กรมชลฯเผยมีเขื่อนขนาดกลาง-เล็ก ภาคอีสานเก็บน้ำเต็ม 100% กว่าร้อยแห่ง เร่งระบาย
กรมชลฯ ยอมรับ เขื่อนกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ มีน้ำเต็มความจุ สั่งเร่งระบาย ด้านสถานการณ์เมืองสกลฯ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 26 จุด เร่งดันน้ำออกแม่น้ำก่ำ คาดใช้เวลา 7 วัน
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 60 ที่ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทานจัดแถลงข่าว เรื่องสถานการณ์น้ำ โดยทางด้านนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จังหวัดสกลนคร ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณตลาด ต.การค้า ในเขตเทศบาลนครสกลนคร ระดับน้ำสูงประมาณ 50 ซม. กรมชลประทาน ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ จำนวน 10 เครื่อง พร้อมกับติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำน้ำก่ำ จำนวนทั้งสิ้น 26 เครื่องเพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว ซึ่งจะมีผลสองฝั่งแม่น้ำก่ำ 6 หมื่นไร่ อ.นาแก จ.นครพนม ได้มีการประสานไปทางผู้ว่าราชการจังหวัดไปทำคันป้องกัน
นายทองเปลว กล่าวถึงการระบายน้ำจะคิดหากปล่อยให้ไหลปกติจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ ถ้าใช้เครื่องผลักดันน้ำซึ่งทำได้วันละ 30-40% จะใช้เวลา7 วัน ซึ่งจะทยอยเข้าติดตั้งในทุกจุด ภายใน1-2วัน ส่วนการผลักดันน้ำจากแม่น้ำก่ำไปลงแม่น้ำโขงใช้เวลา1สัปดาห์ ทั้งหมดจะจบภายใน 14 วัน จากนั้นน้ำในเมืองสกลนครจะทยอยกลับมาปกติ เมื่อระดับน้ำในหนองหารลดลง
นายทองเปลว กล่าวว่า ปัจจุบันมีเขื่อนขนาดกลาง 448 แห่ง และเขื่อนขนาดเล็กอีก 3,148 แห่งที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ดูแล ซึ่งปัจจุบันเขื่อนที่มีน้ำมากกว่า 80% มีทั้งหมด 217 แห่ง โดยเฉพาะในภาคอีสานมีเขื่อนขนาดกลางและขนาดเล็กดูเเล รวมทั้งสิ้น 265 แห่ง ซึ่งที่มีมากกว่า 80% จำนวน 165 แห่ง และที่เก็บน้ำเต็ม 100% อีกราว 100 แห่ง โดยการจัดการโดยปกติของเขื่อนขนาดกลางมีวิธีปฏิบัติในแต่ละปี จะดูเรื่องเสถียรภาพของเขื่อน วัด ตรวจสอบ เดินดู ว่าตรงไหนเป็นจุดอ่อน
กรณีของอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น นายทองเปลว กล่าวยืนยันว่า เป็นการกัดเซาะคันดิน ซึ่งเป็นสันเขื่อนจากน้ำที่ล้นออกมา โดยปกติระดับเก็บกักน้ำอยู่ที่ 2.4 ล้าน ลบ.ม. สูงสุดได้ที่ 2.66 ล้าน ลบ.ม. แต่น้ำที่เข้ามามีมากถึง 3.75ล้าน ลบ.ม. เกินกำลังที่จะรับได้ บวกกับกระแสน้ำรุนแรง เขื่อนออกแบบมาให้มีทางระบายน้ำล้น ทำได้ 65 ลบ.ม.ต่อวินาที จนระบาย 105 ลบ.ม.ต่อวินาที เกิดการไหลล้นสันเขื่อน บวกกับเขื่อนมีอายุมากเเล้ว 60 ปี เกณฑ์การออกแบบต่างกัน น้ำที่ออกจากเขื่อน 2.4 ล้านลบ.ม. บวกกับมวลน้ำ 3.5 ล้าน ลบ.ม.ดึงน้ำออกมาด้วย เกิดการกัดเซาะคันดิน น้ำบางส่วนไปตามท้ายลำน้ำอูน 40% ลงลำน้ำหนองหาร 60% คิด1.2 ล้านลบ.ม. ไม่ได้ที่เทศบาลเมืองสกลนครแต่ที่ระบายได้ช้า ปัญหาที่หนองหารน้ำเข้า ออกน้ำ ไม่สมดุลกัน มีปริมาณน้ำเข้ามากกว่า ดังนั้นจึงต้องเร่งระบาย ผลักดันน้ำ
