แกะรอย บ.โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 3 ช่วงปี 47-48 "ดินเนอร์กับคนในรัฐบาล" (จบ)
ในอีเมล์4 ธ.ค.47 ระบุตอนหนึ่งว่า “- นายหน้าส่วนภูมิภาค กับนายหน้า3 ได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำด้วยกันในวันที่ 18 ธันวาคม กับรัฐมนตรีช่วยว่าการของรัฐบาลไทยคนหนึ่งที่เคยพบกันมาก่อน”
จากสกู๊ปในสองตอนที่ผ่านมา ซึ่งทางสำนักข่าวอิศรา ได้แปลคำฟ้องจากศาลอังกฤษ กรณีบริษัท บริษัทโรลส์-รอยส์ จ่ายสินบนให้หลายประเทศที่ทำการซื้อขายเครื่องยนต์ รวมถึงได้จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ไทย และบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2534 - 2548 รวม 3 ครั้ง วงเงินกว่า 1,200-1,300 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนให้ความช่วยเหลือในการทำสัญญาจัดซื้อเครื่องยนต์ Trent 800
ตอนที่ 1 แกะรอยจากเอกสารคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ อ้าง"บิ๊ก"กองทัพอากาศพัวพัน(ตอนที่ 1)
ตอนที่ 2 แกะรอยจากเอกสาร โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 2 ช่วงปี 35-40 "จัดการขั้นตอนทางการเมือง"
ในส่วนของตอนที่ 3 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของมหากาพย์สินบนยาวนานกว่า 20 ปีครั้งนี้ เป็นการจัดซื้อครั้งที่ 3 เกิดขึ้นระหว่าง 1 เมษายน 2547-28 กุมภาพันธ์ 2548 ในรายงานระบุว่า
โดยสรุป
96. บริษัทโรลส์-รอยส์ (RR)ตกลงจ่ายเงินเกือบ 7.2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ให้แก่กลุ่มนายหน้า (its intermediaries) โดยเงินบางส่วนจ่ายให้แก่ ผู้แทนของประเทศไทย พนักงานการบินไทย กลุ่มแสดงท่าทีสนับสนุนการจัดซื้อเครื่องยนต์ T800 ครั้งที่สาม ของการบินไทย
ข้อเท็จจริงดังนี้
97. การจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777 ครั้งที่สามของสายการบินไทย ได้เริ่มหารือตั้งแต่ต้นปี 2539 แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปจนกระทั่งปลายปี 2547 ซึ่งในขณะนั้น บริษัทRR ยืนยันว่า มีงบประมาณเพียงพอสำหรับจ่ายให้นายหน้าในภูมิภาคและนายหน้า 3 ทั้งนี้ บริษัทได้ติดสินบนเงินจำนวนหนึ่งเพื่อจูงใจให้สายการบินไทยซื้อเครื่องบินพร้อมเครื่องยนต์รุ่นT800 เพิ่มเติมจากเดิม ส่วนแบ่งของเงินจำนวนนี้ได้ส่งต่อไปยัง คนในรัฐบาลไทย
98. เมษายน 2547 อีเมล์ภายในของบริษัท RR ระบุว่า นายหน้าในภูมิภาคปฎิเสธค่าคอมมิสชั่น ที่บริษัทRR เสนอในการสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777 และจะขอหารือกับพนักงานชั้นผู้ใหญ่ของบริษัท RR โดยตรง
99. ทางนายหน้าในภูมิภาค ยื่นขอค่าคอมมิสชั่นเพิ่มเติมอีก 4% หรือคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 5 แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อลำ ซึ่งทั้งนี้จะส่งผลให้มูลค่ารวมตลอดทั้งสัญญาเพิ่มถึง 8% ซึ่งถือว่า เกินกว่างบประมาณภายในของค่าคอมมิสชั่นสำหรับนายหน้า
