- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เจาะแฟ้ม ป.ป.ช.ไม่ใช่แค่บอร์ดบริหาร! จนท.รัฐตัวจักรสำคัญละเลยทุจริตสหกรณ์เจ๊งหมื่นล.?
เจาะแฟ้ม ป.ป.ช.ไม่ใช่แค่บอร์ดบริหาร! จนท.รัฐตัวจักรสำคัญละเลยทุจริตสหกรณ์เจ๊งหมื่นล.?
“…โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการทุจริตภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ชี้ให้เห็นชัดว่า นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานฯ มีอิทธิพลในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นอย่างมาก ทั้งการแทรกแซงการดำเนินการของสหกรณ์ การไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของสหกรณ์ ตลอดจนการนำเงินออกจากสหกรณ์โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของบอร์ด แสดงถึงความไม่โปร่งใสในการดำเนินการที่ขาดการตรวจสอบทั้งจากภายในสหกรณ์ หรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง…”
“ให้มีองค์การหรือหน่วยงานอิสระเพื่อกำกับดูแลการดำเนินกิจการของสหกรณ์เหล่านี้ โดยให้องค์การหรือหน่วยงานอิสระดังกล่าว อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยองค์กรนี้ต้องมีความเป็นเอกภาพ ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง ดำเนินการภายใต้หลักการของความโปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาล
มีหน้าที่กำหนดนโยบาย กฏเกณฑ์ ข้อบังคับ ในการบริหารจัดการ และกำกับดูแล ตรวจสอบ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน หรือสหกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายกับการดำเนินการของสถาบันการเงิน ซึ่งประกอบธุรกิจเงินทุน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของสหกรณ์แต่ละประเภท รวมทั้งมีอำนาจในการกล่าวโทษดำเนินคดีสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน กรณีกระทำผิดตามกฎหมายด้วย”
เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเร็ว ๆ นี้ (อ่านประกอบ : ยกปมคลองจั่นฯทุจริต!เปิดมาตรการ ป.ป.ช. ชง ครม.แก้ปัญหาสหกรณ์ทั่ว ปท.ทำอย่างไรได้ผล?)
ไม่ว่ามาตรการนี้คณะรัฐมนตรี จะนำไปปฏิบัติ หรือสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ต้นสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่กำกับดูแลสหกรณ์ทั้งประเทศ) ดำเนินการแก้ไขหรือไม่ ?
แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ณ ปี 2558 หรือประมาณ 2 ปีที่แล้ว ข้อมูลจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ พบว่า มีสหกรณ์ทุจริตอย่างน้อย 277 แห่ง ทำเสียหายไปแล้วกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 63% ของสหกรณ์ทั่วประเทศ
ขณะนี้ปี 2560 แล้ว ไม่รู้ว่ายอดการทุจริตในสหกรณ์พุ่งขึ้น หรือลดลงมากกว่าเดิมกันแน่ ?
พฤติการณ์ที่พบอย่างชัดเจนคือ การยักยอกเงินออกจากสหกรณ์ การปลอมลายมือชื่อคณะกรรมการดำเนินงาน (บอร์ด) หรือแม้แต่การปลอมลายมือชื่อสมาชิกเพื่อถอนเงินออกไป (อ่านประกอบ : ทุจริต277แห่งเจ๊ง1.8หมื่นล.!ป.ป.ช. โชว์พฤติการณ์สหกรณ์ ทั้งยักยอกเงิน-ปลอมลายมือบอร์ด)
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจภาพรวมของการทุจริตในสหกรณ์มากยิ่งขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาตรการจากสำนักงาน ป.ป.ช. ที่รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสหกรณ์ทั่วประเทศ สรุปได้ดังนี้
การทุจริตในสหกรณ์เป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากสหกรณ์เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของสมาชิกซึ่งเป็นประชาชนในหลายสาขาอาชีพ สหกรณ์มีบทบาททั้งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม จากการดำเนินการรวบรวมผลผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย การตลาดชุมชน ธุรกิจบริการต่าง ๆ การที่ระบบสหกรณ์จะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ระบบสหกรณ์ต้องมีความเข้มแข็ง
แต่ปัจจุบันระบบสหกรณ์ยังมีปัญหาอย่างมากและเป็นปัญหาที่สะสมยาวนาน เมื่อเกิดปัญหาการทุจริตที่เกิดความเสียหายภายในสหกรณ์ หน่วยงานของรัฐต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา อาจต้องใช้งบประมาณจากรัฐในการเยียวยา จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจะเห็นได้ว่า การทุจริตในสหกรณ์ต่าง ๆ มีสาเหตุหลายประการ เช่น กรรมการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ การตรวจสอบกิจการภายในสหกรณ์เอง และการกำกับดูแลจากหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เพียงพอ
จากปัญหาดังกล่าวสามารถสรุปประเด็นการพิจารณาได้ ดังนี้
หลักการของสหกรณ์ที่มุ่งเน้นถึงการดำเนินการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยสมาชิกช่วยเหลือตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่การดำเนินการของสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนนั้น มีการเงิน การลงทุนจำนวนมหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง การดำเนินการของสหกรณ์ดังกล่าว จึงมีลักษณะคล้ายสถาบันการเงิน แต่กลไกในการกำกับดูแลสหกรณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีประสิทธิภาพ เกิดการทุจริตภายในสหกรณ์ สมาชิกจึงได้รับผลกระทบ ผู้ได้รับผลกระทบไม่ถูกคุ้มครอง เกิดกระทบต่อสาธารณะในวงกว้าง