ด้านนายสมภพ สุจริต ที่ปรึกษาสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทานกล่าวถึงกรณีอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นว่า เป็นคันดินพัง ไม่ใช่เขื่อนแตก ถ้าเขื่อนแตกคือปริมาณน้ำปกติแล้วมีรอยร้าว รั่ว คล้ายกับโอ่งเก็บน้ำที่ยังเก็บน้ำปกติแล้วดันมีรอยรั่วแบบนี้จะเรียกเขื่อนแตก ในฐานะที่ออกแบบเขื่อนในภาคอีสาน อีสานมีลักษณะ ลูกเนิน ไม่ใช่หุบเขา ดังนั้นเขื่อนอีสานเตี้ยและยาว เขื่อนนี้เป็นคันดินบดอัด และตอนไปตรวจเมื่อปี 57 เขื่อนอยู่ในสภาพดี แต่เหตุการณ์ครั้งนี้คือมีน้ำเข้ามาเกินกว่าปกติ การออกแบบเขื่อนคือปล่อยปลายต่ำ เพื่อความปลอดภัย ช่วยให้น้ำไหลออก
นายสมภพ กล่าวด้วยว่า เดิมที่เราเก็บน้ำในเขื่อนไว้ในระดับ 50% แต่ตั้งใจไม่ตั้งใจ ตอนนี้เขื่อนเต็มเกือบทุกแห่งแล้วในภาคอีสาน ถ้าน้ำเข้ามาต้องล้น แต่ในช่วงต่อจากนี้ยังพายุไม่เข้า มีเพียงร่องฝน ซึ่งฝนก็จะตกแล้วแต่ร่อง อีสานตอนบนมีโอกาสรับน้ำเพิ่มอีก
"เขื่อนทำหน้าที่ชะลอน้ำ ซึ่งหากเราจะวิตกก็ไม่ว่า แต่สิ่งที่อยากสื่อ อ่างเก็บน้ำจะช่วยชะลอความรุนแรงเอาไว้ได้ ในแผนการทำงานถ้าเราจะระบายน้ำมาก เราจะเตือนชาวบ้านอยู่เเล้ว แต่ถ้าฝนจะตกมาก เราเตือนไม่ได้เพราะเราไม่รู้ ฝนตกหน้าเขื่อนหรือหลังเขื่อน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ JMC เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานฯ ได้มีมติให้เพิ่มการระบายน้ำจากปัจจุบันวันละ 15 เป็นวันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2560 และจะมีการประชุมเพื่อหารือการเพิ่มหรือลดปริมาณการระบายน้ำทุกวัน การระบายน้ำในครั้งนี้ จะส่งผลให้พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนลำปาว อาจจะมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่อำเภอเมือง ยางตลาด กมลาไสย ฆ้องชัย และร่องคำ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจและชี้แจงประชาชน ให้ได้รับทราบถึงสถานการณ์และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมงและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด และยโสธร เพื่อแจ้งสถานการณ์และให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ต่อไปแล้ว
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เขื่อนในการดูเเลของอปท.มี 3,000 เขื่อน บวกขนาดกลาง100 แห่งมีระดับน้ำเต็ม100% ต้องระบายทั่วประเทศ ซึ่งกรมชลประทาน ได้เน้นย้ำเรื่องการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง โดยได้ให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ดำเนินการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ ด้วยการลดระดับน้ำในอ่างฯให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ (Rule curve) อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ(Inflow) มากกว่าความจุของอ่างฯ รวมถึงอ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่รับน้ำฝนขนาดใหญ่ (Watershed Area) เมื่อมีฝนตกหนักจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และขอมอบหมายผู้รับผิดชอบบริหารจัดการน้ำของแต่ละอ่างฯ ต้องติดตาม วิเคราะห์ และเฝ้าระวังสถานการณ์เป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถเตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที
อ่านประกอบ
คุยกับ ดร.ไชยณรงค์ เหตุใดเขื่อนจึงไม่ใช่คำตอบของปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง
กรมชลฯ รับ 4 อ่างเก็บน้ำ ที่สกลนคร เกินความจุเก็บกัก
รพ.สกลนคร ให้บริการตามปกติห้องฉุกเฉินเปิด 24 ชั่วโมง-สนามบินปิดถึง 3 ทุ่มคืนนี้