กทม.เตรียมรับมอบแบบทางจักรยานริมเจ้าพระยา คาดหาผู้รับเหมาได้ต้นปี 60
ที่ปรึกษาสำรวจออกแบบฯ ส่งมอบแผนพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงมือกทม. 26 กันยาฯ นี้ ปลัดกทม. ยันใช้งบต่ำว่า 1.4 หมื่นล้านแน่นอน หลังเสนอครม.-อนุมัติงบฯ เริ่มดำเนินการในไตรมาสแรกปี 2560
วันที่ 12 กันยายน 2559 โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya For All ) นำโดยนายแพทย์ พีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัดกรุงเทพมหานคร และ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และคณะบริหาร พาสื่อมวลชนล่องเรืองาน “เจ้าพระยาเพื่อทุกคน...ทุกคนเพื่อเจ้าพระยา” Chao Phraya for All, All for Chao Phraya โดยล่องเรือจาก ศาลา ท่าเรือหน้าหอประชุมกองทัพเรือ ถึงท่าน้ำนนทบุรี และสะพานสาทร
นพ.พีระพงษ์ กล่าวถึงความคืบหน้า หลังจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการสำรวจออกแบบแผนแม่บทโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระยะ 57 กิโลเมตร และระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเรียบร้อยแล้ว และเตรียมส่งมอบให้กทม.ในวันที่ 26 กันยายนนี้
สำหรับในแผนแม่บทระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึง สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งมีทั้งหมด 12 แผนงานนั้น ปลัดกทม. กล่าวว่า เน้นบูรณาการแผนการใช้พื้นที่ของชุมชน โดยจะไม่มีการเวนคืนที่ดินของประชาชน แต่เน้นช่วยเหลือรูปแบบของการชดเชยให้มีที่อยู่อาศัยที่ดีกว่า ขณะที่รูปแบบทางเดินเลียบแม่น้ำและบนพื้นดินมีความกว้าง 7-10 เมตร และความสูงของพื้นผิวทางเดินจะอยู่ต่ำกว่าสันเขื่อนเฉลี่ย 1.30 เมตร รวมทั้งจักรยาน ซึ่งไม่เป็นอุปสรรคต่อการคมนาคม และการไหลของน้ำ รวมทั้ง จัดการสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำ ปรับปรุงภูมิทัศน์สอดคล้องกับบริบทชุมชน และโบราณสถาน
ปลัดกทม. กล่าวถึงเรื่องของงบประมาณของโครงการระยะแรก 14 กิโลเมตรนั้น ต่ำกว่า 1 .4 หมื่นล้านบาทแน่นอน เพราะไม่ได้สร้างเป็นถนนเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยาตามที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้ หลังจากรับมอบแผนแม่บทแล้ว กทม. จะนำเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) หากเห็นชอบจะขออนุมัติงบประมาณและดำเนินการ คาดว่าสามารถหาผู้รับเหมามาดำเนินการ และจะเริ่มดำเนินการในไตรมาสแรกของปี 2560 และใช้เวลาดำเนินการ 18 เดือน
ขณะที่นายวัชระ จงสุวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านสถาปัตยกรรมออกแบบโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวถึงกรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการลอกเลียนแบบอาคารหอคอยสูง The Crystal Island ที่มีความสูง 450 เมตร ริมแม่น้ำมอสโคว ประเทศรัสเซีย ออกแบบโดย Norman Foster สถาปนิกชื่อดังชาวอังกฤษนั้น ยืนยันว่า เกิดจากความบังเอิญ ไม่ได้คิดลอกเลียนแบบ ซึ่งขณะนี้ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น โดยขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโครงการจะเป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งวัตถุประสงค์หลักอาคารที่ออกแบบหลังนี้จะทำเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร และเพื่อให้เป็นจุดหมายตาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน
นายวัชระ กล่าวถึง อาคารหอคอยสูงที่เป็นข่าว อยู่ในแผนงานที่ 11 แผนพัฒนาจุดหมายตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา (River Landmark) เพื่อเป็นสถาปัตยกรรมกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ซึ่งจากแผนทั้งหมด 12 แผนนั้น จะดำเนินการก่อน 6 แผนที่เหลือเป็นเรื่องของอนาคต
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี รองผู้จัดการและโฆษกโครงการฯ กล่าวว่า ในเฟสแรกสิ่งที่จะทำได้ก่อน คือพื้นที่สาธารณะที่ไม่กระทบพื้นที่ชุมชน ไม่กระทบพื้นที่ที่จะเวนคืน ดังนั้น เฟสที่ 1 จะไม่มีการเวนคืนพื้นที่ใดๆ
ผศ.กฤษณ์ เจ็ดวรรณะ รองผู้จัดการโครงการฯ กล่าวถึงผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศและลงพื้นที่ พบว่า พื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา มีการก่อสร้างรุกล้ำแม่น้ำ เหนือกรรมสิทธิ์ที่ดิน 130 ไร่ ในช่วง 14 กิโลเมตรที่ออกแบบ ดังนั้นในการก่อสร้างจำเป็นต้องรื้อย้ายในส่วนที่รุกล้ำออกไปหลายส่วน ถือเป็นการจัดระเบียบริมน้ำ และทำให้ภูมิทัศน์ริมน้ำสวยขึ้น
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำทางจักรยานจะสร้างมีความกว้างข้างละ 10 เมตร โดยช่วงที่แคบที่สุด อยู่ที่ชุมชนวัดดาวดึงษ์กว้าง 213 เมตร และกว้างที่สุดประมาณ 300 เมตรนั้น ทีมที่ปรึกษาโครงการฯ ระบุว่า ได้มีการตรวจสอบวงเลี้ยวของเรือหากต้องมีการกลับเรือขนาดใหญ่ ใช้วงเลี้ยวกลับเรือประมาณ 140 เมตร ดังนั้นจึงมีพื้นที่เหลือให้กลับเรือโดยไม่มีอุปสรรคแต่อย่างใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ผจก.โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ยันส่งแผนแม่บททัน 26 ก.ย.
ไฟเขียวจ่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา 3 กลุ่ม
ล่องเรือฟัง! โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พัฒนาหรือทำลาย?
งวดเข้าทุกที “สมัชชาแม่น้ำ” จับตา โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา
สจล. เปิดแบบร่างแผนแม่บท 14 กม.พัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ภายใต้คอนเซ็ปต์ 'นาคนาม'
เปิดกฎหมาย เถียงให้รู้เรื่อง! ทำไม สจล. รับงานแลนด์มาร์คเจ้าพระยา เทียบกับ กฟภ.ไม่ได้
สภาวิศวกรแถลงส่งกฤษฎีกาตีความ ปม สจล.รับงานไม่มีใบประกอบวิชาชีพ
สจล.ยกความเห็นกฤษฎีกาปี 47 เทียบ ยันรับงาน 'แลนด์มาร์คเจ้าพระยา' ได้
จาก มช.สู่ สจล. มหาวิทยาลัยรับงานออกแบบ-คุมงานก่อสร้าง ได้หรือไม่?
ระอุ!!ร้องสภาวิศวกร สอบ 'สจล.' รับงานออกแบบเขื่อนกั้นนิคมฯ-แลนด์มาร์คเจ้าพระยา