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏการทุจริตภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และปัญหาการทุจริตภายในสหกรณ์อื่น ๆ ซึ่งเกิดผลกกระทบต่อประชาชน มีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก เกิดการทุจริตภายในสหกรณ์ เกิดจากการบริหารจัดการภายในสหกรณ์ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการตรวจสอบ กำกับดูแลที่เพียงพอ จึงเกิดปัญหาการทุจริตภายในสหกรณ์ที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง
เมื่อพิจารณาจากอำนาจการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการกำกับดูแลสหกรณ์โดยตรง ได้แก่ นายทะเบียนสหกรณ์ แต่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กลับไม่มีอำนาจควบคุมกำกับดูแลสหกรณ์เท่าที่ควร เช่น กรมส่งเสริมสหกรณ์มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ ส่วนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ การกำหนดระบบบัญชี และมาตรฐานการสอบบัญชีให้เหมาะสมกับธุรกิจของสหกรณ์ ทั้ง 2 กรมดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่สั่งการกำกับดูแลสหกรณ์ เนื่องจากการกำกับดูแลและการใช้อำนาจสั่งการให้คณะกรรมการดำเนินงาน (บอร์ด) สหกรณ์ดำเนินการในเรื่องใด ๆ นั้น เป็นอำนาจของนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ผ่านมาไม่มีการใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด และเคร่งครัดของนายทะเบียนสหกรณ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการทุจริตภายในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ชี้ให้เห็นชัดว่า นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ประธานฯ มีอิทธิพลในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นอย่างมาก ทั้งการแทรกแซงการดำเนินการของสหกรณ์ การไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของสหกรณ์ ตลอดจนการนำเงินออกจากสหกรณ์โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของบอร์ด แสดงถึงความไม่โปร่งใสในการดำเนินการที่ขาดการตรวจสอบทั้งจากภายในสหกรณ์ หรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริง ผู้สอบบัญชีภาคเอกชน ที่ตรวจพบข้อบกพร่องในการดำเนินการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น หน่วยงานภาครัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกลับไม่มีการสนองตอบให้เกิดการระงับยับยั้งปัญหาได้อย่างทันท่วงที ปล่อยให้เวลาล่วงเลยผ่านเป็นเวลานาน จนพบการทุจริตในสหกรณ์ที่มีมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลสหกรณ์ของหน่วยงานภาครัฐในปัจจุบัน
นอกจากนี้กรณีกล่าวโทษเมื่อพบความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับการดำเนินการ หรือมีการกระทำผิดของสหกรณ์ ผู้ที่สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษเกี่ยวกับกรณีนี้ ได้แก่ สมาชิกสหกรณ์ แต่สมาชิกสหกรณ์ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการของสหกรณ์อย่างเพียงพอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังขาดการกำกับดูแลสหกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ
กรณีการทุจริตครั้งนี้ นายทะเบียนสหกรณ์ หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ ไม่เคยใช้อำนาจตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ กรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่มีการทุจริตมูลค่ามากมายมหาศาลหลังจากเป็นประเด็นในการเสนอข่าวของสื่อมวลชน จึงมีการดำเนินการในกรณีการทุจริตของสหกรณ์ดังกล่าวจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เป็นผลให้ไม่สามารถบรรเทาความเสียหายได้อย่างทันท่วงที
จากข้อเท็จจริงข้างต้น จึงชี้ให้เห็นชัดว่า ปัญหาการทุจริตภายในสหกรณ์ นอกเหนือจากตัวบอร์ดบริหาร และเจ้าหน้าที่ในสหกรณ์เองแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐ และหน่วยงานของรัฐ ก็มีส่วนรับผิดชอบไม่น้อย โดยเฉพาะนายทะเบียนสหกรณ์ที่แก้ไขปัญหาไม่ทันท่วงที ส่งผลให้ความเสียหายจากเล็กน้อย กลายเป็นตัวเลขมหาศาล
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอให้มีหน่วยงานอิสระขึ้นมากำกับดูแลสหกรณ์ โดยเฉพาะสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่ทำหน้าที่คล้ายสถาบันการเงิน และมีวงเงินหมุนเวียนจำนวนมากด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทุจริตอย่างที่ผ่านมาแล้วอีก
ส่วนจะทำได้หรือไม่ อย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป !
อ่านประกอบ :
INFO: 13 คดียักยอก-ฟอกเงินสหกรณ์คลองจั่นฯในมือดีเอสไอ-เบ็ดเสร็จ 2 หมื่นล.
