ต้องหนีเพียงเพราะรัฐเข้าใจผิด...อีกหนึ่งความจริงของ "คนกลับบ้าน"
ครึ่งหลังของเดือน ก.ค.60 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) จัดกิจกรรมใหญ่ต่อยอดโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ในแคมเปญ "คืนคนดี สู่สังคม" ตามแนวทาง "เซ็ตซีโร่" ปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมายทั้งหมดให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ
กิจกรรมนี้ต้องบอกว่า "ใหญ่จริงๆ" เพราะจัดขึ้นทั้ง 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี โดยมีผู้เข้าโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ไปร่วมงานจังหวัดละเป็นพันคน
วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมก็เพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นแก่ "ผู้หลงผิด" ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ตามกระบวนการขั้นตอนของกฏหมาย และใช้ชีวิตอย่างปกติสุข กลับคืนสู่ครอบครัวอันเป็นที่รัก โอกาสนี้ทาง พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ได้มอบบัญชีรายชื่อผู้ได้รับการปลดเปลื้องพันธะทางกฏหมายเรียบร้อยแล้วให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด ตลอดจนฝ่ายทหาร ตำรวจ และปกครอง เพื่อให้ปฏิบัติกับคนเหล่านี้ในฐานะ "ผู้บริสุทธิ์" ที่เข้าร่วมพัฒนาชาติไทยอย่างแท้จริง
ข้อมูลจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า โครงการพาคนกลับบ้านได้รับความสนใจและมีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ผู้เห็นต่างบางส่วนเมื่อเข้าโครงการแล้วก็มีวิชาชีพติดตัว และกลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัวได้อย่างเป็นปกติสุข ส่งผลให้กลุ่มองค์กรนำ (ขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือผู้ก่อเหตุรุนแรง) ถูกโดดเดี่ยว สมาชิกสลายออกจากโครงสร้างเป็นจำนวนมาก
และนี่คือการก้าวไปอีกขั้น คือปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมาย ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสูงที่สุดในการสร้างความมั่นใจ และฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่านี่จะเป็น "จุดเปลี่ยนไฟใต้"
อย่างไรก็ดี หากมองถึงต้นตอของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน ต้องยอมรับว่ารัฐเองก็มีส่วนอยู่ไม่น้อย และหากต้องการให้เกิด "จุดเปลี่ยนไฟใต้" ที่แท้จริง รัฐน่าจะต้องปรับกระบวนการทำงานใหม่แบบ "ยกเครื่อง" เพื่อลดเงื่อนไขผลักคนเข้าป่า ดันเยาวชนไปถือปืน
เรื่องราวของผู้เข้าร่วมโครงการ "พาคนกลับบ้าน" วัย 55 ที่ จ.นราธิวาส เป็นอีกหนึ่งต้วอย่างที่สะท้อนเงื่อนปมของ "จุดเปลี่ยนไฟใต้" ที่รัฐไม่ควรมองแต่เรื่อง "คนหลงผิด" แต่ควรมองย้อนความผิดพลาดของตนเองด้วย
ชายคนนี้ขอสงวนชื่อและนามสกุลที่แท้จริง แต่ให้เราเรียกเขาว่า "อาแบ"
อาแบเล่าว่า ได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับโครงการพาคนกลับบ้านมาตลอด และตัดสินใจเข้าร่วมเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
"ผมตัดสินใจเข้ารายงานตัวที่ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ (ศปก.อำเภอ) สาเหตุที่ผมอยู่บ้านไม่ได้ เนื่องจากเหตุการณ์คาร์บอมบ์บริเวณสี่แยกใกล้โรงแรมเมอร์ลิน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ต.ค.52 เพราะผมกลายเป็นผู้ต้องหาในคดี เพียงเพราะว่ารถยนต์ของผมไปคล้ายกับรถที่คนร้ายลอบนำระเบิดไปวาง ขณะนั้นผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าถูกออกหมายจับข้อหาเป็นมือระเบิด เมื่อรู้ภายหลังทำให้ต้องหลบหนีออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับญาติที่ประเทศเพื่อนบ้าน เพราะกลัวว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะจับตัวไป"
