- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- กลั่นจากอก เสียง ‘ลูกชาวนา’ ซับน้ำตาพ่อแม่ พึ่งตนเอง ขายข้าวไม่ผ่านคนกลาง
กลั่นจากอก เสียง ‘ลูกชาวนา’ ซับน้ำตาพ่อแม่ พึ่งตนเอง ขายข้าวไม่ผ่านคนกลาง
"ทุ่งกุลาร้องไห้บ้านผม เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก แต่ข้าวกลับถูกขายแบบเทรวม ตรงนี้เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ฝรั่งหลายคนรู้จักข้าวหอมมะลิ (จัสมินไรซ์) และตอนนี้ก็มีฝรั่งหลายคนสอบถามเข้า เขายอมจ่าย ซึ่งผมกำลังดูต้นทุนในการขนส่งผ่านอาลีบาบา หากคุ้มต้นทุน หมายความว่า คงส่งข้าวไปขายให้ฝรั่งได้"
สถานการณ์ราคาข้าวปีนี้ตกต่ำหนัก! ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ระดับความชื้น 25% สนนราคากิโลกรัมละ 6.80 บาท ส่วนความชื้น 15% ราคากิโลกรัมละ 9 บาท จนมีการนำไปเปรียบเทียบและตั้งข้อสังเกตผ่านโลกโซเชียลกันอย่างกว้างขวางว่า ‘ข้าว’ ซึ่งเป็นผลผลิตหลักในประเทศ ถูกกว่าราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบางยี่ห้อเสียอีก
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ มองเห็นปัญหาในเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเขาได้มีการหยิบยกประเด็นราคาข้าวตกต่ำขึ้นมาอภิปรายกับนิสิตในชั้นเรียนอยู่เสมอ ๆ สุดท้ายจึงมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้องมีการเปิดตลาดภายในประเทศ โดยกระตุ้นให้มีความคึกคักมากขึ้น
กอรปกับเมื่อ ดร.เดชรัต โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลและได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้คนจำนวนหนึ่ง ก็พบว่า ทุกคนล้วนรู้จัก "ลูกชาวนา" ไม่ว่าคนใดก็คนหนึ่ง และบางรายเคยเอาข้าวมาขายให้ด้วย จุดนี้จึงเป็นที่มาทำให้อยากจุดกระแสแนวความคิดเรื่องการให้ลูกชาวนา ช่วยทำการตลาดให้พ่อแม่ นำข้าวของพ่อแม่มาส่งมอบข้าวให้เพื่อนในโรงงาน ในออฟฟิต ในรั้วมหาวิทยาลัย
นักเศรษฐศาสตร์เกษตร อธิบายถึงภาพรวมของกลไกตลาดในปัจจุบันด้วยว่า ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศที่เห็นอยู่มีสภาพไม่ต่างกันคือ มีผู้ทำหน้าที่เป็นคนกลางไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น จากเกษตรกรไปสู่โรงสี หรือจากเกษตรกรไปยังพ่อค้าผู้รวบรวม เป็นต้น และหากมองตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทาง จะพบว่า ราคาข้าวเปลือกกับราคาข้าวสารขายปลีกมีความแตกต่างกันมาก แม้จะเข้าใจได้ว่า เป็นเพราะมีคนมาทำหน้าที่ทางการตลาด ช่วยทำให้คุณภาพข้าวดีขึ้น บรรจุถุง ส่งขายถึงมือผู้บริโภค แต่ในทางกลับกัน คนเหล่านี้กลับไม่ได้ช่วยทำให้ราคาข้าวดีขึ้นได้ภายใต้กลไกปกติ
เขาจึงเห็นช่องทาง นำลูกชาวนามาทำภารกิจตรงกลาง ทำการตลาดให้กับพ่อแม่ โดยคิดว่าอย่างน้อยเมื่อลูกหลานหันมาขายข้าวเอง จะได้ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 15 บาทหรือตันละ 15,000 บาท
