ล่องเรือฟัง! โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พัฒนาหรือทำลาย?
“ต้นทุนของเจ้าพระยาคือความหลากหลายของชุมชนและวัดวาอารามริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเป็นต้นทุนของประเทศที่ต่างชาติเข้ามาชื่นชมกัน การที่ประเทศไทยมีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมืองหลวงได้สร้างความหลากหลายในทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างมากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรักษาเอาไว้ เพราะถ้าสิ่งเหล่านี้สูญเสียไปต่อให้มีเงินกองท่วมหัวมากเท่าไหร่ก็เอาคืนมาไม่ได้”
กำลังเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองมากที่สุดในช่วงเวลานี้ สำหรับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ของรัฐบาล คสช. ที่ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้ทำการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทในระยะทางสองฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาจากสะพานพระราม 7 ถึงบางกระเจ้ารวม 57 กม. โดยมีระยะทางนำร่องจากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า 2 ฝั่งรวม 14 กม. คาดกันว่า จะมีการประมูลการก่อสร้างในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ และเริ่มก่อสร้างในเดือนมกราคมปี 2560
นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวขณะล่องเรือเสวนา "นับถอยหลังปักทางเลียบทำลายเจ้าพระยา" ที่จัดขึ้นโดย ภาคีสมัชชาแม่น้ำ ถึงเรื่องนโยบายรัฐเกี่ยวกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาว่า เส้นทางริมแม่น้ำเหมือนกับเมืองใหญ่ๆ อย่างเช่น แม่น้ำดานูบเมืองบูดาเปสต์ หรือแม่น้ำแซน ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเส้นทางริมแม่น้ำในเมืองใหญ่ๆทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นที่สาธารณะของรัฐทั้งหมด ซึ่งไม่มีชุมชนอาศัยอยู่
"ช่วงที่ผมทำงานในฝ่ายของรัฐบาล มีหลายโครงการที่เข้ามาทันที ซึ่งไม่มีการตรวจสอบ โดยส่วนใหญ่โครงการต่างๆ จะมาจากข้าราชการประจำ ซึ่งอาจจะไปรับมาจากผู้ประกอบการอีกทีหนึ่ง ดังนั้น การตัดสินใจในเรื่องโครงการใหญ่ต่างๆ ถึงได้มีปัญหาอย่างมาก เช่น เรื่องของเขื่อน ที่มีปัญหาการย้ายที่อยู่อาศัยของประชาชนจำนวนหลายพันครอบครัวและยังไม่ได้รับการชดเชย เป็นต้น แต่ก็มีหลายครั้งเหมือนกันที่หลายโครงการที่สามารถหยุดได้ จากกระบวนการของประชาชน
เรื่องแม่น้ำเจ้าพระยา ผมคิดว่า ฝ่ายที่รับผิดชอบอย่าง กทม. ยังลังเลอยู่ เพราะ กทม. เป็นหน่วยงานเดียวที่มาจากการเลือกตั้งในปัจจุบันนี้ แต่โครงการนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาล อยากสร้างประวัติศาสตร์ของความสวยงาม แต่จะกระทบกับหลายชุมชน รวมไปถึงหน่วยงานราชการ วัง วัด โบราณสถาน ซึ่งสถานที่เหล่านี้มีกฎหมายให้อนุรักษ์เอาไว้ ใครอนุมัติเรื่องนี้ไป ก็สร้างไม่ได้ เผลอๆต้องไปขึ้นศาลอีก”
ด้าน นายขวัญสรวง อติโพธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการนี้ผิดพลาดในเรื่องความคิด เมืองที่อยู่กับแม่น้ำมา 200 กว่าปี จะมีลักษณะเฉพาะที่ผูกพันกับทุกมิติ รวมไปถึงเรื่องเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกัน ถ้าจะใช้ความรู้สึกนึกคิดเพียงเพราะไปเห็นแม่น้ำในต่างประเทศ เช่นที่เกาหลีและจะมาทำกับเจ้าพระยา เป็นความคิดที่ผิด เพราะไม่ได้รู้จักพื้นเพของที่นี่
