ชื่อ‘มนตรี’โชว์หรายุค‘ชาติชาย’คนชง ครม.ซื้อเครื่องบินปี 34-38 '5.3 หมื่นล.'
“…กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการจัดซื้อเครื่องบินพร้อมอะไหล่ดังกล่าวข้างต้น เป็นโครงการที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และจะเกิดผลเสียหายหากดำเนินการล่าช้า เนื่องจากปัจจุบันการให้บริการด้านการบินยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้โดยสาร และสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้อเครื่องบินจะต้องมีการสั่งจองล่วงหน้าประมาณ 2 ปี หากดำเนินการล่าช้าจะมีผลทำให้การสั่งจอง และการส่งมอบเครื่องบินล่าช้าออกไปมาก จึงจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน…”
กรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ ให้การยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจิตของสหราชอาณาจักร (SFO) ว่า ได้จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2534-2548 จำนวน 3 ครั้ง รวมวงเงินกว่า 1,250 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนให้ความช่วยเหลือในการทำสัญญาจัดซื้อเครื่องยนต์ T-800 กำลังเป็นที่สนใจจากสาธารณชนอย่างยิ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงภายในเพื่อหาตัวผู้เกี่ยวข้องด้วย
สำหรับการจ่ายสินบนครั้งที่ 1 ตามคำแถลงสรุปคดีจาก STATEMENT OF FACTS PREPARED PURSUANT TO PARAGRAPH 5(1) OF SCHEDULE 17 TO THE CRIME AND COURTS ACT 2013 ระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 2534-30 มิ.ย. 2535 หรือระยะเวลาประมาณ 1 ปี
โดยมีการจ่ายเงินผ่านนายหน้ามูลค่าประมาณ 18.8 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ให้เลือกซื้อเครื่องไอพ่น T-800 สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง 777 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (ขณะนั้นยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลมติคณะรัฐมนตรีในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่า การจัดซื้อเครื่องบินระหว่างปี 2534-2535 เกิดขึ้นจากที่บริษัท การบินไทย จำกัด นำเสนอแผนการลงทุนระยะยาวระหว่างปี 2534-2538 แก่กระทรวงคมนาคม โดยมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีประมาณกลางปี 2533
กระทรวงคมนาคม ได้นำเสนอแผนการลงทุนระยะยาว พ.ศ.2534-2538 ของบริษัท การบินไทย จำกัด แก่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2533 สรุปได้ ดังนี้
เรื่องเดิม คณะรัฐมนตรีเมื่อคราวประชุมวันที่ 14 มิ.ย. 2531 เห็นชอบและอนุมัติให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2531 เห็นชอบกับแผนการตลาดต่างประเทศ และแผนการลงทุนระยะยาว พ.ศ.2531-2535 ในการจัดซื้อเครื่องบินรวม 6 ลำ และเช่าหรือเช่าซื้อเครื่องบินขนาด 140-150 ที่นั่ง จำนวน 2 ลำ (รวม 8 ลำ) พร้อมมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และบริษัท การบินไทย จำกัด รับไปดำเนินการจัดทำแผนการตลาดในประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2532 อนุมัติให้บริษัท การบินไทย จำกัด จัดซื้อเครื่องบินใหม่รวม 13 ลำ ตามโครงการปรับแผนเร่งด่วนของบริษัท การบินไทย จำกัด เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนเครื่องบินและขยายการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าบริษัท การบินไทย จำกัด ได้วางแผนการตลาดในเชิงรุก และพยายามจัดหาเครื่องบินให้เพียงพอต่อปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวแล้วก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ธุรกิจการบินได้เติบโตอย่างรวดเร็วกว่าที่บริษัท