กสม.เผยปี 58 คนอีสานโดนละเมิดสิทธิเพิ่ม จากโครงการพัฒนาในพื้นที่
กสม.เผยสถิติ ปี 58คนอีสานถูกละเมิดสิทธิเพิ่มเป็น 122 ประเด็น เรื่องกระบวนการยุติธรรมถูกร้องมากสุด แนะรัฐทบทวนแผนพัฒนาทำประชาชนอยู่ดีกินดี หรือยิ่งยากจน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา( www.isranews.org) รายงานว่า นายประทีป มีคติธรรม เลขานุการกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวรายงานสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุยชนในภาคอีสานจากโครงการพัฒนาของรัฐ ระหว่างการเดินทางลงพื้นที่จ.สกลนครของสื่อมวลชนและคณะกรรมการสิทธิมุนษยชนแห่งชาติ(กสม.) ร่วมกับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในช่วงระหว่างวันที่ 26-28 ก.ค.60
นายประทีป กล่าวถึงจำนวนเรื่องร้องเรียนการถูกละเมิดสิทธิในประเทศในปี 2558 มีทั้งหมด 654 เรื่อง พบว่า มีการร้องเรียนในกระบวนการยุติธรรมสูงที่สุดที่ 130 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 25.99 รองลงมาเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลในทรัพยสิน 141 เรื่อง และสิทธิชุมชนมี 83 เรื่อง โดยกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีการร้องเรียนมาที่สุดที่ 158 เรื่อง ตามมาด้วย ภาคใต้ 129 เรื่อง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) มีเรื่องร้องเรียนจากการถูกละเมิดสิทธิทั้งหมด 122 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีเรื่องร้องเรียนที่ 102 เรื่อง
นายประทีป กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ภาคอีสานมีเรื่องร้องเรียนแล้ว 1,232 เรื่อง ส่วนมากเป็นเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ตามมาด้วย สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน และสิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง ยกตัวอย่างเช่น กรณีการสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินจากนโยบายทวงคืนผืนป่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และที่ดิน การปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและไม่เป็นธรรม เป็นต้น
ทั้งนี้ในรายงานถึงประเด็นการละเมิดสิทธิในพื้นที่ภาคอีสานของศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำชี้ ระบุถึงประเด็นการละเมิดสสิทธิของคนในพื้นที่โดยสามารถจำแนกรายประเด็น ได้แก่
1.ประเด็นทรัพยากรป่าไม้ที่ดิน
2.ประเด็น ทรัพยากรน้ำ การสร้างเขื่อน และ พ.ร.บ.ประมง
3.ประเด็นเรื่องพลังงานและเหมืองแร่
4.ประเด็นสิทธิทางการเกษตร
5.ประเด็นเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมและผังเมือง
นายประทีป กล่าวถึงสถานการณ์การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเหมืองแร่โปแตซ ปัญหาโรงงานน้ำตาลที่กำลังเป็นประเด็นในพื้นที่ตอนนี้ ว่าในแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ SDG ขององค์การสหประชาชาติ ปี 2030 กำหนดไว้ชัดว่า ในอนาคตเราจะส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน ต้องกลับมาตั้งคำถามว่า ทิศทางการพัฒนาในภาคอีสานจะนำไปสู่ความอยู่ดี กินดีของคนภาคอีสานได้จริงไหม
“SDG ข้อหนึ่ง บอกว่า เราจะส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่ยั่งยืน คำถามคือ อุตสาหกรรมและแผนการพัฒนาในภาคอีสาน คือความยั่งยืนจริงหรือไม่ หรือนำไปสู่ความล่มสลาย” เลขานุการกสม.กล่าว และว่า เรามีบทเรียนมาตั้งแต่ยุคพัฒนาผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล เรามองว่า ภาคอีสาน เป็นเมืองแห้งแล้ง เรามีอีสานเขียวเข้ามาในช่วงนั้น ในการพัฒนาที่ยั่งยืนเรามีเป้าอยู่ 4-5 เป้าที่เน้นเรื่องความเจริญ เน้นเรื่อง ของปกป้องโลก สันติภาพลองมาทบทวนดูว่า การพัฒนาในเขตภาคอีสานที่ผ่านมาประชาชนต้องแบกรับภาระการพัฒนา คนจนยิ่งจน คนรวยยิ่งรวย มีคนมากมาย เศรษฐกิจเราดีขึ้น ถ้าไปดูภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ นายทุนขนาดใหญ่ กำไรมหาศาล แต่ประชาชน เอสเอ็มอี คนชั้นล่างยังลำบากและลำบากมากขึ้น
