กรมวิชาการเกษตรพูดไม่หมด ผอ.ไบโอไทย ซัดให้ดู ม.35วรรคสองร่างกม.คุ้มครองพันธุ์
ผอ.ไบโอไทย ซัดกลับกรมวิชาการเกษตร พูดไม่หมด ปมเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อ ในม.35วรรคสอง ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับใหม่ ภาคประชาสังคมล่ารายชื่อในเว็บฯchange.org
สืบเนื่องจากกรณีข้อวิพากเรื่อง ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ว่าจะเป็นการตัดสิทธิ์ของเกษตรกรในการเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อ ที่ต่อมา นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ออกมายืนยันว่า ยังสามารถเก็บได้ตามมาตรา 35 ใน่รางพ.ร.บ.ฉบับใหม่ (อ่านประกอบ กรมวิชาการเกษตรยันปรับพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฯ คนไทยได้ประโยชน์ ยังเก็บเมล็ดได้ )
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า สิ่งที่อยู่ในมาตรา 35 ในพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ร่างพ.ร.บ.กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครอง เกษตรกรมีสิทธิในการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตในพื้นที่ของตนเอง เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพืชมีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรได้
“กรมวิชาการเกษตรอ่านแค่วรรคแรก ว่าเกษตรกรสามารถเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้ แต่หลีกเลี่ยงที่จะอ่านในวรรคที่สองซึ่งสำคัญกว่า วรรคแรกคือหลักทั่วไป แต่เมื่อไหร่ก็ตาม หากรัฐมนตรีประกาศห้าม ก็จะไม่สามารถเก็บพันธุ์นั้นไปปลูกต่อได้ สิ่งนี้เป็นจุดประสงค์ของบริษัทผลิตพันธุ์มาโดยตลอด และการที่พยายามผลักดันกฎหมายโดยไปเอาตัวหลักการของอนุสัญญา UPOV 1991 ก็เพื่อวัตถุประสงค์นี้” นายวิฑูรย์กล่าวและว่า ปัญหาใหญ่ที่เรากำลังเจอ คือพันธุ์พืชที่เรากำลังใช้อยู่ภายใต้ระบบการค้าของบริษัทใหญ่ๆ ที่มามีบทบาท มีนโยบาย มีกฎหมายรองรับ เขาจะอ้างว่าจะสร้างแรงจูงใจให้กับ นักปรับปรุงพันธุ์ ขณะที่จะเป็นหลักประกันว่าพวกเราจะได้อาหารที่ดี เป็นเหตุผลหลักในการผลักดันกฎหมายนี้
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า การที่มีวรรคที่สองในมาตรา35 ซึ่งกระทบต่อเกษตรกรอย่างแน่นอน ปัจจุบัน การทำให้เป็นเมล็ดพันธุ์เป็นลูกผสม ที่เสมือนการบังคับอยู่ในตัวอยู่เเล้ว เพราะเมื่อเอาไปปลูกต่อแล้ว ผลผลิตที่ได้จะน้อยมาก หรือเรียกว่า เป็นหมันนั่นเอง ด้านหนึ่งแม้ว่าการปลูกเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะให้ผลผลิตที่เยอะขึ้น แต่อีกด้านเราต้องซื้อทุกฤดู
“ภายใต้พ.ร.บ.พันธุ์พืช ปี 2518 ถ้าคุณขายเมล็ดพันธุ์ ถือว่าผิดกฎหมาย การขายผลิตพันธุ์ที่เขาประกาศว่าเป็นพันธุ์พืชควบคุมคุณภาพ ต้องไปขออนุญาตก่อน ไม่งั้นจะผิดกฎหมาย เขาบอกว่า เพื่อไม่ให้บริษัทมาหลอกหลวงขายเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ดี รัฐต้องมาควบคุม แต่สิ่งนี้กำลังเป็นปัญหาในหลายประเทศ เมื่อเกษตรกรรู้สึกว่า เขาไม่ควรจะเป็นคนที่เป็นเพียงผู้บริโภค เพราะในอดีตที่ผ่านมา เขาเก็บรักษาพันธุ์ ขายพันธุ์ แต่วันหนึ่งทำไม่ได้” ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวและว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อยมาก หากเทียบกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในวันที่ 5 ตุลาคม ที่กรมวิชาเกษตรออกร่างกฎหมายคุ้มครองพืช ฉบับใหม่
นอกจากผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเว็บไซต์ https://www.change.org ได้มีการเปิดแคมเปญรณรงค์ในประเด็นดังกล่าว โดยกำหนดล่ารายชื่อไว้ที่ 500 รายชื่อ เพื่อร้องเรียนไปยัง พลเอกฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอให้ยุติการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชขยายอำนาจการผูกขาดพันธุ์พืช
ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางกรมวิชาการเกษตร ได้ออกมาชี้แจงข้อสงสัยทั้ง 9 ประเด็นหลักที่ทางมูลนิธิชีววิถีได้ตั้งข้อสังเกตไว้ (อ่านประกอบ 9ประเด็นปมร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพืชฉบับใหม่ ไบโอไทยสงสัย กรมวิชาการเกษตรตอบ)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เก็บเมล็ดพันธุ์โทษจำคุก มูลนิธิชีววิถีจวก กษ.ออกร่างกม.ปล้นเกษตรกรไทย
ไบโอไทยโต้กลับซัดกม.คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่เอื้อบรรษัทใหญ่ผูกขาดเต็มเม็ด
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://thaipublica.org/