ทั้งนี้ หลังโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น กระแสตอบรับท่วมท้น ทั้งจากภาครัฐภาคเอกชน นิสิตหลายรายสะท้อนเข้ามาว่า อยากช่วยพ่อแม่ แต่ยังขาดประสบการณ์ ซึ่งก็ต้องระดมความคิดความเห็น ใครมีประสบการณ์ช่วยเหลืออะไรได้บ้าง อย่างไร สร้างเป็นเครือข่ายลูกชาวนาที่ช่วยเหลือกันต่อไป
"เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับชาวนา และแนวคิดดังกล่าวยังเป็นไปตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คือเน้นการระเบิดจากข้างใน ให้ลูกชาวนาช่วยพ่อแม่ขายข้าวเอง อุ้มชูกัน โดยทำแบบง่ายๆ ทำแบบพอดีตัว และกระจายศูนย์คือ ทำได้ทุกที่ทุกคน" ดร.เดชรัต ระบุ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอเชิญชวน นิสิต บุคคลากร และ ประชาชนทั่วไป ร่วมกันอุดหนุนและเลือกซื้อ "ข้าว" จาก "ลูกชาวนาและชาวนา" เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำให้แก่พี่น้องเกษตรกร ในวันพุธที่ 16 และ 30 พฤศจิกายน 2559 เวลา 7.00-14.00 น. ณ โรงอาหารกลาง 2 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
รายได้ทั้งปี ชี้ขาดหน้าโรงสี
ขณะที่นางสาวสุรัสวดี ไกรไธสง อายุ 28 ปี หนึ่งในลูกชาวนา เล่าว่า ผืนนาของครอบครัวเธอในหมู่บ้านสำโรง-ดอนหวาย ต.หนองค่าย อ.ประทาย จ. นครราชสีมา จำนวน 12 ไร่ ปลูกข้าวหอมมะลิพันธุ์ 105 โดยในแต่ละปีจะได้ผลผลิตเฉลี่ยราว 7 ตัน
สำหรับในปีนี้ข้าวเปลือกมีราคาตกต่ำมาก เมื่อนำไปขายและโดนหักค่าความชื้น ราคาก็เหลือประมาณกิโลกรัมละ 5 บาทกว่าๆ เท่านั้น ทำนาปีนี้ พอหักต้นทุนแล้ว จึงเหลือเงินไม่มากนัก และถึงแม้เธอจะไม่ได้เป็นคนลงมือลงแรงทำนาด้วยตัวเอง แต่ก็ส่งเงินกลับไปช่วยทางบ้านช่วงหน้านาทุกปี
เธอจึงรู้สึกและมีมุมมองต่อราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะข้าวว่า ไม่ยุติธรรม
“ทุกวันนี้เรากินข้าวจานละ 35-45 บาท แต่ชาวนากลับขายได้กิโลกรัมละ 5-6 บาท มันไม่แฟร์ ค่าครองชีพสูง แต่ราคาข้าวกลับถูกลงๆ? ”
นอกจากนี้ เธอฉายภาพวิถีชาวนาในหมู่บ้านให้ฟังอีกว่า ยกเว้นครอบครัวเธอ ชาวนาส่วนใหญ่มีรายได้ทางเดียว และรายได้ทั้งปีต้องไปชี้ขาดกันหน้าโรงสี ปีนี้จะขายข้าวได้เท่าไหร่ ซึ่งบางครั้งเห็นแล้วก็ท้อใจ เพราะเมื่อขนข้าวไปขาย เขาให้ราคาเท่าไหร่ก็ต้องเอา ยากที่จะปฏิเสธ เพราะมีหนี้ทั้งค่าปุ๋ย ค่าแรงงาน ค่ารถเกี่ยวรถไถ่รออยู่
“ตรงนี้เป็นปัญหาที่แท้จริง ชาวนาเราไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลย ไม่สามารถควบคุมราคาขายข้าวได้ ต้องขึ้นอยู่กับพ่อค้าเท่านั้น” เธอย้ำ พร้อมเสริมข้อมูลด้วยว่า สำหรับครอบครัวเธอนั้น เน้นปลูกข้าวไว้กินเป็นหลัก เหลือจึงขาย เป็นไปในลักษณะของการดำรงชีพ การให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นจึงเป็นไปได้ยาก
มาช่วงปีที่แล้ว เธอจึงหาทางออก โดยใช้วิธีขนข้าวสารจากบ้านเกิดมาขายให้เพื่อนร่วมงานในออฟฟิต และแม้ว่าการสีข้าวสารขายเองจะได้ราคาดีกว่า แต่ค่าขนส่งที่แพงก็เป็นอุปสรรคอีกแบบหนึ่ง!