ชดใช้เงินสหกรณ์จุฬาฯ607ล.สะดุด!หนังสือตีกลับอ้างไม่มีคนรับ-จ่อสอบทุจริต
เบื้องหลัง!สหกรณ์จุฬาฯบี้บอร์ดเก่าชดใช้607ล.ปมฝากเงิน‘นพเก้ารวมใจ’ -ชนวน'บัญชา'ไขก๊อก?
‘บัญชา’อดีตปธ.บอร์ดสหกรณ์จุฬาฯไขก๊อกรองอธิการบดีเซ่นปมฝากเงิน ‘นพเก้ารวมใจ’915ล.
เบื้องหลัง!สหกรณ์จุฬาฯบี้บอร์ดเก่าชดใช้607ล.ปมฝากเงิน‘นพเก้ารวมใจ’ -ชนวน'บัญชา'ไขก๊อก?
ปธ.นพเก้ารวมใจปัดเป็นนอมินี‘ศุภชัย-คลองจั่น’-ขายทรัพย์สินทุนจีนหมื่น ล.ใช้หนี้
พบโอนเข้าบัญชีคลองจั่น 5 ล.! เส้นทางเงิน‘บิ๊กจุฬาฯ’ ดีเอสไอสอบพันคดี‘ศุภชัย’
โชว์หนังสือดีเอสไอให้สหกรณ์จุฬาฯส่งเส้นทางเงิน89ล.‘อดีตบอร์ด’พันคดีคลองจั่น
สหกรณ์จุฬาฯส่งเส้นทางเงิน‘อดีตบอร์ด’ ให้ดีเอสไอ เชื่อพันปมคลองจั่น-จ่อแจงสมาชิก
ดีเอสไอพบเส้นทางเงิน89ล.‘บิ๊ก’จุฬาฯ ไหลเข้าบัญชีสหกรณ์ฯพันปล่อยกู้คลองจั่น
ยันไม่กระทบเงินลงทุน! สหกรณ์จุฬาฯบี้หาคนชดใช้ 915 ล.ปมเลิก‘นพเก้ารวมใจ’
เบื้องหลังสหกรณ์จุฬาฯทำธุรกรรม ‘นพเก้ารวมใจ’915ล.ก่อนถูกเบี้ยว-ใครชดใช้?
ขมวดเส้นทางเงิน 5 พันล. 3 สหกรณ์ดังถึง ‘นพเก้ารวมใจ’-ไฉน‘จุฬา’ไว้ใจฝาก?
เลิก นพเก้ารวมใจ! เบี้ยวหนี้ 3 สหกรณ์ดัง 5 พันล.-‘จุฬา’ด้วย ชง ปปง.สอบต่อ
คุ้ยข้อมูล‘มอนเทอเรย์ พาร์ค รีสอร์ท’ ก่อนถูกจำนอง 650 ล.ปมเลิก‘นพเก้ารวมใจ’
ปธ.นพเก้ารวมใจปัดเป็นนอมินี‘ศุภชัย-คลองจั่น’-ขายทรัพย์สินทุนจีนหมื่น ล.ใช้หนี้
ชัดๆปม‘จุฬาฯ’ฝากเงิน‘นพเก้ารวมใจ’ ไฉนโดนเบี้ยว-ไขปริศนา‘พัลลภ’เปิดงานบ่อย?
ปธ.นพเก้ารวมใจปัดเป็นนอมินี‘ศุภชัย-คลองจั่น’-ขายทรัพย์สินทุนจีนหมื่น ล.ใช้หนี้
ถูกคำสั่งระงับทำบ้านจัดสรร! ปธ.นพเก้ารวมใจขายต่อทุนจีนพัน ล.คืน‘จุฬา’ครบแน่
เส้นทางฝากเงิน‘จุฬาฯ’ถึง ‘คลองจั่น-เครือข่าย’ 1.2 พันล.จับตาได้คืนหรือแห้ว?
ไม่รู้เรื่องแค่เซ็น MOU! สหกรณ์สารคามฯแจงปม‘นพเก้ารวมใจ’ทำบ้านจัดสรรพันล.
โชว์โมเดลบ้านจัดสรรพัน ล.‘นพเก้ารวมใจ’ใช้คืนจุฬาฯ-‘พัลลภ’โผล่พิธีเปิดอีก
ที่ตั้ง‘นพเก้ารวมใจฯ’เป็นบ้านในเคหะรามฯ-‘พัลลภ-บิ๊ก ตร.’โผล่พิธีเปิด สนง.ปทุมฯ
ไขที่มาสหกรณ์จุฬาฯฝากเงิน‘นพเก้ารวมใจ’ 915 ล.ก่อนถูกเบี้ยวฟ้องเรียกคืนพันล.
ปธ.สหกรณ์จุฬาฯแจงปมปล่อยกู้-ฝาก‘คลองจั่น-เครือข่าย’-ฟ้องเรียกเงินแล้ว 2 แห่ง
หนี้อ่วม! เจาะไส้ใน‘นพเก้ารวมใจ’ หาเงินจากไหนมาใช้คืนสหกรณ์จุฬาฯพันล.?