กางหน้าที่กรมส่งเสริม-ตรวจบัญชีสหกรณ์!คลี่เงื่อนปมปัญหาไฉนทุจริตหมื่นล.แก้ไขไม่ทัน?
“…อธิบายให้ง่ายขึ้นคือ อำนาจในการตรวจสอบการทุจริต หรือความเสียหายภายในสหกรณ์ เป็นหน้าที่ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 โดยวางเจ้าหน้าที่สำคัญไว้คือ ผู้สอบบัญชีสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ อำนาจสูงสุดอยู่ในมือของนายทะเบียนสหกรณ์ (อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นโดยตำแหน่ง) ที่จะชี้ถูกชี้ผิดว่า สหกรณ์ไหนกระทำการทุจริต และจำเป็นต้องสั่งแก้ไข หรือหนักที่สุดให้คณะกรรมการดำเนินการพ้นจากตำแหน่ง…”
ไม่ใช่แค่คณะกรรมการดำเนินงาน (บอร์ด) ฝ่ายบริหาร หรือเจ้าหน้าที่ภายในสหกรณ์เท่านั้น ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทุจริต แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเช่นกัน ที่ไม่ดูแล กำกับ หรือตรวจสอบ ให้ละเอียดถี่ถ้วน
ส่งผลให้เกิดการทุจริตอย่างมโหฬารในสหกรณ์ และเกิดความเสียหายมหาศาลนับหมื่นล้านบาท !
โดยเฉพาะกรณีตัวอย่าง สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่ถูกนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานฯกับพวก ยักยอกเงินออกไปหลายหมื่นล้านบาท จนถูกขยายผลไปถึงการฟอกเงิน มีการกล่าวหาบุคคลชื่อดังเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันจำนวนมาก
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้นำเสนอถึงมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ชงถึงคณะรัฐมนตรี ให้แก้ไขปัญหาทุจริตภายในสหกรณ์ทั่วประเทศไปแล้วว่า จำเป็นต้องตั้งหน่วยงานอิสระขึ้นมากำกับดูแลสหกรณ์ โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่ทำหน้าที่คล้ายสถาบันการเงิน มีวงเงินหมุนเวียนจำนวนมาก
สะท้อนให้เห็นถึงฝีมือการบริหารจัดการสหกรณ์ของภาครัฐว่า อาจยังไม่ถึงขั้น ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตกันมากมาย ไม่ใช่แค่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสหกรณ์อื่น ๆ อีกอย่างน้อย 277 แห่ง เสียหายไปแล้วกว่า 1.8 หมื่นล้านบาทด้วย (อ่านประกอบ : เจาะแฟ้ม ป.ป.ช.ไม่ใช่แค่บอร์ดบริหาร! จนท.รัฐตัวจักรสำคัญละเลยทุจริตสหกรณ์เจ๊งหมื่นล.?, ยกปมคลองจั่นฯทุจริต!เปิดมาตรการ ป.ป.ช. ชง ครม.แก้ปัญหาสหกรณ์ทั่ว ปท.ทำอย่างไรได้ผล?, ทุจริต277แห่งเจ๊ง1.8หมื่นล.!ป.ป.ช. โชว์พฤติการณ์สหกรณ์ ทั้งยักยอกเงิน-ปลอมลายมือบอร์ด)
ข้อเท็จจริงเป็นไปตามนั้นจริงหรือ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
ในช่วงรวบรวมข้อมูลของสำนักงาน ป.ป.ช. ได้เชิญตัวแทนหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เข้ามาหารือด้วยหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่มีหน้าที่คอยตรวจสอบบัญชี-การเงินของสหกรณ์ต่าง ๆ ว่า ดำเนินการอย่างโปร่งใสหรือไม่
กฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตรวจสอบสหกรณ์คือ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 22 บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการในการปฏิบัติหน้าที่ของตน จนทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก หรือสหกรณ์มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี หรือกิจการ หรือฐานะการเงิน ตามรายงานการสอบบัญชีหรือตามรายงานการตรวจสอบ ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ปฏิบัติการ ดังต่อไปนี้
(1) ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องตามวิธีการและระยะเวลาที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
(2) ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ระงับการปฏิบัติบางส่วนที่เป็นเหตุให้เกิดข้อบกพร่องหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก
(3) ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องนั้นให้แล้วเสร็จตามวิธีการและภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
(4) ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ หรือให้กรรมการซึ่งเกี่ยวข้องกับการนั้นพ้นจากตำแหน่งกรรมการ
หากพบกรณีการทุจริตภายในสหกรณ์นั้น ตัวแทนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ อธิบายว่า เดิมกรณีที่ผู้สอบบัญชีหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 ตรวจพบว่า ข้อบกพร่องทางการเงินการบัญชี ไม่ว่าจะเกิดจากการทุจริตหรือไม่ได้เกิดจากการทุจริตก็ตาม ภายในสหกรณ์ผู้สอบบัญชีต้องปฏิบัติตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยรายงานและการสั่งการให้สหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงินการบัญชี พ.ศ.2547
ต่อมานายทะเบียนสหกรณ์กำหนดให้รายงานและการสั่งการให้สหกรณ์แก้ไขขอบกพร่องดังกล่าว ต้องปฏิบัติตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการสั่งการให้สหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องทางการเงินการบัญชีสหกรณ์ และการใช้รายงานการใช้อำนาจของนายทะเบียนสหกรณ์ พ.ศ.2556
