เปิดหนังสือสุริยะฉบับ2ชงครม.ระดมทุนซื้อ'B777'6ลำ-วัฒนายันบินไทยจัดการเอง
"...(1) มติ ครม. ดังกล่าวเป็นการเห็นชอบการจัดซื้อเครื่องบินจากแอร์บัสและโบอิ้งตามข้อเสนอของการบินไทย เหตุที่ต้องเข้า ครม. เพราะเป็นวงเงินสูงถึง 96,355 ล้านบาท การบินไทยน่าจะใช้เงินกู้ที่รัฐบาลต้องเป็นผู้ค้ำประกันซึ่งถือเป็นการก่อหนี้สาธารณะจึงต้องเสนอเรื่องให้ ครม. เห็นชอบ (2) ส่วนสินบนเป็นเรื่องที่การบินไทยสั่งซื้อเครื่องยนต์ไอพ่น ล็อต 3 ของโรลส์รอยส์ และ (3) แผนการที่จะซื้อเครื่องบินแบบใหน รุ่นอะไร จำนวนกี่ลำ และจะใช้เครื่องยนต์ของใครจึงจะเหมาะกับภารกิจและคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด เป็นเรื่องทางเทคนิคที่การบินไทยพิจารณาเองมาโดยตลอด.."
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2547 ซึ่งปรากฎข้อมูลอยู่ในเนื้อหาผลสอบสวนกรณีบริษัทโรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนให้กับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 3 จำนวน 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 254 ล้านบาท) ช่วงปี 2547-2548 ของ สำนักงานต่อต้านการทุจริต (SFO) ประเทศอังกฤษ พบว่า มีการระบุข้อมูลเกี่ยวกับมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 พ.ย.2547 เกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ แอร์บัส A340 และ โบอิ้ง 777 และส่วนแบ่งจำนวน 4 % จากการอนุมัติของของรัฐบาลด้วย
โดยมีการระบุว่า " จดหมายภายในบริษัทRR ฉบับลงวันที่ 19 พฤจิกายน 2547 บันทึกการประชุมซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง นายหน้า 3 และนายหน้าส่วนภูมิภาค และคนในรัฐบาลไทย (the Thai Government) ซึ่งระบุบรรยากาศการประชุมครั้งนั้นว่า
“ช่างเป็นการประชุมที่ดีเหลือเกิน การจัดซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ แอร์บัส A340 และ โบอิ้ง 777 กำลังอยู่ในวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 23 พฤจิกายนนี้ (2547)”
118. อีเมล์ฉบับเดียวกันยังพูดถึงเรื่องข้อตกลงค่าส่วนแบ่งคอมมิสชั่น โดยที่นายหน้า3 และนายหน้าส่วนภูมิภาค ได้ปฏิเสธข้อเสนอของบริษัท RR โดยทั้งสองยื่นข้อเสนอใหม่ว่า
“ต้องการส่วนแบ่งเป็น 4% จากการอนุมัติของรัฐบาลในครั้งนี้ ลงวันที่ ธันวาคม 2547” ("4% on Government approval, i.e. Dec 04".)
นอกเหนือจากการตรวจสอบข้อมูลสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ที่พบว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ลงนามในหนังสือถึงครม. เพื่อประกอบการพิจารณาโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจปี 2548/49 -2552/53 ของบริษัทการบินไทย ซึ่งมีสาระสำคัญ อยู่ที่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดจากมติ ครม. เดิม เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2546 ที่ให้ การบินไทย ดำเนินโครงการจัดซื้อเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ปี 2545/2546-2549/2550 เพื่อจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติม จำนวน 15 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินใช้แล้ว แบบ B747-400 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ จำนวน 7 ลำ เครื่องบิน แบบ A340-500 จำนวน 3 ลำ และเครื่องบินแบบA340-600 จำนวน 5 ลำ แต่การบินไทยไม่สามารถรับมอบเครื่องบินใช้แล้วแบบ B747-400 จำนวน 7 ลำ ทำให้การบินไทย ไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตในปี 2546/2547 -2547/2548 การบินไทย จึงได้เลื่อนการรับมอบเครื่องบิน แบบ A340-500/600 ให้เร็วขึ้น และปรับปรุงแผนวิสาหกิจฉบับเดิม (ปี 2545/46-2549/50)เป็นแผนวิสาหกิจฉบับใหม่ ปี 2548/49 -2552/53 ตามที่นำเสนอครม. เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2547
จึงเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินตามแผนวิสาหกิจ ปี 2548/49 -2552/53 จำนวน 14 ลำ ดังกล่าว ประกอบด้วย เครื่องบินพิสัยไกลขนาดใหญ่มาก แบบ A380 จำนวน 6 ลำ เครื่องบินพิสัยไกลพิเศษ แบบ A340-500 จำนวน 1 ลำ เครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง แบบ A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง แบบ B777-200 ER จำนวน 6 ลำ ในวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 96,355 ล้านบาท
(อ่านประกอบ : แกะรอย บ.โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 3 ช่วงปี 47-48 "ดินเนอร์กับคนในรัฐบาล" (จบ) , หลักฐานเด็ด!มติ ครม.ปี 47 คดีสินบนโรลส์รอยส์-'สุริยะ'ชงเปลี่ยนซื้อ'B777' 6 ลำ)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในการประชุมครม.วาระดังกล่าว นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ยังเป็นผู้ลงนามในหนังสืออีกหนึ่งฉบับ เพื่อเสนอที่ประชุมครม.ขอยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบการก่อหนี้ของประเทศ พ.ศ.2528 เกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนเพื่อชำระค่าจัดหาเครื่องบิน ภายใต้แผนวิสาหกิจของบริษัท ปี พ.ศ.2548/49-2552/53 ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุมัติที่ประชุมครม.ดังกล่าว
โดยในหนังสือแจ้งเหตุผลสำคัญว่า การบินไทยมีการลงทุนค่อนข้างสูง เพราะภายใต้แผนธุรกิจเชิงรุก ต้องจัดหาเครื่องบินใหม่จำนวน 14 ลำ นอกเหนือจากที่ครม.อนุมัติไว้แล้ว 8 ลำรวมถึงการปรับปรุงอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์บนเครื่องบินให้ทันสมัยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ประกอบกับการลงทุน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทำให้มีความต้องการลงทุนในช่วง 5 ปี ดังกล่าว สูงถึง 140,126 ล้านบาท
แม้ว่าทางการบินไทยจะได้พยายามที่จะใช้แหล่งเงินทุนจากการดำเนินงานเป็นลำดับแรก แต่โดยปกติแล้วราคาเครื่องบินใหม่จะมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับผลตอบแทานจากการใช้เครื่องบินจะไม่ได้เกิดขึ้นในทันที แต่จะต้องมีการใช้เครื่องบินไประยะหนึ่งจึงจะมีการคืนทุน ทำให้แหล่งเงินทุนจากภายนอกเป็นสิ่งจำเป็น ส่วนการระดมทุนจากการเพิ่มทุนนั้น เนื่องจากสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังคงเหลือเพียงร้อยละ 54.21 เท่านั้น ซึ่งตามมติครม.เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2546 เห็นชอบให้ภาครัฐคงสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทการบินไทย เกินกว่าร้อยละ 50 ดังนั้น โอกาสการเพิ่มทุนจึงมีน้อย อีกทั้งยังไม่สามารถระดมทุนได้เพียงพอสำหรับการลงทุนจัดหาเครื่องบิน
ทั้งนี้ จากแผนการลงทุนของการบินไทยในอนาคตที่จะมีการจัดหาเครื่องบินใหม่ จำนวน 14 ลำ ตามแผนวิสาหกิจปี พ.ศ.2548/49-2552/53 ดังกล่าวข้างต้นนั้น ทำให้วงเงินตามเพดานหนี้เงินกู้ต่างประเทศที่การบินไทย ได้รับการจัดสรรอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการเงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ในอนาคต การกำหนดวงเงินสำหรับเพดานหนี้เงินกู้ต่างประเทศที่กระทรวงการคลังนำเสนอในแต่ละปีที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจสามารถทำการกู้ได้ มีแนวโน้มลดลง ตามลำดับดังนี้
ดังนั้น หากพิจารณาร่วมกับแผนการลงทุนในอนาคตแล้วการบินไทย จะไม่สามารจัดหาแหล่งเงินกู้จากต่างประเทศได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ หากยังต้องปฏิบัติตามระเบียบก่อหนี้ต่างประเทศ พ.ศ.2528 ดังเช่นในปัจจุบัน ซึ่งอาจส่งผลให้สูญเสียโอกาสทางการแข่งขันในอนาคต
ขณะที่การเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี นั้น กระทรวงการคลังได้มีหนังสือถึงการบินไทย เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2547 แจ้งว่าขณะนี้รัฐถือหุ้นในการบินไทยไม่ถึงร้อยละ 70 การบินไทย จึงสามารถยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบการก่อหนี้ต่างประเทศ พ.ศ.2528 ได้ โดยกระทรวงการคลังขอให้การบินไทย เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบการก่อหนี้ฯ เช่นเดียวกับบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการยกเว้นก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ ในการนำเสนอเรื่องดังกล่าว มีการระบุข้อความชัดเจนว่า "กระทรวงคมนาคม พิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่การบินไทยเสนอ"
