สธ.ขออย่าตื่นตระหนกฝุ่นPM2.5 แนะเลี่ยงที่โล่ง ใช้หน้ากากป้องกัน ลดเผาขยะ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแนะ 5 มาตรการ “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด”ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก พร้อมกำชับให้หน่วยงานในสังกัด เฝ้าระวังและรายงาน 4 กลุ่มโรคสำคัญที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก
เมื่อวันที่14 กุมภาพันธ์ 2561 นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกรุงเทพมหานคร นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และนางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องมาตรการป้องกันมลพิษและการดูแลสุขภาพประชาชน
นายแพทย์ปิยะสกล กล่าวว่า จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษที่ตรวจพบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน(PM2.5) ในอากาศในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่าเกินมาตรฐาน(ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของฝุ่นละอองขนาด เล็กกว่า 10 ไมครอน ไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ และรู้สึกห่วงใยในสุขภาพของประชาชนอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ได้มีการเฝ้าระวังติดตาม สถานการณ์ฝุ่นละออง รวมถึงเฝ้าระวังประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบฝุ่นละออกจนเกิดโรคทางระบบเดินหายใจซึ่งขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่มีอาการรุนแรงหรือผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนหรือการเสียชีวิต โรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มลดลง และโรคปอดอักเสบแนวโน้มคงที่อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่ได้เกินค่าในทุกพื้นที่ และพื้นที่ที่มีค่าเกินมาตรฐานก็ไม่ได้ค่าสูงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขมี 5 มาตรการ “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด” ในการดูแลสุขภาพประชาชน คือ 1.หลีกการสัมผัสฝุ่นละออง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด 2.ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ป้องกันฝุ่นละออง ทำความสะอาดบ้านทุกวัน 3.ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น หรือใช้ผ้าชุบน้ำปิดหมาดป้องกันฝุ่น 4.เลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน และ 5.ลดการใช้รถยนต์และการเผาขยะ พร้อมกันนี้ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัด เฝ้าระวังและรายงาน 4 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเยื่อบุตาอักเสบ และโรคผิวหนัง ที่อาจเกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมทั้งติดตามจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน และให้เจ้าหน้าที่ติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียงในวันที่มีค่าฝุ่นสูง
"ขอให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรงดออกจากบ้าน หรืออาคาร หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมนอกอาคาร ขอให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดๆหรือหน้ากากกันฝุ่นที่สามารถป้องกันฝุ่นขนาดเล็กมาปิดจมูกและปาก ดื่มน้ำมากๆ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหมในที่ที่มีฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน กลุ่มผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็กจะต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ" หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แย่จริงอากาศกรุงเทพฯ แล้วฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 มาจากไหน?
คพ.เตรียมนำค่าฝุ่น PM2.5 วัดคุณภาพอากาศคนไทย เผยเร่งติดตั้งเครื่องตรวจวัดเพิ่ม
สระบุรีแชมป์ฝุ่นพิษPM 2.5 กรีนพีซจี้กรมควบคุมมลพิษดูเเล หลังคนไทยตายปีละ 5 หมื่นราย