- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ขมวดเส้นทางเงิน 5 พันล. 3 สหกรณ์ดังถึง ‘นพเก้ารวมใจ’-ไฉน‘จุฬา’ไว้ใจฝาก?
ขมวดเส้นทางเงิน 5 พันล. 3 สหกรณ์ดังถึง ‘นพเก้ารวมใจ’-ไฉน‘จุฬา’ไว้ใจฝาก?
“…เนื่องจากที่ดินที่สหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ นำมาจำนองไว้นั้น มีการสร้างบ้านจัดสรร ทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งเกินกว่า 915 ล้านบาทที่ฝากไว้ ดังนั้นจะทำให้ได้เงินต้นและดอกเบี้ยคืนแน่นอน และหากสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯผิดนัดชำระ ที่ดินดังกล่าวจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์จุฬาฯด้วย…”
วงการสหกรณ์ตกเป็นที่สนใจจากสาธารณชนอีกครั้ง!
หลังจากช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมามีประเด็นให้ถูกพูดถึงค่อนข้างเยอะ ไล่มาตั้งแต่กรณี ‘สวัสดิ์ แสงบางปลา’ อดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกแจ้งความเอาผิดฐานฉ้อโกง หลอกสมาชิกร่วมลงทุนเสียหายกว่า 500 ล้านบาท มาถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าไปสอบอย่างเงียบ ๆ ที่บอร์ดสหกรณ์จุฬาฯปล่อยกู้ และทำธุรกรรมกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น สหกรณ์เคหะสถานนพเก้ารวมใจ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี รวมวงเงิน 1.2 พันล้านบาท ที่ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากล
จนล่าสุดดีเอสไอแจ้งให้สหกรณ์จุฬาฯส่งข้อมูลเส้นทางการเงิน ‘อดีตบอร์ด’ ที่ปัจจุบันเป็นผู้บริหารระดับสูงของสหกรณ์จุฬาฯ รวม 32 ครั้ง 89 ล้านบาท มาให้ตรวจสอบแล้ว เบื้องต้นพบว่า มีการโอนเงินจากบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาสยามสแควร์ ไปยังบัญชีธนาคารกรุงไทยสาขาสหกรณ์คลองจั่นฯ รวมอย่างน้อย 5 ล้านบาท
(อ่านประกอบ : พบโอนเข้าบัญชีคลองจั่น 5 ล.! เส้นทางเงิน‘บิ๊กจุฬาฯ’ ดีเอสไอสอบพันคดี‘ศุภชัย’, โชว์หนังสือดีเอสไอให้สหกรณ์จุฬาฯส่งเส้นทางเงิน89ล.‘อดีตบอร์ด’พันคดีคลองจั่น, ชื่ออดีต ปธ.สหกรณ์จุฬาฯหรา! โชว์ใบรับ-ถอนเงินปมหลอกลงทุนสูญพันล.)
กระทั่งเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงการตรวจสอบพบความเสียหายของสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ ที่เชื่อมโยงถึงสหกรณ์ชื่อดัง 3 แห่ง ที่ฝากเงินไว้ ได้แก่ สหกรณ์จุฬาฯ ฝากเงิน 915 ล้านบาท ชุมนุมสหกรณ์ธนกิจไทย ฝากเงิน 4,485 ล้านบาท และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนนทบุรี ฝากเงิน 113 ล้านบาท (รวมทั้ง 3 สหกรณ์วงเงินกว่า 5,513 ล้านบาท)
เบื้องต้น นายทะเบียนสหกรณ์ สั่งเลิกสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯแล้ว เนื่องจากพบปัญหาโครงการลงทุนสร้างบ้านจัดสรรที่ จ.มหาสารคาม เพื่อขายให้บุคคลภายนอกซึ่งเกินกว่าท้องที่ดำเนินงานในข้อบังคับของสหกรณ์ แม้เตือนแล้วหลายครั้ง และสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่อง แต่ก็ไม่ดำเนินการ ต่อมา สหกรณ์ทั้ง 3 แห่ง ขอถอนเงินคืน แต่สหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ ไม่สามารถชำระคืนได้ ดังนั้นจึงส่งข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินต่อ พร้อมกับร้องทุกข์ต่อตำรวจเพื่อดำเนินคดีกับบอร์ดสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ กรณีซื้อที่ดินราคาสูงเกินจริงด้วย
