- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- สารคดี SEED the Untold Story ว่าด้วยเมล็ดพันธุ์กับความจริงที่ไม่เคยพูดถึง
สารคดี SEED the Untold Story ว่าด้วยเมล็ดพันธุ์กับความจริงที่ไม่เคยพูดถึง
สารคดี SEED the Untold Story หนังที่ว่าด้วยเมล็ดพันธุ์กับความจริงไม่เคยพูด ทั้งความมหัศจรรย์ของมัน ที่เปรียบดั่งอัญมณี มาจนถึงการเข้ามาของระบบจดสิทธิบัตร การผูกขาดของบรรษัทใหญ่ สู่การล่มสลายทางชีวภาพ ทิ้งท้ายกับภาพอนาคตแห่งความหวัง
ท่ามกลางกระแสของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช(ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะในประเด็นการเอื้ออำนวยประโยชน์ให้บรรษัทเมล็ดพันธุ์เพิ่มการผูกขาดพันธุ์พืชและเปิดช่องให้ลงโทษเกษตรกรที่เก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ เป็นการทำลายวัฒนธรรมที่สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
หนังสารคดีเรื่อง Seed the untold story ภาพยนต์โดย Taggart Siegel และ Jon Betz เป็นการพูดถึงเรื่องราวความมหัศจรรย์ของเมล็ดพันธุ์พืช และความโหดร้ายภายใต้การควบคุมของบรรษัทใหญ่อย่าง มอนซานโต้ ที่กระโจนเข้ามาจดสิทธิบัตรเพื่อครอบครองเมล็ดพันธุ์ ก่อนจะนำไปสู่ความสูญสิ้นซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืช รวมไปถึงการเข้ามาของสารเคมีในพื้นที่เกษตรที่พ่วงเป็นแพ็คแกจจากกลุ่มบริษัทเดียวกัน
(ภาพประกอบจาก https://www.seedthemovie.com/)
หนังเริ่มจากความหัศจรรย์ของพันธุ์พืช ที่เปรียบเสมือนอัญมณีแห่งชีวิต เมล็ดพันธุ์เล็กๆ เหล่านี้ คือจุดกำเนิดแห่งความอยู่ดีกินดีมาตั้งแต่โบราณกว่า 12,000ปี สารคดีพยายามเล่าให้เห็นถึงความสำคัญในการส่งทอดความหลากหลายมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ตัวซับเจ็กที่เป็นเกษตรกรตัวจริงที่ยังคงรักษาอัญมณีมีค่าอันนี้เอาไว้ในมากที่สุด การส่งต่อเมล็ดพันธุ์จากรุ่นสู่รุ่น ที่มาพร้อมกับบอกเล่า หรือจะเรียกว่าการสั่งเสียต่อๆ กันมา สะท้อนความสำคัญในระดับเดียวกับการมีชีวิตอยู่ หากเราบอกว่า ปัจจัยพื้นฐานของคนเรา คือการพึ่งพาปัจจัย4 เมล็ดพันธุ์ก็คือหนึ่งในนั้น
ดร.แวนดานา ชีวา นักฟิสิกส์และนักกิจกรรมด้านเกษตรชื่อดังชาวอินเดียอธิบายว่า “ปัจจุบันมีเกษตรกรในสหรัฐฯ350,000 คนต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากมอนซานโต้ แต่พวกเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะเก็บมันหรือแลกเปลี่ยนได้เหมือนที่มนุษย์เคยทำมาตั้งแต่โบราณ” และ “หากเราไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้เอง ก็เหมือนเราเอาวิญญาณให้กับคนอื่นไป” Will Bonsall หนึ่งในนักสะสมพันธุ์กล่าว
(ดร.แวนดานาชีวา)
ใครจะรู้บ้างว่าข้าวโพดที่เรากิน เราเห็นอยู่ทุกวัน แท้จริงแล้วมีสายพันธุ์อยู่มากกว่า 300 สายพันธุ์ แต่ปัจจุบันที่เรากินเราใช้เป็นเพียง 2-5% ของทั้งหมดเท่านั้นเอง และไม่ใช่แค่ข้าวโพดเท่านั้นที่หายไป แต่ยังรวมไปถึงสายพันธุ์พืชมีจำนวนมาก โดยมีการประเมินว่าในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา โลกได้สูญเสียความหลากหลายของสายพันธุ์พืชไปกว่า94% เลยทีเดียว
(อินโฟกราฟฟิกแสดงจำนวนสายพันธุ์ที่หายไปตลอด80ปีที่ผ่านมา *หมายเหตุ:ภาพนี้จัดทำขึ้นในปี2001 โดยnationalgeographic )
เกิดอะไรขึ้นกับความหลากหลาย เกิดอะไรขึ้นกับอัญมณีที่มีค่าเหล่านี้?
นี่คือคำถามที่สารคดีเรื่องนี้ ทิ้งให้ชวนคิด ก่อนจะฉายภาพจุดเริ่มต้นแห่งล่มสลายดังกล่าว ไว้อย่างน่าสนใจ
เมล็ดพันธุ์ที่นอกเหนือจากแค่อาหาร แต่ยังเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ทางการเมือง หลายครั้งในสงครามได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตของมนุษย์ก็จริง แต่นั่นก็มาพร้อมกับความล่มสลายของเมล็ดพันธุ์ด้วย มีการยกตัวอย่างที่น่าสนใจในสารคดีเรื่องนี้ อย่างการทำสงครามในอิรัก ที่ธนาคารเมล็ดพันธุ์ที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก โดนระเบิดไป หรือ ยุคสมัยที่นาซีจะบุกเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก ในขณะนั้นมีนักวิจัยที่คอยเก็บดูเเลเมล็ดพันธุ์เอาไว้อย่างดี เรียกว่าเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อรักษาสิ่งที่มีค่าที่สุดอันนี้เอาไว้
มีประโยคหนึ่งที่น่าสนใจมาก ที่บอกว่า ถ้าหากจะยึดประเทศให้ยึดแหล่งน้ำมัน แต่หากจะยึดชีวิตของคน ให้ยึดอาหาร ซึ่งนั่นหมายถึงเมล็ดพันธุ์
(ภาพประกอบจากสารคดี)
และนั่นเองคือความฉิบหายที่เกิดขึ้น เมื่อจู่ๆ วันหนึ่งนโยบายการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ของสหรัฐฯ ถูกสั่งให้ยุติโครงการลง และนำมาสู่การออกกฎหมายที่จะเข้ามาควบคุมและอนุญาตให้บรรษัทเอกชน มาดูเเลในเรื่องนี้ และเมื่อการเข้ามาโดยอ้างถึงการปรับปรุงพันธุ์ กฎหมายซึ่งผ่านมาออกมาจากการล็อบบี้ยีสต์ของคนในบรรษัทที่สลับผลัดเปลี่ยนเข้ามานั่งในรัฐสภาและแทรกซึมอยู่ในทุกองค์กรการเมือง ไม่เว้นแม้กระทั่งศาล
นอกจากนี้การเริ่มขึ้นของปฏิวัติเขียวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เหมือนจะเปลี่ยนโฉมหน้าการบริโภค การทำเกษตรกรรมไปอย่างสิ้นเชิง ในสารคดีเรื่องนี้ มีการพูดถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า สีเขียวของชื่อนี้ ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเลย หากแต่เป็นการทำอย่างไรให้คนยังสามารถซื้อกินได้ในราคาถูก เพื่อดึงให้คนอยู่กับทุนมากที่สุด และเพื่อไม่ให้คนหันไปหาระบบคอมมิวนิสต์ที่ตอนนั้นก็มีปฏิวัติแดง
( Will Bonsall เกษตรกรนักสะสมพันธุ์พืช ภาพจากสารคดี)
ความโหดร้ายที่ตามมาเพราะเมื่อเมล็ดพันธุ์ถูกกุมอยู่ในมือของกลุ่มคนไม่กี่คน เกิดการฟ้องร้องเกษตรกรรายย่อยอย่างกว้างกว้าง เพียงพบว่าผลผลิตของไร่พวกเขามีส่วนของยีนที่บริษัทดูเเล ซึ่งเกิดจากการพัดผ่านของเกสรตามธรรมชาติ เกษตรกรเหล่านั้นก็แทบจะหมดเนื้อหมดตัว การเกิดขึ้นของพืชอย่าง GMOs และไม่เพียงแค่การผูกขาดเมล็ด แต่คือการพ่วงมาด้วยการใช้สารเคมีอย่างรุนแรงด้วย จนนำมาสู่การเดินขบวนกว่า 400 เมือง ใน 50 ประเทศทั่วโลก เพื่อเรียกร้องให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างมอนซานโต้เลิกผูกขาดเมล็ดพันธุ์
มีตัวเลขที่น่าสนใจว่าในแต่ละปีโลกของเราใช้สารเคมีในกระบวนการเกษตรมากถึง 1.4 พันล้านปอนด์ต่อปี และพบว่าบริษัทสารเคมีพวกนี้ ก็คือบริษัทในเครือเดียวกันกับบริษัทเมล็ดพันธุ์ เรียกว่า หากคุณตัดสินใจซื้อเมล็ดจากเราแล้ว ก็ต้องซื้อยาฆ่าศัตรูพืชจากเราไปด้วย
(เกษตรกรชาวอินเดีย www.pastemagazine.com )
มีเคสหนึ่งที่สารคดียกมาให้ดู อย่างชาวนาในอินเดีย ที่โดนกว้านซื้อเมล็ดพันธุ์โดยมอนซานโต้ ซึ่งกระบวนการหลอกล่อ มีตั้งแต่จัดรถฉายหนังกลางแปลงเรื่องยอดฮิตของอินเดีย และพ่วงด้วยโฆษณาขายเมล็ดพันธุ์ จากนั้นเมื่อชาวบ้านตกลงขายเมล็ดพันธุ์ที่ตัวเองเก็บไว้ตั้งแต่รุ่นปู่ และซื้อเมล็ดจากเอกชนมาใช้แทน สุดท้ายเมื่อฝนแล้ง ปลูกไม่ขึ้นหรือด้วยเหตุใดก็ตาม ชาวนาพวกนี้กลายเป็นหนี้ที่ตามหลอกหลอนทันที และนำมาสู่การฆ่าตัวตายของชาวนาในอินเดียจำนวนมาก โดยพบว่าตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา ชาวนาอินเดียฆ่าตัวตายไปแล้ว 250,000 คน
(เกษตรกรชาวเม็กซิโก ภาพจากellingtoncms.com)
พูดมาถึงตรงนี้ ไม่ได้จะบอกว่าคัดค้านการวิจัยพัฒนา และการปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป หรือแม้แต่การทำเกษตรเพื่อให้รองรับต่ออุตสาหกรรมและระบบบริโภคนิยม แต่คำถามที่สารคดีเรื่องนี้ชวนคิด ในความฝันที่เราจะปรับปรุงเพื่อโลก แต่วันนี้สิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนอย่างการสูญหายไปของความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์ เมื่อเมล็ดพันธุ์ที่ควรเป็นของทุกคนกลับกลายเป็นสมบัติของคนเพียงกลุ่มเดียว
การพัฒนาสายพันธุ์ ตัดต่อพันธุกรรม การสร้างสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้ หรือต่อให้ปลูกขึ้น แต่สุดท้ายกลับไม่ให้ผลผลิต เนื่องจากพันธุ์เป็นหมัน แบบนี้เราจะยังเรียกการปรับปรุงพันธุ์เพื่อทุกคน เพื่อรองรับเป็นอาหารของคนในโลกได้อีกหรือไม่
อันนี้คือคำถามที่เกิดขึ้นระหว่างการดูสารคดีเรื่องนี้
(ข้าวโพดหลากสี แสดงถึงความหลากหลายเปรียบเหมือนสีของอัญมณี ภาพจากinhabitat.com )
ในตอนท้ายของสารคดีได้ฉายภาพให้เห็นถึงความหวังที่ยังคงเหลืออยู่ผ่านมาการทำงานของคนเล็กๆ ที่ยังคงคอยเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์สร้างความรู้ สร้างเครือข่ายเกษตรกร เพื่อรักษาไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์เพื่อลูกหลานให้มากที่สุด
เพราะนี่คืออัญมณีแห่งชีวิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เก็บเมล็ดพันธุ์โทษจำคุก มูลนิธิชีววิถีจวก กษ.ออกร่างกม.ปล้นเกษตรกรไทย
กรมวิชาการเกษตรยันปรับพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฯ คนไทยได้ประโยชน์ ยังเก็บเมล็ดได้
ไบโอไทยโต้กลับซัดกม.คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่เอื้อบรรษัทใหญ่ผูกขาดเต็มเม็ด
9ประเด็นปมร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพืชฉบับใหม่ ไบโอไทยสงสัย กรมวิชาการเกษตรตอบ
กรมวิชาการเกษตรพูดไม่หมด ผอ.ไบโอไทย ซัดให้ดู ม.35วรรคสองร่างกม.คุ้มครองพันธุ์