อย่างไรก็ตาม เธอฝากทิ้งท้ายด้วยว่า ที่ผ่านมาชาวนา ทำนากันแบบตามมีตามเกิด บางรายสนใจที่จะปรับเปลี่ยนไปทำเกษตรอินทรีย์ แต่ยอมรับว่า ยังขาดความรู้ และการจะให้ชาวนาเดินดุ่มๆ ไปติดต่อหน่วยราชการด้วยตนเอง ก็เป็นเรื่องยากจะไปติดต่อกับใคร จึงอยากให้เกษตรอำเภอ หรือหน่วยงานท้องถิ่นลงไปในพื้นที่ติดตามอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
หนุนชาวนาเปลี่ยนวิธีคิด-สีข้าวขายเอง
ด้านนายพิจารณ์ แจ้งสว่าง สถาปนิกหนุ่ม ลูกชาวนาอีกคน ซึ่งตั้งต้นบทสนทนาด้วยการเล่าถึงบ้านเกิดอยู่ที่หมู่บ้านกระดาษ ต.โคกยาง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ บรรพบุรุษยึดอาชีพนี้มาหลายชั่วอายุคน
ภาพความทรงจำที่ติดตรึงตา ตั้งแต่สมัยเด็กก็คือ พ่อแม่ตื่นแต่เช้าตีสี่ตีห้า เตรียมควายเตรียมเสบียงไปนา
“ถ้าเทียบกับหลายครอบครัวในหมู่บ้าน ผมยอมรับว่า เราค่อนข้างมีฐานะดีระดับหนึ่ง เพราะครอบครัวเรามีที่นาเป็นของตัวเองประมาณ 50 ไร่ แต่ที่ผ่านมาในฐานะที่เป็นลูกชาวนาและทำนาเอง ผมมีคำถามหนึ่งติดอยู่ในหัวมาตลอดคือ ทำไมชาวนาถึงจน ทั้งที่ทุกคนบอกว่า ชาวนาเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เป็นกระดูกสันหลังของชาติ"
ตรงนี้เป็นคำถามตั้งแต่เด็ก กระทั่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งคำตอบที่เขาได้ส่วนหนึ่งคือ "เพราะเราขายข้าวเปลือกราคาถูก ขณะที่ข้าวสารราคาสูง”
ฉะนั้นในปี 2557 สถาปนิกหนุ่ม ลูกชาวนา จึงหันมาขายข้าวสารด้วยตัวเอง โดยสีข้าวใส่รถกระบะตระเวนขายไปเรื่อยๆ
"มุมมองของผมคือ ชาวนาต้องเปลี่ยนวิธีจากเดิม อีกทั้งที่ผ่านเราก็เห็นแล้วว่า ภาครัฐไม่มีความจริงใจในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา เป็นการช่วยแบบครั้งต่อครั้ง ช่วยแบบการเมือง ช่วยเพื่อฐานเสียง เลือกตั้งทีก็จะมีนโยบายออกมาที ประกันราคา จำนำข้าว ซึ่งผมว่าไม่ถูกต้อง ไม่ใช่การช่วยที่ยั่งยืน และถ้าพูดแบบแรงหน่อยคือ เอาภาษีของคนส่วนร่วมไปช่วย ซึ่งไม่ควรเป็นอย่างนั้น ทุกคนควรยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ตามที่พ่อหลวงได้ให้แนวทางเอาไว้เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"
เขายืนยันว่า ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ที่สร้างความยั่งยืนได้ตลอดไป และเราสามารถทำได้เลยทันที นั่นคือ การพึ่งตนเอง เปลี่ยนไปขายข้าวสารแทนข้าวเปลือก
ทั้งนี้ เขายังระบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจ ในฐานะลูกชาวนาด้วยว่า แต่ละครั้งต้องเสียเงินบรรทุกข้าวไปยังโรงสี "เขาบอกเท่าไหร่ก็ต้องขาย ถ้าไม่เอาก็ต้องบรรทุกกลับ ซึ่งสถานการณ์อีหรอบเดียวกันนี้ เป็นมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ยันปัจจุบัน เพราะชาวนาไม่มีอำนาจต่อรอง"
ดังนั้นสิ่งที่เขาพยายามทำอยู่ในขณะนี้ก็คือ ทำให้โรงสีมาง้อซื้อข้าวชาวนา โดยเขาเล่าว่า จะเข้าไปซื้อข้าวชาวนาจากยุ้ง โดยให้ราคาสูงกว่าทั่วไป เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวนานำข้าวมาขาย ขณะเดียวกันจะใช้โซเชียลมีเดียทำหน้าที่รวบรวมคนซื้อข้าว เพื่อสร้างตลาดเป็นของตนเอง
เปิดจุดแข็งสำคัญ สู้กับตลาด