นายประทีป กล่าวถึงสิ่งสำคัญในการพัฒนาว่า ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้ถูกเอาไปบวกรวมกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม ถูกผลักภาระมาให้ประชาชน เช่น เวลาเกิดมลพิษ แทนที่เราจะผลักภาระไปให้ภาคอุตสาหกรรมรับผิดชอบ ในการลงทุนเรื่องการจำกัดมลพิษ การป้องกันภาวะสิ่งแวดล้อมที่ต้องลงทุนเพิ่ม กลับไม่ยอมลงทุนแล้วผลักดันภาระให้ประชาชนไปแบกรับเอาเอง เรื่องของความมั่นคั่ง การพัฒนาที่ผ่านมานำไปสู่ความมั่นคั่งของประชาชนทุกคนจริงไหม หรือว่ากระจุกตัวแค่คนบางคน เรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำของรัฐบาลก็เป็นโจทย์ใหญ่ เรื่องของสันติภาพ ปัจจุบันในอีสานที่มีปัญหาระหว่างทุนกับชาวบ้านกลายเป็นเรื่องความขัดแย้งในหมู่บ้าน คนเห็นด้วยไม่เห็นด้วย เราจะปล่อยให้อยู่อย่างนี้ได้อย่างไร
นายประทีป กล่าวถึงหลักธุรกิจกับสิทธิมุนษยชนว่า เรื่องแรก ปกป้อง รัฐต้องปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการถูกละเมิดโดยบุคคลที่สาม ซึ่งรวมถึงภาคธุรกิจ และมีมาตรการการป้องกันการละเมิดให้เหมาะสม เป็นหน้าที่ของรัฐ เป็นแนวทางที่องค์การสหประชาชาติกำหนดออกมา
ประการที่สอง เรื่องเคารพ ภาคธุรกิจต้องเลิกการทำงานประเภทไปกดขี่ ขูดรีดจากประชาชน
ประการที่สาม เรื่องการเยียวยาในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงอะไรได้เเเละจำเป็นต้องเกิดโครงการขึ้นภาคธุรกิจและภาครัฐต้องกำหนดมาตรการในการลดผลกระทบ หรือมาตรการในการเยียวยาที่เหมาะสม
“กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษ เรามีเงินลงทุนในภาคธุรกิจ 2-3 แสนล้านบาท กับการจ่ายเงินค่าเยียวยาในหลักพันล้านบาทให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ยังทำไม่ได้เลย นี่คือปัญหาใหญ่ เช่นกรณีพื้นที่สะเดา มีการไปเอาที่ดินมาจากกรมธนารักษ์ จากเดิมเป็นที่ดินของ ป.ป.ส. ยึดมาให้ประชาชนเช่า วันดีคืนดีจะไปเอาที่ดินคืน มีชาวบ้านตกค้างเป็นร้อยราย ขณะที่ภาคธุรกิจได้กำไร เพราะเช่าที่ดินในราคาถูก ที่คนที่ถูกไล่ที่ไม่รู้จะไปที่ไหน ทำไมเราไม่มีมาตรการที่จะเยียวยาให้พวกเขามีชีวิตต่อไปได้ และเอาต้นทุนตรงนี้ไปบวกเป็นต้นทุนของภาคธุรกิจไป”
นายประทีป กล่าวด้วยว่า ในเรื่องรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 2550 และ ปี 2560 กำหนดไว้แตกต่างกันบ้าง โดยในปี 2550 รับรองเรื่องสิทธิในการพัฒนา กำหนดไว้หลักกว้างๆ ว่ากระบวนการพัฒนาต้องจัดให้มีการมีส่วนร่วม รับฟังความคิดเห็นเสียก่อน แต่คำถามที่คาใจอยู่คือ กระบวนการรับฟังความคิดเห็น การมีส่วนร่วม เป็นแค่พิธีกรรม หรือมุ่งหมายให้เกิดการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริง แต่อย่างไรก็ตามในหลักการได้ถูกกำหนดเอาไว้เเล้ว แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ในเรื่องสิทธิมนุษยชน หลักการเดิมยังอยู่ ที่เพิ่มขึ้นมามีสองเรื่อง คือ การเข้าชื่อเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐเพื่อให้ดำเนินการอันใดอันหนึ่งเพื่อให้เป้นประโยชน์กับเรา หรืองดเว้นการกระทำอันใดอันหนึ่ง ที่จะกระทบความสงบสุขของเรา
“รัฐธรรมนูญกำหนดด้วยว่า เมื่อยื่นเรื่องไว้เเล้ว ในการพิจารณารัฐต้องให้ประชาชนเข้าร่วมด้วย ที่สำคัญคือว่า ในมาตรา 57 กำหนดเรื่องหน้าที่ของรัฐไว้ว่า ต้องมีหน้าที่ในการอนุรักษ์ฟื้นฟู เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่กรณีที่เป็นโครงการตรงนี้สำคัญ เพราะการดำเนินการใดของรัฐ หรือที่รัฐอนุญาตหากกระทบต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต รัฐต้องดำเนินการให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ทีส่วนได้ส่วนเสีย บุคคลในชุมชนมีสิทธิเข้ารับฟังเหตุผลของรัฐก่อนการดำเนินการ”
นายประทีป กล่าวถึงกรณีของโรงงานน้ำตาล หรือการสำรวจแร่โปแตซ ก่อนที่จะออกใบอนุญาตพวกนี้ รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อน แต่เนื่องจากมาตรฐานการรับฟังความเห็นบ้านเรา ยังไม่มีมาตราฐานที่เพียงพอในการจะเอาไปเป็นตัวกำหนด ในอนาคตจึงจำเป็นต้องมีการออกกฎหมายเพื่อวางหลักการรับฟังความคิดเห็น การมีส่วนร่วมของประชาชนให้ชัดเจน
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ตลอดช่วงการลงพื้นที่ครั้งนี้ จะเป็นการรับฟัง พร้อมทั้งพูดคุยกับผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐในประเด็นเรื่องเหมืองแร่โปแตซที่อ.วานรนิวาส จ.สกลนครและกรณีโรงงานน้ำตาลบ้านโคกสะอาด ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร