ดร.สมชาย ท้ากรมเกษตร ถ้าคิดว่าร่างกม.คุ้มครองพืชดี ให้เริ่มรับฟังใหม่ อย่ายัดเยียด
ดร.สมชาย ท้ากรมวิชาการเกษตร ถ้าร่างกม.คุ้มครองพืชดี ต้องไปเริ่มกระบวนการรับฟังความเห็นใหม่ ไม่ใช่จับยัดมือเกษตรกรแบบนี้ ย้ำเทคนิคเนื้อหาในพ.ร.บ.นี้กั้นสิทธิเกษตรรายย่อยทุกประตู
ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช(ฉบับที่...) พ.ศ.... ของกรมวิชาการเกษตรในเวทีเสวนา “มองการณ์ไกลประเทศไทย ทิศทางเกษตรกรรมยั่งยืน” ที่ห้องประชุมอมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 พ.ย.60 ที่ผ่านมา จัดโดย โครงการสร้างคนดี มองการณ์ไกล ไทยรุ่งเรือง มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ร่วมกับเครือข่ายวัฒนธรรมข้าวใหม่ว่า กฎหมายใหม่นี้จะกระทบต่อวิถีชีวิตเกษตรกรที่จะทำเกษตรแบบดั้งเดิมของตัวเอง กลไกของกฎหมายออกเอื้อบริษัทเมล็ดพันธุ์ การส่งเสริมโยบายของภาครัฐที่จะทำให้ภาคธุรกิจผูกขาด สิ่งที่จะตามมาคือราคาเมล็ดพันธ์ุ นอกจากนี้ยังมีการขยายการคุ้มครองนักปรับปรุงพันธุ์มากขึ้น ซึ่งเท่ากับจำกัดสิทธิเกษตรกรมากขึ้นเช่นกัน
ผศ.ดร.สมชาย กล่าวถึงสิ่งที่จะตามมาอีก คือ เมล็ดพันธุ์สมัยใหม่ที่พ่วงด้วยเกษตรแปลงใหญ่ พืชเชิงเดี่ยว เครื่องจักร ปุ๋ย ดังเช่นการบอกว่า เมล็ดพันธุ์นี้จะต้องใช้ปุ๋ยอะไรถึงจะดี เป็นต้น ส่วนสิ่งที่ตามมาในส่วนการที่เราส่งเสริมในเชิงอ้อมๆ จะเกิดเกษตรเชิงเดี่ยวเยอะขึ้น รูปแบบความหลากหลายทางชีวภาพถูกกระทบ
“เราเห็นภาพการเกษตรใช้เครื่องจักรใหญ่ ระบบอุตสาหกรรมเกษตรแบบเน้นปริมาณสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญคือหลากหลายทางชีวภาพที่จะเปลี่ยนไป หากเกิดอย่างนั้นเราจะเสียหายมากกว่าในประเทศตะวันตก เพราะระบบนิเวศความหลากหลายเราต่างกันหลายร้อยเท่า ในต่างประเทศ 1 ตารางกิโลเมตรเราอาจเจอต้นสนชนิดเดียว แต่กลับกันพื้นที่ของเรา 1 ตารางกิโลเมตรอาจมีสน 4 ต้น แต่มีพืชอื่นอีก 500 ชนิด ถ้าเราไปทำตามระบบตะวันตก ระบบนิเวศของเราจะเสียทันที”
ผศ.ดร.สมชาย กล่าวเพิ่มเติมโดยอยากจะกระตุ้นให้เราตระหนักถึงระบบนิเวศเมื่อสูญเสียไปแล้วย้อนกลับไม่ได้ แม้ว่าในบางกรณีจะเยียวยาได้แต่ใช้เงินเยอะมาก เรามองแต่ว่า มีเมล็ดพันธุดี ผลิตเยอะเพื่อเอาไปขาย นโยบายของไทยอยากเป็นครัวของโลก เมื่อวางเป้าแบบนี้เราต้องการปริมาณเพื่อส่งขายต่างประเทศ และเมื่อมองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเดียว เราจึงเห็นภาพเมืองน่านที่เต็มไปด้วยข้าวโพด ถามจริงๆ ว่า เราอยากเห็นแบบนั้นอีกหรือไม่ รัฐถ้าอยากคงนโยบายเป็นครัวของโลก อาจต้องจำกัดพื้นที่ เขียนโซนให้ชัด