การขายข้าวผ่านโซเชียล พิจารณ์ เปรียบให้เห็นว่า จะเป็นไปในลักษณะผูกปิ่นโต เพราะทุกคนกินข้าวเป็นประจำอยู่แล้วทุกเดือน ซึ่งหลังจากโพสต์ขายข้าวออกไป เป็นจังหวะที่ข้าวราคาตกต่ำพอดี จึงถูกช่วงถูกเวลา ทำให้ได้รับความสนใจมีการส่งต่อ แบ่งปันข้อมูลกันมากผ่านโซเชียลมีเดีย ผลตอบรับหลังโพสต์เพียงแค่ 2 วันคือ มียอดสั่งซื้อแล้วหลายสิบตัน ที่สำคัญยังสมัครเป็นรายเดือน ไม่ใช่สิบตันแล้วจบแล้วหาย อีกทั้งก็ยังมีคนอาสาเข้ามาช่วยเหลือลูกชาวนาในเรื่องการขายการตลาดอีกด้วย
แนวคิดและการต่อสู้กับกลไกตลาดของลูกชาวนาในปัจจุบัน เขาจะไม่สู้ในสนามของโรงสี แต่จะสู้ในสนามของตัวเอง คือสีข้าวจากโรงสีชุมชน สีเดือนต่อเดือนแล้วขายเอง เพราะฉะนั้นจึงหมดปัญหาเรื่องมอด เรื่องข้าวมีเชื้อรา ไม่ต้องใช้สารเคมีรมควัน อีกทั้งการสีข้าวผ่านโรงสีชุมชน ยังมีจุดแข็งมากๆ คือ ข้าวไม่ถูกฟอกขาวและยังมีจมูกข้าว ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารสูง ตรงนี้เองจะเป็นจุดแข็งสำคัญ เพื่อสู้กับตลาด
“สถานการณ์ล่าสุดในหมู่บ้านตอนนี้ ผมเริ่มเห็นชาวบ้านรวมตัวกัน สีข้าวสารขายเอง และปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้พ่อค้าโรงสีเริ่มหวั่นวิตกแล้ว นั่นหมายความว่า ชาวนาจะเริ่มมีอำนาจต่อรองมากขึ้น”
แม้แนวทางนี้ ไม่ใช้ทุกคนจะทำได้ เพราะบางคนมีปัญหามีเงื่อนไขต้องนำเงินไปชำระหนี้ จึงต้องรีบขายข้าว ดังนั้นในระยะแรก เขาจึงเห็นว่า ทุกคนอาจจะเริ่มจากเก็บข้าวไว้ขายเองสักเกวียนสองเกวียน และปีหน้าค่อยๆ ขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ค่อยๆ ปรับค่อยๆ เปลี่ยนกันไป เป็นช่องทางให้ชาวนาได้มีโอกาสเลือกมากขึ้น
ส่วนสิ่งที่ลูกชาวนาคนนี้ เห็นว่า ภาครัฐสามารถเข้ามาจัดการได้เลย โดยเฉพาะเรื่องความชื้นที่มีผลต่อราคาข้าวอย่างมากคือ การกำหนดให้มีหน่วยงานของรัฐ เช่น เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการตรวจวัดน้ำหนักและความชื้น และออกใบการันตรีให้ชาวนานำไปยื่นต่อโรงสี
กรณีเช่นนี้จะช่วยแก้ปัญหาการเอาเปรียบเรื่องความชื้น ยุติธรรมกับทุกฝ่าย และยังเชื่อว่าไม่เป็นการสร้างภาระเพิ่มให้กับภาครัฐมากนัก
พิจารณ์ แสดงความเห็นถึงนโยบายให้ชาวนาลดพื้นที่ทำนา เพื่อดันราคาข้าวด้วยว่า วันนี้สิ่งที่กำลังต่อสู้ก็เพื่อต้องการรักษาพื้นที่ทำนา ให้ชาวนาได้ปลูกข้าวต่อไป “คุณจะเอาแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุด ไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบนั้นหรือ ผมว่าเป็นการบริหารจัดการที่ผิดพลาดมากๆ”
ก่อนจะตอกย้ำ ถึงหัวใจในการปลูกข้าวนั้น พันธุ์ข้าวสามารถลอกเลียนกันได้ แต่แหล่งปลูกข้าวแหล่งภูมิศาสตร์ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ ข้าวบ้านเราหอมอร่อยกว่าที่อื่น
"ทุ่งกุลาร้องไห้บ้านผม เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก แต่ข้าวกลับถูกขายแบบเทรวม ตรงนี้เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ฝรั่งหลายคนรู้จักข้าวหอมมะลิ (จัสมินไรซ์) และตอนนี้ก็มีฝรั่งหลายคนสอบถามเข้า เขายอมจ่าย ซึ่งผมกำลังดูต้นทุนในการขนส่งผ่านอาลีบาบา หากคุ้มต้นทุน หมายความว่า คงส่งข้าวไปขายให้ฝรั่งได้"
คนกรุงนิยมบริโภคข้าวสวย-เต็มเมล็ด
