กรีนพีซจี้นายกแก้วิกฤตมลพิษ PM2.5 หลังคุณภาพอากาศเมืองแย่ลงต่อเนื่อง
กรีนพีซ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ชี้วิกฤต PM2.5 เป็นวาระเร่งด่วน ต้องลงมือทำทันที เสนอยุทธศาสตร์ 20 ปี ตั้งเป้าลดการสัมผัสฝุ่นพิษน้อยสุดร้อยละ30
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2561 บริเวณด้านหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล องค์กรกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย) ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและมอบนาฬิกาทรายที่บรรจุ บรรจุฝุ่นที่เก็บรวบรวมจากพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษจากในกรุงเทพฯ และจากหลายจังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าคนกรุงเทพฯ ไม่สมควรที่จะสูดอากาศที่มีฝุ่นพิษอีกต่อไป มลพิษทางอากาศเป็นอันตรายต่อชีวิตของคน ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมถึงต่อเมืองที่มีบทบาทสำคัญอย่างกรุงเทพมหานคร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติโดยตำแหน่ง จะต้องสั่งการให้กรมควบคุมมลพิษ ยกระดับดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 และระบบการรายงานคุณภาพอากาศที่ทันสมัยโดยทันที และเสนอแผนปฏิบัติการที่หนักแน่นและจริงจังเพื่อจัดการกับวิกฤตมลพิษ PM 2.5 ไม่ใช่การยื้อเวลาออกไป เพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน
ทั้งนี้ที่ผ่านมา กรีนพีซได้ทำการจัดลําดับเมืองที่มีเผชิญกับมลพิษ PM2.5 ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยมีข้อค้นพบที่สำคัญคือ คุณภาพอากาศในพื้นที่เมืองยังอยู่ในระดับแย่และมีแนวโน้มแย่ลงอย่างต่อเนื่อง พื้นที่เมืองส่วนใหญ่รวมถึงกรุงเทพมหานครมีความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยรายปีเกินเกณฑ์มาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของประเทศไทยและทุกเมืองมีความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยรายปีเกินระดับที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก เมื่อพิจารณาถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ความเข้มข้นของ PM2.5 ในพื้นที่เมืองของประเทศไทยยังคงเป็นตัวชี้วัดที่อยู่ในระดับแย่และยังไม่มีเป้าหมายรับมือ
ขณะที่ในช่วงวันที่ 1 มกราคมถึง 21 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายที่สุด ในจำนวนรวม 52 วัน บางพื้นที่มีความเข้มข้นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกถึง 40 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในจดหมายเปิดผนึกที่ส่งถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องนโยบายจัดการคุณภาพอากาศ PM2.5 ของประเทศไทย กรีนพีซย้ำว่า การที่จะไปให้ถึงวิสัยทัศน์ “อากาศสะอาดเพื่อเราทุกคน(Safe Air for All)” ที่รัฐบาลตั้งไว้ในร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี รัฐบาลจะต้อง ;
1. กําหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 และปรอทที่แหล่งกําเนิดที่อยู่กับที่(Stationery Sources) รวมถึงการตรวจวัดและรายงานการปล่อย PM2.5 และปรอทจากปล่องโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
2. ตั้งเป้าหมายการลดการสัมผัสฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปของกลุ่มประชากรลงอย่างน้อยที่สุดร้อยละ 30 ภายในระยะเวลาของการดำเนินงานในร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี
3. เพิ่มเป้าหมายการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศให้เป็นตัวชี้วัดในแผนยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน
4. ติดตามตรวจสอบและรายงานความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) และสารมลพิษทางอากาศอื่นๆ ที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพอนามัยของประชาชน เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(PAHs) โดยสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
5. คำนึงการดำเนินมาตรการในข้อ 8(Article 8) ของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทที่มุ่งเน้นถึงการควบคุมและลดการปล่อย(emission)ปรอทออกสู่บรรยากาศจากแหล่งกำเนิดที่มีจุดกำเนิดแน่นอน(point sources) ตามรายการที่ระบุไว้ในภาคผนวก D (Annex D) ของอนุสัญญาฯ อันได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก.พ.-เม.ย. ทุกปี สภาพภูมิอากาศไม่เอื้อ! นักวิชาการ แนะเร่งลดจำนวนฝุ่นในเมือง
สระบุรีแชมป์ฝุ่นพิษPM 2.5 กรีนพีซจี้กรมควบคุมมลพิษดูเเล หลังคนไทยตายปีละ 5 หมื่นราย
ผอ.กรีนพีซ แนะรัฐนำค่าฝุ่นPM 2.5 คำนวณคุณภาพอากาศในไทย
คพ.เตรียมนำค่าฝุ่น PM2.5 วัดคุณภาพอากาศคนไทย เผยเร่งติดตั้งเครื่องตรวจวัดเพิ่ม
คพ. แจงสถานการณ์ PM 2.5 เกินมาตรฐาน ยันไม่ได้สูงตลอดเวลา
แย่จริงอากาศกรุงเทพฯ แล้วฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 มาจากไหน?
สธ.ขออย่าตื่นตระหนกฝุ่นPM2.5 แนะเลี่ยงที่โล่ง ใช้หน้ากากป้องกัน ลดเผาขยะ