100. มีบันทึกข้อความส่งถึงพนักงานอาวุโสของบริษัทRR ระบุว่า:
“ส่วนต่างค่าคอมมิสชั่นในซื้อขายครั้งก่อนของสายการบินไทยได้ชำระเรียบร้อยแล้ว นี่เป็นสองเท่าจากที่มีการเรียกร้องมา ยิ่งไปกว่านั้น ยังขัดกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำการค้าขององค์กรรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงระเบียบการใหม่ที่กำหนดไว้ การเจรจาทางการค้าที่ตกลงไว้ มีเงินทดรอง (margin) ไม่พอจ่ายให้กับข้อเรียกร้องดังกล่าว”
101. พฤษภาคม 2547 บริษัทRR ส่งจดหมายชี้แจงรายละเอียดค่าคอมมิสชั่นครั้งใหม่ไปยังนายหน้าส่วนภูมิภาค ซึ่งค่าคอมมิชชั่นดังกล่าวต่ำกว่ามูลค่าที่นายหน้าส่วนภูมิภาคร้องขอ ทั้งยังเพิ่มเงื่อนไขในส่วนของค่าคอมมิสชั่น โดยให้ทางการบินไทยตกลงให้บริษัท RR ดูเเล ซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ ( Total Care Agreement (“TCA”)) ตามข้อตกลงในสัญญา TCA ซึ่งเป็นสัญญาระยะยาวโดยขึ้นอยู่กับชั่วโมงบินของเครื่องยนต์ โดยการขายสัญญาดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่บริษัทRRให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ
102.นอกจากนี้ ในจดหมายฉบับเดิมยังระบุไว้ว่า นายหน้าส่วนภูมิภาคอาจขอความร่วมมือไปยังนายหน้า3ด้วย
103.ในเดือนมิถุนายน 2547 หลังจากการประชุมกับนายหน้าส่วนภูมิภาค บริษัทRR ได้ส่งจดหมายภายในซึ่งมีใจความว่า :
“[นายหน้าส่วนภูมิภาค] กล่าวว่า บริษัทRRมาถึงทางตันด้านการค้า กับสายการบินไทยแล้ว จากกรณีการสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง B777 จำนวน 6 ลำ นอกจากนี้ ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า สายการบินไทย จะไม่มีการประนีประนอมใดๆ ให้กับข้อตกลงที่เกี่ยวเนื่องกับ TCA, และ [นายหน้าส่วนภูมิภาคบริษัท B][นายหน้า 3 บริษัท A] ทั้งนี้ การจ่ายค่าคอมมิสชั่นไม่เกี่ยวข้องกับ TCA, อย่างไรก็ดี ทางพนักงานอาวุโสของบริษัทRR ก็ยังคงยืนยันว่า จะไม่เปลี่ยนแปลง ข้อเสนอ ที่ได้ชี้แจงไปก่อนหน้านี้"
104. ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการส่งบันทึกข้อความไปยังพนักงานชั้นผู้ใหญ่ของบริษัทRR โดยระบุไว้ในย่อหน้าที่100 ว่า ไม่เคยมีการอนุมัติค่าคอมมิสชั่นสำหรับนายหน้าส่วนภูมิภาคและนายหน้า 3 ดังรายละเอียดต่อไปนี้ :
“[นายหน้าส่วนภูมิภาค] แนะนำว่า หากค่าคอมมิสชั่นของเครื่องยนต์ต่ำกว่า 8%ของมูลค่าสุทธิของรายได้การขาย(รวมกับ TCA)นั้น อาจมีแนวโน้มความเสี่ยงสูงว่า สายการบินจะเลือกซื้อ เครื่องบินแอร์บัส A330 ซึ่งใช้เครื่องยนต์ของบริษัท PW (PW/A330's) แทนการใช้โบอิ้ง B777 เครื่องยนต์ RR (RR/777's)
อย่างไรก็ตามสายการบินมิได้ตกลงรับข้อเสนอดังกล่าว ในขณะที่ นายหน้าส่วนภูมิภาคก็ปฏิเสธข้อเสนอของสายการบินเช่นกัน ทั้งนี้ ข้อสรุปรวมสุดท้ายที่แจ้งไว้ในจดหมายคือ สายการบิน กำลังอยู่ในกระบวนการหารือเลือกซื้อเครื่องยนต์ RR/777s หรือ RR/A340s”.
