พื้นที่ริมเจ้าพระยาพัฒนาได้ 'ไกรศักดิ์' แนะต้องดูบริบทให้เข้ากับชุมชน
ไกรศักดิ์ เผย พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาพัฒนาได้ ไม่ได้ค้าน แต่ต้องดูบริบทแต่ละแห่ง ไม่ใช่วาดแบบมาอันเดียว ทั้งต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนในการสร้างสรรค์
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2560 ที่ ลานบ้านเจ้าพระยา สถานีโทรทัศน์ News One ร่วมกับ สมัชชาแม่น้ำ จัดเสวนา"สายนำ้ไม่ไหลกลับ"จะหยุดยั้งทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างไร
นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จะกลายเป็นเหมือนโครงการโฮปเวล ที่สมัยนั้นโดนวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านเยอะมาก ซึ่งรัฐบาลที่อนุมัติสร้างในสมัยนั้น ก็เป็นรัฐบาลที่มีเวลาใช้อำนาจจำกัด ซึ่งตัดสินโดยไม่คำนึงผลกระทบอื่นๆ เลย เช่นเดียวกันโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นโครงการที่ไม่รู้ว่ากระทบกระเทือนประวัติศาสตร์อย่างไร วันนี้เรามีเขื่อนทุกแม่น้ำ
“ผมไม่คัดค้านร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะหากดูที่ริมแม่น้ำในต่างประเทศ มีการวางแผนผังเมืองมา ว่าจะไม่ให้กระทบกระเทือนโบราณสถาน ชุมชนสถาน คิดว่ารัฐบาลนี้ขาดแคลนมาก มองประชาชนเป็นเด็กๆ ไม่ให้เกียรติ เพราะประชาชนต่อสู้กันมาเพื่อสิทธิเสรีภาพ” นายไกรศักดิ์ กล่าวและว่า วันนี้เจ้าของโครงการอยากให้สำเร็จ ไม่อยากมาฟังผู้เชี่ยวชาญ ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถอธิบายกับชุมชนได้ ข้อมูลผู้รับเหมากลายเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุด ไม่คำนึงประชาชน
นายไกรศักดิ์ กล่าวอีกว่า หากจะมีการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา เช่นบางจุดในการทำทางเดิน อย่างสวนสันติชัยปราการ จุดเล็กๆ พวกนี้ยังต้องศักษากันหลายปีกว่าจะสร้างได้ เพราะต้องให้ความสำคัญกับชุมชน ดังนั้นความสำเร็จเกิดขึ้นได้เพราะว่าเราได้ความรู้จากประชาชน การพัฒนาริมน้ำจึงทำได้ แต่ไม่ใช่วาดแผนเดียวแล้วจะใช้กับทุกพื้นที่ เพราะว่าพื้นที่ริมฝั่งไม่เหมือนกัน
"ที่กรุงเทพฯบอกว่าชุมชนยินยอมให้สร้าง แต่หากฟังจากเสียงประชาชนจริงๆ หลายคนบอกว่าโดนข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ สะท้อนความไม่มีศีลธรรม ประชาชนไม่มีอำนาจในต่อรอง ทั้งๆ ที่สิทธิเสรีภาพคือขั้นพื้นฐานแต่กลายเป็นว่าต้องอยู่ในสภาพการแสดงความเห็นแบบมีเสรีภาพไม่ได้ "
ด้านรองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดีนักมานุษยวิทยา กล่าวถึงความขัดแย้งในประเทศอื่นเกิดจากคนเขาอดอยาก แต่วันนี้ปัญหาของบ้านเราคือ การไม่มีที่อยู่อาศัย การไล่รื้อชุมชนริมแม่น้ำเพื่อเอามาทำทางเลียบแม่น้ำ และส่วนมากคนที่ไปไล่รื้อขาดความเข้าใจ มองว่ามนุษย์อยู่แบบปัจเจก อยู่บนคอนโดมิเนียมกันอย่างเดียว ทั้งๆ ที่มนุษย์มีถิ่นฐาน ประชาชนมีบ้านเมืองอยู่สองฝั่งมาตลอดเจ้าพระยา ไม่ใช้สองร้อยปี แต่ห้าร้อยปี การอยู่อย่างนี้เราจะเห็นรกราก ของวิถีชีวิต นักท่องเที่ยวเวลามาก็มาเรียนรู้ ทำความรู้จักจากทั้งสองฝั่งน้ำ ดูเรื่องราวต่างๆ
“วันนี้แม่น้ำกลายเป็นคลองชลประทาน ชุมชนหายใจไม่ได้ เอาจริงไม่มีชุมชนไหนยอมให้ไล่รื้อ ยกตัวอย่าง ป้อมมหากาฬ การที่รัฐบาล คสช. มีควมพยายามไล่รื้อที่ประชาชน ที่บอกว่าจะผลงานชิ้นโบว์แดงระวังว่าจะกลายเป็นโบว์ดำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ พระประแดง นนทบุรี ชุมชนชาวสวน ทำประมง เกาะเกร็ด มีประวัติความเป็นมามากมาย แล้วคุณทำลายเขา หยุดเสียก่อนดีกว่า” รศ. ศรีศักร กล่าว.
อ่านประกอบ
สมัชชาแม่น้ำยันค้านสุดตัว ยุติโครงการทางเลียบเจ้าพระยา
คุณค่าวัฒนธรรมสูญหาย โจทย์ใหญ่ “ทางเลียบเจ้าพระยา” ไม่เชื่อมโยงชุมชน
มท.1 ยันทางเลียบเจ้าพระยา งบฯ ไม่ถึง 1.4 หมื่นล้าน โครงสร้างสูงน้อยกว่าเขื่อนริมฝั่ง
กลุ่มสมัชชาแม่น้ำ เดินหน้ายับยั้ง โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
เหล่านักวิชาการรวมตัว ค้านทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จี้สจล.ถอนตัว