การบินไทย จำกัด คาดคะเนไว้มาก ทำให้เครื่องบินที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งเส้นทางบินต่างประเทศ และเส้นทางบินในประเทศ ประกอบกับประเทศไทยมีแนวโน้ม และโอกาสที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางขนส่งทางอากาศในภูมิภาคนี้ เพราะสถานที่ตั้งของประเทศไทย เหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางการบินพาณิชย์มากกว่าฮ่องกง และสิงคโปร์ มีทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้ออำนวยต่อการท่องเที่ยว มีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลทำให้ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก
บริษัท การบินไทย จำกัด จึงจัดทำแผนการตลาด แผนการบิน แผนการพัฒนาฝูงบิน แผนการลงทุน และแผนการเงิน เป็นแผนการลงทุนระยะยาว พ.ศ.2534-2538 เพื่อเสนอความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคม โดยจะขออนุมัติเครื่องบินใหม่ รวม 23 ลำ พร้อมอะไหล่เครื่องบิน วงเงินลงทุน 64,035 ล้านบาท และลงทุนในสินทรัพย์ถาวรอื่น ๆ อีก 11,074 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 75,109 ล้านบาท
กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วเห็นชอบกับข้อเสนอของบริษัท การบินไทย จำกัด และเห็นควรเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี
โดยให้ความเห็นชอบแผนการลงทุนระยะยาว พ.ศ.2534-2538 ของบริษัท การบินไทย จำกัด และขออนุมัติให้บริษัท การบินไทย จำกัด ดำเนินการจัดซื้อเครื่องบินเพิ่มขึ้นรวม 23 ลำ วงเงินลงทุนทั้งสิ้น 53,103 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.เครื่องบินที่จะใช้ทำการบินภายในประเทศขนาดประมาณ 100 ที่นั่ง จำนวน 5 ลำ โดย 1 ลำ รับมอบในปี 2534 และอีก 4 ลำ รับมอบในปี 2535
2.เครื่องบินที่จะใช้ทำการบินในเส้นทางภูมิภาคขนาดประมาณ 250 ที่นั่ง จำนวน 5 ลำ โดยจะรับมอบในปี 2534 ทั้ง 5 ลำ
3.เครื่องบินที่จะใช้ทำการบินในเส้นทางภูมิภาคขนาดประมาณ 300 ที่นั่ง จำนวน 8 ลำ โดย 4 ลำ จะรับมอบในปี 2537 และอีก 4 ลำ จะรับมอบในปี 2538
4.เครื่องบินที่จะใช้ทำการบินในเส้นทางข้ามทวีปขนาดประมาณ 400 ที่นั่ง จำนวน 5 ลำ โดยจะทยอยรับมอบตั้งแต่ปี 2535-2538
พร้อมขออนุมัติให้บริษัท การบินไทย จำกัด ดำเนินการจัดซื้ออะไหล่เครื่องบินวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 10,932 ล้านบาท และขออนุมัติให้ลงทุนในทรัพย์สินถาวรอื่น ๆ ในวงเงินทั้งสิ้น 11,074 ล้านบาท (รวมทั้งสิ้น 75,109 ล้านบาท)
กระทรวงคมนาคมยังเสนอความเห็นว่า ถ้าหากคณะรัฐมนตรีมติอนุมัติข้อเสนอดังกล่าว จะมีผลเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในส่วนเกี่ยวกับการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางอากาศในภูมิภาคนี้ การส่งเสริมการท่องเที่ยว การส่งออก และการให้บริการพื้นฐานเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งที่ขาดตอน และให้บริการอย่างเพียงพอ ขณะเดียวกันบริษัท การบินไทย จำกัด มีความสามารถในการลงทุนตามแผนการลงทุนระยะดังกล่าวโดยไม่มีปัญหาด้านการเงิน และไม่มีปัญหาด้านการค้ำประกันเงินกู้ของรัฐบาล