ด้านนายฤทธิพงษ์ บวกไธสง ลูกชาวนาอีกหนึ่งรายในพื้นที่ ต.หนองไผ่ล้อม อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น สะท้อนปัญหาของชาวนาที่แทบจะไม่แตกต่างกัน มุมมองของเขา อยากชี้ให้เห็นถึงปัญหาของผู้ประกอบการรายเล็ก หรือลูกชาวนาที่ขนข้าวมาขายในกรุงเทพฯ ว่า มีต้นทุนค่าขนส่งสูง อีกทั้งกรณีต้องการขนข้าวปริมาณมากๆ เข้ามาขายก็เกิดปัญหา ขาดสถานที่จัดเก็บสถานที่พักสินค้า
"เรื่องนี้อยากให้ผู้มีประสบการณ์มีความรู้เข้ามาช่วยแนะนำ อีกทั้งในส่วนของผู้บริโภค ยังพบว่า คนส่วนใหญ่นิยมบริโภคข้าวเต็มเมล็ด แต่การสีข้าวผ่านโรงสีขนาดเล็ก โรงสีชุมชนมักเกิดปัญหาเรื่องข้าวหัก เมล็ดคละขนาด ทำให้ไม่ตอบโจทย์ลูกค้าหลายราย ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นข้อจำกัดอีกรูปแบบหนึ่ง"
สำหรับแนวคิด ‘ลูกชาวนาได้เวลาช่วยพ่อ’ หลังจุดกระแสไม่นาน ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาหลายๆ แห่ง
ล่าสุด ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวสนับสนุนแนวคิดนี้ พร้อมยืนยันว่า กรณีชาวนาขายข้าวเองแบบออนไลน์ ไม่ผิดกฎหมายขายตรง ทั้งนี้เพราะพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มุ่งใช้บังคับกับบริษัทและธุรกิจขายตรง โดยซื้อขายผ่านตัวแทนขายตรง ชาวนาขายข้าวสารเองไม่ผิดกฎหมายนี้แน่นอน
“ตอนนี้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำมาก น่ายินดีที่มีคนอาสามาช่วยชาวนากันมากมาย ทั้งช่วยออกแบบโลโก้ ช่วยประชาสัมพันธ์ ช่วยประสานงาน ช่วยสถานที่ ช่วยสีและอื่นๆ โครงการ 'ลูกชาวนาได้เวลาช่วยพ่อ' ของอาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด Decharut Sukkumnoed แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็น่าสนใจมากครับ
การให้ชาวนาสีข้าวเอง และขายข้าวสารแก่ผู้บริโภคเอง แบบออนไลน์ และใช้โซเชียลมีเดีย นับเป็นไอเดียที่วิเศษมาก นี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการช่วยชาวนาและเกษตรกรอย่างยั่งยืนได้
สำหรับปัญหาข้อที่ว่าชาวนาสามารถประกาศขายข้าวสารเองได้ไหม จะผิดพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 หรือไม่นั้น ในฐานะอาจารย์สอนกฎหมายผมขอเรียนว่า พระราชบัญญัตินี้มุ่งใช้บังคับกับบริษัทและธุรกิจขายตรง โดยซื้อขายผ่านตัวแทนขายตรง ชาวนาขายข้าวสารเองไม่ผิดกฎหมายขายตรงแน่นอน
เช่นเดียวกับ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเช่นกัน โดยมีความเห็นในเชิงสนับสนุน และระบุชัดว่าทางมหาวิทยาลัยรังสิตยินดีให้ความช่วยเหลือร่วมมือในเรื่องนี้
“เป็นแนวทางที่ดีมาก ขอถามว่าลูกชาวนามหาวิทยาลัยรังสิต มีแนวคิดที่จะช่วยพ่อแม่ ในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบ้าง มหาวิทยาลัยรังสิตพร้อมที่จะช่วยเหลือร่วมมือด้วย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
วิกฤตข้าวราคาตก นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอชี้เพราะนักเก็งกำไร
รองปลัดยธ.ชี้ชาวนาสีข้าวและขายข้าวเอง ไม่ผิด พ.ร.บ.ขายตรง
มก.-มธ.ผุดโครงการ "ลูกชาวนา ได้เวลามาช่วยพ่อ" แก้ราคาข้าวตกต่ำ
ส.ผู้ส่งออกข้าวไทย ทุ่ม 40-50 ล้าน หนุนสมาชิกซื้อข้าวจากชาวนา พยุงราคาตกต่ำ