วิจารณ์ขรม "เสื้อ-ป้าย" สื่อถึงแยกดินแดน? ทหารเรียกคุย-สั่งฝ่าย ก.ม.ชี้ผิดหรือไม่
ช่วง 2-3 วันมานี้ มีการแชร์ภาพทางสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊คและแอพพลิเคชั่นไลน์ ที่สร้างกระแสวิจารณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2 ชุดด้วยกัน
ชุดแรก เป็นภาพเสื้อยืดสีขาว สกรีนรูปแผนที่สีแดงบนตัวเสื้อ เป็นแผนที่คาบสมุทรมลายู คือดินแดนบางส่วนในภาคใต้ของไทยและตอนเหนือของมาเลเซีย
ส่วนหนึ่งของดินแดนในภาพคาดว่าเป็นพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย คือ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล ทำเป็นสีขาวแยกต่างหากออกมาจากดินแดนสีแดงซึ่งเป็นพื้นที่ตอนใต้ของไทยและตอนเหนือของมาเลเซียอย่างชัดเจน
หน้าอกเสื้อสกรีนคำว่า "TANAH PERKASA MELAYU UTARA" โดยทั้งในแผนที่และหน้าอกเสื้อ ยังมีถ้อยคำภาษายาวีกำกับไว้ด้วย
ภาพชุดนี้ นอกจากภาพเสื้อที่สกรีนแผนที่และถ้อยคำดังกล่าวแล้ว ยังมีภาพชายวัยหนุ่ม แต่งกายเหมือนคนมลายูมุสลิม 5 คน สวมเสื้อนี้ยืนเรียงหน้ากระดานกันด้วย
ต่อมามีการแชร์ภาพ 2 ภาพนี้ในเฟซบุ๊คและแอพพลิชั่นไลน์ พร้อมข้อความว่า “จังหวัดใต้ล่างเขามีเสื้อนี้กันแล้ว เสื้อแบ่งแยกดินแดนเป็นรัฐอิสลาม ช่วยกันแชร์ออกไปให้มากที่สุดเพื่อให้ทางรัฐบาลได้รู้และพี่น้องชาวไทยได้ตื่นตัว โดยพี่น้องชาวมุสลิม 3 จว.ภาคใต้ที่ดีๆ เค้าทนดูไม่ได้เลยส่งมาให้ดู”
จากการตรวจสอบของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่าเสื้อดังกล่าวมีการเผยแพร่และจำหน่ายทางโซเชียลมีเดียของกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และกลุ่มนักศึกษา ภาคประชาสังคมบางองค์กรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ถ้อยคำบนหน้าอกเสื้อที่ว่า "TANAH PERKASA MELAYU UTARA" แปลตรงตัวเป็นภาษาไทยว่า "ดินแดนอาณาจักรมลายูตอนเหนืออันยิ่งใหญ่" ส่วนชายหนุ่ม 5 คนที่ยืนสวมเสื้อถ่ายรูปนั้น เป็นนักกิจกรรมและคนทำสื่อทางเลือกของท้องถิ่น
จากการสอบถามความเห็นของคนในพื้นที่ มองว่าการเผยแพร่เสื้อลักษณะนี้ตีความได้ 2 แบบ คือ
1.จงใจประกาศเขตพื้นที่รัฐปัตตานี หรือปาตานี คือ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เลี่ยงไปใช้คำว่า “มลายู” แทนคำว่า “ปาตานี” หรือ “ปัตตานี”
กับ 2.ไม่ได้จงใจให้เป็นประเด็นทางความมั่นคง แต่เป็นการจำหน่ายเสื้อที่สะท้อนอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งเป็นดินแดนในคาบสมุทรมลายูเท่านั้น
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า ทางฝ่ายความมั่นคงทราบเรื่องนี้แล้ว และรู้ตัวคนที่สวมเสื้อถ่ายรูปทั้ง 5 คนว่าเป็นใคร เบื้องต้นได้ให้หน่วยระดับพื้นที่เชิญตัวมาพูดคุย เพราะเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย
ทหารปลดป้าย Self Determination
