ก.พ.-เม.ย. ทุกปี สภาพภูมิอากาศไม่เอื้อ! นักวิชาการ แนะเร่งลดจำนวนฝุ่นในเมือง
นักวิชาการแนะให้รัฐใช้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก วัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ด้านอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เสนอมาตรการลดฝุ่นระยะ 3 เดือน ชี้ต้องกำจัดฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิด ด้านผู้เชี่ยวชาญเสนอตั้งระบบเตือนภัยค่าฝุ่นแก่คนกลุ่มเสี่ยง
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ในเสวนา ธรรมศาสตร์สู่สังคมครั้งที่ 1 ภัยร้าย “ฝุ่น” กลางเมือง ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงวิกฤตการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่เกินมาตรฐานค่าเฉลี่ยรายวันที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯตลอดช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น คาดว่าสถานการณ์จะคงอยู่ไปถึงช่วงกลางเดือนเมษายน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมฝุ่นละอองที่กำลังดำเนินการและสภาพภูมิอากาศด้วย
ดร.สุพัฒน์ กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้ว ประชาชนทุกคนต่างมีส่วนในการทำให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 จากกิจกรรมประจำวันต่างๆ อาทิ การใช้ยานพาหนะ การเผาโดยเฉพาะการเผาในที่โล่ง การก่อสร้าง การประกอบอุตสาหกรรมต่างๆ หากจะแก้ไขภาคประชาชนต้องช่วยกันลดการก่อให้เกิดฝุ่นละออง โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่สภาพภูมิอากาศไม่เอื้อต่อการแพร่กระจายของสารมลพิษอากาศ หากยังเพิกเฉยกับประเด็นดังกล่าวและภาครัฐไม่มีการกำหนดมาตรการ ข้อกำหนดต่างๆ สถานการณ์ก็ยังคงรุนแรงต่อไป
ทั้งนี้ ดร.สุพัฒน์ ได้เสนอมาตรการเฉพาะกิจระยะเวลา 90 วัน สำหรับช่วงกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี โดยเสนอให้มีการ ‘ลดจำนวนแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศ’ เช่น
1) ขยายเขตพื้นที่การจำกัดเวลารถบรรทุกเข้าในเขตกรุงเทพมหานคร เพิ่มจากเขตรอยต่อกับจังหวัดปริมณฑลออกไปถึงวงแหวนรอบนอก
2) จำกัดเวลารถบรรทุกขนาดเล็กตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางบก หรือป้ายทะเบียนสีเขียวเข้าในเขตกรุงเทพฯในชั่วโมงเร่งด่วน
3) จำกัดรถส่วนบุคคลเข้าในเขตกรุงเทพมหานคร ทะเบียนรถเลขคู่ในวันคู่และทะเบียนรถเลขคี่ในวันคี่
4) ออกประกาศจังหวัดห้ามเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด 90 วัน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในกรุงเทพฯและปริมณฑล
พร้อมกันนี้ ดร.สุพัฒน์ กล่าวว่า ต้องทำการ ‘ลดปริมาณการระบายมลพิษอากาศจากแหล่งกำเนิด’ ควบคู่กันไปด้วย เช่น
1) การจัดการจราจรให้คล่องตัว ทำให้เป็นการระบายมลพิษทางอากาศจากการคมนาคม อาทิ ห้ามจอดรถริมถนนสายหลักทุกสายอย่างเด็ดขาด ตั้งแต่ 06.00 ถึง 21.00 น.
2) ควบคุมการก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯให้มีมาตรการควบคุมการเกิดและการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองตามข้อกำหนดของกทม. และให้ปริมณฑลดำเนินการลักษณะเดียวกัน
3) การก่อสร้างโครงการของรัฐปรับแผนการก่อสร้างเพื่อลดกิจกรรม หรือชะลอการก่อสร้างในส่วนที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง
4) ให้มีการเผาศพเฉพาะที่ใช้เตาเผาศพไร้ควันเท่านั้น
“ในช่วง 3 เดือนนี้ต้องมีมาตรการที่จะจัดการกับแหล่งกำเนิดมลพิษให้ลดมลพิษลง หลังจากผ่านช่วงเดือนนี้ไปแล้วก็จะกลับไปเป็นแบบเดิม ไม่ได้ทำทั้งปี เพราะจะกระทบกับเศรษฐกิจ” ดร.สุพัฒน์กล่าว
ด้านรศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านฝุ่นและผลกระทบ คณบดีวิทยาลัยโลกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตต่อการมาตรฐานการตรวจวัดดัชนีคุณภาพอากาศของไทยว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะประเทศไทยคิดเป็นค่าเฉลี่ยรายปีซึ่งต่างจากองค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ว่าการตรวจวัดดัชนีคุณภาพอากาศต้องคิดเป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จึงอยากให้ใช้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก
นอกจากนี้ รศ.ดร.นันทวรรณ ยังได้เสนอให้มีการทำระบบเตือนภัยโดยเฉพาะให้กับกลุ่มประชาชนที่อ่อนไหว คือ เด็ก ผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยโรคหัวใจ แม่ตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ เพราะเป็นกลุ่มที่มีผลต่อสุขภาพไวมาก ต้องทำระบบเตือนภัยให้ เช่น ค่าฝุ่นมีระดับเกินกว่าค่ามาตรฐานซึ่งมีผลกระทบต่อเขา ก็จะเตือนว่าวันนี้ห้ามออกกำลังกาย ให้อยู่ในบ้าน ลดกิจกรรมต่างๆนอกบ้าน เป็นต้น
“อยากให้มีมาตรการในภาคเอกชนโดยเฉพาะบริษัทที่มีพนักงานเยอะ ต้องมีการรวมกลุ่มใช้รถคนเดียวกันหรือไม่ ซึ่งเป็นมาตรการที่ต่างประเทศได้ทำ และภาคเอกชนก็อย่าคิดแต่กำไรเพียงอย่างเดียว อย่างบริษัทน้ำมันต่างๆ ที่มีผลกำไรเป็นพันล้าน เอาเงินส่วนนั้นมาช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได่ไหมในฐานะที่เป็นแหล่งกำเนิด”
อ่านประกอบ
สระบุรีแชมป์ฝุ่นพิษPM 2.5 กรีนพีซจี้กรมควบคุมมลพิษดูเเล หลังคนไทยตายปีละ 5 หมื่นราย
ผอ.กรีนพีซ แนะรัฐนำค่าฝุ่นPM 2.5 คำนวณคุณภาพอากาศในไทย
คพ.เตรียมนำค่าฝุ่น PM2.5 วัดคุณภาพอากาศคนไทย เผยเร่งติดตั้งเครื่องตรวจวัดเพิ่ม
คพ. แจงสถานการณ์ PM 2.5 เกินมาตรฐาน ยันไม่ได้สูงตลอดเวลา
แย่จริงอากาศกรุงเทพฯ แล้วฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 มาจากไหน?
สธ.ขออย่าตื่นตระหนกฝุ่นPM2.5 แนะเลี่ยงที่โล่ง ใช้หน้ากากป้องกัน ลดเผาขยะ