ช่วยอีกแรง มธ.เปิดพื้นที่ให้ชาวนาขายข้าว-วางระบบรับออเดอร์ล่วงหน้า
คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มธ. วาง 3 แนวเฉพาะหน้า ช่วยชาวนา ผอ.ศูนย์ให้คำปรึษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ ชี้ต้องเพิ่มมูลค่าให้ข้าวไทยโดยการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ตัวแทนเกษตรกรเผยชาวนาไม่มีเงินพอที่จะเก็บสต๊อกข้าวขาวตอนราคาดี
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสภาพนักงาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดโมเดลการบริหารจัดการข้าวอย่างยั่งยืน ณ วิทยาลัยพัฒนาศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มธ. กล่าวว่า ประเด็นของชาวนาเป็นประเด็นที่มธ. นั้นให้ความสนใจ ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวเป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่ามีโครงสร้างการผลิต โครงสร้างการตลาด ไปเกี่ยวเนื่องกับการเมืองและการค้า มีทั้งการกีดกันและการส่งเสริมกันอีกมากมาย โดยจะเห็นได้ว่ารัฐบาลแต่ละรัฐบาลที่ผ่านมา ยังไม่มีรัฐบาลไหนแก้ไขปัญหาข้าวได้อย่างสมบูรณ์
"มธ.ตระหนักดีว่าปัญหาใหญ่เหล่านี้ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามลำพัง ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับราคาข้าวหอมมะลิที่ราคาตกต่ำอย่างรุนแรง ทางมธ.ได้ร่วมมือหลายภาคส่วนฝ่ายวิชาการที่ทำหน้าที่ศึกษาวิจัยค้นคว้า เพื่อนำเสนอทางออกให้กับรัฐบาล ฝ่ายที่จะรณรงค์เรื่องของการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสังคมว่ากลไกการตลาดข้าวเป็นอย่างไร เพราะส่วนตัวเชื่อว่า ปัญหาเรื่องข้าวนั้นไม่ใช่แค่มีเม็ดเงินออกมาไว้เพื่อรับจำนำหรือแค่การประกันราคาเท่านั้น"
ผศ.ดร.จิตติ กล่าวต่อว่า ข้าวเป็นปัญหาใหญ่ของโลก ปัจจุบันมีหลายประเทศที่เพิ่มผลผลิตของตัวเองเพื่อลดการนำเข้า โดยประเทศไทยกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 ของโลกไปแล้ว ซึ่งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านี้ทางมธ.ก็ได้วางแผนไว้ 3 ระบบ คือ
1.การเปิดช่องทางการตลาดโดยตรงให้กับเกษตรกร จะขยายให้ขายในตลาดนัดของมธ.ทั้งท่าพระจันทร์ รังสิต และลำปาง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีพื้นที่ขายสินค้าได้โดยตรง
2.วางระบบการสั่งซื้อล่วงหน้าและจะส่งคำสั่งซื้อไปยังกลุ่มเกษตรกรต่างๆที่มาลงทะเบียนกับทางมธ. เพื่อเป็นช่องทางการขายสินค้าไปยังกลุ่มผู้บริโภคโดยตรง
3. จะทำทะเบียนข้อมูลเครือข่ายเกษตรกรที่ทำข้าวอยู่หลายชนิด หลายเกรด ทะเบียนเหล่านี้จะปรากฎบนเฟซบุ๊ค ปรากฎบนเว็บไซต์ ซึ่งผู้บริโภคสามารถจะติดต่อโดยตรงไปยังกลุ่มผู้ที่การขายได้โดยตรง
"ขณะนี้ทางมธ.พยายามที่จะรวบรวมรายชื่อนักศึกษามธ.ที่เป็นลูกหลานชาวนาว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และจะเชิญชวนมาช่วยกันแก้ไขปัญหา"
ด้านดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาครัฐได้ทำการแก้ปัญหาระยะสั้น นั่นคือการลดปริมาณการผลิตและเก็บข้าวไว้ในคลัง และเพิ่มช่องทางการขาย แต่โดยส่วนตัวคิดว่า การแก้ปัญหาระยะยาวควรจะต้องยกระดับพัฒนาข้าว เพราะข้าวเป็นสินค้าที่ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการของโลก ถ้าปีไหนมีผลผลิตเยอะราคาก็จะตก เพราะฉะนั้นควรพัฒนาข้าวและสร้างคุณค่า สร้างราคาให้กับข้าว
"ชาวนาบางส่วนเริ่มมีการรวมตัวกันขายข้าวให้กับผู้บริโภคโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ถือว่าเป็นแนวทางที่ดี โดยมองว่าภาครัฐควรจะผลักดันต่อไปในอนาคตด้วยการสร้างแบรนด์ สร้างเรื่องราวให้กับข้าวในแต่ละจังหวัดให้มีเอกลักษณ์"