ภาพอีกชุดหนึ่ง เป็นภาพเจ้าหน้าที่ทหารกำลังปลดป้ายผ้าบริเวณมัสยิดแห่งหนึ่ง ที่ดูเผินๆ เหมือนป้ายเขียนแสดงความยินดีในเทศกาลฮารีรายอที่กำลังจะมาถึง โดยภาพชุดนี้เผยแพร่มาก่อนเทศกาลฮารีรายอ หรือเทศกาลเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน เดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาข้อความบนป้ายอย่างละเอียด จะพบว่าส่วนหนึ่งของป้ายเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า SELF DETERMINATION ไม่ใช่ SELAMAT HARI RAYA เหมือนป้ายทั่วไป
เมื่อทหารไปปลดป้ายดังกล่าว ได้มีการนำป้ายลักษณะเดียวกันมาเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย และมีชายวัยรุ่นแต่งกายเหมือนคนมุสลิมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงท่าทางถูกมัดมือ และปิดปาก เหมือนกำลังถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ
ภาพชุดนี้สร้างกระแสวิจารณ์ในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยคนทั่วไปเข้าใจว่าทหารไม่อนุญาตให้ติดป้ายแสดงความยินดีช่วงเทศกาลฮารีรายอ จนมีการประท้วงทางสื่อสังคมออนไลน์
พ.อ.ปราโมทย์ ชี้แจงเรื่องนี้ว่า ข้อความบนป้ายไม่ใช่การแสดงความยินดีในเทศกาลฮารีรายอ แต่เป็นการระบุถึง "สิทธิในการกำหนดใจตนเอง" หรือ SELF DETERMINATION เจ้าหน้าที่ทหารพบป้ายลักษณะนี้ถูกแขวนบริเวณมัสยิดบ้านท่าด่าน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี โดยผู้กระทำเตรียมป้ายไว้จำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่ทหารพบเสียก่อน จึงไม่สามารถติดในจุดอื่นๆ ได้ ขณะนี้ กอ.รมน.ภาค 4 สน.กำลังให้ฝ่ายกฎหมายตีความว่าคำๆ นี้เข้าข่ายผิดกฎหมายไทย หรือเข้าข่ายเป็นกบฏหรือไม่
“เรากำลังเรียกตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาพ 2 ชุดนี้ทั้งหมดมาพูดคุยปรับทัศนคติ เพราะแม้เป็นพื้นที่ทั่วไปที่ไม่มีสถานการณ์ความไม่สงบ ก็เข้าใจว่าน่าจะหมิ่นเหม่ต่อการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อมาทำในพื้นที่ที่มีสถานการณ์พิเศษ และประกาศใช้กฎหมายพิเศษ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็น่าจะมีความผิดแน่นอน ฉะนั้น กอ.รมน.ภาค 4 สน.ก็ต้องดำเนินการ” พ.อ.ปราโมทย์ ระบุ
สำหรับ "สิทธิในการกำหนดใจตนเอง" หรือ Right to Self Determination นั้น อธิบายง่ายๆ ว่าเป็นสิทธิในการกำหนดเสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี เคยถูกกำหนดอยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติ และถูกนำมาใช้กับ “กลุ่มชน” ในดินแดนอาณานิคมหลายแห่ง จนได้รับการปลดปล่อยและเป็นเอกราช โดยส่วนหนึ่งใช้การลงประชามติด้วยการอ้างสิทธินี้ แต่ในรายละเอียดมีเงื่อนไขหลายประการ โดยเฉพาะรัฐชาติต้องยินยอม
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 เสื้อที่สกรีนภาพแผนที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกวิจารณ์ว่าสื่อถึงการแยกดินแดน
3-4 ทหารปลดป้ายที่เขียนข้อความ Self Determination
5-7 กลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่ชายแดนใต้รณรงค์คัดค้านการปลดป้าย และอธิบายว่าข้อความ Self Determination ไม่ได้ผิดกฎหมาย
อ่านประกอบ : รู้จักเรื่องสิทธิในการกำหนดใจตนเอง หรือ Self Determination อ่านได้ใน ประชามติแยกดินแดน...จุดจบไฟใต้หรือฝันไกลที่ไปไม่ถึง?