6 ชุมชน ยินยอมรื้อย้ายบ้าน เปิดทางกทม.พัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา
กทม.มอบเงินช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 6 ชุมชน ประกอบด้วย 1.ชุมชนเขียวไข่กา 2.ชุมชนปากคลองบางเขนใหม่ 3.ชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลณี 4.ชุมชนวัดสร้อยทอง 5.ชุมชนวัดคฤหบดี และ 6.ชุมชนท่าเรือเกียกกาย ชี้ขณะนี้มีบ้านเรือนที่รื้อย้ายแล้ว 53 หลังคาเรือน คาดจะสามารถเริ่มโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ธ.ค.60
วันที่ 26 ก.ค. 60 เว็บไซต์กรุงเทพมหานคร รายงานว่า นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายสาโรจน์ สามารถ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นเกียรติในพิธีมอบเงินช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมี นายณัฏฐ์ ศรีสุคนธนันท์ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา เป็นประธานในพิธีมอบเงินช่วยเหลือ พร้อมด้วยนายจีรศักดิ์ พูลสง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ร่วมพิธี ณ ห้องประชุมประเสริฐ สมะลาภา ชั้น 6 สำนักการโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณสะพานพระราม 7 สิ้นสุดโครงการบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งจะเป็นการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง รวมระยะทางประมาณ 14 กม. การดำเนินการโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จากการสำรวจพบว่ามีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งหมด 14 ชุมชน เป็นบ้านเรือนประชาชน 273 หลังคาเรือน เป็นท่าเทียบเรือและโป๊ะ 9 แห่ง
"จากการสำรวจพบว่าบ้านเรือน 273 หลังคาเรือน ได้ปลูกสร้างรุกล้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รัฐบาลได้มีโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมทำทางเดินและปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม ซึ่งที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา สำนักงานเขต ในพื้นโครงการ ได้แก่ เขตดุสิต เขตบางซื่อ เขตบางพลัด และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้ลงพื้นที่พูดคุยเจรจาสร้างความเข้าใจกับประชาชนในชุมชนที่บ้านเรือนรุกล้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งสอบสวนสิทธิ์ประชาชนผู้อยู่อาศัย สำรวจและประมาณราคาสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนจัดหาที่อยู่ใหม่เพื่อรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว ซึ่งประชาชนในชุมชนได้ยินยอมพร้อมใจและให้ความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการรื้อย้ายออกไป โดยส่วนใหญ่จะรื้อย้ายด้วยตนเอง"
นายจักกพันธุ์ กล่าวถึงการมอบเงินช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ดำเนินการรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำออกไปแล้ว จำนวน 6 ชุมชน ประกอบด้วย 1.ชุมชนเขียวไข่กา 2.ชุมชนปากคลองบางเขนใหม่ 3.ชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลณี 4.ชุมชนวัดสร้อยทอง 5.ชุมชนวัดคฤหบดี และ 6.ชุมชนท่าเรือเกียกกาย ซึ่งขณะนี้มีบ้านเรือนที่รื้อย้ายแล้ว จำนวน 53 หลังคาเรือน ซึ่งจะเร่งดำเนินการรื้อย้ายให้แล้วเสร็จ และคาดว่าจะสามารถเริ่มโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้ประมาณเดือน ธ.ค.60
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สมัชชาแม่น้ำ เล็งฟ้องศาลปกครอง หากรัฐยังดื้อตอกเสาเข็มทางเลียบเจ้าพระยา
จากทางเลียบเจ้าพระยา ถึง 3 ปีคสช. รัฐเข้าใจการมีส่วนร่วม = “ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม”
สมัชชาแม่น้ำยันค้านสุดตัว ยุติโครงการทางเลียบเจ้าพระยา
คุณค่าวัฒนธรรมสูญหาย โจทย์ใหญ่ “ทางเลียบเจ้าพระยา” ไม่เชื่อมโยงชุมชน
มท.1 ยันทางเลียบเจ้าพระยา งบฯ ไม่ถึง 1.4 หมื่นล้าน โครงสร้างสูงน้อยกว่าเขื่อนริมฝั่ง
กลุ่มสมัชชาแม่น้ำ เดินหน้ายับยั้ง โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
เหล่านักวิชาการรวมตัว ค้านทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จี้สจล.ถอนตัว
2 ศิลปินดังร่วมค้านโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา
คนดังร่วมค้าน "หยุดทางเลียบก่อนที่จะสาย"
พื้นที่ริมเจ้าพระยาพัฒนาได้ 'ไกรศักดิ์' แนะต้องดูบริบทให้เข้ากับชุมชน