ระเบียบนี้กำหนดแนวทางและวิธีปฏิบัติในการใช้อำนาจสั่งการตาม มาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ ภายใต้ขอบเขตการใช้อำนาจดังกล่าว จึงกำหนดวิธีสั่งการให้สหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องทางการเงินการบัญชี กำหนดขั้นตอน เริ่มจากเมื่อผู้สอบบัญชีตรวจพบข้อบกพร่องทางการเงิน การบัญชี ให้เสนอความเห็นต่อหัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์ เพื่อพิจารณาใช้อำนาจสั่งการตามมาตรา 22 (1) หากข้อบกพร่องที่ตรวจพบอาจส่งผลกระทบต่อสหกรณ์อย่างร้ายแรง และต้องสั่งการให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ระงับการปฏิบัติการที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือต้องให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวตามมาตรา 22 (2)-(3) ให้เป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนัก
หากพบข้อบกพร่องที่ตรวจพบนั้น ต้องสั่งการให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตามมาตรา 22 (4) ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาสั่งการของรองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ การพิจารณาสั่งการให้คณะกรรมการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว ให้พิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมเจตนาของผู้กระทำที่ก่อให้เกิดข้อบกพร่องนั้นว่า มีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้จากการกระทำอันก่อให้เกิดข้อบกพร่องนั้นหรือไม่ โดยให้พิจารณาจากผลเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว และอาจเกิดขึ้นในอนาคต ประกอบด้วย กำหนดวิธีการสั่งการให้คณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่อง กำหนดให้เมื่อรองอธิบดี/ผู้อำนวยการ/หัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายทะเบียนสหกรณ์ ได้รับรายงานข้อบกพร่องทางการเงิน การบัญชี จากผู้สอบบัญชี รองนายทะเบียนสหกรณ์ ต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาข้อบกพร่องทางการเงิน การบัญชี ที่ผู้สอบบัญชีสหกรณ์รายงานว่า เห็นควรต้องใช้อำนาจตามที่ผู้สอบบัญชีเสนอหรือไม่
เพื่อให้การสั่งการให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องทางการเงินการบัญชี และการรายงานการใช้อำนาจของนายทะเบียนสหกรณ์ตามระเบียบฯดังกล่าวข้างต้น มีความชัดเจน และมีแนวทางการใช้ดุลพินิจให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์จึงกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการสั่งการให้สหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่องทางการเงินการบัญชี และการรายงานการใช้อำนาจของนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อให้ผู้สอบบัญชีและรองนายทะเบียนสหกรณ์ได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้วย
จากข้อเท็จจริงข้างต้น อธิบายให้ง่ายขึ้นคือ อำนาจในการตรวจสอบการทุจริต หรือความเสียหายภายในสหกรณ์ เป็นหน้าที่ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 โดยวางเจ้าหน้าที่สำคัญไว้คือ ผู้สอบบัญชีสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ อำนาจสูงสุดอยู่ในมือของนายทะเบียนสหกรณ์ (อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นโดยตำแหน่ง) ที่จะชี้ถูกชี้ผิดว่า สหกรณ์ไหนกระทำการทุจริต และจำเป็นต้องสั่งแก้ไข หรือหนักที่สุดให้คณะกรรมการดำเนินการพ้นจากตำแหน่ง
อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลัง หรือสุดความสามารถเท่าที่ควร แต่ยังปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตขึ้นในสหกรณ์ได้ โดยไม่ได้เข้าไปตรวจสอบแต่อย่างใด
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือ กรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่ปล่อยให้นายศุภชัย กับพวก ดำเนินการยักยอกเงินออกไปหลายหมื่นล้านบาท กระทั่งปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชน จึงดำเนินการเข้ามาแก้ไขภายหลัง หรือเรียกตามภาษาสุภาษิตไทยว่า ‘วัวหายล้อมคอก’ นั่นเอง
ล่าสุด ภายหลังสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอมาตรการของ ป.ป.ช. ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ภายในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ ได้เชิญสื่อมวลชน เพื่ออธิบายชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนโยบายการกำกับดูแล และส่งเสริมสหกรณ์ในปี 2561 ถึงบุคลากรกรมส่งเสริมสหกรณ์ทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้ว ในวันที่ 9 ต.ค. 2560
ส่วนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ มีบทบาทสำคัญอย่างไร กับกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอให้ทุกท่านทราบในตอนต่อไป !
อ่านประกอบ :
INFO: 13 คดียักยอก-ฟอกเงินสหกรณ์คลองจั่นฯในมือดีเอสไอ-เบ็ดเสร็จ 2 หมื่นล.
