5 องค์กรสิทธิฯ จี้รบ.ไทย เร่งออกกม.ป้องกันทรมาน-บังคับสูญหาย ขอรื้อคดีทนายสมชาย-บิลลี่
5 องค์กรสิทธิฯ จี้รบ.ไทย เร่งออกกฎหมายป้องกันทรมาน-บังคับสูญหาย เรียกร้องขอให้รื้อคดีทนายสมชาย-บิลลี่ มาสอบสวนใหม่ เป็นกลาง โปร่งใส ด้านพญ.พรทิพย์ ชี้ 6 ปัญหางานนิติวิทยาศาสตร์ ส่งผลต่อการหาหลักฐานที่ชัดเจน
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 60 ที่ อาคารอนุสรณ์ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล ICJ (International Commission of Jurists) และAPT (the Association for the Prevention of Torture) จัดเสวนาเนื่องใน วันผู้สูญหายสากล: นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกับความยุติธรรมที่หายไป
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ความเป็นจริงแล้วมุมมองของรัฐต่อนักต่อสู้ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เต็มไปด้วยอคติ มายาคติ ยิ่งในระบบการเมืองการปกครองที่เป็นอำนาจนิยมสูง ไม่เป็นประชาธิปไตย นักต่อสู้ถูกมองเป็นเรื่องของคนคัดค้าน ก่อความวุ่นวาย ไปขัดเเย้งการทำงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น ทั้งที่จริงๆ เจ้าหน้าที่เหล่านั้นต่างหากที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองประชาชน แต่กลับกัน นักต่อสู้เพื่อสิทธิกลายเรื่องกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ถูกเชิญไปรายงานตัว ควบคุมตัว
"สิ่งที่นักต่อสู้ต้องเผชิญ คือการอุ้มหาย ซ้อมทรมาน ใช้คดีในศาล ใช้กฎหมายSlapps ปิดปาก หรือพิพากษาจำคุก เมื่อในสังคมไทยไม่ยอมรับ เพราะฉะนั้นปริมาณนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ต้องเสียชีวิตเอาเฉพาะสมัยที่ดำรงตำแหน่งใน กสม. ช่วง10ปี ตั้งแต่2544-2558 นักต่อสู้เพื่อสิทธิ ถูกบังคับสูญหายไปแล้วราว40-50 คน ซึ่งข้อมูลการบังคับสูญหายพบว่า มีอย่างน้อย 82 กรณีในประเทศไทยนับตั้งเเต่ พ.ศ. 2523"
ด้าน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ที่ปรึกษาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวถึงปัญหาของงานนิติวิทยาศาสตร์ให้การพิสูจน์ศพนิรนาม เพื่อนำไปสู่การไขคดีโดยเฉพาะกรณีการบังคับสูญหายนั้นยังคงติดปัญหาหลายประการดังนี้ (1) การรับฟังพยานบุคคลมากกว่าการใช้พยานหลักฐานทางวิทาศาสตร์และปัญหาการใช้ดุลพินิจของพนักงานสอบสวน (2) การขาดระบบคุณภาพมาตรฐาน ห้องปฏิบัติการ ผู้เชี่ยวชาญ ระบบงาน นั่นคือ เจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าใจเรื่องความเข้าถึงหลักนิติวิทยาศาสตร์ (3) ระบบพิสูจน์ขาดความเป็นกลาง ในเมื่อการบังคับสูญหายมักเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นจะให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนสอบสวนการเกิดเหตุย่อมไม่มีทาง (4) ขาดเจ้าภาพ สิ่งที่เราต้องกำหนดในเรื่องการตามคนหายใครจะเป็นเจ้าภาพ เราจะให้รัฐเป็นเจ้าภาพไหม ในเมื่อรัฐคือคู่กรณี (5) ขาดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอ (6) การขาดความรู้เรื่องนิติวิทยาศาสตร์ (7) การพัฒนากฎหมาย-รัฐธรรมนูญ
