‘ผู้หญิงคนนั้นอยู่ที่ไหน’ เรื่องสั้นเปลี่ยนชีวิต ‘อุปถัมภ์ กองแก้ว’ สู่ดาวประดับวงการน้ำหมึก
The Writer เป็นแคมเปญสัมภาษณ์นักเขียนนวนิยาย 12 คน ผู้เป็นตำนานของเมืองไทย มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เพื่อส่งเสริมการอ่าน แรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ร่วมกันสานต่อความฝัน สำหรับแขกรับเชิญคนที่6 ประจำเดือน พ.ย. คือ อุปถัมภ์ กองแก้ว กับเวทีนักเขียนที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เธอ
“ดิฉันถูกวิจารณ์ว่าเขียนขึ้นจากความสะใจ
ตอนนั้นงง ถามตัวเองว่า ‘เหรอ...เพื่อความสะใจเหรอ’
ทั้งที่ความจริงเราเขียนด้วยความเจ็บ...เราเจ็บ
รู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ...”
‘ผู้หญิงคนนั้นอยู่ที่ไหน’ เป็นเรื่องสั้นที่ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย แจ้งเกิดนักเขียนผู้มากประสบการณ์ ที่ชื่อ ‘อุปถัมภ์ กองแก้ว’ หรืออุปถัมภ์ จันทร์สกุนต์ ประดับวงการน้ำหมึกจวบจนถึงปัจจุบัน
อุปถัมภ์ กองแก้ว ในวัย 88 ปี ยังคงแข็งแรง เดินเหินกระฉับกระเฉง แม้จะอยู่ในวงการมานานเกือบ 70 ปี และวางมือจากการเขียนหนังสือมาร่วม 3 ปีแล้ว แต่ผู้หญิงคนนี้ยังคงจดจำวันแรกในวิชาชีพนักเขียนได้อย่างแม่นยำ
“เดิมทีดิฉันมีอาชีพครู ไม่ได้มีอาชีพนักเขียนตั้งแต่ต้น จนวันหนึ่งนิตยสารสกุลไทยประกาศเชิญชวนประกวดเรื่องสั้น ขนาด 1 หน้าครึ่ง กระดาษฟุลสแก๊ป ดิฉันตั้งชื่อเรื่องนั้นว่า ‘ผู้หญิงคนนั้นอยู่ที่ไหน’” อุปถัมภ์ บอกเล่าให้ฟัง ซึ่งเรื่องนี้มีเค้าโครงเรื่องจริงที่ชวนให้สะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง
อุปถัมภ์ เล่าถึงเค้าโครงเรื่องว่า วันหนึ่งมีหญิงชราคนหนึ่งเดินออกมาเห็นเด็กคนหนึ่งยืนอยู่มุมถนนอยู่นานสองนาน จนใส่บาตรเสร็จแล้ว เด็กคนนั้นยังไม่ไปไหน แต่กลับยืนเก้ ๆ กัง ๆ ทำให้เกิดความห่วง จึงเข้าไปสอบถาม และได้ความว่า เด็กมากับแม่ และน้องที่อยู่ในครรภ์ เพื่อมาคอยพ่อ แต่พ่อกลับไม่มาหาสักที ในที่สุด แม่จึงให้เด็กยืนรออยู่ตรงนี้ เพื่อออกไปตามหาพ่อ
ถึงประโยคข้างต้น ในดวงตาของผู้เล่ามีน้ำใสเอ่อคลอ ใช่แล้ว! เด็กคนนั้นถูกแม่ทิ้ง “ด้วยความสงสาร หญิงชราจึงชวนเข้าไปกินข้าว และชวนให้อยู่ที่บ้านหลังนี้ เผื่อวันหนึ่งแม่กลับมาคงเห็น ทั้งที่ภายในใจทราบดีว่า คงเป็นไปไม่ได้ เด็กได้อาศัยอยู่ด้วยกันเรื่อยมา จากวันเป็นปี โดยระหว่างนั้น เด็กจะวิ่งมาดูแม่ที่หน้าบ้านเป็นระยะ ๆ”
ดิฉันจึงอยากจะถามว่า ผู้หญิงคนนั้นอยู่ที่ไหน รู้หรือไม่ว่า ลูกใฝ่หาเหลือเกิน...เมื่อเค้าโครงเรื่องนี้อยู่ในใจ ‘อุปถัมภ์’ บอกว่า จะเก็บไว้คนเดียวไม่ได้...อย่ากระนั้นเลย พอดีที่นิตยสารสกุลไทยประกาศเชิญชวนประกวด จึงเขียนส่งไป และได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์
