สวนแถลงซูจี ฮิวแมนไรซ์ฯ เผยภาพดาวเทียมชุดใหม่ พบบ้านโรฮิงญา 214 ชุมชนโดนเผาเรียบ
ฮิวแมนไรซ์ วอชช์ เผยภาพถ่ายดาวเทียมชุดใหม่ พบบ้านชาวโรฮิงญากว่า 214 ชุมชน โดนเผาเรียบ สวนทางคำแถลงซูจีที่ระบุว่าปฏิบัติการทางทหารยุติแล้ว ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชน วิพากษ์ หากรัฐบาลเมียนมาไม่มีอะไรปกปิด ต้องอนุญาตให้ยูเอ็นเข้าสืบสวน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ก่อนหน้าที่นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐเมียนมา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเมียนมา จะออกมากล่าวแถลงการณ์ ที่กรุงเนปีดอว์ ภายหลังจากที่ไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมสัมชาใหญ่สหประชาชาติที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาได้
ในการแถลงครั้งนี้เป็นการพูดถึงผลงานโดยรวมของรัฐบาลและวิกฤติโรฮิงญา โดยช่วงหนึ่งนางซูจีได้ระบุว่า ปฏิบัติการทางทหารได้หยุดไปตั้งแต่ วันที่ 5 ก.ย.แล้ว และไม่เข้าใจเหตุใดที่ มุสลิมโรฮิงญาถึงอพยพไปบังคลาเทศ ทั้งๆ ที่มีมุสลิมอีกจำนวนหนึ่งสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ (อ่านประกอบ: ซูจีแถลงครั้งแรก วิกฤติโรฮิงญา ขอประณามทุกความรุนแรง ย้ำรัฐกำลังแก้ปัญหา)
ฮิวแมนไรซ์วอชช์ (Human Rights Watch) ได้รายงานภาพถ่ายดาวเทียมชุดใหม่ที่ถ่ายได้ในช่วงวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา ในบริเวณทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปฏิบัติการทางทหาร พบว่า มีชุมชนจำนวน 214 ชุมชนที่ถูกทำลาย โดยระบุว่าในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ จำเป็นต้องยกวิกฤติโรฮิงญาขึ้นมาพูดคุยโดยด่วน รวมไปถึงมาตรการคว่ำบาตรและห้ามซื้อขายอาวุธให้กับกองทัพเมียนมา หลังจากจำนวนผู้อพยพที่สูงขึ้นและเข้าขั้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายละเอียดในภาพถ่ายดาวเทียมชุดใหม่นี้ มีความชัดเจนกว่าครั้งแรกที่มีการเปิดเผย พบว่ามีบ้านจำนวนกว่าหมื่นหลังหรือราว 90%ในเขต Maungdaw และ Rathedaung ตอนเหนือของรัฐยะไข่ได้รับความเสียหายรุนแรง
“ชุดภาพอันน่าตะลึงเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของกองทัพเมียนมาที่ปฏิบัติการในพื้นที่ การเผาบ้านเรือนเป็นการกีดกั้นไม่ให้พวกเขากลับมาในชุมชนอีก” นายฟิล โรเบิร์ตสัน (Phil Robertson) รองผู้อำนวยฮิวแมนไรซ์วอชช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวและว่า ผู้นำโลกที่กำลังประชุมที่นิวยอร์กต้องแสดงพลังเพื่อยุติความรุนแรงครั้งนี้ และต้องทำให้ผู้นำกองทัพเมียนมาเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้พวกเขามีราคาที่ต้องจ่าย
ที่ผ่านมากองทัพเมียนมาปฏิเสธมาโดยตลอดถึงกรณีการเผาบ้านเรือนประชาชน ทั้งยังระบุว่า เป็นฝีมือของชาวโรฮิงญา และเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา กรรมาธิการด้านข้อมูลข่าวสารรัฐบาลเมียนมาได้ประกาศว่า พวกคนที่หนีออกไปยังบังคลาเทศ เพราะกลัวการถูกจับกุม เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธที่สร้างความรุนแรงในพื้นที่