ด้านนางอรนุช ผลภิญโญ ตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาในการทำงานร่วมกับชุมชนเราจะรู้สึกว่าการมีปัญหากับรัฐไม่อันตรายถึงขั้นอุ้มหาย แต่เมื่อมีกรณีของพ่อเด่น คนในเครือข่ายก็ระวังตัวมากขึ้น แม้ว่าจะมีการต่อสู้อยู่ แต่ก็สู้ด้วยความหวาดกลัว แต่บทเรียนคือว่า กระบวนการติดตามตรวจสอบของรัฐ เราไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตอนแรกเขาไม่รับแจ้งความเพราะยังไม่ครบ 24 ชั่วโมง หลังจากที่ พอครบเงื่อนไข ก็รับแจ้งความ แต่การติดตามต่อนั้น ครอบครัวของพ่อเด่น และเครือข่ายต้องติดตามเอง เราคิดว่าเจ้าหน้าที่มีไวทำไม
“เราเคยเห็นในหนัง พอมีคนสูญหายไปแจ้งความ นอกจากที่จะไม่ให้การร่วมกับชุมชนเเล้ว บางองค์กรยังปิกกั้น พยายามบอกว่า แกหนีหรือเปล่า จนกระทั่งเมื่อ มีนา 2560 ชาวบ้านไป วัตถุพยาน ชิ้นส่วนกระโหลก แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการสร้างขึ้นมาหรือไม่ ถึงอย่างไรก็ดี แม้ว่าผลทางนิติวิทยาศาสตร์ยังไม่ยืนยันว่าเป็นพ่อเด่น เราได้เคยประสานไปทางผู้กำกับที่รับผิดชอบเรื่องนี้ บอกว่าประชาชน หรือญาติ หากเจอสามารถเอาไปให้เจ้าหน้าที่ได้ แล้วเจ้าหน้าที่ทำอะไรบ้าง” นางอรนุชกล่าวและว่า วันนี้แม่สุภาพติดคุก 6 เดือน ส่วนศาลก็ออกหมายจับพ่อเด่น บอกว่าหายไปไม่ได้ยืนยันว่าเสียชีวิต เเม่ภาพเราพอจะมีช่องทางในการช่วยเหลืออย่างไร อายุก็เยอะเเล้ว ลูกหลานไม่มี นอกจากนี้ยังไม่รวมนักปกป้องสิทธิอื่นๆ ที่กำลังมาตรการคุกคามสิทธิต่อเนื่อง ( อ่านประกอบ : คุก6เดือน ไม่รอลงอาญา ภรรยาเด่น คำแหล้ ข้อหาบุกรุกป่า )
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับ5องค์กรพันธมิตรส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยขอให้รัฐบาลเร่งรัดให้มีการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการ กระทำให้บุคคลสูญหาย1 (ร่างพระราชบัญญัติฯ) โดยมิชักช้า หลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าว ได้รับการเเก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศ และพันธกรณีระหว่าง ประเทศของประเทศไทยแล้ว
พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับและพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เพื่อป้องกันการอุ้มหายอย่างมีมาตรฐานในอนาคต
นอกจากนี้ยัง5 องค์กรสิทธิฯ ยังแสดงความกังวลเป็นอย่างมากต่อ ความล่าช้าในการผ่านร่างกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย และการบังคับให้สูญหาย ตลอดจนปัญหาในด้านการสืบสวนสอบสวนที่ไม่มีความคืบหน้าอย่างชัดเจน ในกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่ามีผู้ถูกบังคับให้สูญหาย อาทิ กรณีนายสมชาย นีละไพจิตร และ นายพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ ซึ่งเป็นกรณีการบังคับให้สูญหายที่ยังไม่ได้รับความกระจ่าง แม้จะมีความพยายามจากครอบครัวและกลุ่มสิทธิมนุษยชนไทยและนานาชาติที่เรียกร้องเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวอยู่หลายครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เด่น คำแหล้ กับอีก 483ชะตากรรมนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ทำกินทั่วโลก
จากบิลลี่ถึงเด่นคำแหล้อุ้มหายความยุติธรรมสิทธิเสรีภาพ
3 ปีการหายไปของบิลลี่กับวัฒนธรรมอำนาจนอกระบบยุติธรรมของไทย
2 ปีการหายตัวไปของบิลลี่กับสถานการณ์การอุ้มหายในไทย
กสม.เผยปี 58 คนอีสานโดนละเมิดสิทธิเพิ่มจากโครงการพัฒนาในพื้นที่