โฆษก ทบ.ยันสำนักนายกฯซื้อ ฮ.AW 1.4 พันล.ตามระเบียบ-เพิ่มอุปกรณ์วีไอพี
โฆษก ทบ. แจงผ่านไลน์ ยันขั้นตอนจัดหาเฮลิคอปเตอร์ AW 139 ของ ทบ.-สำนักนายกฯ ยึดกฎระเบียบราชการ ลำดับการลงนามตามสายงานที่รับผิดชอบ เผยเหตุวงเงินจัดซื้อสูงขึ้น 101 ล.เป็น Total Package จำนวนมากกว่าครั้งแรก เพิ่มระบบการบินอัตโนมัติ มีเครื่องมือพิเศษสำหรับซ่อมระบบใบพัด ปรับปรุงข้อมูลแผนที่เดินอากาศ
จากกรณีกองทัพบกจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป ฮ.AW139 2 ลำ จาก บริษัท Agusta Westland ประเทศอิตาลี วงเงิน 43,548,387 เหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 1,350 ล้านบาท เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2555 รับมอบเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2557 ต่อมาปี 2557-2560 ได้ซื้อเพิ่มอีก 8 ลำ รวมเป็น 10 ลำ และรุ่น AW 149 จำนวน 2 ลำ (แต่ 10 ลำหลัง ไม่มีข้อมูลว่าจัดซื้อจากเอเยนต์เดียวกันหรือไม่) ในส่วนของ 2 ลำ ที่ใช้งบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 1,474 ล้านบาท หรือ 46,062,500 เหรียญสหรัฐ โดยอนุมัติเมื่อวันที่ 28 ก.ค.2557 ราคาสูงกว่า 2 ลำแรกประมาณ 124 ล่านบาท หรือ 2,514,113 เหรียญสหรัฐ (อ่านประกอบ : จัดซื้อ 12 ลำ ฮ.AW ทบ.- รุ่น 139 ล่าสุด บินได้ 5 - งด 5 ‘รอชิ้นส่วน-ซ่อมบำรุง’)
ขณะที่ การจัดซื้อ 2 ลำแรกของกองทัพบก พบปัญหาส่งของล่าช้ากว่ากำหนดในสัญญา 5 ครั้ง ตลอดจนปัญหาการเคลมชิ้นส่วนขัดข้อง ตามข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานก่อนหน้านี้
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ชี้แจงผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ในกลุ่มนักข่าวสายทหาร ระบุว่า กรณีที่มีสื่อมานำเสนอเรื่อง ฮ.ท.139 หรือ AW 139 ในส่วน 2 เครื่องที่ใช้สนับสนุนสำนักนายกรัฐมนตรี นั้น เรียนว่า ขั้นตอนการการจัดหาสิ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ของ ทบ. ยังคงยึดตามกรอบกฎระเบียบของทางราชการ ลำดับขั้นการลงนามในหนังสือแต่ละระดับก็เป็นไปตามตำแหน่งงานของระบบราชการตามสายงานที่รับผิดชอบ โดยการจัดหายุทโธปกรณ์หลัก หรือยุทโธปกรณ์สำคัญของ ทบ. จะดำเนินการจัดทำเป็นโครงการโดยมีการวางแผนล่วงหน้าจากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม นโยบายด้านความมั่นคง ความเหมาะสมทางด้านยุทธการ การส่งกำลังบำรุง และงบประมาณ รวมทั้งได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองอย่างรอบคอบจากกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) และกระทรวงกลาโหม โดยมีการคัดเลือกแบบและการจัดทำคุณลักษณะเฉพาะ
สำหรับการจัดหา ฮ.ท.139 หรือ (AW139) ในส่วนของ ทบ. นั้น เป็นการจัดหา ฮ. ทางธุรการ เพื่อทดแทน ฮ. ใช้งานทั่วไป แบบ 212 ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี เริ่มดำเนินการจัดหาไปครั้งแรกเมื่อปี 55 จำนวน 2 เครื่อง และมีแผนในการจัดหาเพิ่มเติมให้ครบฝูงบิน เพื่อความสะดวกในการส่งกำลังและซ่อมบำรุง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ส่วนการรายงานขออนุมัติซื้อ นั้น มีการดำเนินการตามสายงานและตำแหน่งหน้าที่ที่รับผิดชอบ ซึ่ง กห. และ ทบ. ได้มอบอำนาจไว้ รวมทั้งผ่านการกลั่นกรองตามสายงานอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน
ส่วนการจัดหา ฮ.ท.139 หรือ (AW139) ในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรี นั้น เนื่องจาก ทบ. ได้รับมอบหมายจากสำนักนายกรัฐมนตรีให้จัดหา ฮ. ใช้งานทั่วไปสนับสนุนให้กับผู้บังคับบัญชาระดับสูงและบุคคลสำคัญ ทาง ทบ. จึงพิจารณาเห็นควรจัดหา ฮ.ท.139 (AW139) ไว้ในฝูงบินทางธุรการ ร่วมกับอากาศยานที่จัดหาในครั้งแรก จึงดำเนินการจัดหา ฮ.ดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 จำนวน 2 เครื่องในปีงบประมาณ 2557 พร้อมทั้งได้มีการจัดซื้อเครื่องมือชิ้นส่วนซ่อมพร้อมอุปกรณ์ประกอบ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับภารกิจการบินให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงและบุคคลสำคัญ (ฮ.VIP) มีจำนวนรายการมากกว่าการจัดซื้อในครั้งแรก ในลักษณะ Total Package เช่น การปรับปรุงข้อมูลแผนที่เดินอากาศ, เครื่องมือพิเศษสำหรับซ่อมระบบใบพัด, การเพิ่มระบบการบินอัตโนมัติ (Auto Pilot) และหลักสูตรการฝึกอบรมนักบินและช่างเพิ่มเติม เป็นต้น
