คนสกลฯชี้น้ำท่วมหนัก เหตุลำห้วยธรรมชาติหายหมดเเล้ว น้ำระบายไม่ได้
คนสกลฯ ชี้น้ำท่วมหนัก เหตุขยายถนนทางระบายน้อย ลำห้วยรอบเมืองหาย ถามกรมที่ดินทำไมออกโฉนดทับ ขณะที่ระบบแจ้งเตือนระดับพื้นที่ไม่มี
สืบเนื่องจากกรณีน้ำท่วมในพื้นที่เมืองสกลนคร จากอิทธิพลของพายุ “เซินกา”(Sonca) รวมถึงกรณีที่คันดินของอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นถูกกัดเซาะจนแตก ส่งผลให้มวลน้ำปริมาณราว 3.75 ล้านลบ.ม. ซึ่งภายหลังทางกรมชลประทานยืนยันว่า กรณีดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อสถาณการณ์น้ำท่วมในตัวเมืองสกลนคร
นายประสาท ตงศิริ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสกลนคร ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) ถึงกรณีน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ40 ปี ของสกลนครว่าสาเหตุหลักมาจากลำห้วยที่ตื้นเขินจากการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับเอกชน ทับลงบนลำน้ำ ส่งผลให้ทางระบายน้ำดั้งเดิมหายไปและห้วยที่เหลือก็แคบลงจากการบุกรุก กลายเป็นว่า บีบน้ำขึ้นมาเอ่อท่วมในเมือง ทั้งที่ห้วยอยู่คนละส่วนกับเมือง ลำห้วยที่อยู่ใกล้เมืองคือห้วยนาหลุม อยู่หลังเทศบาล ซึ่งมีพื้นที่รับน้ำน้อย ขณะที่ห้วยทรายและลำห้วยต่างๆ มีปัญหาถูกรุกล้ำ
“สงสัยว่าทำไม กรมที่ดิน ที่ดินจังหวัด ถึงได้ออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ห้วยได้อย่างไร ทำให้ลำห้วยเล็กนิดเดียว ผังเมืองต้องทำอย่างไร ควรกำหนดพื้นที่ห้ามก่อสร้าง มีคนคิดไม่มีคนทำ คนคิดไม่ได้มีหน้าทำ” นายประสาท กล่าว และว่า ยอมรับว่า ปริมาณฝนช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ปริมาณฝนที่ตกถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติมาก เพียงแค่คืนวันที่ 27 ก.ค.-28 ก.ค. 60 มีปริมาณน้ำฝนสูงถึง 200 กว่ามิลลิเมตร แต่ปัจจัยที่ทำให้น้ำท่วมมาจากการพัฒนา เช่น การขยายถนนนิตโยเส้นจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเข้ามาในตัวเมือง 8 เลน ส่งผลให้กินร่องน้ำเดิมจนหมด มิหน่ำซ้ำยังมีทางระบายที่น้อยและเล็กไม่เพียงพอต่อการระบายน้ำ ขณะเดียวกันเขื่อนหนองหารฯ ก็เต็มอยู่ก่อนเเล้ว พอฝนตกหนักก็ระบายยาก
นายประสาท กล่าวว่า หากนับตั้งแต่น้ำท่วมครั้งใหญ่เมืองปี 2517 เมืองสกลนครมีน้ำท่วมบางแต่สูงแค่เพียงหัวเข่า เหตุการณ์ครั้งนี้นอกจากประเด็นเรื่องผังเมืองและลำห้วยที่หายไปแล้ว ยังขาดการประเมินสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนชาวบ้านล่วงหน้าด้วย หอแจ้งเตือนมีแต่ไม่ทำงาน แม้ว่าทางการจะบอกว่า แจ้งแล้ว แต่ชาวบ้ายืนยันว่าไม่ได้ยินเสียงใดๆ นอกจากนี้การรายงานให้ประชาชนเตรียมตัว ที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่รายงานสถานการณ์บอกแค่ว่า ฝนจะตกหนัดพายุจะเข้า แต่ไม่บอกว่าต้องอพยพ ย้ายของแล้ว คือไม่มีการแจ้งเตือนแบบเจาะจงระดับพื้นที่
อย่างไรก็ตาม นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ยืนยันว่า กอปภ.ก (ศภช.) ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.), สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.), กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรธรณี ได้ดำเนินการแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานรัฐในพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์พายุโซนร้อน ‘เซินกา’ มาโดยตลอด
อ่านประกอบ
ปภ.โชว์หนังสือยันแจ้งเตือนรับมืออุทกภัย ‘เซินกา’ ล่วงหน้า
กรมชลฯเผยมีเขื่อนขนาดกลาง-เล็ก ภาคอีสานเก็บน้ำเต็ม 100% กว่าร้อยแห่ง เร่งระบาย
กรมชลฯ เร่งซ่อมสันเขื่อนอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น จ.สกลนคร ให้เสร็จภายใน 20 วัน
กรมชลฯ รับ 4 อ่างเก็บน้ำ ที่สกลนคร เกินความจุเก็บกัก
รพ.สกลนคร ให้บริการตามปกติห้องฉุกเฉินเปิด 24 ชั่วโมง-สนามบินปิดถึง 3 ทุ่มคืนนี้
คุยกับ ดร.ไชยณรงค์ เหตุใดเขื่อนจึงไม่ใช่คำตอบของปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง