นายเปรมชัย บอสใหญ่กำลังถูกจับตาว่าจะถูกลงโทษในข้อใดจากกรณีถูกจับกุมกรณีเสือดำ จนวันนี้ผ่านมาครบระยะ 1 เดือนแล้วแต่การสอบสวนเพื่อการดำเนินคดีกลับดำเนินไปอย่างล่าช้าในสายตาของสาธารณชน ขณะที่ผลกระทบที่บริษัทก่อสร้างขนาดยักษ์ของไทยรายนี้ ก็กำลังถูกจับตาจากนานาชาติเช่นกัน
มูลนิธิสืบฯ ย้ำให้สังคมจับตาคดีเสือดำ ชี้เจตนาชัด จี้ตร.เร่งสรุปสำนวนส่งฟ้อง
สังคมไทยเรียนรู้อะไรจาก 'เสือดำ-เปรมชัย' หรือเราจะหยุดคุยกันแค่นี้ แล้วลืมไป
วัลลภ ชี้เป็นหน้าที่ รมต.กวดขัน ออกประกาศ ตามมาตรา 3 พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ฯ
กรมอุทยานฯ เรียกประชุม คกก.ติดตามคดี ‘เปรมชัย’ พร้อมตรวจสำนวน 28 ก.พ. 61
เปิดตำนาน คดีดัง “เก็บเห็ด เสือดำ” มูลเหตุหนุนเพิ่มโทษล่าสัตว์ ไม่ต่ำกว่า 4 ปี
จุฬาฯ เสวนา วิเคราะห์ปม ‘สัตว์โลกถูกคุกคาม’ จากเสือดำ สู่ วาระรอการแก้ไข
โฆษกกรมอุทยานฯยกเคสเปรมชัย บทเรียนจัดพื้นที่ป่าเพื่อการท่องเที่ยวใหม่
เจาะคลังแสง'เปรมชัย'เผยโฉมไรเฟิล.30-06 ยิงช้างล้มทั้งตัว-พรานล่าสัตว์นิยมใช้ทั่วโลก
ป่าลั่น!พลิกธุรกิจ‘เปรมชัย’ซีอีโอ แสนล.-กก.106 บริษัท-คู่ค้าใหญ่ภาครัฐ ก.ทรัพยฯด้วย
ที่มาข่าวจาก
https://m.mgronline.com/onlinesection/detail/9600000125332