ไฟใต้กับเกมที่ใหญ่กว่า..."เสื้อแยกดินแดน"
กระแสเรื่อง "เสื้อแยกดินแดน" ที่ฮือฮากันในโซเชียลมีเดียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังน่าเป็นห่วง และคนไทยทั่วทั้งประเทศไม่ไว้วางใจ
แม้ประเด็นเรื่อง “เสื้อ” น่าจะจบลงได้ในเบื้องต้น เพราะมีผู้เกี่ยวข้องระดับอดีต ส.ส.สตูล พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาชี้แจงแล้วว่าเป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์โรงเรียนตาดีกาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่เรื่องสัญลักษณ์ของการแยกดินแดนก็ตาม
แต่สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงจับตาไม่ใช่แค่เรื่องเสื้อ ทว่ายังมีเรื่อง “ป้ายเรียกร้องทำประชามติแยกดินแดน” หรือที่เรียกว่าสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (Self Determination) ด้วย
ทหารพบป้ายลักษณะนี้ ซึ่งจัดทำให้ดูคล้ายๆ ป้ายแสดงความยินดีในการเฉลิมฉลองเทศกาลฮารีรายอ ติดอยู่ในมัสยิดแห่งหนึ่งใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี จึงเข้าไปตรวจสอบและปลดป้าย ก่อนจะทราบมีการวางแผนแขวนป้ายลักษณะนี้อีกหลายจุด ทำให้ฝ่ายความมั่นคงสกัดไว้ได้ก่อน
แต่ความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่จัดทำก็ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น เพราะได้นำไปจุดกระแสต่อในเฟซบุ๊ค เช่น ถ่ายภาพในลักษณะถูกมัดมือและปิดปากประหนึ่งว่ากำลังถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ และมีการทำชาร์ทอธิบายว่าการเรียกร้อง “สิทธิเพื่อกำหนดใจตนเอง” นั้น ไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย
เรื่องมุมมองทางกฎหมายนี้ ดูเหมือนฝ่ายความมั่นคงจะมองคนละมุม เพราะ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) บอกว่ากำลังให้ทีมกฎหมายของ กอ.รมน.ตรวจสอบว่าการรณรงค์เรื่องสิทธิในการกำหนดใจตนเอง หรือ Self Determination ในประเทศไทย เข้าข่ายเป็นกบฏหรือไม่
จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า สิทธิในการกำหนดใจตนเอง เป็นสิทธิในการกำหนดอนาคตเสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของ “กลุ่มชน” ได้อย่างเสรี เคยถูกบัญญัติอยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติ และถูกนำมาใช้กับ “กลุ่มชน” ในดินแดนอาณานิคมหลายแห่ง จนได้รับการปลดปล่อยให้เป็นเอกราชมาแล้ว โดยส่วนหนึ่งใช้การ “ลงประชามติ” ด้วยการอ้างสิทธินี้
รัฐเกิดใหม่ช่วงหลังๆ ที่ประสบความสำเร็จจากการเรียกร้องสิทธินี้ คือ เซาท์ซูดาน และ ติมอร์เลสเต
สิทธิในการกำหนดใจตนเอง จึงเป็นเหมือนถ้อยคำ “แทงใจ” ของฝ่ายความมั่นคงไทย เพราะเชื่อว่าเป็นบันไดขั้นสูงสุดที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนต้องการก้าวไปให้ถึง
โดย “ฝ่ายติดอาวุธ” หรือที่เรียกกันว่า “ปีกการทหาร” ก็ใช้การก่อเหตุรุนแรงเพื่อกดดันรัฐบาลไทย ขณะที่ “ฝ่ายการเมือง” หรือ “ปีกการเมือง” อันประกอบด้วยกลุ่มปัญญาชน นิสิตนักศึกษา และภาคประชาสังคม (บางส่วน) ก็ใช้การรณรงค์เรียกร้องขอสิทธิในการกำหนดใจตนเอง ซึ่งเคยมีการจัดเวที “วงปิด” พูดคุยเรื่องนี้จำนวนไม่น้อยในพื้นที่ในช่วงหลายปีหลัง
จากเรื่องที่ต้อง “แอบพูด” วันนี้มีการพูดกันเปิดเผยบนเวทีสัมนา และล่าสุดถึงขั้นมี “ป้ายไวนิล” ติดหรากันเลยทีเดียว
แม้เงื่อนไขที่จะนำไปสู่การจัดทำประชามติเพื่อแบ่งแยกดินแดนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสิทธิของ “กลุ่มชน” นั้น (การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม) จะต้องถูกละเมิดอย่างสิ้นเชิง ซึ่งที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่ได้เป็นถึงขนาดนั้น ทั้งยังยากที่จะนิยามว่าดินแดนส่วนนั้นเป็น “อาณานิคม”
ที่สำคัญการจะเดินหน้าไปสู่ “ประชามติ” ได้ รัฐชาตินั้นๆ ต้องเอาด้วย กรณีของสามจังหวัดใต้ก็คือรัฐบาลไทยต้องยอมรับ
จากเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้จึงดูเหมือนการเรียกร้องสิทธิในการกำหนดใจตนเองน่าจะ “ปิดประตูตาย” สำหรับประเทศไทย
แต่ถึงกระนั้น ในเวทีเจรจาต้าอวยทางการเมืองแล้ว การตั้งข้อเรียกร้องสูงสุดเอาไว้ ก็เพื่อประโยชน์ของการต่อรอง
ต้องไม่ลืมว่ากลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ขึ้นโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี 2556 นำโดย ฮัสซัน ตอยิบ จากบีอาร์เอ็น และปี 2558-2559 โดย มารา ปาตานี ล้วนอ้างความชอบธรรมของการเคลื่อนไหวและการเรียกร้อง ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 ลงวันที่ 14 ธ.ค.1960 เรื่อง "การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม" และมีส่วนหนึ่งที่กล่าวถึง “สิทธิในการกำหนดใจตนเอง” หรือ Self Determination ทั้งสิ้น
ฉะนั้นหากรัฐบาลไทยพลาดไปสร้างเงื่อนไข หรือรู้ไม่เท่าทันเกมของกลุ่มที่เคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนซึ่งแบ่งงานกันทำหลายปีก หลายด้าน ทั้งในและต่างประเทศ ก็มีโอกาสที่ไทยจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบในสงคราม ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวานของเราเองได้เหมือนกัน
กรณี “อาเจะห์” ของอินโดนีเซีย เป็นตัวอย่างใกล้บ้านที่น่าสนใจ และน่ากังวลใจสำหรับไทยไม่น้อยทีเดียว!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แบนเนอร์ที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ที่กลุ่มเคลื่อนไหวพยายามอธิบายว่า การเรียกร้องเกี่ยวกับ Self Determination ไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมาย
อ่านประกอบ :
1 วิจารณ์ขรม "เสื้อ-ป้าย" สื่อถึงแยกดินแดน? ทหารเรียกคุย-สั่งฝ่าย ก.ม.ชี้ผิดหรือไม่
2 ปธ.บุหงารายาโต้ข่าว "เสื้อแยกดินแดน" ชี้แค่โปรโมทโรงเรียนตาดีกา