กรมชลฯ รับ 4 อ่างเก็บน้ำ ที่สกลนคร เกินความจุเก็บกัก
กรมชลฯ แจง 4 อ่างเก็บน้ำ ที่สกลนคร เกินความจุเก็บกัก ชี้การไหลของน้ำในเขตเมืองออกได้ทางเดียว ก่อนลงแม่น้ำโขง ทำให้การระบายน้ำล่าช้า ปัดข่าวลืออ่างเก็บน้ำห้วยทราย ใกล้กับพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์แตก
วันที่ 28 ก.ค. เวลา 20.00 น.ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน โดยนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน รายงานการติดตามสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ พบว่า ฝนที่ตกหนักจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน เซินก้า (Sonca) ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. 2560 วัดปริมาณฝนสูงสุดในเขตเมืองสกลนคร ได้มากถึง 130 มิลลิเมตร ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 28 ก.ค. 2560 รวมปริมาณฝนตกสะสมมากถึง 245 มิลลิเมตร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลสู่อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบ่อ อ่างเก็บน้ำห้วยเดียก อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น และอ่างเก็บน้ำภูเพ็ก สรุปได้ดังนี้
อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบ่อ ความจุเก็บกักสูงสุด 2.43 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีความจุมากกว่าระดับกักเก็บร้อยละ 107 สูงกว่าระดับกักเก็บ แต่ยังไม่มีผลกระทบต่อตัวทำนบดิน
อ่างเก็บน้ำห้วยเดียก ความจุเก็บกักสูงสุด 4 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับน้ำสูงกว่าระดับกักเก็บ 1 เมตร ได้เร่งระบายน้ำออกจากอ่างอย่างต่อเนื่อง ตัวทำนบดินยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ความจุเก็บกักสูงสุด 2.66 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำในอ่าง 3.05 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้น้ำล้นทำนบดิน กัดเซาะสันเขื่อนลึกประมาณ 4 เมตร ยาว 20 เมตร ทำให้มีน้ำทะลักสู่ด้านท้าย ไปรวมกับปริมาณน้ำในลำน้ำธรรมชาติที่มีปริมาณมากอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ด้านท้ายอ่างและถนนบางส่วน กรมชลประทานได้เร่งตรวจสอบความเสียหายและหาแนวทางในการระบายน้ำและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนแล้ว
อ่างเก็บน้ำภูเพ็ก ความจุเก็บกักสูงสุด 3.04 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างมากถึง 2.91 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้เร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง และทำนบดินยังไม่ได้รับผลกระทบในขณะนี้
อนึ่ง เส้นทางการไหลของน้ำในเขตเมืองสกลนคร เกือบทั้งหมดจะไปรวมสู่หนองหาร และระบายออกทางลำน้ำก่ำเพียงลำน้ำเดียว ก่อนจะไหลไปลงแม่น้ำโขง แต่เนื่องจากลำน้ำก่ำมีปริมาณน้ำเต็มความจุดของลำนำแล้ว ทำให้การระบายน้ำจากหนองหาร ไม่สามารถระบายได้อย่างสะดวก จึงทำให้เกิดน้ำท่วมขังในเบื้องต้น
กรณีที่มีข่าวลือเรื่องของอ่างเก็บน้ำห้วยทรายที่อยู่ใกล้กับพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์แตกแล้วนั้น กรมชลประทานชี้แจงว่า อ่างเก็บน้ำทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดสกลนครที่มีเต็มอ่างฯ นั้นยังไม่มีอ่างเก็บน้ำใดที่แตกร้าว ทุกอ่างยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี
ทั้งนี้ กรมชลประทานไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมประสานงานกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ได้รายงานอ่างขนาดกลางที่มีน้ำในอ่างเก็บน้ำ มากกว่า 80% ข้อมูลวันที่ 28 ก.ค. 2560 ส่วนใหญ่ อยู่ในจังหวัดสกลนคร เช่น อ่างฯ ห้วยทรายสว่าง อ่างฯ ห้วยทรายขมิ้น อ.เมือง และหากค้นข้อมูลย้อนหลังไป 7 วัน ข้อมูลอ่างขนาดกลางที่ มีน้ำมากกว่า 80% ก็พบว่า อยู่ที่จังหวัดสกลนครเป็นส่วนใหญ่ (http://water.rid.go.th/flood/rsvmiddle/rsvmiddle.htm)
ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่น้ำอยู่ในเกณฑ์มากกว่า 80% ของความจุอ่าง คือ อ่างเก็บน้ำน้ำอูน จังหวัดสกลนคร