คพ.เตรียมนำค่าฝุ่น PM2.5 วัดคุณภาพอากาศคนไทย เผยเร่งติดตั้งเครื่องตรวจวัดเพิ่ม
ข่าวดี กรมควบคุมมลพิษ แจงเตรียมนำค่าฝุ่น PM2.5 วัดดัชนีคุณภาพอากาศในไทย อธิบดีเผยเร่งติดตั้งเครื่องตรวจวัดเพิ่มอีก 20 เครื่องภายในปี61 พร้อมเผยแพร่ข้อมูลมลพิษรายชั่วโมงผ่านเว็บ aqmthai.com
เมื่อวันที่ 29 ม.ค.61 นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เปิดเผยว่า จากกรณีที่ในงานเสวนา "มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" จัดโดย กรีนพีซ ประเทศไทย เห็นว่าภาครัฐจำเป็นต้องรายงานค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ประชาชนรับรู้สถานการณ์และไม่ตื่นตระหนกเมื่อเกิดภาวะวิกฤตินั้น(อ่านประกอบ ผอ.กรีนพีซ แนะรัฐนำค่าฝุ่นPM 2.5 คำนวณคุณภาพอากาศในไทย ) คพ. ได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติ จำนวน 12 สถานี ปัจจุบันมี 6 สถานี ที่ติดตั้งเครื่องตรวจวัด PM2.5 ได้แก่ พญาไท, บางนา, วังทองหลาง, ริมถนนพระราม 4 , ริมถนนลาดพร้าว และ ริมถนนอินทรพิทักษ์ และได้มีการเผยแพร่ข้อมูล PM2.5 รายชั่วโมงผ่านทางเว็บไซต์ aqmthai.com อย่างต่อเนื่อง และในช่วงที่มีสถานการณ์ได้เพิ่มช่องทางการให้ข้อมูลทางแฟนเพจกรมควบคุมมลพิษอีกทางหนึ่ง ซึ่งประชาชน สื่อมวลชนและผู้สนใจสามารถเข้าไปติดตามข้อมูลสถานการณ์ได้ตลอดเวลา
นางสุณี กล่าวว่า กรณีที่ คพ.เคยชี้แจงว่ากำลังติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่า PM 2.5 ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2563 มีผู้แสดงความเห็นว่านานเกินไป ดังนั้นในระยะเร่งด่วนภาครัฐควรใช้วิธีคำนวณคร่าวๆ และในระยะยาวควรนำค่า PM 2.5 มาใช้เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศ นั้น คพ.อยู่ระหว่างปรับปรุงการคำนวณค่าดัชนีคุณภาพอากาศ โดยจะนำค่า PM2.5 มาใช้ในการคำนวณด้วย และจะมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนและสื่อมวลชนควบคู่กันไปกับการติดตั้งเครื่องตรวจวัด PM2.5 โดยในปี 2561 มีแผนที่จะดำเนินการติดตั้งเครื่องตรวจวัด PM2.5 เพิ่มเติมในสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ต่างๆ จำนวน 20 เครื่อง
นางสุณี กล่าว่า สำหรับการประเมินสถานการณ์ PM2.5 อย่างคร่าวๆ อาจประเมินได้จากปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ซึ่งมีการตรวจวัดทุกสถานี โดยจากผลการหาค่าความสัมพันธ์ระหว่าง PM2.5 กับ PM10 ของประเทศไทย พบว่า PM2.5 คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 50 ของ PM10 ซึ่ง กรมควบคุมมลพิษได้ใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบเบื้องต้นกรณีสถานีที่ไม่มีเครื่องวัด PM2.5 สำหรับการประมวลสถานการณ์อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามหากมีข้อมูลผลการตรวจวัดจริงจะทำให้การประเมินสถานการณ์มีความแม่นยำและถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งจะทำให้สามารถยืนยันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ต่อไป
นางสุณี กล่าวว่าสำหรับข้อกังวลจากงานเสวนาดังกล่าว เรื่องสารปรอทที่เกิดจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน สามารถกระจายตัวได้ไกล หากจับตัวกับฝุ่นละอองขนาดเล็กแล้ว อาจเข้าสู่ร่างกายของประชาชนได้ ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังลอยไปได้ไกลถึงประเทศเพื่อนบ้าน จึงถือเป็นภัยคุกคามของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั้น ขณะนี้ประเทศไทยได้อนุวัติตามอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2560 ซึ่งได้มีการกําหนดแหล่งกําเนิดที่จะต้องควบคุมการปลดปล่อยปรอทสู่บรรยากาศไว้ 5 กลุ่ม ภายในข้อบทที่ 8 ของอนุสัญญาฯ ได้แก่ (1) โรงไฟฟ้าถ่านหิน (2) หม้อน้ำอุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหิน (3) กระบวนการถลุงแร่และอบแร่ที่ใช้ในกระบวนการผลิตโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก (ตะกั่ว สังกะสี ทองแดง และ อุตสาหกรรมผลิตทองคํา) (4) เตาเผาขยะ และ (5) โรงผลิตปูนซีเมนต์ โดยประเทศภาคีจะต้องจัดทํามาตรการควบคุมการปลดปล่อยปรอทจากแหล่งกําเนิดนั้น ๆ ส่วนแหล่งกําเนิดใหม่ได้ระบุให้ภาคีนำแนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (Best Available Techniques : BAT) และแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Environmental Practices : BEP) มาปรับใช้ เพื่อควบคุม และลดการปลดปล่อย ปรอท ขณะนี้อนุสัญญาฯอยู่ระหว่างจัดทำ BAT และ BEP ซึ่งหากแล้วเสร็จประเทศไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง. อาทิ กรมควบคุมมลพิษ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ภายใต้การกำกับของคณะอนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท จะนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้และดำเนินการภายในประเทศ
“กรมควบคุมมลพิษ รายงานว่ามีแผนจะติดตามตรวจวัดสารปรอทในบรรยากาศในพื้นที่ที่มีแหล่งกำเนิด 5 กลุ่มข้างต้น เพื่อให้สอดคล้องตามอนุสัญญาฯ รวมทั้งเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวทางการจัดการ และนำเสนอผลการดำเนินงานสู่สาธารณะต่อไป” นางสุณีกล่าว
อ่านประกอบ
สระบุรีแชมป์ฝุ่นพิษPM 2.5 กรีนพีซจี้กรมควบคุมมลพิษดูเเล หลังคนไทยตายปีละ 5 หมื่นราย