105. กลางเดือนกรกฏาคม 2547 นายหน้าส่วนภูมิภาค เขียนบันทึกการพูดคุย เรื่องจำนวนเงินที่ทางบริษัทเสนอให้
106. 28 กรกฏาคม 2547 บอร์ดการบินไทย ตัดสินใจซื้อโบอิ้ง 777 จำนวน 6 ลำ และ แอร์บัส A340 จำนวน2 ลำ ซึ่งเป็นการสั่งซื้อล่วงหน้า โดยที่ทางการบินไทยเลือกใช้เครื่องยนต์ของบริษัท RR สำหรับเครื่องโบอิ้ง ส่วนเครื่องแอร์บัสนั้นใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ รุ่น T500 อยู่เเล้ว (sole-source)
107. อย่างไรก็ตาม ในจดหมายเดือนสิงหาคม 2547 มีบันทึกถึงการทำข้อตกลง การจ่ายค่าคอมมิสชั่น (commission levels) ระหว่าง นายหน้าส่วนภูมิภาค ลูกจ้างของบริษัท RR และพนักงานอาวุโสของบริษัท RR
108. ปลายเดือนกันยายน 2547 บอร์ดการบินไทยยืนยันการจัดซื้อล่วงหน้าเครื่องยนต์สำรองรุ่น T500 จำนวน 5 เครื่อง สำหรับใช้กับเครื่องแอร์บัส A340 และ T800 จำนวน 2 เครื่อง สำหรับ โบอิ้ง B777
109. 13 ตุลาคม 2547 มีบันทึกถึงพนักงานอาวุโสของบริษัท RR เสนอที่จะจ่ายค่าส่วนแบ่งคอมมิสชั่นจากการจัดซื้อเครื่องยนต์รุ่น T800 ให้กับนายหน้า 3 เป็น 4% และในส่วนของนายหน้าส่วนภูมิภาครับ 2%
110. 15 ตุลาคม 2547 มีบันทึกส่งถึงพนักงานอาวุโสและผู้ดูเเลจัดการสั่งซื้อ แสดงถึงข้อกังวลจากสิ่งที่ทางนายหน้าส่วนภูมิภาคเรียกร้อง บันทึกระบุชัดเจนว่า
...ข้อเสนอส่วนแบ่งจำนวน 6% จากยอดสั่งซื้อทั้งหมดของเครื่องยนต์รุ่น T800 ที่จะแบ่งให้กับตัวกลางสองคน รวมไปถึงค่าคอมมิสชั่นเพิ่มเติมในการซื้อสัญญาTCA อย่างไรก็ดี ค่าคอมมิสชั่นที่เพิ่มเข้ามานั้น ทางพนักงานอาวุโสคนหนึ่งได้ทาบทามพนักงานอาวุโสอีกคนให้ติดต่อ สื่อสารเรื่องดังกล่าวไปนายหน้าภูมิภาค
111. มีจดหมายแนบลงวันที่ 22 ตุลาคม 2547 ตกลงการจ่ายสินบนให้แก่นายหน้า3 เป็นจำนวน 2% จากการค่าส่วนแบ่งคอมมิสชั่นของการจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองรุ่น T500 จำนวน 7 เครื่อง ซึ่งค่าคอมมิสชั่นครั้งนี้ถูกแบ่งเป็นสองงวด (payable in two parts)
112. อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีข้อตกลงการจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองทั้งหมด 7 เครื่อง แต่ไม่ได้มีการจัดซื้อดังกล่าวในทันทีในล็อตเดียว โดยที่หนึ่งปีก่อนหน้านั้น มีการซื้อขายเครื่องยนต์ในรุ่น T500 จำนวนสองเครื่อง หลังจากนั้นจึงมีการสั่งซื้อเครื่องยนต์สำรองเพิ่มอีกห้าเครื่องจากฝั่งไทย ซึ่งเป็นการตัดสินใจในช่วงหนึ่งเดือนก่อนที่จะมีข้อตกลงจ่ายค่าส่วนแบ่งคอมมิสชั่น ซึ่งค่าคอมมิสชั่นดังกล่าวถูกระบุว่า เป็นเงินซื้อขายเครื่องยนต์สำรองทั้ง 7 (seven spare engines)
