- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- 3 ปีการหายไปของบิลลี่กับวัฒนธรรมอำนาจนอกระบบยุติธรรมของไทย
3 ปีการหายไปของบิลลี่กับวัฒนธรรมอำนาจนอกระบบยุติธรรมของไทย
ทุกความรุนแรงที่เกิดโดยรัฐรัฐมีส่วนร่วมในความทุกข์กับผู้เสียหายไม่ใช่ปล่อยให้เหยื่อเผชิญกับความยากลำบากแต่เพียงลำพัง รัฐต้องไม่มืดบอดในการรับรู้ความทุกข์ยากของประชาชนโดยเฉพาะความทุกข์ยากของเหยื่อและครอบครัว
ในการจัดประชุมทบทวนการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ในรอบของประเทศไทย เมื่อวันที่ 13-14 มีนาคม 2560 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ คณะกรรมการองค์การสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนได้พิจารณารายงานโดยมีข้อสังเกตเชิงสรุปในประเด็นเรื่อง การสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย การบังคับบุคคลให้สญูหาย และการทรมาน
ทางคณะกรรมการของ UN ยังคงกังวลว่า กฎหมายอาญาของรัฐภาคีไม่มีข้อหาความผิดที่เหมาะสมที่จะนำผู้กระทำผิด ฐานการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ต้องสอดคล้องกับกติกานี้และมาตรฐานระหว่างประเทศอื่น ๆ อีกทั้งคณะกรรมการผิดหวังที่เกิดความล่าช้าในการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการยังมีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับรายงานว่า มีการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย การฆ่านอกระบบ กฎหมายและการบังคับบุคคลให้สูญหายต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลอื่น ๆ รวมทั้งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ การลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเนื่องจากการกระทำความผิดเหล่านี้
กระบวนการสอบสวนคดีที่ล่าช้า การใช้อาวุธปืนสังหารพลเรือนระหว่างที่เกิดความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 การบังคับบุคคลให้สูญหายกรณีนายสมชาย นีละไพจิตร และนายพอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) และการทรมานน.ส. กริชสุดา คุณะแสน
"อังคณา นีละไพจิตร" กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกว่า กระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากนอกกฎหมาย ต้องพูดเรื่องระบบยุติธรรมในสังคมไทย ซึ่งไม่สามารถอำนวยความเป็นธรรมให้พลเมืองของประเทศไทยได้จริง สิ่งสำคัญที่กัดกร่อนเสาหลักกระบวนการยุติธรรมไทย คือ การใช้อำนาจโดยมิชอบของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม
"หากกฎหมายไม่สามารถคุ้มครองประชาชนได้ จะทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในกฎหมาย ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และอำนาจรัฐ ระบบยุติธรรมยังคงเกี่ยวพันโดยตรงกับความเป็นประชาธิปไตย เพราะในระบอบประชาธิปไตยประชาชนจะสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐได้ โดยผ่านกลไกการตรวจสอบที่เป็นอิสระ โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ"
เธอชี้ว่า ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์การใช้ความรุนแรงโดยรัฐเป็นเวลานานหลายทศวรรษ การบังคับสูญหายเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงในรูปแบบอื่นๆ ด้วย เช่นการสังหารนอกระบบกฎหมาย การควบคุมตัวประชาชนโดยพลการ การทรมาน การข่มขู่คุกคาม ทั้งหมดนี้สะท้อนการใช้ความรุนแรงของรัฐเพื่อกำจัดผู้ต้องสงสัย ซึ่งทั้งหมดการกระทำนอกเหนือหลักนิติธรรม
นอกจากนั้น กฎหมายที่กำหนดการคุ้มกันเจ้าหน้าที่ รัฐ หรือพนักงานของรัฐ ระบบยุติธรรมที่อ่อนแอ การถูกแทรกแซงทางการเมืองประกอบกับเจตจำนงทางการเมืองส่งผลให้เกิดการคุ้มกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบหรือเป็นผู้รับผิดชอบจากฝ่ายบังคับบัญชา การคุ้มกันเหล่านี้ ดำเนินการมาหลายศตวรรษ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เข้าใจว่า ตนเองไม่ต้องรับผิด ซึ่งหากมีการละเมิดกฎหมายหรือมีโอกาสถูกลงโทษน้อยมาก จนเป็นสาเหตุให้เจ้าหน้าที่บางคนเลือกที่จะใช้วิธีการนอกกฎหมายได้ตามอำเภอใจ เพื่อปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลหรือเพื่อแก้ไขของพิพาทส่วนบุคคล
จากปัญหาดังกล่าว อังคณา มองว่า มีส่วนทำให้เกิดการการบังคับสูญหาย รวมทั้งการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การคุมตัวโดยพลการ การทรมาน ข่มขู่คุกคาม กลายเป็นวิธีการนอกกฎหมายเเละจำเป็นสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐบาลคน รวมทั้งเหมาะสมสำหรับรัฐในการควบคุมปราบปราม ดูได้จากกรณีเมื่อปี 2546 ที่รัฐบาล "ประกาศสงครามยาเสพติด" มีผู้ถูกสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมและถูกบังคับ สูญหายเป็นจำนวนมาก แต่มีแค่สองกรณีที่ถูกนำขึ้นกระบวนการยุติธรรม