ทั้งนี้ ดร. สุทธิกร ได้ยกตัวอย่างไวน์ถ้าเราเทใส่แก้ว องุ่นพันธุ์เดียวกัน ชิมดูคนร้อยละ 99 ไม่สามารถบอกได้ว่าต่างกัน แต่สิ่งที่เขาสร้างคือไวน์ขวดละ 1 พัน กับขวดละ 1 แสน ชิมแล้วรสชาติไม่ต่างกัน แต่ราคาต่างกัน ข้าวก็เหมือนกันเราสามารถยกระดับข้าวให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยม มีความเฉพาะในแต่ละพื้นที่ ปลูกจังหวัดไหนก็รสชาติต่างกัน
ดร. สุทธิกร กล่าวต่อว่า ภาครัฐสามารถช่วยสนับสนุนได้ในเรื่องการกระจายสินค้าของชาวนาไทย ยกตัวอย่างขายข้าว 65 บาท ค่าส่งไปรษณีย์ 35 บาททั้งหมด 100 บาท หากภาครัฐอยากสนับสนุนให้ชาวนาขายตรงไม่ผ่านคนกลาง ควรจะมองเรื่องการปรับราคาค่าขนส่ง หากทำได้ตลาดจะเปิดขึ้นอีกมาก
ส่วนในเรื่องของการสีข้าว คุณภาพของข้าว ดร. สุทธิกร กล่าวด้วยว่า ภาครัฐสามารถสนับสนุนในเชิงเครื่องมือ อุปกรณ์การสีข้าว ให้สามารถแข่งกับโรงสีได้ และในส่วนภาคการศึกษา นักวิชาการ มหาวิทยาลัยต่างๆ จะสามารถช่วยได้ในเรื่องความรู้และการบริหารจัดการที่ดี หากมีเครื่องสีแต่ไม่มีการบริหารจัดการที่ดีก็เป็นแค่เศษเหล็กวางไว้เฉยๆ ส่วนภาคประชาชนก็ต้องปรับมุมมองเกี่ยวกับข้าว แทนที่จะมองข้าวขายเป็นปริมาณมาก ช่วยอุดหนุนข้าวที่มีคุณค่า มีประโยชน์ ราคาแพง ส่วนภาคเกษตรกรก็ต้องยกระดับตัวเอง พัฒนาตัวเองขึ้นซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีการขายข้าวออนไลน์ถือเป็นเรื่องดี
"ภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคประชาชนควรเข้าไปสอนการสร้างความแตกต่าง สร้างแบรนด์ เช่น ข้าวมีสีต่างกัน มีสารอาหารต่างกัน ให้คุณประโยชน์ต่างกัน อาศัยวิทยาศาสตร์เข้าไปศึกษา แล้วสร้างเรื่องราว ปีหนึ่งในแต่ละพื้นที่โดนแดดไม่เท่ากัน มีปริมาณน้ำฝนไม่เท่ากัน ลมไม่เท่ากัน ดินไม่เหมือนกัน รสชาติแตกต่าง สิ่งเหล่านี้สร้างความแตกต่างให้กับข้าวไทย คือเราขายเป็นแพ็คเกจสวยๆ ให้คนกินรู้สึกมีคุณค่ามีประโยชน์ เราต้องสร้างให้ข้าวมีคุณค่า"
นายทองแดง ชมภูกาศ สมาชิกปลูกผักปลอดสารพิษ ข้าวดอนเพชร กล่าวถึงปัญหาคือพอเวลาที่ข้าวออกมาจำนวนมากชาวนาไม่สามารถเก็บข้าวไว้ได้ เพราะเงินทุนที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะกักตุนข้าวไว้เพื่อรอขายช่วงราคาดี ทางสมาคมอยากส่งเสริมให้กับเกษตรกรเก็บข้าวไว้ก่อนได้ แล้วค่อยทยอยขายออก
"ตอนนี้ที่รัฐบาลนำข้าวมะลิไปส่งเสริมที่จังหวัดอุทัยธานี เฉพาะเมล็ดพันธุ์ 60 กว่าตัน และข้าวที่จะออกอีก 60 กว่าตันตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน จนถึง 31 พฤศจิกายน แต่เกษตรกรไม่สามารถเก็บข้าวไว้ได้เพราะต้องเร่งขายเพราะไม่มีเงินที่จะเก็บข้าว ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 7 พันบาทต่อตัน ซึ่งตอนนี้ทางสมาคมกำลังหาแหล่งเงินทุน ทางวิสาหกิจชุมชนให้ไปทำเรื่องกู้เงินแต่พอไปทำแล้วกลับทำเรื่องไม่ได้เพราะขั้นตอนเยอะ พอทางวิสาหากิจชุมชนอนุมัติมาก็ล่าช้า ชาวนาขายข้าวให้กับโรงสีไปหมดไปแล้ว ทำให้ชาวนาเสียโอกาสในการเก็บข้าวไปมาก กลายเป็นโอกาสของพ่อค้าคนกลางไป ซึ่งอยากจะฝากไปทางภาครัฐ ถ้าจะช่วยส่งเสริมอยากให้ช่วยเรื่องนี้ก่อนที่ข้าวจะออกมา ไม่ใช่มาส่งเสริมตอนที่ข้าวออกมาแล้ว ซึ่งช้าเกินไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กลั่นจากอก เสียง ‘ลูกชาวนา’ ซับน้ำตาพ่อแม่ พึ่งตนเอง ขายข้าวไม่ผ่านคนกลาง
วิกฤตข้าวราคาตก นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอชี้เพราะนักเก็งกำไร
รองปลัดยธ.ชี้ชาวนาสีข้าวและขายข้าวเอง ไม่ผิด พ.ร.บ.ขายตรง
มก.-มธ.ผุดโครงการ "ลูกชาวนา ได้เวลามาช่วยพ่อ" แก้ราคาข้าวตกต่ำ
ส.ผู้ส่งออกข้าวไทย ทุ่ม 40-50 ล้าน หนุนสมาชิกซื้อข้าวจากชาวนา พยุงราคาตกต่ำ