113. ค่าคอมมิสชั่นของนายหน้า3 จากการสั่งซื้อเครื่องยนต์รุ่น T800 แบ่งจ่ายเป็นทั้งหมด 3 ช่วง ใช้เวลา 7- 10 เดือน โดยที่สองครั้งแรกเกิดขึ้นทันทีภายใน 1-2 เดือน หลังจากรัฐบาลไทยอมุมัติการสั่งซื้อ และงวดสุดท้ายถูกจ่ายถัดจากนั้นอีก 6 เดือน
114. มีการประชุมในวันที่ 11 พฤจิกายน 2547 โดยที่ทางนายหน้าส่วนภูมิภาคแสดงความผิดหวังในการจ่ายเงินค่าส่วนแบ่งคอมมิสชั่น โดยเขาระบุว่า เขาต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อให้บรรลุข้อตกลงดังกล่าวด้วยตัวเขาเอง
115. ทั้งนายหน้าส่วนภูมิภาคและนายหน้า 3 เรียกร้องให้มีการจ่ายค่าคอมมิสชั่นล่วงหน้า (up front) ตามการสั่งซื้อเครื่องยนต์ T800 และ T500 (spare engines) ซึ่งการยื่นคำร้องครั้งนี้จำเป็นต้องรอให้ทางพนักงานอาวุโสของบริษัท RR เป็นคนอนุมัติ
116. มีจดหมายส่งต่อมายังนายหน้า 3 โดยตกลงจ่ายค่าคอมมิสชั่นใน 3ส่วน ภายใน 7 มกราคม 2548 โดยต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาล และอีกส่วนนั้นยังคงรอให้มีการส่งมอบเครื่องบินให้เสร็จสิ้นก่อน จดหมายทำนองเดียวกันอีกฉบับหนึ่งระบุด้วยว่า ส่วนแบ่ง 2% ของการจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองรุ่น T500 จะให้มีการจ่ายในวันเดียวกัน
117. จดหมายภายในบริษัทRR ฉบับลงวันที่ 19 พฤจิกายน 2547 บันทึกการประชุมซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง นายหน้า 3 และนายหน้าส่วนภูมิภาค และคนในรัฐบาลไทย (the Thai Government) ซึ่งระบุบรรยากาศการประชุมครั้งนั้นว่า
“ช่างเป็นการประชุมที่ดีเหลือเกิน การจัดซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ แอร์บัส A340 และ โบอิ้ง 777 กำลังอยู่ในวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 23 พฤจิกายนนี้ (2547)”
118. อีเมล์ฉบับเดียวกันยังพูดถึงเรื่องข้อตกลงค่าส่วนแบ่งคอมมิสชั่น โดยที่นายหน้า3 และนายหน้าส่วนภูมิภาค ได้ปฏิเสธข้อเสนอของบริษัท RR โดยทั้งสองยื่นข้อเสนอใหม่ว่า
“ต้องการส่วนแบ่งเป็น 4% จากการอนุมัติของรัฐบาลในครั้งนี้ ลงวันที่ ธันวาคม 2547” ("4% on Government approval, i.e. Dec 04".)