“แม้ว่าเราจะขีดเป็นโซนแต่ต้นทุนคุ้มค่าไหมที่เสียระบบนิเวศไป สภาพบ้านเราเสียหาย ขณะที่ความเสียของนิเวศไม่อาจจำกัดในรั้วรอบขอบชิดได้ เพราะจะสร้างผลกระทบกว้างข้ามไปยังประเทศข้างเคียง เราจะคิดของเราเพียงฝ่ายเดียวแบบนี้ไม่ได้ ต้องคิดในมิติรวมทั้งหมด” ผศ.ดร.สมชาย และว่า ประเด็นสำคัญที่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะกระทบต่อวิถีชีวิตเกษตรกรอย่างมากคือ เรื่องของสิทธิในการเก็บเมล็ดพันธุ์ อันเป็นวิถีการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธ์ ชุมชนต่อชุมชน ไม่ใช่เรื่องของทรัพยสิน ในแต่ละชุมชนมีการพัฒนาในตัวเอง เมื่อไหร่มีงานชุมชนก็จะแลกเปลี่ยน การแลกเปลี่ยนแบบนี้ยังเป็นการแลกเปลี่ยนการบำรุงพันธุ์คือภูมิปัญญาถูกสั่งสมไปเรื่อยๆ นี่คือวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ในบ้านเรา
คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ มธบ. กล่าวว่า ด้วยรูปแบบการคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์ เรายอมรับได้ว่า หากใครสักคนที่ลงทุนปรับปรุงพันธุ์ การให้ความคุ้มครองน่าจะรับฟังได้ แต่ประเด็นขอบเขตการคุ้มครองจะมากขนาดไหนตรงนี้ต่างหาก เป็นเรื่องน่าคิด
ผศ.ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า ประเด็นที่สำคัญในร่างพ.ร.บ.นี้ เพื่อส่งเสริมนักปรับปรุงพันธุ์ ถ้ารัฐมนตรีอยากสนับสนุนก็จะออกประกาศให้เกษตรกรไม่เก็บ หมายความว่า จะปลูกฤดูกาลหน้าต้องมาซื้อใหม่ ณ ขณะนี้มีบทมาตราแบบนี้แล้วในกฎหมายคุ้มครองพันธุ์ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รมต.สามารถออกประกาศจำกัดได้เหมือนกัน แต่ไม่เกินสามเท่า หมายความว่า สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้สามเท่ามากกว่านั้นไม่ได้ แต่กฎหมายนี้ตัดตั้งแต่เมล็ดแรก ซึ่งคำอธิบายที่รับฟังในเวทีพูดคุยมีคนฝ่ายรัฐบอกว่า แม้แต่ในตัวพ.ร.บ.คุ้มครองเดิมจะห้ามได้ ในทางปฏิบัติที่ผ่านมารัฐมนตรีไม่เคยประกาศห้าม แล้วบอกว่า เกษตรกรไม่ต้องกลัว
“สิ่งที่จะบอกคือว่ากฎหมายซับซ้อนมากในการเขียน ม.35 ในร่างใหม่ วรรคแรกบอกว่า เกษตรกรเก็บไปเท่าไหร่ก็ได้ แต่วรรคสองบอกว่า สามารถห้ามได้ทั้งหมดหรือบางส่วนโดยประกาศของรัฐมนตรี ถ้าเกิดใช้วรรคสอง สิทธิ์แรกหายไปทันที ฟังดูดี” ผศ.ดร.สมชาย กล่าว และชี้ให้เห็นอีกว่า หากดูในองค์ประกอบโครงสร้างของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์ จากเดิมต้องมีเกษตรกร 6 คนที่พวกเขาเลือกกันเข้ามา แต่กฎหมายใหม่นี้ตัดตรงนั้นทิ้งหมด โดยจะแต่งตั้งเองทั้งหมด 12 คน มองมุมร้ายกรณีอย่างนั้น คณะกรรมคุ้มครองมีมติไม่ให้เก็บ รัฐมนตรีก็สั่งตามหมายความว่าบทบัญญัติม.35วรรคหนึ่งก็เป็นหมันทันที นี่คือความซับซ้อนของกฎหมาย