คดีการบังคับสูญหาย บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาติพันธ์ุกะเหรี่ยงที่หายไป เมื่อสามปีที่เเล้ว เป็นอีกคดีที่สำคัญที่คนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจ บิลลี่ถูกกล่าวหาว่า ทำผิดกฎหมายเป็นผู้ลับลอบเอาของป่าไปขาย ซึ่งภายหลังการหายตัวไปของเขา พบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำคดีมีศักยภาพจำกัดในการสืบสวน สอบสวน และไม่สามารถจะคลี่คลายคดีได้
กรณี ของ จ๊ะอุ หรือ ชัยภูมิ ป่าแส ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม เมื่อ 17 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา เป็นอีกกรณีที่เกิดคำถามในเรื่องการใช้อำนาจของรัฐว่าเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ การที่เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า ผู้เสียชีวิตเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็นคนไม่ดี เป็นการทำลายหลักนิติธรรม เพราะเป็นการสร้างวาทกรรมให้สังคมเชื่อว่า หรือให้สังคมด่วนสรุปไปแล้วว่า ผู้เสียชีวิตเป็นคนไม่ดี หรือคนผิด
ขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ระบุไว้ในมาตรา 29 วรรค 2 ว่า ในคดีอาญาให้สันนิฐานไว้ก่อนว่าจำเลยไม่มีความผิด และก่อนที่จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด ดังนั้นจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น เสมือนผู้นั้นกระทำความผิดไม่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่บัญญัติไว้ว่า บุคคลที่ต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิ์ได้รับการสันนิฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะสามารถพิสูจน์ตามกฎหมายว่า เขามีความผิด
“กรณีของจ๊ะอุไม่ต่างจากบิลลี่ ที่ผู้เสียชีวิต และบังคับสูญหาย ถูกทำให้เชื่อว่า เป็นคนผิด เป็นไม่ดีมากกว่าที่เจ้าหน้าที่จะสืบค้นหาความจริงว่า เกิดอะไรขึ้นกับเหยื่อและการเสียชีวิต บังคับสูญหายนั้น เป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่”
อังคณา ระบุอีกว่า ดังนั้น รัฐจึงต้องตระหนักว่า ทุกความรุนแรงที่เกิดโดยรัฐ รัฐต้องมีส่วนร่วมในความทุกข์กับผู้เสียหาย ไม่ใช่ปล่อยให้เหยื่อเผชิญกับความยากลำบาก แต่เพียงลำพัง รัฐต้องร่วมรับรู้ว่า ทุกครั้งที่เกิดความรุนแรงรัฐต้องไม่มืดบอดในการรับรู้ความทุกข์ยากของประชาชน โดยเฉพาะความทุกข์ยากของเหยื่อและครอบครัว
"การให้เงินเยียวยา ชดใช้ความเสียหาย จากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้หมายความว่า รัฐและหน่วยงานความมั่นคง จะหลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ตามกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญการให้ค่าชดเชยด้วยเงิน ไม่อาจรับประกันได้ว่าการละเมิดเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต"
ฉะนั้น รัฐจะต้องระลึกว่า หน่วยงานทุกหน่วยในกระบวนการยุติธรรมควรดำรงอยู่ด้วยความศรัทธาของผู้คนในสังคมว่าจะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับพวกเขาได้ ถ้าในกระบวนการยุติธรรมเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่จะชี้ให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของหลักนิติธรรม การเยียวยาที่รัฐมอบให้กับเหยื่อต้องหมายถึงการเยียวยาในทางตุลาการด้วย รัฐต้องระลึกว่าการลงโทษทางวินัยเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอกับการละเมิดสิทธิมนุายชนที่ร้ายแรง
นอกจากนี้ อังคณา ยังเห็นว่า สิทธิที่จะรับทราบความจริงเป็นอีกประการที่สำคัญมาก เป็นสิทธิของเหยื่อ เนื่องจากความจริงคือส่วนสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้ เกิดการละเมิดซ้ำขึ้นอีกในอนาคต ความจริงจึงก้าวพ้นเพียงแค่เหยื่อและครอบครัว แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญ เป็นสิทธิของคนโดยรวม ที่จะทราบความจริงด้วย ว่าเกิดอะไรขึ้นกับการใช้อำนาจนอกเหนือหลักนิติธรรม
ในโอกาส 3 ปี การหายไปของบิลลี่ และการวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส เธอยืนยันว่า จะขอยืนเคียงข้างครอบครัว และชาติพันธุ์ของพวกเขา หลายคนที่รู้จักบิลลี่และมึนอ(ภรรยาของบิลลี่)ต่างเห็นใจและสงสารครอบครัวพวกเธอ เมื่อทราบว่ามึนอต้องรับภาระในการเลี้ยงดูลูกๆ แต่โดยลำพัง
“สำหรับดิฉัน รับรู้ได้ว่า บิลลี่เเละครอบครัว ไม่ได้ต้องการเพียงความสงสารหรือความเห็นอกเห็นใจ หากแต่สิ่งเดียวที่ต้องการคือการความยุติธรรม และการปกป้องรักษาอุดมการณ์ของชาติพันธ์ุ” ...
อ่านประกอบ :
ภรรยาบิลลี่เผยดีเอสไอเข้าสอบปากคำคดีบิลลี่เพิ่ม
2 ปี การหายตัวไปของบิลลี่ กับสถานการณ์การอุ้มหายในไทย
จากบิลลี่ถึงเด่น คำแหล้ อุ้มหายความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพ
บันทึกปากคำจากพื้นที่ เกิดอะไรขึ้นกับ 'ชัยภูมิ ป่าแส'
‘อังคณา’ มองระบบยุติธรรมไทย ยังคงเป็นวิฤติศรัทธาของปชช.
13 ปีทนายสมชาย...อุ้มหายคือฆาตกรรมที่ไม่มีศพ!
หมายเหตุ: ภาพการประชุมที่เจนีวาจาก เฟสบุ๊ค Angkhana Neelapaijit , ภาพอังคณากับมึนอ จาก www.amnesty.or.th