- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- 9ประเด็นปมร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพืชฉบับใหม่ ไบโอไทยสงสัย กรมวิชาการเกษตรตอบ
9ประเด็นปมร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพืชฉบับใหม่ ไบโอไทยสงสัย กรมวิชาการเกษตรตอบ
กรมวิชาการเกษตร แจง 9 ประเด็นข้อสงสัยของทาง มูลนิธิชีววิถี ต่อร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ตกลงจะเกษตรกรจะยังคงเก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้อีกหรือไม่ จะเป็นการขยายการผูกขาดให้บรรษัทขนาดใหญ่หรือเปล่า เปลี่ยนกฎหมายใหม่แล้วใครจะได้ประโยชน์
สืบเนื่องจากกรณีที่ มูลนิธีชีววิถี (BIOTHAI) ตั้งข้อสังเกตต่อ เนื้อหาของร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ที่กำลังเปิดรับฟังความเห็นอยู่ในขณะนี้ว่าเป็นการแก้กฎหมายเอื้ออำนวยประโยชน์ให้บรรษัทเมล็ดพันธุ์เพิ่มการผูกขาดพันธุ์พืชและเปิดช่องให้ลงโทษเกษตรกรที่เก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ เป็นการทำลายวัฒนธรรมที่สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ อ่านประกอบ ( เก็บเมล็ดพันธุ์โทษจำคุก มูลนิธิชีววิถีจวก กษ.ออกร่างกม.ปล้นเกษตรกรไทย)
ทางกรมวิชาการเกษตรในฐานะผู้รับผิดชอบหลักเรื่องนี้ ได้ยืนยันว่า การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้เป็นไปโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของเกษตรกร และนักพัฒนาสายพันธุ์ของไทย รวมถึงยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปปลูกได้ (อ่านประกอบ กรมวิชาการเกษตรยันปรับพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฯ คนไทยได้ประโยชน์ ยังเก็บเมล็ดได้ )
พร้อมได้อธิบายของสงสัยของทางมูลนิธิชีววิถี ที่ได้โต้แย้งถ้อยแถลงของกรมวิชาการเกษตรที่บอกว่า การเก็บเมล็ดพันธุ์ยังคงทำได้นั้น ไม่จริง ซ้ำยังเปิดช่องทางผูกขาดให้บรรษัทขนาดใหญ่อีกด้วย (อ่านประกอบ: ไบโอไทยโต้กลับ ซัดกม.คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เอื้อบรรษัทใหญ่ผูกขาดเต็มเม็ด )
จากข้อสังเกตใน 9 ประเด็นของ BIOTHAI ต่อร่างฉบับใหม่นี้ ทางกรมวิชาการเกษตรได้อธิบายไว้ดังนี้
1. ประเด็น กรมวิชาการเกษตรแก้กฎหมายเพื่อผลักดันให้ประเทศเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 โดยไม่ผ่านกระบวนการทางรัฐสภาเกี่ยวกับการให้สัตยาบันในอนุสัญญาความตกลงระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญ
กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า วัตถุประสงค์ของการปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้ มิใช่เป็นการขอความเห็นชอบในการเป็นภาคี UPOV1991 แต่เป็นการปรับปรุงแก้ไขร่างพ.ร.บ.ให้สอดคล้องกับมาตรฐานหรือหลักสากล ซึ่งปัจจุบันมีฉบับเดียว คือ อนุสัญญา UPOV1991 เนื่องจากเป็นแนวทางปฏิบัติที่ประเทศส่วนใหญ่ใช้อยู่ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น (ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 72 ประเทศ และ2 องค์การระหว่างประเทศ (EUและ AIPO) ซึ่งครอบคลุม93 ประเทศ) ไม่ได้แก้เพื่อที่จะสมัครเป็นสมาชิก UPOV
2. ประเด็นตัดสิทธิของเกษตรกรเก็บรักษาพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อโดยตัดเนื่อหาในมาตรา 33(4) ของฉบับเดิมออก ซึ่งทำให้เกษตรกรที่เก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่ออาจได้รับโทษถึงจำคุก
[หมายเหตุ มาตรา33 ว่าด้วยเรื่องข้อยกเว้นสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ มาตรา33 (4) ของฉบับปัจจุบันกำหนดว่า การเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับพืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครองโดยเกษตรกรด้วยการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิต แต่ในกรณีที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกาศให้พันธุ์พืชใหม่นั้นเป็นพันธุ์พืชที่ควรส่วเสริมการปรับปรุงพันธุ์ ให้เกษตรสามารถเพาะปลูกหรือขยายได้ไม่เกินสามเท่าของปริมาณที่ได้มา]
กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า ไม่ได้ตัดเนื้อหาสิทธิของเกษตรในมาตรา 33(4) ของฉบับปัจจุบันออก แต่ได้นำไปไว้ในมาตรา35 ของร่างพ.ร.บ. และได้ปรับปรุงให้เกิดความชัดเจนขึ้น และแก้ไขการจำกัดสิทธิเกษตรกรจากให้ขยายพันธุ์ได้ไม่เกินสามเท่าของปริมาณที่ได้มา เป็นเปิดให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสามารถพิจารณากำหนดได้ตามเหมาะสมของสถานการณ์และชนิดพืชตามสภาพการทำเกษตร ดังนั้นเกษตรกรจึงยังคงเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกในฤดูต่อไปในพื้นที่ของตนเองได้โดยไม่มีโทษ
[หมายเหตุ มาตรา35 ของร่างพ.ร.บ.กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองเกษตรกรมีสิทธิในการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตในพื้นที่ของตนเอง เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพืชมีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรได้]
3. ประเด็นการขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ของบริษัทออกไปตาม UPOV1991 โดยขยายสิทธิผูกขาดพันธุ์พืชออกไปจาก 12-17 ปี เป็น 20-25 ปี แล้วแต่กรณี (ยกเว้นพืชที่ให้เนื้อไม้) (มาตรา31ของพ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน)
กรมวิชาการเกษตรชี้แจงว่า การปรับระยะเวลาการคุ้มครองนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและหลายประเทศในอาเซียนเช่น เวียดนาม มาเลเซีย
ทั้งนี้เนื่องจากการปรับปรุงพันธุ์ใหม่จำเป็นต้องใช้ต้นทุนทั้งสติปัญญา เวลาและงบประมาณ เช่น ข้าวประมาณ 10 ปี และโอกาสที่จะประสบความสำเร็จทางการตลาดมีความเสี่ยงสูง รวมถึงการมีข้อยกเว้นให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ จึงทำให้สากลมองว่าระยะเวลาที่จะคืนทุนได้สำหรับพืชไร่และพืชล้มลุกส่วนใหญ่ 20 ปี และ 25 ปี สำหรับพืชยืนต้น เช่น ไม้ผล เป็นระยะเวลาที่เหมาะสม จะทำให้นักปรับปรุงสายพันธุ์มีแรงจูงใจที่จะลงทุนและลงแรงในการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมา
นอกจากนี้ เกษตรกร/ประชาชนทั่วไป/นักวิชาการ ซึ่งเป็นผู้ปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่และได้จดทะเบียนคุ้มครองก็ได้รับประโยชน์จากการขยายระยะเวลาการคุ้มครองนี้ด้วยเช่นกัน(มาตรา 31ของร่างพ.ร.บ.)
4.ประเด็นการขยายการผูกขาดจากเดิม กำหนดอนุญาตให้เฉพาะ “ส่วนขยายพันธุ์” ให้รวมไปถึง “ผลผลิต” และ “ผลิตภัณฑ์” ด้วย(มาตรา33 พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน)
กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่าการขยายการคุ้มครองจากส่วนขยายพันธุ์ไปถึงผลผลิตและผลิตภัณฑ์นั้น หมายถึง ขยายการคุ้มครองไปถึงเฉพาะ “ผลผลิต” หรือ “ผลิตภัณฑ์” ที่เกิดจากส่วนขยายพันธุ์ที่ได้มาโดยมิชอบ แต่หากส่วนขยายพันธุ์นั้นได้มาอย่างถูกต้องแล้ว ผู้ผลิตก็มีสิทธิในผลิตผลและผลิตภัณฑ์นั้น จะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดให้ผู้ทรงสิทธิสามารถดำเนินการทางละเมืดได้จากส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันเจตนาที่จะใช้ประโยชน์จากส่วนขยายพันธุ์ที่ได้มาอย่างถูกต้อง(มาตรา 37 และ 38 ของร่างพ.ร.บ.)
5.ประเด็นการขยายการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ไปยังอนุพันธุ์ของสายพันธุ์พืชใหม่หรือสายพันธุ์ซึ่งมีลักษณะพันธุ์ที่ได้พันธุกรรมสำคัญมาจากพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง (Essentially Derived Varieties-EDVs)
กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า EDVs หมายถึง พันธุ์ที่ได้มาจากการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ตั้งต้นให้มีลักษณะที่แตกต่างเพียงเล็กน้อย ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือการผสมกลับแล้วได้พันธุ์ใหม่ที่แตกต่างจากพันธุ์ตั้งต้น แต่ยังคงมีลักษณะสำคัญส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ตั้งต้น ในกรณีที่มีนักปรับปรุงพันธุ์รายอื่นนำเอาพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองไว้เเล้วไปพัฒนาปรับปรุงพันธุ์จนได้เป็นพันธุ์ EDV แล้วนำไปทำการค้า โดยไม่ขออนุญาตจากผู้ที่เป็นเจ้าของพันธุ์ตั้งต้น จึงเป็นธรรมกับนักปรับปรุงพันธุ์ตั้งต้น ซึ่งกฎหมายให้ความสำคัญ เนื่องจากต้องลงทุนทั้งด้านสติปัญญา เวลาและงบประมาณในการคิดค้นพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืช นอกจากนี้ เกษตรกร ประชาชนทั่วไป นักปรับปรุงพันธุ์ของไทย ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ต่ำกว่าต่างประเทศก็จะได้รับการปกป้องพันธุ์ใหม่ของตนจากข้อกำหนดนี้ (มาตรา 4 และมาตรา 40 ของร่างพ.ร.บ.)
