ผอ.กรีนพีซ แนะรัฐนำค่าฝุ่นPM 2.5 คำนวณคุณภาพอากาศในไทย
ผอ.กรีนพีซ เร่งหน่วยงานรัฐนำค่าฝุ่น PM 2.5 มาคำนวณคุณภาพอากาศในไทย เชื่อศักยภาพกรมควบคุมมลพิษทำได้ ติดเพียงระเบียบกระทรวงที่ไม่เอื้อ แนะยกระดับการทำงานด้านการแจ้งเตือน
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดเสวนา “มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( Transboundary Air Pollution in Southeast Asia )
นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงประเด็นฝุ่นพิษ PM 2.5 ว่า สารพิษหนึ่งที่อันตรายและสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานคือ ปรอท ซึ่งทางเคมีถือว่าเป็นโลหะหนักที่มีพิษร้ายแรง นอกจากนี้ในฝุ่น PM2.5 ยังมีสารอื่น อย่าง ไดออกซิน ที่จัดอยู่กลุ่มสาร POPs ที่มีอนุสัญญาระหว่างประเทศกำกับ นั่นแสดงว่า สารเหล่านี้คือสารอันตรายในระดับที่รัฐบาลทั่วโลกต้องควบคุม ซึ่งไทยก็อยู่ในอนุสัญญาดังกล่าว
ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงการเก็บตัวอย่างปลาและเส้นผมคนที่จ.ปราจีนบุรีและที่ระยอง ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนมาก เป็นเขตอุตสาหกรรมหนัก พบว่ามีการสะสมของปรอทในสิ่งแวดล้อมที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ (อ่านประกอบ ม.บูรณะนิเวศ พบสารพิษรง.อุตฯ ตกค้าง ในตัวอย่างไข่ไก่ สมุทรสาครสูงอันดับ2ของโลก, มูลนิธิบูรณะนิเวศ แถลงพบปรอทตกค้างในเส้นผม 99% เกินมาตรฐานในพื้นที่ระยอง ปราจีนฯ ) ทางออกที่จะทำให้ปัญหาดีขึ้น ในระดับนโยบาย ผู้กำหนดนโยบายยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ หรือไม่เห็นความสำคัญ
ด้านนายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการองค์กรกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯมีการพูดกันมานาน ช่วงหนึ่งมีการทำแคมเปญ กรุงเทพฯไร้หมอกควัน ซึ่งสำเร็จได้พักหนึ่ง ขณะนั้น PM 2.5 ไม่มีการพูดถึง เพิ่งมามีการวัดค่านี้ตอนปี 2554 สถานีวัดปัจจุบันมี 25 สถานี กรมควบคุมมลพิษออกมาพูดเองเรื่อง PM2.5 ในสองวันมานี้หลังจากกรุงเทพฯเผชิญสภาพอากาศนิ่ง
"คำถามคือในเมื่อวัดค่า PM 2.5 แล้ว ทำไมไม่นำมาใช้คำนวณคุณภาพอากาศ"
นายธารา กล่าวอีกว่า คำถามใหญ่คือทำไมไม่มีการใช้ค่า PM 2.5 ในการวัดค่าคุณภาพอากาศในประเทศไทย ซึ่งเข้าใจว่ากรมควบคุมมลพิษในฐานะหน่วยงานควบคุมดูเเล เวลาลงในพื้นที่จำเป็นต้องคุยกับกระทรวงอื่น เช่น กระทรวงมหาดไทย ซึ่งถ้าในระดับกระทรวงเอาด้วยกับเรื่องนี้ ก็จะไม่ยากในการนำค่า PM 2.5 มาคำนวนรวม คิดว่ากรมควบคุมมลพิษเองก็อยากทำ แต่อาจเกรงใจกระทรวงอื่นที่ต้องตัววัดผล(KPI) ที่หากเพิ่มค่านี้ลงไป อาจทำให้การทำงานลำบากมากขึ้น
“กรมควบคุมมลพิษมีศักยภาพพอสมควรแต่พอเป็นหน่วยงานระดับกรมจึงไม่มีอำนาจในการออกระเบียบ สั่งการลงไป ทั้งๆ ที่เรื่องมลพิษเราถึงเวลาต้องยกระดับให้อยู่ภายใต้หน่วยงานอย่างสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งคอยเตือนระวัง ไม่ใช่ให้กรม เพราะกรมเป็นหน่วยที่ไม่มีอำนาจมากขนาดนั้นในการสั่งการ ซึ่งหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษมีแค่การเป็นหน่วยงานควบคุมกำกับ(Regulator)”
นายธารา กล่าวว่า วันนี้เชื่อว่าการนำเอาค่า PM2.5 ติดแค่เรื่องระเบียบกระทรวงเท่านั้น ซึ่งถ้าปลดล็อคได้ ทางกรมควบคุมมลพิษก็น่าจะพร้อมวัดค่า เพราะกรมฯมีความพร้อม มีศักยภาพอยู่เเล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคกรมควบคุมมลพิษ ได้ออกรายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เวลา 08.00 น. ระบุว่า ปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 15-30 มคก./ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) ทุกพื้นที่
ขณะที่ในปี 2560 ระดับมลพิษในอากาศที่บันทึกโดยสถานีตรวจสอบ 19 แห่งใน 14พื้นที่ทั่วประเทศไทยยังคงเกินค่ามลพิษจำกัดสูงสุดของ WHO โดยพื้นที่ที่มีระดับค่าเฉลี่ยรวมของฝุ่นมลพิษ PM2.5 ตลอดทั้งปีสูงที่สุดคือ จังหวัดสระบุรี ที่วัดได้ 36ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และธนบุรีในกรุงเทพมหานคร ที่31 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยทั้งสองพื้นที่มีระดับค่ามลพิษสูงกว่าค่ามลพิษจำกัดสูงสุดของ WHO ถึงสามเท่าตัว
อ่านประกอบ สระบุรีแชมป์ฝุ่นพิษPM 2.5 กรีนพีซจี้กรมควบคุมมลพิษดูเเล หลังคนไทยตายปีละ 5 หมื่นราย