“ดิฉันเขียนจากความรู้สึก ไม่เขียนไม่ได้ เพราะจะเกาะกินความรู้สึกเราไปไม่รู้เท่าไหร่ ตอนนั้นไม่ทราบเหมือนกันว่า ทำไมถึงคิดเช่นนั้นได้”
‘สกุลไทย’ จึงเป็นเวทีแจ้งเกิด หลังจากนั้นเริ่มเขียนเรื่อยมา จนเวลาไม่พอที่จะเตรียมการสอน เพราะใช้เวลาส่วนหนึ่งเพื่องานเขียน ด้วยเหตุนี้เลยตัดสินใจลาออก “ช่วงนั้นงานเขียนเยอะมาก จำได้ว่า เขียนส่ง 4 เล่ม/สัปดาห์ ถึงกับต้องเร่งรัดตัวเอง นี่ยังไม่นับรวมงานปลีกย่อยได้รับเชิญให้เขียนพิเศษอีก”
เคล็ดลับความสำเร็จของงานเขียน นอกจากระเบียบวินัย ความอดทนแล้ว ‘พล๊อตเรื่อง’ เป็นอีกหนึ่งงานหินที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
อุปถัมภ์ ยอมรับว่า การวางพล๊อตนวนิยายมีความยากทุกเรื่อง ซึ่งนักเขียนท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “การวางพล๊อตเหมือนการขึ้นรถไฟให้สุดทางเหนือ ระหว่างทางอาจต้องพบกับผู้คน หรือภาพจากหน้าต่าง ซึ่งจะเป็นของใหม่ผ่านเข้ามา ให้ได้ไอเดียเพิ่มเติมตลอด”
แน่นอนว่า พล๊อตนวนิยายของนักเขียนผู้นี้ เธอบอกเองว่า ค่อนข้างหนัก อย่างเรื่อง ‘วิมานชีวิต’ ซึ่งไม่เข้าใจเช่นกันว่า เพราะเหตุใดจึงชอบเขียนพล๊อตแนวนั้น ซึ่งเรื่องราวทั้งหมด มีทั้งมาจากชีวิตตัวเอง ชีวิตคนอื่น แต่ส่วนใหญ่นำมาจากชีวิตคนอื่นก่อน (หัวเราะ)
‘ตลาดอารมณ์’ เป็นอีกหนึ่งนวนิยายที่ได้รับการยอมรับว่า สุดดราม่า ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครหลายครั้ง ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจมาก เพราะกวาด 2 รางวัล คือ สาขานักแสดงนำยอดเยี่ยม (อรัญญา นามวงศ์) และรางวัลล้างฟิล์มยอดเยี่ยม จากเวทีมหกรรมหนังเอเชียที่ไต้หวัน
แต่มีหรือไม่ที่งานเขียนของ ‘อุปถัมภ์’ จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ เธอเล่ามา เคยมี ตอนนั้นเขียนเรื่องสั้นมีเค้าโครงจากเรื่องจริงเกี่ยวกับแม่ผลักลูกให้ถูกรถเฉี่ยว เพื่อเรียกค่าเสียหาย เพื่อนำเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว
“ดิฉันต้องการสื่อให้เห็นว่า ความยากจนทำให้มนุษย์ทำได้ทุกอย่าง...ความหิวเป็นภัยร้ายกาจ...สร้างได้ทุกอย่าง ซึ่งตอนนั้นคิดแบบนั้น”
ทันทีที่เรื่องสั้นถูกเผยแพร่ออกไป ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก “ดิฉันถูกวิจารณ์ว่าเขียนขึ้นจากความสะใจ ตอนนั้นงง ถามตัวเองว่า ‘เหรอ...เพื่อความสะใจเหรอ’ ทั้งที่ความจริงเราเขียนด้วยความเจ็บ...เราเจ็บ รู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ เพราะเพราะโหดร้ายเหลือเกิน ไม่ใช่เขียนขึ้นจากความสะใจ”
แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่เธอไม่ได้โต้ตอบหรือเคืองโกรธ ทว่า กลับทำให้ได้เรียนรู้ว่า มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ จะหาคนที่เข้าใจกันโดยถ่องแท้ทุกคนนั้นไม่ได้ ต้องมีคนไม่เข้าใจเราบ้าง อย่างไรก็ตาม ถือเป็นบทเรียนอันหนึ่ง แต่ไม่โกรธ เพียงแค่อยากเรียนให้ผู้วิจารณ์คนนั้น ซึ่งปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ และเป็นใหญ่เป็นโตแล้ว ทราบว่า เรื่องนี้ได้เค้าโครงมาจากแฟ้มงานของกรมประชาสงเคราะห์
คุยมาถึงตอนนี้ อดถามไม่ได้ถึงกระแสในโลกโซเซียลมีเดียกับคำถามที่ว่า นวนิยายไทยหนีไม่พ้นเรื่องสะท้อนสังคม ทำไมไม่เขียนนำสังคมบ้าง
“นวนิยายเป็นเรื่องความเพ้อฝัน เขียนสะท้อนสังคมที่เป็นอยู่ปัจจุบันดีและถูกต้องแล้ว เพราะมีรากฐานจากความเป็นจริง การจะไปเขียนนำสังคมนั้น ไม่มีนักเขียนคนไหนอยากเขียน ยกเว้นมีอย่างอื่นแอบแฝง อย่างเช่นดิฉันพูดได้ว่า ไม่กล้าเขียนนำสังคม ทั้ง ๆ ที่เราสามารถคิดล่วงหน้าได้”
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ปัจจุบันวงการหนังสือค่อนข้างซบเซา แต่ในอนาคตยังมองไม่ออกเช่นกันว่า จะเดินไปสู่ทิศทางไหน...ดูไม่ออกเลย...ตัวเองเวลานี้เก็บหนังสือไว้หมด ดีหรือไม่ดี ต้องเก็บไว้ก่อน เพราะรู้สึกว่า เป็นของมีค่า
ถึงแม้อนาคตจะเป็นอย่างไร ‘อุปถัมภ์ กองแก้ว’ ไม่เคยลืมบุญคุณของแฟนนักอ่าน ตั้งแต่รุ่นอดีตจนถึงรุ่นปัจจุบัน และขอบคุณที่ยังแวะเวียนเข้ามาทักทายหรือปรารภถึง
สุดท้าย สิ่งที่อยากฝากขอให้ช่วยสนับสนุนให้เด็กไทยรักการอ่านให้มากขึ้น เพราะเล็งเห็นว่า การอ่านเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และควรใส่ใจในเรื่องการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องด้วย
...ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิต ‘อุปถัมภ์ กองแก้ว’ ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง ผู้หญิงที่เปรียบดังแรงบันดาลใจให้แก่นักเขียนรุ่นหลัง และทำให้รู้ว่า เธอเกิดมาเพื่อเป็น Born to be .
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:The Writer#5‘วลัย นวาระ’ บาร์บาร่า คาร์ทแลนด์ เมืองไทย ‘ควีนออฟควีน’ นิยายโรมานซ์
The Writer#4 ‘นภาลัย ไผ่สีทอง’ ตำนานนิยาย 12 บาท กับภารกิจสุดท้ายในโลกงานเขียน
The Writer#3 ‘โบตั๋น’ นางพญาสวนอักษร ผู้ปลุกชีวิต ‘นางเอก’ สู้ไม่ไหวก็ตายไปซะ
The Writer#2 เลื่อมระยับงามอักษร ‘โสภี พรรณราย’ 40 ปี โลดแล่นในโลกวรรณกรรม
The Writer#1 ราชินีนวนิยายดราม่า ‘อาริตา’ กว่าจะถึงวันนี้ไม่ง่าย