6.ประเด็นการเปิดทางสะดวกโจรสลัดชีวภาพ โดยตัดการแสดงที่มาของสารพันธุกรรมออก เมื่อบริษัทประสงค์จะขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ และแก้คำนิยามของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทไม่จเป็นต้องแบ่งปันผลประโยชน์เมื่อนำเอาพันธุ์พืชพื้นเมืองที่ต้องการ “ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์” เสียก่อนเท่านั้น
กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า โดยหลักการแล้วยังคงต้องแจ้งที่มาในการปรับปรุงพันธุ์ แต่ปรับปรุงให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถขอข้อมูลรายละเอียดหรือวัสดุที่จำเป็นได้มากขึ้น รวมถึงที่มาของการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อรองรับข้อมูล/เอกสารหรือวัสดุที่จำเป็นในการตรวจสอบพันธุ์พืช ตามการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (มาตรา 18 (3) ของร่างพ.ร.บ.)
ส่วนประเด็นการแก้ไขนิยามพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการตีความขอบเขตของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปให้มีขอบเขตที่ชัดเจน โดยกำหนดเฉพาะในส่วนพันธุ์พืชที่มีแพร่หลาย ไม่มีหลักฐานว่าเป็นพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมา โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นสมบัติสาธารณะ เช่น พันธุ์พืชที่มีอยู่พื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งต้องแยกออก ไม่รวมไปถึงพันธุ์ที่บุคคลพัฒนาขึ้นมามีหลักฐานชัดเจน ทั้งนี้ หากการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์โดยใช้ฐานพันธุกรรมจากพันธุ์พืชพื้นเมืองดั้งเดิมกฎหมายได้กำหนดให้ต้องขออนุญาตและทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์อยู่เเล้วในมาตรา 62 และ63 (มาตรา 4 ของร่างพ.ร.บ.)
7.ประเด็นการตัดข้อกำหนดการต้องผ่านกระบวนการรับรองความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับพืชดัดแปลงพันธุ์กรรมที่ประสงค์จะขอรับความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ออก(มาตรา 13 ของพ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน)
กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า ในเรื่องสิ่งมีชีวิตที่เป็น GMOs นั้น ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมกำกับดูแล แต่เฉพาะในส่วนของพืช กรมวิชาการเกษตรได้ใช้ พ.ร.บ. กักพืช พ.ศ.2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติมประกาศกำหนดให้พืช GMOs เป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งห้ามนำเข้าจากทุกแหล่ง และมติคณะรัฐมนตรีปี 2550 กำหนดให้การทดสอบภาคสนาม พืชGMOs จะต้องกระทำในสถานที่ราชการและต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ผ่านการทดสอบความปลอดภัย และได้รับอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี โดยพิจารณาเป็นกรณีไป ซึ่งการจะนำมายื่นขอจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ได้ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวอยู่เเล้ว
8.ประเด็นตัดเงื่อนไขเกี่ยวกับการระงับสิทธิในพันธุ์พืชใหม่ที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารและแทรกแซงของรัฐในกรณีที่มีการแต่งตั้งราคาเมล็ดพันธุ์แพงจนเกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงได้ (มาตรา 37 ของพ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน)
กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.ฯ ยังคงไว้ซึ่งหลักการเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะในการรักษาความมั่นคงทางอาหาร การป้องกันการผุกขาดทางการค้า หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีอำนาจออกประกาศควบคุมกำกับดูเเล (มาตรา43 และ 44 ของร่างพ.ร.บ.)
9.ประเด็นการแก้ที่มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากเกษตรกร นักวิชาการ องค์กรสาธารณประโยชน์ และภาคเอกชน จากการเลือกตั้งกันเองเป็นแต่งตั้งทั้งหมด (มาตรา5 ของพ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน)
กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า เป็นการปรับปรุงเพื่อลดขั้นตอนให้การแต่งตั้งคณะกรรมการสามารถทำได้อย่างรวดเร็วขึ้นและมีความต่อเนื่อง ทำให้สามารถดำเนินการได้ทันต่อเหตุการณ์ จึงปรับแก้ไขวิธีการคัดเลือกคณะกรรมการ โดยยังคงไว้ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเช่นเดิม (มาตรา 6 ของร่างพ.ร.บ. )
ทั้งหมดนี้คือ 9 ประเด็นข้อเท็จจริงที่ทางกรมวิชาการเกษตร ได้ชี้แจงต่อข้อสงสัยของมูลนิธิชีววถี ต่อร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ที่กำลังเปิดรับฟังความคิดของประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร โดยปัจจุบันได้ขยายเวลารับฟังไปจนถึงอีก 1 เดือน จากกำหนดเดิมระหว่างวันที่ 6-20 ต.ค. ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.doa.go.th/main/index.php?option=com_content&view=article&id=106:opinion&catid=105:open