ถึงแม้ว่าประเด็น “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ยังจะไม่ได้ถูกระบุอย่างเป็นทางการในกฎหมายระหว่างประเทศแต่กรรมาธิกาผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติ ก็ให้นิยามคำว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” คือ ความตั้งใจหรือนโยบายในการกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งๆ หรือกลุ่มความเชื่อทางศาสนาหนึ่งๆ โดยใช้ความรุนแรงต่อพลเมืองนั้นๆ ให้ออกไปจากพื้นที่นั้นๆ
นายโรเบิร์ตสัน กล่าวว่า นางอองซาน ซูจี ไม่มีอำนาจมากพอที่จะสั่งการไปยังกองทัพได้ สิ่งที่เธอทำได้คือการลุกขึ้นมาพูดและเปิดให้ทีมสอบสวนจากสหประชาติเข้าไปในพื้นที่เพื่อหาความจริง ดังนั้นรัฐบาลเมียนมาต้องไม่รอให้เพียงนางซูจีออกมาพูด แต่ต้องเร่งจัดการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน พวกเขาต้องคว่ำบาตรกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในความรุนแรง
ซึ่งภายหลังจากการกล่างถ้อยแถลงเมื่อเช้าวันที่ 19 ก.ย. ของนางซูจีที่กรุงเนปีดอว์ นายเจมส์ โกเมซ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวกับสำนักข่าวเดอะการ์เดี้ยนว่าหากนางอองซาน ซูจียืนยันว่าไม่มีความกังวลการจับตาจากนานาชาติ ก็ต้องเปิดให้มีการสอบสวนเรื่องนี้จากคณะกรรมการสหประชาชาติ เพราะไม่มีเหตุอะไรที่ต้องปกปิด และรัฐบาลต้องเปิดให้มีการส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไปในพื้นที่ทันที
ด้านนิวยอร์ก ไทม์ ได้วิพากษ์ การกล่าวแถลงครั้งนี้ว่า คำพูดของนางซูจีนั้นมีความมั่นใจ ใช้ภาษาอังกฤษที่ดีสื่อสารไปยังผู้ฟังต่างชาติ แต่กลับกัน ถ้อยคำเหล่านั้นกลับแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้ววยว่า ประชาชนชาวเมียนมาส่วนใหญ่ได้รวมตัวในกรุงย่างกุ้งระหว่างการกล่าวแถลง พร้อมทั้งเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊ก เป็นรูปนางอองซาน ซูจี เพื่อแสดงพลังสนับสนุน มุขมนตรีแห่งรัฐ หลังจากโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งจาก กลุ่มเจ้าของรางวัลโนเบลและผู้นำทั่วโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยูนิเซฟ ประกาศเด็กโรฮิงญา 2แสนคน ต้องการความช่วยเหลือด่วน ทั้งด้านร่างกาย-จิตใจ
ไม่ใช่เบงกาลี แต่คือโรฮิงญา สำนึกร่วม ประวัติศาสตร์บนพื้นที่อาระกัน
โรฮิงญาอพยพเเล้ว3 แสนคนรมต.ต่างประเทศบังคลาเทศชี้นี่คือ’ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’
ยูเอ็นชี้วิกฤตโรฮิงญา เป็นตัวอย่างตำราฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
นักวิชาการชี้ใช้คำ ‘เบงกาลี’ แทนโรฮิงญาเป็นการจงใจทำลายประวัติศาสตร์พื้นที่
นักวิชาการชี้ ‘ซูจี’ ไร้อำนาจเบ็ดเสร็จแก้ปมโรฮิงญา
โรฮิงญาอพยพพุ่ง 90,000 คน - "ซูจี" ถูกนานาชาติกดดันหนัก
หยุดปฏิบัติการทางทหารของพม่าต่อพลเรือนชาวโรฮิงญา
ฮิวแมนไรต์โชว์ภาพดาวเทียม ไหม้วอด 700 หลังบ้านชาวโรฮิงญา
เตือนบทบาทไทยกรณี "โรฮิงญา" รับลูก "เมียนมา" เสี่ยงหลายมิติ
รัฐบาลเมียนมา ปฏิเสธให้ยูเอ็นเข้าตรวจสอบประเด็นฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุโรฮิงยา
กลุ่มผู้หญิงโรฮิงยาเผยกับสื่อ ชาวบ้านโดนทรมานสารพัดช่วงทหารกวาดล้าง
WFP รายงานโรฮิงยากว่าแสนคนเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร
โรฮิงญา...จาก "อคติชาติพันธุ์" สู่ "เหยื่อค้ามนุษย์"
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.hrw.org/news/2017/09/18/burma-satellite-imagery-shows-mass-destruction