นอกจากนี้นายทะเบียนสหกรณ์ยังออกคำสั่งเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2560 ให้คณะกรรมการของสหกรณ์ทั้ง 3 แห่ง ที่นำเงินมาฝากสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯว่า ให้ฟ้องเรียกเงินคืนจากสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯภายใน 15 วัน และให้ตรวจสอบหลักประกันว่าเพียงพอกับมูลหนี้หรือไม่ หากพบว่าไม่เพียงพอให้คณะกรรมการของสหกรณ์นั้น ๆ ชุดที่ดำเนินการชดใช้เงินคืนแก่สหกรณ์ และหากพบว่าการกระทำของคณะกรรมการสหกรณ์ดังกล่าวส่อไปในทางทุจริต ให้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อไป
(อ่านประกอบ : เลิก นพเก้ารวมใจ! เบี้ยวหนี้ 3 สหกรณ์ดัง 5 พันล.-‘จุฬา’ด้วย ชง ปปง.สอบต่อ)
สำหรับเส้นทางการเงินของสหกรณ์ทั้ง 3 แห่ง ที่ไหลมาถึงสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ทำแผนผังสรุปไว้ ดังนี้
ชุมนุมสหกรณ์ธนกิจไทย ฝากเงิน 4,485 ล้านบาท โดยสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯได้จำนองทรัพย์สินกับชุมนุมสหกรณ์ธนกิจไทยเพื่อค้ำประกันไว้ 2 รายการ
หนึ่ง ที่ดินในโครงการบ้านสวนสารคาม 1 รวม 1 โฉนด เนื้อที่ประมาณ 91 ไร่ มูลค่า 173.44 ล้านบาท ที่ดิน อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม รวม 12 โฉนด เนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ มูลค่า 75.28 ล้านบาท ที่ดิน จ.นนทบุรี (มสธ) รวม 10 โฉนด เนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ มูลค่า 2,055.63 ล้านบาท ที่ดิน จ.นนทบุรี (ป๊อบปูล่า เมืองทอง) รวม 6 โฉนด เนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ มูลค่า 2,239 ล้านบาท ที่ดิน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี รวม 29 โฉนด เนื้อที่ประมาณ 1,018 ไร่ มูลค่า 2,019 ล้านบาท ที่ดิน บึงกุ่ม เขตบางกะปิ กทม. รวม 44 โฉนด เนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ มูลค่า 421.50 ล้านบาท รวมราคาประเมินทั้งหมด 6,983.85 ล้านบาท
สอง ที่ดิน ต.บางหลวง อ.เมือง จ.ปทุมธานี รวม 4 แปลง เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ มูลค่า 122.26 ล้านบาท และที่ดิน 6 แปลง โครงการมอนเทอเรย์ จ.พิจิตร เนื้อที่ประมาณ 255 ไร่ มูลค่าประมาณ 528.20 ล้านบาท รวมราคาประเมินทั้งหมด 650.46 ล้านบาท
ถ้ารวมมูลค่าที่ดินที่นำมาจำนองทั้ง 2 รายการ เป็นเงินกว่า 7,633 ล้านบาท
สหกรณ์จุฬาฯ ฝากเงิน 915 ล้านบาท โดยสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯได้จำนองทรัพย์สินกับสหกรณ์จุฬาฯ 1 รายการ ได้แก่ ที่ดิน (โครงการบ้านสวนสารคาม 2) รวม 8 โฉนด เนื้อที่ประมาณ 218 ไร่ แต่ไม่ได้ระบุมูลค่า และมีการนำเงินไปซื้ออาคารเลขที่ 802 ซ.รามคำแหง 190/2 เขตมีนบุรี กทม.
ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนนทบุรี ฝากเงิน 113 ล้านบาท โดยสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน
สำหรับการดำเนินการหลังจากนายทะเบียนเลิกสหกรณ์นพเก้ารวมใจแล้ว ได้สั่งให้สหกรณ์ทั้ง 3 แห่ง ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงบอร์ดที่อนุมัติให้ทำธุรกรรมกับสหกรณ์นพเก้ารวมใจ เพื่อหาผู้รับผิดชอบภายใน 15 วัน หากพบว่า มีการทุจริตให้ร้องทุกข์ภายใน 3 วัน หากเป็นการกระทำโดยประมาทให้เรียกให้ชดใช้ภายใน 15 วัน ถ้าไม่ชดใช้ให้ฟ้องคดีภายใน 15 วัน
ทั้งนี้มีการระบุด้วยว่า มีสหกรณ์ที่ถือหุ้นในชุมนุมสหกรณ์ธนกิจไทย ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 41 แห่ง เป็นเงิน 743 ล้านบาท และสหกรณ์ที่นำเงินมาฝากกับชุมนุมสหกรณ์ธนกิจไทย ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 35 แห่ง เป็นเงิน 5,750 ล้านบาท
โดยในจำนวนนี้มีร้านสหกรณ์จุฬาฯ และสหกรณ์จุฬาฯ ถือหุ้นและฝากเงินอยู่ด้วย 35.06% และ 1.5% ตามลำดับ (ดูเอกสารประกอบ)
เท่ากับว่าสหกรณ์จุฬาฯ เสียหายสองต่อเลยหรือไม่ ?
