ปภ.โชว์หนังสือ ยันแจ้งเตือนรับมืออุทกภัย ‘เซินกา’ ล่วงหน้า
ปภ.โชว์หนังสือ ยันแจ้งเตือนรับมืออุทกภัย ‘เซินกา’ ล่วงหน้า ระหว่าง 23-27 ก.ค. 60 ให้ทุกพื้นที่เตรียมพร้อม ทีมงานส่งเอสเอ็มเอสไปยังท้องถิ่น 6 ครั้ง สั่งจับตาสถานการณ์ 3 จว. ร้อยเอ็ด -ยโสธร-อุบล รับน้ำจากเขื่อนลำปาว เสี่ยงน้ำท่วม
กรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า หน่วยงานภาครัฐไม่มีการแจ้งเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า ส่งผลให้ในหลายพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะจ.สกลนคร เกิดอุทกภัยหนักในรอบ 43 ปี ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. 2560 จนสร้างความเสียหายจำนวนมาก อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นแตก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลงเข้าสู่ปกติแล้ว
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ยืนยันว่า กอปภ.ก (ศภช.) ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.), สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.), กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรธรณี ได้ดำเนินการแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานรัฐในพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์พายุโซนร้อน ‘เซินกา’ มาโดยตลอด ตั้งแต่วันที่ 23 -27 ก.ค. 2560 รวม 4 ครั้ง ได้แก่
ครั้งที่ 1 วันที่ 23 ก.ค. 2560 แจ้งเตือนตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 1 ลว. 23 ก.ค. 2560 ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง
ครั้งที่ 2 วันที่ 24 ก.ค. 2560 ร่วมกับกรมชลประทาน แจ้งเตือนเพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชนและบูรณาการการปฏิบัติงานระหว่างจังหวัดกับสำนักงานชลประทานที่ 1-17 ในภาคเหนือ ภาคกลาง และตะวันออก
ครั้งที่ 3 วันที่ 25 ก.ค. 2560 แจ้งเตือนตามประกาศกรมทรัพยากรธรณี ฉบับที่ 12-13 ลว 25 ก.ค. 2560 เฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำกก ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล
ครั้งที่ 4 วันที่ 27 ก.ค. 2560 แจ้งเตือนตามประกาศกรมอุตุนิยมนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน สสนก. ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้
อธิบดี ปภ. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า โดยการส่งข้อความสั้น SMS ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ปภ.จ. ปลัดจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เครือข่าย มูลนิธิ อาสาสมัครแจ้งเตือนภัยระดับหมู่บ้าน อีกจำนวน 6 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ไม่สามารถเเก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจ.สกลนครได้อย่างทันท่วงที
ส่วนสถานการณ์ในวันที่ 1 ส.ค. 2560 นายฉัตรชัย กล่าวว่า ได้มีการให้เฝ้าระวังเพิ่มเติม เนื่องจากมีการพร่องน้ำจากเขื่อนลำปาว อาจทำให้พื้นที่รับน้ำในอ.จังหาร อ.เชียงขวัญ อ.เสลภูมิ อ.ธวัชบุรี อ.อาจสามารถ อ.พนมไพร อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด อ.เมืองยโสธร อ.คำเขื่อนเเก้ว อ.มหาชนะชัย อ.ค้อวัง จ.ยโสธร อ.เมืองอุบลราชธานี อ.เขื่อนใน อ.วารินชำราบ อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี เกิดน้ำท่วมได้ .
อ่านประกอบ:กรมชลฯเผยมีเขื่อนขนาดกลาง-เล็ก ภาคอีสานเก็บน้ำเต็ม 100% กว่าร้อยแห่ง เร่งระบาย
คุยกับ ดร.ไชยณรงค์ เหตุใดเขื่อนจึงไม่ใช่คำตอบของปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง
กรมชลฯ รับ 4 อ่างเก็บน้ำ ที่สกลนคร เกินความจุเก็บกัก
รพ.สกลนคร ให้บริการตามปกติห้องฉุกเฉินเปิด 24 ชั่วโมง-สนามบินปิดถึง 3 ทุ่มคืนนี้