ชดใช้เงินสหกรณ์จุฬาฯ607ล.สะดุด!หนังสือตีกลับอ้างไม่มีคนรับ-จ่อสอบทุจริต
เบื้องหลัง!สหกรณ์จุฬาฯบี้บอร์ดเก่าชดใช้607ล.ปมฝากเงิน‘นพเก้ารวมใจ’ -ชนวน'บัญชา'ไขก๊อก?
‘บัญชา’อดีตปธ.บอร์ดสหกรณ์จุฬาฯไขก๊อกรองอธิการบดีเซ่นปมฝากเงิน ‘นพเก้ารวมใจ’915ล.
เบื้องหลัง!สหกรณ์จุฬาฯบี้บอร์ดเก่าชดใช้607ล.ปมฝากเงิน‘นพเก้ารวมใจ’ -ชนวน'บัญชา'ไขก๊อก?
ปธ.นพเก้ารวมใจปัดเป็นนอมินี‘ศุภชัย-คลองจั่น’-ขายทรัพย์สินทุนจีนหมื่น ล.ใช้หนี้
พบโอนเข้าบัญชีคลองจั่น 5 ล.! เส้นทางเงิน‘บิ๊กจุฬาฯ’ ดีเอสไอสอบพันคดี‘ศุภชัย’
โชว์หนังสือดีเอสไอให้สหกรณ์จุฬาฯส่งเส้นทางเงิน89ล.‘อดีตบอร์ด’พันคดีคลองจั่น
สหกรณ์จุฬาฯส่งเส้นทางเงิน‘อดีตบอร์ด’ ให้ดีเอสไอ เชื่อพันปมคลองจั่น-จ่อแจงสมาชิก
ดีเอสไอพบเส้นทางเงิน89ล.‘บิ๊ก’จุฬาฯ ไหลเข้าบัญชีสหกรณ์ฯพันปล่อยกู้คลองจั่น
ยันไม่กระทบเงินลงทุน! สหกรณ์จุฬาฯบี้หาคนชดใช้ 915 ล.ปมเลิก‘นพเก้ารวมใจ’
เบื้องหลังสหกรณ์จุฬาฯทำธุรกรรม ‘นพเก้ารวมใจ’915ล.ก่อนถูกเบี้ยว-ใครชดใช้?
ขมวดเส้นทางเงิน 5 พันล. 3 สหกรณ์ดังถึง ‘นพเก้ารวมใจ’-ไฉน‘จุฬา’ไว้ใจฝาก?
เลิก นพเก้ารวมใจ! เบี้ยวหนี้ 3 สหกรณ์ดัง 5 พันล.-‘จุฬา’ด้วย ชง ปปง.สอบต่อ
คุ้ยข้อมูล‘มอนเทอเรย์ พาร์ค รีสอร์ท’ ก่อนถูกจำนอง 650 ล.ปมเลิก‘นพเก้ารวมใจ’
ปธ.นพเก้ารวมใจปัดเป็นนอมินี‘ศุภชัย-คลองจั่น’-ขายทรัพย์สินทุนจีนหมื่น ล.ใช้หนี้
ชัดๆปม‘จุฬาฯ’ฝากเงิน‘นพเก้ารวมใจ’ ไฉนโดนเบี้ยว-ไขปริศนา‘พัลลภ’เปิดงานบ่อย?
ปธ.นพเก้ารวมใจปัดเป็นนอมินี‘ศุภชัย-คลองจั่น’-ขายทรัพย์สินทุนจีนหมื่น ล.ใช้หนี้
ถูกคำสั่งระงับทำบ้านจัดสรร! ปธ.นพเก้ารวมใจขายต่อทุนจีนพัน ล.คืน‘จุฬา’ครบแน่
เส้นทางฝากเงิน‘จุฬาฯ’ถึง ‘คลองจั่น-เครือข่าย’ 1.2 พันล.จับตาได้คืนหรือแห้ว?
ไม่รู้เรื่องแค่เซ็น MOU! สหกรณ์สารคามฯแจงปม‘นพเก้ารวมใจ’ทำบ้านจัดสรรพันล.
โชว์โมเดลบ้านจัดสรรพัน ล.‘นพเก้ารวมใจ’ใช้คืนจุฬาฯ-‘พัลลภ’โผล่พิธีเปิดอีก
ที่ตั้ง‘นพเก้ารวมใจฯ’เป็นบ้านในเคหะรามฯ-‘พัลลภ-บิ๊ก ตร.’โผล่พิธีเปิด สนง.ปทุมฯ
ไขที่มาสหกรณ์จุฬาฯฝากเงิน‘นพเก้ารวมใจ’ 915 ล.ก่อนถูกเบี้ยวฟ้องเรียกคืนพันล.
ปธ.สหกรณ์จุฬาฯแจงปมปล่อยกู้-ฝาก‘คลองจั่น-เครือข่าย’-ฟ้องเรียกเงินแล้ว 2 แห่ง
หนี้อ่วม! เจาะไส้ใน‘นพเก้ารวมใจ’ หาเงินจากไหนมาใช้คืนสหกรณ์จุฬาฯพันล.?
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ป.ป.ช. จาก คมชัดลึก