119. มีการบันทึกว่า นายหน้าส่วนภูมิภาค ได้ข่มขู่ว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเกี่ยวกับเวลาในการชำระเงินไปบอกแก่เจ้าหน้าที่อาวุโสของ RR ซึ่งต่อมาในวันเดียวกัน อีเมล์ภายในของ RR ได้มีการบันทึกไว้ว่า
“พวกเราคิดว่าจำนวนเงินทั้งหมด 4% (ของบริษัท A ที่เป็น คนกลาง 3) ได้โอนไปยัง... หรือเปล่า? ฉันคาดว่าไม่น่าจะโอนไปทั้งหมด”
120. วันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 ได้มีจดหมายอีกฉบับถูกส่งไปให้กับ นายหน้า 3 เพื่อเสนอที่จะจ่ายเงินทั้งหมด ยกเว้น 12.5% จากค่าคอมมิสชั่นที่จ่ายในวันที่ 7 มกราคม 2548 ทั้งนี้ เชื่อว่า (assume) รัฐบาลไทยอนุมัติแล้ว
121. วันถัดมา (23 พฤศจิกายน 2547 ) เมื่อ คณะรัฐมนตรีของไทย (the Cabinet of the Government of Thailand) มีกำหนดที่ประชุม ได้มีจดหมายฉบับสุดท้ายส่งถึงนายหน้า 3 ซึ่งระบุว่าจะจ่ายค่าคอมมิสชั่น T 800 เต็มจำนวนในวันที่ 7 มกราคม 2548 ทั้งนี้ เชื่อว่ารัฐบาลไทยได้ทำการอนุมัติแล้วเช่นกัน
122. วันที่ 4 ธันวาคม 2547 อีเมล์ภายในของ RR ฉบับหนึ่งระบุว่า คำสั่งซื้อ/ออเดอร์ของการบินไทย ได้รับการอนุมัติแล้ว
"มีสายตรงระหว่าง (รัฐมนตรีท่านหนึ่งในรัฐบาลไทยกับพนักงานการบินไทย) เป็นไปด้วยดี ทางสายการบินยังไม่ได้รับทราบข่าวดีใดๆ และยังไม่มีท่าทีแน่ชัดถึงการเซ็นสัญญา POs (นายหน้า 3รวมทั้งนายหน้าส่วนภูมิภาค ) ได้รับคำมั่นสัญญา จากรัฐมนตรีช่วยว่าการของรัฐบาลไทย ซึ่งพวกเขาได้พบก่อนหน้านี้ ว่าจะเรื่องราวดังกล่าวจะถูกไล่เรียงความชัดเจนภายในวันรุ่งขึ้น"
"Calls between [certain Thai Government ministers and a Thai Airways employee] yada, allpositive. Airline still not heard the good word yet and not clear if POs signed. [Intermediary 3 and the Regional Intermediary] have commitment from [the Thai Government deputy minister whom they had met] that it will be sorted by tomorrow."
123. อย่างไรก็ตาม นายหน้า 3 ได้เรียกร้องให้ชำระค่าคอมมิสชั่น T800 จำนวนครึ่งหนึ่งภายในวันที่ 17 ธันวาคม 2547 ซึ่งอีเมล์ฉบับวันที่ 4 ธันวาคม 2547 ลงท้ายว่า
“- นายหน้าส่วนภูมิภาค กับ คนกลาง 3 ได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำด้วยกันในวันที่ 18 ธันวาคม กับรัฐมนตรีช่วยว่าการของรัฐบาลไทยคนหนึ่งที่เคยพบกันมาก่อน และถ้าเป็นอย่างนั้น นายหน้าส่วนภูมิภาคอาจตัดสินใจกะทันหันเพื่อสนับสนุนคำขอของนายหน้า 3 ก็ได้”[ ] “พวกเราควรทำตามข้อเสนอ คิดเห็นว่ายังไง?”
"WARNING:-[the Regional Intermediary and Intermediary 3] have dinner with [the Thai Government deputy minister whom they had met] on 18th Dec and hence [the Regional Intermediary] may suddenly decide to support [Intermediary 3]'s request." […] "we should be firm in my view. Comments?"
