สมัชชาแม่น้ำ เล็งฟ้องศาลปกครอง หากรัฐยังดื้อตอกเสาเข็มทางเลียบเจ้าพระยา
สมัชชาแม่น้ำขู่เตรียมฟ้องศาลปกครอง กรณีทางโครงการเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา หากรัฐบาล กทม.ยังดื้อสร้าง หลังพบความไม่ชอบพากลตั้งแต่ขั้นตอนการทำ EIA ขาดความรอบขอบ ไม่มีส่วนร่วมของประชาชน
จากกรณีที่ประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุม โดยทางด้านนายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ล่าสุด กทม.ได้ดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จ และนำเสนอรูปแบบต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครอบคลุมทุกเป้าหมาย ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ปัจจุบันอยู่ระหว่างคณะกรรมการราคากลางจัดทำราคากลาง ควบคู่กับการขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกทม. ได้มีหนังสือส่งรูปแบบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอนุญาตในส่วนต่างๆ แล้ว ซึ่งได้มีการหารือเพิ่มเติมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ ดังนี้ กรมเจ้าท่า เรื่องการขออนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 63 กรมศิลปากร เรื่องรูปแบบโครงการกรณีอยู่ใกล้เคียงโบราณสถาน กรมทางหลวงชนบท เรื่องการใช้พื้นที่ใต้สะพานพระราม 7 สะพานกรุงธน และสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเพื่อเป็นจุดบริการสาธารณะ การรถไฟแห่งประเทศไทย เรื่องการใช้พื้นที่ใต้สะพานพระราม 6 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เรื่องการใช้พื้นที่ใต้สะพานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เรื่องการใช้พื้นที่ใต้สะพานทางพิเศษศรีรัช นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการพิจารณากรณีผลกระทบสิ่งแวดล้อม พื้นที่โครงการผ่านพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ พื้นที่โครงการใกล้เคียงโบราณสถาน และพื้นที่โครงการผ่านบริเวณก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
ด้านนางภารนี สวัสดิรักษ์ ตัวแทนสมัชชาแม่น้ำ กล่าวถึงเหตุที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ต้องรีบทำโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทางสจล. บอกว่า จะมีการปฏิรูป การจัดระเบียบริมน้ำเจ้าพระยา (2) จะป้องกันการบุกรุกพื้นที่เจ้าพระยา ที่บอกว่าเขาไม่เวนคืนแม่น้ำ แต่เวนคืนชาวบ้านที่อยู่มาตั้งแต่ร้อยๆ ปี หลักคิดคือ กรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร มีกฎหมายที่จะจัดการการบุกรุกริมแม่น้ำอยู่เเล้ว ทำไมไม่ทำ แต่กลับจะทำทางเลียบแม่น้ำที่ผิดกฎหมายกรมเจ้าท่าเสียเอง นี่คือความทุกข์
"ท่านกำลังจะทำผิดกฎหมายกรมเจ้าท่าที่ประกาศว่า ห้ามบุกรุกลำน้ำ แต่ กทม. และรัฐบาล ถ้าทำทางเลียบก็เข้าข่ายผิดกฎหมายแน่นอน แล้วถ้าคิดว่าท่านมีอำนาจตามาตราที่ใช้ได้ ท่านกำลังจะใช้กฎหมายเพื่อตัวเอง เอากฎหมายไปไล่ชาวบ้าน ใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม"
นางภารนี กล่าวถึงกฎหมายผังเมืองที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า แม่น้ำเป็นที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม แม่น้ำเจ้าพระยาก็ระบุไว้ ห้ามตั้งแต่สิ่งก่อสร้างริมฝั่ง ไม่ใช่แค่ในลำน้ำ แต่ท่านก็ยังจะสร้าง เรื่องที่สาม เรื่องของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เป็นเรื่องที่ถกเถียง
“ศรีธนนชัยจะเกิดขึ้นในสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สวผ.)หรือเปล่าไม่ทราบ แต่เกิดขึ้นแล้วที่ สจล., กทม. และทำเนียบรัฐบาล เพราะว่า แม่น้ำเจ้าพระยา ถูกลงทะเบียนเอาไว้ว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ ท่านไปเขียนเลี่ยงในข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (TOR) การใช้คำว่า “เส้นทาง” ซึ่งกฎหมายระบุว่า เส้นทางที่ผ่านโบราณสถานต้องทำ EIA ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โบราณสถานเต็มไปหมด ห้าร้อยเมตรก็ต้องทำ EIA แต่กลับไปใช้คำว่าทางจักรยาน เลี่ยงคำว่า “ทาง” ตามพ.ร.บ.ทางหลวง” นางภารนี กล่าว และว่า ขอให้ไปดูที่เจตนา ซึ่งทางผู้ศึกษาโครงการตอบมาว่า ใช้แผนของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่ไม่ได้ทำทางจักรยานแต่คือทำถนนไฮเวย์สำหรับรถสัญจร เพราะฉะนั้น กฎหมายสิ่งแวดล้อมก็ต้องเอามาเถียงกัน
นางภารนี กล่าวถึงกระบวนการ EIA ของโครงการนี้ ไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนเลยแม้แต่หนึ่งครั้ง แต่กลับถูกส่งไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ซึ่งตามแผนมีระบุไว้ 12 แผนงานใน 14 กิโลเมตร และส่งคณะทำงานลงไปศึกษาแค่ 6 แผนงาน ทำให้ขณะนี้ EIA ก็ยังไม่ผ่าน เพราะศึกษาไม่ครบ
“กทม. จะเปิดการประมูลก่อสร้างเดือนหน้าโดยที่ EIA ยังไม่ผ่าน ต้องไปว่าในเรื่องกฎหมาย ประเด็น EIA มีช่องว่างที่ทำให้เกิด ศรีธนนชัยเยอะ แต่ว่ากฎหมายนั้นไม่ได้ตีความตามตัวหนังสือ แต่ตีความตามเจตนารมณ์ และต้องคุ้มครองสาธารณะ”
ทั้งนี้ นางภารนี กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้มีลับลมคมใน อีกอย่างเรื่องที่บอกว่า ไม่ต้องทำแผนแม่บท เพราะ สนข.ทำหมดเเล้ว ใน TOR ของทางเลียบฯ ระบุว่าภายใน 60 วัน ต้องมีการส่งแผนแม่บทที่เขาต้องไปศึกษา ปรากฏว่า ไม่ได้ทำ ไม่มีการนำมาให้ชาวบ้านดูในเวทีรับฟังความเห็น เพราะฉะนั้นการส่งงานในงวดที่ 1-6 แผนแม่บทที่ว่า เราไม่เห็น EIA ที่เสร็จก่อนรับงาน เมื่อวันที่ 26 กันยายนปี 2559
“ประเด็นที่สามที่บอกว่าหยุดไปก่อน ท่านบอกว่าหยุดได้ แต่เราไม่หยุด เพราะว่า 120 ล้านบาทที่จ้าง สจล. ถูกจ่ายให้ผู้ว่าจ้างไปแล้ว ถ้าดิฉันเป็นผู้บริจาค จ่ายเงินไปแล้ว ได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ครบถ้วน ดิฉันต้องเรียกร้องว่า ท่านจ่ายเงินให้ สจล. โดยได้งานไม่ครบ ท่านผู้ว่าฯ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ต้องตรวจสอบว่าจ่ายไปได้สินค้ามาครบหรือเปล่า ทั้งหมดนี้ ความสุขอาจไม่ได้คืน นายกฯพูดเองว่าคอร์รัปชั่นรับไม่ได้ เราเองก็รับไม่ได้ยิ่งกว่า ซึ่งจะมีการยื่นฟ้องศาลปกครองต่อไปในเร็วๆ นี้” นางภารนี กล่าว.
อ่านประกอบ
สมัชชาแม่น้ำยันค้านสุดตัว ยุติโครงการทางเลียบเจ้าพระยา
คุณค่าวัฒนธรรมสูญหาย โจทย์ใหญ่ “ทางเลียบเจ้าพระยา” ไม่เชื่อมโยงชุมชน
มท.1 ยันทางเลียบเจ้าพระยา งบฯ ไม่ถึง 1.4 หมื่นล้าน โครงสร้างสูงน้อยกว่าเขื่อนริมฝั่ง
กลุ่มสมัชชาแม่น้ำ เดินหน้ายับยั้ง โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
เหล่านักวิชาการรวมตัว ค้านทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จี้สจล.ถอนตัว
2 ศิลปินดังร่วมค้านโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา
คนดังร่วมค้าน "หยุดทางเลียบก่อนที่จะสาย"
พื้นที่ริมเจ้าพระยาพัฒนาได้ 'ไกรศักดิ์' แนะต้องดูบริบทให้เข้ากับชุมชน