หากโฟกัสเฉพาะประเด็นสหกรณ์จุฬาฯ ที่เป็นสหกรณ์ใหญ่ สืบสาวกลับไปว่า ทำไมจึงไว้ใจฝากเงินไว้กับสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ ?
นายสวัสดิ์ แสงบางปลา อดีตประธานสหกรณ์จุฬาฯ เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เนื่องจากที่ดินที่สหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ นำมาจำนองไว้นั้น มีการสร้างบ้านจัดสรร ทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งเกินกว่า 915 ล้านบาทที่ฝากไว้ ดังนั้นจะทำให้ได้เงินต้นและดอกเบี้ยคืนแน่นอน และหากสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯผิดนัดชำระ ที่ดินดังกล่าวจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์จุฬาฯด้วย
ซึ่งข้อมูลตรงนี้ ตรงกันกับที่ รศ.ดร.สวัสดิ์ ออกแถลงการณ์พิเศษในกรณีฝากเงินสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ ที่ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2556 สหกรณ์จุฬาฯ นำเงินไปฝาก 915 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุกวันที่ 31 มี.ค. ของทุกปี เงินฝากครบกำหนดวันที่ 27 พ.ย. 2558 โดยมีหลักประกันเป็นโฉนดที่ดินจำนวน 218 ไร่ 3 งาน 48 ตรว. อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จ.มหาสารคาม นำมาจำนองเป็นประกัน ที่ดินดังกล่าวอยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างทาว์นเฮ้าส์ ขายแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อเงินฝากครบกำหนด สหกรณ์จุฬาฯ แจ้งขอถอนคืนเงินฝากทั้งจำนวนพร้อมดอกเบี้ย สหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ แจ้งขอขยายระยะเวลาคืนเงินฝาก ดอกเบี้ย และค่าผิดชำระหนี้
(อ่านประกอบ : ไขที่มาสหกรณ์จุฬาฯฝากเงิน‘นพเก้ารวมใจ’ 915 ล.ก่อนถูกเบี้ยวฟ้องเรียกคืนพันล.)
ทั้งหมดคือข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเส้นทางการเงินของสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ ที่เชื่อมโยงไปถึงสหกรณ์จุฬาฯ และอาจเป็นหนึ่งในความไม่ชอบมาพากลที่ทำให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบการทำธุรกรรมระหว่างสหกรณ์จุฬาฯ กับสหกรณ์คลองจั่นฯ สหกรณ์มงคลเศรษฐีฯ และสหกรณ์นพเก้ารวมใจฯ กระทั่งมีการขอเส้นทางการเงิน ‘บิ๊กจุฬาฯ’ เพื่อตรวจสอบอยู่ในขณะนี้ด้วย ?
อ่านประกอบ :
ชัดๆปม‘จุฬาฯ’ฝากเงิน‘นพเก้ารวมใจ’ ไฉนโดนเบี้ยว-ไขปริศนา‘พัลลภ’เปิดงานบ่อย?
ปธ.นพเก้ารวมใจปัดเป็นนอมินี‘ศุภชัย-คลองจั่น’-ขายทรัพย์สินทุนจีนหมื่น ล.ใช้หนี้
ถูกคำสั่งระงับทำบ้านจัดสรร! ปธ.นพเก้ารวมใจขายต่อทุนจีนพัน ล.คืน‘จุฬา’ครบแน่
เส้นทางฝากเงิน‘จุฬาฯ’ถึง ‘คลองจั่น-เครือข่าย’ 1.2 พันล.จับตาได้คืนหรือแห้ว?
ไม่รู้เรื่องแค่เซ็น MOU! สหกรณ์สารคามฯแจงปม‘นพเก้ารวมใจ’ทำบ้านจัดสรรพันล.
โชว์โมเดลบ้านจัดสรรพัน ล.‘นพเก้ารวมใจ’ใช้คืนจุฬาฯ-‘พัลลภ’โผล่พิธีเปิดอีก
ที่ตั้ง‘นพเก้ารวมใจฯ’เป็นบ้านในเคหะรามฯ-‘พัลลภ-บิ๊ก ตร.’โผล่พิธีเปิด สนง.ปทุมฯ
ไขที่มาสหกรณ์จุฬาฯฝากเงิน‘นพเก้ารวมใจ’ 915 ล.ก่อนถูกเบี้ยวฟ้องเรียกคืนพันล.
ปธ.สหกรณ์จุฬาฯแจงปมปล่อยกู้-ฝาก‘คลองจั่น-เครือข่าย’-ฟ้องเรียกเงินแล้ว 2 แห่ง
หนี้อ่วม! เจาะไส้ใน‘นพเก้ารวมใจ’ หาเงินจากไหนมาใช้คืนสหกรณ์จุฬาฯพันล.?