ผศ.ดร.สมชาย กล่าวถึงขอบเขตอำนาจในการได้รับสิทธิพิเศษถูกขยายขึ้นเป็น 25 ปี ระยะเวลาสิทธิ์ยิ่งยาวนาน ขอบเขตการแก้ไขคุ้มครองไม่จำกัดเฉพาะส่วนที่จะขยายพันธุ์เท่านั้น มีศัพท์ว่า พันธุ์พืชที่ได้ลักษณะสำคัญจากเมล็ดพันธุ์ที่คุ้มครองก็จะถูกคุ้มครองไปด้วย ยกตัวอย่างกุหลาบสีดำทำออกไป ต่อมาเกษตรอีกคนที่ปลูกเกิดมีดอกสีเทา ซึ่งถือว่ามีดำของการคุ้มครองเดิม กลายเป็นว่า ต้องคุ้มครองกุหลาบสีเทาไปด้วย แบบนี้จะเข้าใจ เพราะเห็นได้ง่าย แต่ถ้าหากว่า พันธุ์พืชมีรสหวานปลูกไร่ใกล้ๆ กัน แล้วเกสรปลิวไปผสม เราไม่รู้เอาเมล็ดปลูกต่อ ผลออกมาเจอว่า ต้นนี้มีลักษณะสำคัญของเมล็ดที่คุ้มครอง แม้แต่เพียงต้นเดียวผิดกฎหมาย ติดคุก นี่คือกฎหมายตัวใหม่
“ร่างกฎหมายฉบับนี้เราลอกมาจากกฎหมายต่างประเทศ (UPOV 1991) แม้เราไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้ แต่ข้าราชการพยายามจะเข้ามาตั้งนาน นี่ไม่ใช่ครั้งแรก แม้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรบอกว่า เราไม่ได้อยากเข้าในอนุสัญญา UPOV ก็ตาม วันนี้เราไม่ต้องเข้าเพราะกฎหมายลอกมาเหมือนหมดเเล้ว นอกจากนี้กระบวนการแก้ไขกฎหมายอันนี้ ตามรัฐธรรมนูญ2560 บอกต้องรับฟังความเห็น ไม่ใช่ไปยัดปากชาวบ้านว่าจะเอาไหม ดังนั้นหากจะทำกฎหมายใหม่ต้องไปเริ่มกระบวนการใหม่ ไม่ใช่ตั้งธงไปถาม แล้วให้ชาวบ้านไปให้ความเห็นในเว็บไซต์ว่าจะเอาหรือไม่ ใช้วิธีแบบนี้เอาเปรียบชาวบ้านไปหน่อย ถ้าคิดว่าดีจริง เริ่มต้นใหม่” ผศ.ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย
อ่านประกอบ
เก็บเมล็ดพันธุ์โทษจำคุก มูลนิธิชีววิถีจวก กษ.ออกร่างกม.ปล้นเกษตรกรไทย
กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ – ใครได้ประโยชน์
สารคดี SEED the Untold Story ว่าด้วยเมล็ดพันธุ์กับความจริงที่ไม่เคยพูดถึง
กรมวิชาการเกษตรยันปรับพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฯ คนไทยได้ประโยชน์ ยังเก็บเมล็ดได้
ไบโอไทยโต้กลับซัดกม.คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่เอื้อบรรษัทใหญ่ผูกขาดเต็มเม็ด
9ประเด็นปมร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพืชฉบับใหม่ ไบโอไทยสงสัย กรมวิชาการเกษตรตอบ
กรมวิชาการเกษตรพูดไม่หมด ผอ.ไบโอไทย ซัดให้ดู ม.35วรรคสองร่างกม.คุ้มครองพันธุ์
หมายเหตุ: ภาพประกอบ ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล จากรายการที่นี่ไทยพีบีเอส