ทั้งนี้การลงทุนซื้อเครื่องบินใหม่จำนวน 23 ลำ ของบริษัท การบินไทย จำกัด จะมีผลตอบแทนต่อการลงทุนประมาณร้อยละ 14 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาลงทุนประมาณร้อยละ 12 แสดงว่าโครงการลงทุนซื้อเครื่องบินดังกล่าวมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สูงต่อบริษัท การบินไทย จำกัด และหากพิจารณาถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว การลงทุนตามแผนการลงทุนระยะยาวดังกล่าวข้างต้น จะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การส่งออก และการลงทุน ซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยส่วนรวมในที่สุด
กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการจัดซื้อเครื่องบินพร้อมอะไหล่ดังกล่าวข้างต้น เป็นโครงการที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และจะเกิดผลเสียหายหากดำเนินการล่าช้า เนื่องจากปัจจุบันการให้บริการด้านการบินยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้โดยสาร และสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้อเครื่องบินจะต้องมีการสั่งจองล่วงหน้าประมาณ 2 ปี หากดำเนินการล่าช้าจะมีผลทำให้การสั่งจอง และการส่งมอบเครื่องบินล่าช้าออกไปมาก จึงจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน
ข้อเสนอนี้ลงนามโดยนายมนตรี พงษ์พานิช รมว.คมนาคม ในขณะนั้น (ระหว่างวันที่ 9 ส.ค. 2531-9 ธ.ค. 2533) ซึ่งอยู่ในสมัยรัฐบาล พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี (ยศ และตำแหน่งขณะนั้น) บริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2531-23 ก.พ. 2534 (ดูเอกสารประกอบ)
ทั้งนี้ตามแผนการลงทุนของบริษัท การบินไทย จำกัด ปี 2534-2548 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แนบความเห็นไปยังคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว พบว่า บริษัท การบินไทย จำกัด ขออนุมัติซื้อเครื่องบินจำนวน 23 ลำ แบ่งเป็น ปี 2533/34 จัดสรรเงิน 1,840 ล้านบาท ปี 2534/35 จัดสรรเงิน 6,860 ล้านบาท ปี 2535/36 จัดสรรเงิน 13,961 ล้านบาท ปี 2536/37 จัดสรรเงิน 15,690 ล้านบาท ปี 2537/38 จัดสรรเงิน 16,038 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 53,389 ล้านบาท (ดูภาพประกอบ)
ทั้งนี้ในผลการสอบสวนของ SFO ไม่ได้มีการระบุรายชื่อบุคคลที่รับสินบน และนายมนตรี พงษ์พานิช แต่อย่างใด สำหรับนายมนตรี เป็นอดีตรัฐมนตรีหลายสมัยในช่วงปี 2533-2540 ปัจจุบันได้เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2543
(อ่านรายนามคณะรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ได้ที่นี่ : คณะที่ 45 : http://www.soc.go.th/cab_45.htm, คณะที่ 46 : http://www.soc.go.th/cab_46.htm)
อ่านประกอบ :
ตั้ง‘สุภา-สุรศักดิ์-สถาพร’ดูแลคดีสินบนโรลส์-รอยซ์-26 ม.ค.ป.ป.ช.ถก SFO
ถก ยธ.สหรัฐฯสัปดาห์หน้า-ป.ป.ช.ตั้งคณะทำงานทางการสอบสินบนโรลส์-รอยซ์
สั่งคมนาคมเร่งสอบสินบนโรลส์-รอยซ์! ‘บิ๊กตู่’ย้อนหาว่า รบ.โกง ไหนคดีในศาล
ชี้อำนาจ ครม. อนุมัติ ! 'กนก'อดีตดีดีบินไทยพร้อมให้สอบหาอีแอบสินบนโรลส์รอยซ์
ประมวลชัดๆ 'ข้อมูลจัดซื้อ-เส้นทางสินบน' คดีโรลส์รอยซ์-บินไทย 1.2 พันล.
จ่ายก้อน3 ช่วง นัดรมต.ยุคแม้วกินข้าว!สตง.แจ้งSFOขอผลสอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์'
การบินไทย แจงเร่งตรวจสอบข้อมูล หลัง 'โรลส์รอยซ์'ยอมรับจ่ายสินบนในไทย
ชวน "ดร.เมธี- ต่อตระกูล" คุยกรณีโรลส์-รอยซ์ ติดสินบนซื้อเครื่องยนต์
สอบทุกรบ.!สตง.ลุยตรวจสินบนโรลส์รอยซ์'ปตท.'แล้ว-คดีบินไทยรอ'ชื่อ'ผู้เกี่ยวข้อง
แกะรอยจากเอกสารคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ อ้าง"บิ๊ก"กองทัพอากาศพัวพัน(ตอนที่ 1)
แกะรอยจากเอกสาร โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 2 ช่วงปี 35-40 "จัดการขั้นตอนทางการเมือง"