"ผมต้องทิ้งครอบครัว ทิ้งลูกเมีย ทิ้งหน้าที่การงานไปเพียงเพราะการคาดเดาของเจ้าหน้าที่รัฐที่ขาดแม้กระทั่งหลักฐานที่กล่าวหาตัวผม แต่คดีเดินหน้าจนมีหมายจับ มีหมาย พ.ร.ก. ผมงงมาก และไม่ทราบด้วยซ้ำไป จนกระทั่งญาติๆ มาสอบถามและเล่าให้ฟัง ยิ่งไปกว่านั้น ตลอดเวลาที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในพื้นที่นราธิวาส ก็จะมีชื่อผมตกเป็นผู้ต้องสงสัยอยู่เสมอ"
อาแบติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการพาคนกลับบ้าน กระทั่งตัดสินใจเข้าร่วม เพราะคิดว่ายังดีกว่าหลบหนีไปเรื่อยๆ ทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิด
"ผมคิดตลอดว่าถ้าเป็นอยู่แบบนี้ไม่ดีแน่ คงไม่มีโอกาสกลับไปเจอครอบครัวอีกแน่นอน จึงตัดสินใจเข้ารายงานตัวเพื่อแสดงเจตนารมน์ว่าผมไม่ใช่กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ และไม่เคยทำความผิดใดๆ เลย และตอนนี้ผมก็อยู่ในโครงการมานานกว่า 3 ปีแล้ว"
อาแบ บอกว่า ยังดีที่รัฐมีโครงการนี้ เพราะเป็นช่องทางให้คนที่ถูกเข้าใจผิด ไม่เคยกระทำผิดจริงๆ ได้มีโอกาสกลับคืนสู่ครอบครัว และยังยืนยันว่ามีคนแบบเขาอีกเป็นจำนวนมาก
"ยังดีนะที่รัฐมีโครงการพาคนกลับบ้าน เพราะบางคนที่หลบหนีเขาก็ไม่เคยทำความผิดอะไร แค่หวาดกลัวเจ้าหน้าที่รัฐที่กดดัน และไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน เพื่อนผมที่อยู่ในโครงการ บางคนอ่านหนังสือไม่ออก ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย ยังถูกออกหมายจับ มีหมาย พ.ร.ก. ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อนของเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจสร้างความเสื่อมศรัทธาในความรู้สึกของประชาชน"
"ถามว่าดีไหมที่มีโครงการพาคนกลับบ้าน ผมก็ว่าดี เพราะทำให้คนที่ไม่ได้ทำความผิดสามารถมีพื้นที่ให้แสดงตนเพื่อตรวจสอบ"
แต่จุดด้อยของโครงการก็มีเหมือนกันในความคิดของอาแบ
"ที่ไม่ดีก็คือเวลามีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่นราธิวาสหรือใกล้เคียง เจ้าหน้าที่จะต้องเรียกพวกผมไปสอบถาม บางทีผมก็ไม่ว่าง เพราะต้องทำมาหากินเลี้ยงดูครอบครัว ถ้าจะให้รายงานตัวตลอดเวลาก็คงไม่ใช่ จึงอยากวอนขอเจ้าหน้าที่ว่า ก่อนจะเรียกพวกผมไปสอบสวนหรือสอบถาม อยากให้ตรวจสอบหลักฐานก่อนที่จะออกหมายจับ เพราะมันทำให้ประชาชนที่บริสุทธิ์และไม่ได้ทำผิดต้องหลบหนี ไม่มีใครที่อยากทิ้งครอบครัวไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อดๆ อยากๆ จึงอยากขอเจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบให้ดีก่อนที่จะออกหมายจับ"
นี่คือเรื่องราวของ "คนกลับบ้าน" ที่สะท้อนว่ารัฐเองก็อาจเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ทำให้ไฟใต้คุโชนอยู่เช่นกัน
-----------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
วิเคราะห์ 4 ปัจจัยใต้ป่วน...ตอบโต้ความสำเร็จ"พาคนกลับบ้าน"?
แจงงบ 106 ล้านสร้าง "หมู่บ้าน" รองรับ "คนกลับบ้าน"
เปิดงบโครงการพาคนกลับบ้าน ปีเดียว 106 ล้าน!
ตัวเลข "คนกลับบ้าน" จ่อครึ่งหมื่น!
ดราม่าคนกลับบ้าน! แม่ทัพขึ้น ฮ.บินรับมอบตัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคง
"รับฟังเสียงที่แตกต่าง-พาคนกลับบ้าน" วิสัยทัศน์ดับไฟใต้ของแม่ทัพภาค 4 คนใหม่
80สมาชิกป่วนใต้ถกแม่ทัพภาค4 เสนอปลด "หมายจับ" แลกวางปืน
แม่ทัพ4พร้อมเลิก พ.ร.ก.รับกลุ่มป่วนใต้วางมือ แย้ม "สะแปอิง-มะแซ"รอดูท่าที
เปิดใจ"อาร์เคเค"กลับใจ "ลูก-เมีย"เงื่อนไขนักรบวางปืน
สำรวจความเห็น"ชาวบ้าน-แนวร่วมพันธุ์ใหม่" เชื่อ-ไม่เชื่อ 93 สมาชิกป่วนใต้ยุติรุนแรง
เปิดตัวเลข "ผู้เห็นต่าง" เข้าร่วมโครงการ "พาคนกลับบ้าน" 983 ราย
วงถก400ผู้เห็นต่างฯ ชงรื้อข่าวกรอง-เลิกหมายจับ–ตั้งนิคมรองรับกลับบ้าน
อดีตผู้ต้องสงสัยฯงงถูกเกณฑ์พบ"ประวิตร" เหมาร่วม"พาคนกลับบ้าน" เบี้ยเลี้ยง200