124. พนักงานของบริษัท RR สองคนตอบกลับว่า เห็นด้วยที่บริษัท RR ไม่ควรดำเนินการอะไรต่อแล้ว
125. วันที่ 20 ธันวาคม 2547 นายหน้า 3 ได้เซ็นสัญญา CAA ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และได้ส่งคืนใบเรียกเก็บเงิน( Invoice pro-forma) ที่บริษัท RR ค้างชำระ
126. วันที่ 4 มกราคม 2548 บริษัทRR ได้จ่ายเงินจำนวน 3,797,718 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ให้แก่นายหน้า 3 ซึ่งการชำระครั้งนี้ได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่อาวุโสของบริษัท RR รายหนึ่ง ซึ่งมีการระบุว่า การจ่ายเงินดังกล่าวเป็นค่าเข้าทำสัญญา สำหรับการติดตั้งเครื่องยนต์ T800 ให้กับเครื่องบิน โบอิ้งB777 จำนวน 6 ลำ และค่าเครื่องยนต์สำรองอีกสองเครื่อง
ในวันเดียวกันบริษัท RR ได้จ่ายเงินอีกจำนวน 1,497,339 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่เรียกกันภายในว่า เป็นค่า “ส่วนเพิ่ม 2% สำหรับการขายอะไหล่ T500 จำนวน 7 เครื่องให้กับการบินไทย" “Additional 2% for sale of seven (sic) spare T500s to Thai”.
127. หนึ่งเดือนให้หลัง ปรากฏว่า มีการจ่ายเงินจำนวน 474,715 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่มีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งระบุว่ าเกี่ยวข้องกับการขายเครื่องยนต์ T800 ที่ได้ติดตั้งและเป็นอะไหล่ ให้กับนายหน้าส่วนภูมิภาค รวมถึงการจ่ายเงินครั้งถัดๆ มา ทำให้ยอดชำระรวมเป็นเงินจำนวนถึง 1,898,860 ดอลล่าร์สหรัฐฯ
กล่าวคือ มีการจ่ายเงินที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งซื้อ เครื่องยนต์ T800 และเครื่องยนต์สำรอง T500 ให้แก่ คนนายหน้า 3 และ นายหน้าส่วนภูมิภาค เป็นจำนวนสุทธิ 7,193,917 ดอลล่าร์สหรัฐฯ
128. 17 มกราคม 2548 การบินไทยสรุปสัญญาจัดซื้อเครื่องยนต์สำรองรุ่น T500 จำนวนห้าเครื่อง และในปีถัดมา 15 มิถุนายน 2549 การบินไทยได้สรุปสัญญาจัดซื้อเครื่องยนต์ รุ่น T800 จากบริษัท RR
ทั้งหมดนี้คือ คำฟ้องจากศาลอังกฤษ ซึ่งภายหลังได้สั่งปรับบริษัทโรลส์-รอยซ์ เป็นจำนวนเงิน 671 ล้านปอนด์ หรือ ราว 3 หมื่นล้านบาท
สำหรับในส่วนประเทศไทยคงต้องรอลุ้นชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง บอร์ดและพนักงานบริษัทการบินไทย ที่ถูกระบุว่า ได้รับสินบนว่า เป็นใครบ้าง ซึ่งในเอกสารก็ระบุ ช่วงวันเวลาปีพ.ศ.ไว้ชัดเจนแล้ว
อ่านประกอบ
ประมวลชัดๆ 'ข้อมูลจัดซื้อ-เส้นทางสินบน' คดีโรลส์รอยซ์-บินไทย 1.2 พันล.
จ่ายก้อน3 ช่วง นัดรมต.ยุคแม้วกินข้าว!สตง.แจ้งSFOขอผลสอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์'
การบินไทย แจงเร่งตรวจสอบข้อมูล หลัง 'โรลส์รอยซ์'ยอมรับจ่ายสินบนในไทย
ชวน "ดร.เมธี- ต่อตระกูล" คุยกรณีโรลส์-รอยซ์ ติดสินบนซื้อเครื่องยนต์
ชวลิตนั่งปธ.!ปตท.ตั้งกก.สอบสินบน'โรลส์รอยซ์'-สรุปผลเบื้องต้นสัปดาห์หน้า
สอบทุกรบ.!สตง.ลุยตรวจสินบนโรลส์รอยซ์'ปตท.'แล้ว-คดีบินไทยรอ'ชื่อ'ผู้เกี่ยวข้อง
ขอบคุณภาพประกอบจาก http://mahtem.com/