"แม่น้ำเจ้าพระยา ภาษาโบราณเรียกว่า ท้องน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นที่ว่างขนาดใหญ่ ที่มีประชาชนเข้ามาใช้ไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง การชื่นชมแม่น้ำ ต้องไม่มีการปิดกันด้วยเขื่อน กำแพง หรือถนน ในแง่ความรู้สึกแล้วมันเป็นการทำลายท้องน้ำและวิถีชีวิตไทยเดิม
การบอกว่า ชุมชนยึดครองแม่น้ำนั้น ไม่ถูก เพราะเขาเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำมายาวนาน ชุมชนที่ล้ำลงไปในแม่น้ำก็ต้องรื้อถอน แต่นี่เป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งแม่น้ำต้องถูกใช้อยู่แล้ว โดยกลุ่มธุรกิจ ชุมชน แต่การที่จะให้มหาชนมาใช้ ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเลือกตัดสินใจ และให้มหาชนมาร่วมช่วยคิด ไม่ใช่แค่การตัดสินของภาครัฐเท่านั้น
ดังนั้น อย่าทำเลย โอกาสปรับปรุงแม่น้ำเจ้าพระยายังมีอีกเยอะ แต่ถ้าทำแล้ว ขอประกาศไว้เลยว่า ถนนเส้นนี้ จะใช้ชื่อว่า ถนนจันทร์โอชา"
ส่วน ผศ.ดร.ปริญญา เทวาณฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงต้นทุนของเจ้าพระยา คือ ความหลากหลายของชุมชนและวัดวาอารามริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเป็นต้นทุนของประเทศที่ต่างชาติเข้ามาชื่นชมกัน การที่ประเทศไทยมีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมืองหลวงได้สร้างความหลากหลายในทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างมากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรักษาเอาไว้ เพราะถ้าสิ่งเหล่านี้สูญเสียไปต่อให้มีเงินกองท่วมหัวมากเท่าไหร่ก็เอาคืนมาไม่ได้
"นี่ถือเป็นภารกิจที่พวกเราจะต้องรักษากรุงเทพมหานครเอาไว้ อีกเหตุผลประการหนึ่งที่บอกว่า การสร้างทางเลียบแม่น้ำ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแม่น้ำได้ แต่ในความจริงแล้ว ถ้าจะมีการชมความงามของเจ้าพระยาต้องลงเรือมาชมถึงจะเห็นความงามริมฝั่งอย่างชัดเจน จุดที่จะให้คนมายืนชมแม่น้ำ เดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน สามารถทำได้ มีได้แต่ต้องไม่ใช่ตลอดทั้งแนวลำน้ำเจ้าพระยา
ดังนั้น การที่ สจล.จะทำโครงการนี้ ต้องไม่ใช่แค่การแจ้งให้ชุมชนทราบว่า จะทำ แต่ต้องเข้าไปรับฟังความเห็นอย่างแท้จริง สจล. บทบาทที่ควรจะทำนั้น คือต้องเป็นตัวกลางในการเก็บข้อมูลออกมาและใช้ข้อมูลที่ได้มาให้รัฐบาลตัดสินใจ"
คำถามที่ว่า จะหยุดยั้งมติ ครม. เกี่ยวกับโครงการนี้ได้อย่างไร? ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า มติของ ครม. มีทุกวันอังคาร อย่าสนใจ สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าคือมติของประชาชน
ขณะที่นายมาโนช พุฒตาล ศิลปิน กล่าวถึงผู้กำหนดนโยบายต้องมีความรู้ความเข้าใจของประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำอย่างแท้จริง ต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจให้มากกว่านี้ก่อนที่จะมีการตัดสินใจ โดยต้องถามประชาชนทุกคน ให้ทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริงและมีน้ำหนักเท่าเทียมกัน
"สิ่งสำคัญคือต้องหาความความจริงว่า ถนนสายนี้มีความถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ เราต้องหาความจริงข้อนี้ให้เจอ เมื่อเจอแล้วจึงค่อยมาตัดสินกันว่าควรจะมีถนนเส้นนี้หรือไม่"
นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอิสระ กล่าว ว่า เรื่องถนนสองข้างทาง คนที่ทำคือคิดแต่จะเอาเงินกัน ซึ่งได้ไปพอแล้ว ยุติได้แล้ว "ผมเชื่อว่า จะต้องยุติ สิ่งสำคัญที่สุดที่คนไม่เคยคิด คือต้องเอาพระมามีส่วนร่วมในการรักษาแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าพระออกมาจะได้ผลอย่างมาก ดังนั้น ต้องปลุกพระให้ตื่น เพราะพระเป็นหัวใจ นอกจากนี้ยังมีบาทหลวง โต๊ะอิหม่าม ที่ต้องดึงมามีส่วนร่วม ทั้งหมดนี้ถ้ารวมตัวกันรับรองได้ผล"
"รสนา โตสิตระกูล" อดีตสมาชิกวุฒิสภา มอง ว่า สิ่งที่ประชาชนทำได้ หากโครงการนี้ยังไม่ยุติ คือการฟ้อง สจล. ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะทำให้โครงการนี้ชะลอไปเพื่อให้รัฐบาลได้คิดใหม่ อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ประมาณ 1 สัปดาห์ กลุ่ม Friends of River และภาคี แถลงเปิดตัวสมัชชาแม่น้ำ ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ ก็มีความเห็นคนดังต่อโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยาด้วย
นายจุลจักร จักรพงษ์ หรือ ฮิวโก้ ดารานักแสดง กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับผู้ปกครองและอำนาจ ผู้ที่ปกครองประเทศควรให้เกียรติและรับฟังผู้ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบในแง่ของชุมชน วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โครงการนี้ไม่ควรเร่งรีบที่จะทำ แต่คำถามคือ ทำไมต้องรีบ ทำไมต้องลึกลับ "ผมยังตอบไม่ได้ ผมเห็นว่า ทุกคนควรได้เข้าถึงแม่น้ำ การทำทางหรืออะไรก็ตาม ผมไม่ต่อต้าน แต่ถ้าสร้างแล้วมีแต่ข้อเสียเต็มไปหมด ดังนั้น การไม่สร้างย่อมดีกว่าหรือไม่?"
"สุดารา สุจฉายา" นักประวัติศาสตร์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ชี้ให้เห็นว่า คนภาคกลางเป็นคนที่อาศัยอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ซึ่งเป็นสังคมลุ่มแม่น้ำ ที่มีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ การทำโครงการแรกด้วยระยะทาง 14 กม. สองข้างทางเต็มไปด้วยวังและศาสนสถานมากมาย เช่น วังหน้า วังหลัง พระราชวังเดิม วังบางขุนพรหม และวังเทเวศร์ ซึ่งทั้งหมดนี้คือประวัติศาสตร์ริมสองฝั่งแม่น้ำ
"ถ้าเราทำลายแม่น้ำเท่ากับว่าทำลายประวัติศาสตร์และรากฐานของชีวิตเรา"
นายประเชิญ คนเทศ จากเครือข่ายลุ่มน้ำท่าจีน กล่าวว่า เราเป็นผู้รับชะตากรรมจากการที่ไม่เคยมีใครมาถามและบอกว่ากับเราว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นกับเจ้าพระยาจะส่งผลต่อคนนครปฐม อันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่หล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศ เราต้องการกำหนดอนาคตแม่น้ำที่เป็นของเรา ซึ่งเราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาแต่การพัฒนาจะต้องสมดุลกัน เพราะระบบแม่น้ำมีความสัมพันธ์กันทั้งหมด
"เจ้าพระยาเป็นพี่ ท่าจีนเป็นน้อง ถ้าเจ้าพระยาถูกทำลาย แม่น้ำสายอื่นก็ถูกทำลายด้วย"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
งวดเข้าทุกที “สมัชชาแม่น้ำ” จับตา โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา
สจล. เปิดแบบร่างแผนแม่บท 14 กม.พัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ภายใต้คอนเซ็ปต์ 'นาคนาม'
เปิดกฎหมาย เถียงให้รู้เรื่อง! ทำไม สจล. รับงานแลนด์มาร์คเจ้าพระยา เทียบกับ กฟภ.ไม่ได้
สภาวิศวกรแถลงส่งกฤษฎีกาตีความ ปม สจล.รับงานไม่มีใบประกอบวิชาชีพ
สจล.ยกความเห็นกฤษฎีกาปี 47 เทียบ ยันรับงาน 'แลนด์มาร์คเจ้าพระยา' ได้
จาก มช.สู่ สจล. มหาวิทยาลัยรับงานออกแบบ-คุมงานก่อสร้าง ได้หรือไม่?
ระอุ!!ร้องสภาวิศวกร สอบ 'สจล.' รับงานออกแบบเขื่อนกั้นนิคมฯ-แลนด์มาร์คเจ้าพระยา