รวมถึง ฮ. ดังกล่าวจะต้องดำเนินการปรนนิบัติบำรุงและซ่อมบำรุง เมื่อใช้งานครบ 25 ชั่วโมง, 50 ชั่วโมง, 200 ชั่วโมง และ 300 ชั่วโมง จึงมีความจำเป็นต้องสะสมชิ้นส่วนซ่อมให้มีความพร้อมในการปรนนิบัติบำรุงอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความพร้อมในการใช้งานได้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้วงเงินการจัดซื้อสูงขึ้นกว่าการจัดหาในครั้งแรกเป็นเงิน 3.149 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 101 ล้านบาทเศษ
ทั้งนี้ ชิ้นส่วนซ่อม อุปกรณ์ประกอบ สิ่งอำนวยความสะดวก และหลักสูตรการฝึกอบรมที่จัดหาเพิ่มเติมทั้งหมด ได้ผ่านการตรวจสอบอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ โดยการจัดหายุทโธปกรณ์ทุกชนิดของ ทบ. ยึดตามหลักเกณฑ์ ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน ได้มีการตรวจสอบในทุก ๆ ขั้นตอนของการจัดหา เพื่อให้การดำเนินการจัดหาครั้งนี้เป็นไปด้วยความถูกต้องโปร่งใส
"อย่างไรก็ตาม ทบ. มีความพร้อมในการเข้ารับการตรวจสอบความถูกต้องโปร่งใส จากหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบได้ตลอดเวลา กรณีมีการร้องขอหรือประสานมา" พ.อ.วินธัย ระบุ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า ก่อนหน้านี้ บริษัท Agusta Westland S.p.A มีสถานะเป็นบริษัทลูกของ บริษัท Finmeccanica S.p.a. (บ.Leonardo S.p.A.ในปัจจุบัน) ดำเนินกิจการผลิตและออกแบบเฮลิคอปเตอร์ ก่อตั้งในปี 2000 (พ.ศ.2543) จากการรวมตัวของบริษัท Agusta ในเครือบริษัท Finmeccanica ประเทศอิตาลี และบริษัท Westland Helicopters ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ GNK จากสหราชอาณาจักร โดยแต่ละฝ่ายถือหุ้นกึ่งหนึ่ง จนกระทั่งปี 2004 (พ.ศ.2547) GNK ขายหุ้นส่วนที่ถือให้ Finmeccanica ทั้งหมด Agusta Westland จึงกลายเป็นของ Finmeccanica แต่เพียงผู้เดียว
โดยปี 2013 (พ.ศ.2556) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายบรูโน่ สปานยอลินี่ ประธานกรรมการบริหารของ Agusta Westland ถูกเจ้าหน้าที่อิตาเลียนจับกุมพร้อม นายจูเซปเป้ ออร์ซี่ ประธานบริษัทแม่ ด้วยข้อหาคอร์รัปชันกรณีทำสัญญาซื้อขายเฮลิคอปเตอร์รุ่น AW101 จำนวน 12 ลำ กับ กองทัพอากาศอินเดีย เพื่อใช้ในภารกิจขนส่งบุคคลระดับสูงและภารกิจอื่น ๆ รวมมูลค่ากว่า 35,000 ล้านรูปี โดยมีการกล่าวหาว่าเป็นการติดสินบนเจ้าหน้าที่จำนวนเกือบ 3,600 ล้านรูปี (อ่านประกอบ : บ.ขาย ฮ.AW139 มีคดีติดสินบน จนท.ระดับสูงอินเดีย 3,600 ล.รูปี ก่อนโผล่ไทย)
อ่านประกอบ :
ฮ.AW สำนักนายกฯ พล.อ.ฉัตรชัยอนุมัติ 2 ลำ 1,474 ล. หลังรัฐประหาร 65 วัน
จัดซื้อ 12 ลำ ฮ.AW ทบ.- รุ่น 139 ล่าสุด บินได้ 5 - งด 5 ‘รอชิ้นส่วน-ซ่อมบำรุง’
อ้างหนังสือลับมาก ผบ.ทบ. ก่อนเคาะซื้อ ฮ.AW 139 2 ลำ 1.3 พันล.
ละเอียดยิบ! หนังสือ ทบ.เรียกค่าปรับ บ.ผู้ขาย ฮ. AW 139 2 ลำ ทำผิดสัญญา
บ.ออกุสตาฯ ผู้ขาย ฮ.AW 139 ทบ. 2 ลำ ส่งมอบชิ้นส่วนล่าช้า 5 ครั้งรวด
เปิดสัญญา ฮ.AW 139 ทบ. 2 ลำ ปี 55 ส่งมอบใน 530 วัน-จ่ายเงินหมดแล้ว
โฆษก ทบ.รับเอกสาร AW 139 อิศรา ของจริง-ยันเป็นบันทึกส่งผู้บังคับบัญชา แค่อาจงดบิน
เปิดเอกสารชัด! ฮ. AW 139 ทบ. 2 ลำ งดบิน-มีปัญหาขัดข้องเคลมอะไหล่
โฆษก ทบ.ยัน100% ฮ.AW 139 ไม่เคยเสีย-ใช้งานปกติ หวั่นผู้ไม่หวังดีขยายผลโจมตี
ใช้งานปีเดียวจอดในโรงซ่อม! เฮลิคอปเตอร์ AW 139 ทบ. 2 ลำ 1.3 พันล.