จึงเรียนมาเพื่อโปรดนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้การบินไทย ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบการก่อหนี้ต่างประเทศ พ.ศ.2528
ขอแสดงความนับถือ
ลงชื่อ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (ดูหนังสือประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2547 ได้มีมติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ในการอนุมัติให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบการก่อหนี้ของประเทศ พ.ศ. 2528
สำหรับบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ขณะที่ล่าสุด นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีในยุคนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Watana Muangsook ระบุว่า
"สินบนการบินไทย อีกที"
หลังจากผมชี้แจงเรื่องที่โรลส์รอยส์จ่ายเงินสินบนจำนวน 254 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนการซื้อเครื่องยนต์ไอพ่นล็อต 3 ว่า ไม่เกี่ยวข้องกับ ครม. ทักษิณ เพราะคุณสมบัติของเครื่องยนต์เป็นเรื่องทางเทคนิคเฉพาะที่การบินไทยจะเป็นผู้กำหนดและจัดซื้อจัดจ้างเองโดยไม่ต้องเข้า ครม. แต่ยังมีคอลัมน์นิสต์และสำนักข่าวแห่งหนึ่งพยายามโยงเรื่องให้มาเกี่ยวข้องกับพวกผมให้ได้ อ้างว่า ครม. เคยมีมติเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2547 อนุมัติการจัดซื้อฝูงบินจำนวน 14 ลำ ในวงเงินลงทุน 96,355 ล้านบาท นั้น ข้อเท็จจริง คือ
(1) มติ ครม. ดังกล่าวเป็นการเห็นชอบการจัดซื้อเครื่องบินจากแอร์บัสและโบอิ้งตามข้อเสนอของการบินไทย เหตุที่ต้องเข้า ครม. เพราะเป็นวงเงินสูงถึง 96,355 ล้านบาท การบินไทยน่าจะใช้เงินกู้ที่รัฐบาลต้องเป็นผู้ค้ำประกันซึ่งถือเป็นการก่อหนี้สาธารณะจึงต้องเสนอเรื่องให้ ครม. เห็นชอบ (2) ส่วนสินบนเป็นเรื่องที่การบินไทยสั่งซื้อเครื่องยนต์ไอพ่น ล็อต 3 ของโรลส์รอยส์ และ (3) แผนการที่จะซื้อเครื่องบินแบบใหน รุ่นอะไร จำนวนกี่ลำ และจะใช้เครื่องยนต์ของใครจึงจะเหมาะกับภารกิจและคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด เป็นเรื่องทางเทคนิคที่การบินไทยพิจารณาเองมาโดยตลอด
ผมเห็นด้วยที่สังคมจะช่วยกันตรวจสอบเรื่องการทุจริต แต่จะต้องอยู่บนข้อเท็จจริงและมีความเป็นกลาง เรื่องสินบนมีการจ่ายรวม 3 ครั้ง คือครั้งที่ 1 ปี 2534-2535 จำนวน 663 ล้านบาท ครั้งที่ 2 ปี 2535-2540 จำนวน 336 ล้านบาท และครั้งที่ 3 ปี 2547-2548 จำนวน 254 ล้านบาท เหตุที่ผมชี้แจงเพียงครั้งที่ 3 เพราะเกี่ยวข้องกับผมเพียงแค่นี้และถือเป็นมารยาทที่จะไม่ไปพาดพิงถึงคนอื่น การบินไทยเป็นองค์กรที่เข้มแข็งเห็นได้จากการออกมาเป่านกหวีดกู้ชาติครั้งล่าสุด ผมจึงเชื่อว่าจะหาคนที่เกี่ยวข้องกับการรับสินบนได้ไม่ยาก ส่วนที่บอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับพวกผมก็คือการพูดความจริงไม่ได้กลัวการตรวจสอบ เพราะคนที่มาจากประชาชนพร้อมเสมอที่จะให้มีการตรวจสอบและไม่เคยนิรโทษกรรมตัวเองหนีความผิดครับ
วัฒนา เมืองสุข
พรรคเพื่อไทย
24 มกราคม 2560
อ่านประกอบ
ประมวลชัดๆ 'ข้อมูลจัดซื้อ-เส้นทางสินบน' คดีโรลส์รอยซ์-บินไทย 1.2 พันล.
จ่ายก้อน3 ช่วง นัดรมต.ยุคแม้วกินข้าว!สตง.แจ้งSFOขอผลสอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์'
การบินไทย แจงเร่งตรวจสอบข้อมูล หลัง 'โรลส์รอยซ์'ยอมรับจ่ายสินบนในไทย
ชวน "ดร.เมธี- ต่อตระกูล" คุยกรณีโรลส์-รอยซ์ ติดสินบนซื้อเครื่องยนต์
ชวลิตนั่งปธ.!ปตท.ตั้งกก.สอบสินบน'โรลส์รอยซ์'-สรุปผลเบื้องต้นสัปดาห์หน้า
สอบทุกรบ.!สตง.ลุยตรวจสินบนโรลส์รอยซ์'ปตท.'แล้ว-คดีบินไทยรอ'ชื่อ'ผู้เกี่ยวข้อง
ตอนที่ 1 แกะรอยจากเอกสารคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ อ้าง"บิ๊ก"กองทัพอากาศพัวพัน(ตอนที่ 1)
ตอนที่ 2 แกะรอยจากเอกสาร โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 2 ช่วงปี 35-40 "จัดการขั้นตอนทางการเมือง"