- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ประชามติแยกดินแดน...จุดจบไฟใต้หรือฝันไกลที่ไปไม่ถึง?
ประชามติแยกดินแดน...จุดจบไฟใต้หรือฝันไกลที่ไปไม่ถึง?
กลายเป็นประเด็นขึ้นมา หลังจาก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 10 ส.ค.2555 โดยเปรยถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำนองว่าต้องบังคับใช้กฎหมายพิเศษเต็มพื้นที่ ตอนนี้ยังไม่เสียดินแดน แต่ถ้าชะล่าใจจะเสียดินแดนแน่ในอนาคต โดยเฉพาะหากมีการ "ลงประชามติ"
ประเด็นว่าด้วยการลงประชามติเพื่อแยกดินแดนหรือแยกตัวตั้งรัฐใหม่ หรือ Self-determination นั้น เป็นเรื่องที่พูดกันมาและส่งสัญญาณเตือนกันมาระยะหนึ่งแล้วว่ามีความอ่อนไหวอย่างยิ่งกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของบ้านเรา โดยเฉพาะ รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยพูดเอาไว้หลายครั้งบนเวทีสัมมนาเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้และความมั่นคง
แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนจากกลุ่มผู้ก่อการในสามจังหวัด แต่ความพยายามย่อมมีแน่ โดยเฉพาะจากกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ ไม่ว่าขบวนการเหล่านั้นจะยังมีอิทธิพลต่อสถานการณ์ ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวานหรือไม่
เพราะการช่วงชิงจังหวะ โอกาส และการนำ เป็นผลประโยชน์ทางการเมืองและอำนาจที่ทุกฝ่ายจ้องตาเป็นมัน!
ในจุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับที่ 59 เรื่อง "หลักการกำหนดใจตนเอง" หรือ The Principle of Self-Determination ซึ่งเขียนโดย ณัฐกฤษตา เมฆา และมี รศ.ดร.สุรชาติ เป็นบรรณาธิการ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือน มิ.ย.2552 ได้อรรถาธิบายเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ สรุปได้ว่า สิทธิในการกำหนดใจตนเอง (The Rights of Self-Determination) เป็นแนวคิดที่มีมาก่อนการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ แต่ปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรมเมื่อมีการนำสิทธิในการกำหนดใจตนเองไปกล่าวไว้ใน กฎบัตรสหประชาชาติ ทำให้สิทธิในการกำหนดใจตนเองมีผลบังคับใช้แก่รัฐต่างๆ ที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไปด้วย
แต่เนื่องจากในตัวกฎบัตรไม่ได้ระบุถึงเนื้อหาสาระของสิทธิในการกำหนดใจตน เองเอาไว้มากนัก ทำให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติต้องมีมติต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดใจตนเองออกมาเพื่อเป็นการอธิบายและแสดงให้เห็นถึงสาระสำคัญของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง
รายละเอียดและเนื้อหาสาระของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง ปรากฏเป็นครั้งแรกในมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง "การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม" (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ใน มาตรา 1.1 ของมติที่ 1514 กล่าวว่า "กลุ่มชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดใจตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง และดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี"
ผลของมติที่ 1514 นี้ ทำให้การดำเนินการปลดปล่อยอาณานิคมประสบความสำเร็จ อาณานิคมทั้งหมดต่างได้รับอิสรภาพและได้รับเอกราช จนทำให้หลักการในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ต่อมาสิทธิในการกำหนดใจตนเองได้ถูกนำไปใช้ในกรณีอื่นๆ ที่ไม่ใช่การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคมด้วย เช่น การกล่าวอ้างสิทธิของชนกลุ่มน้อยต่างๆ (Minority groups) ที่ต้องการแยกตัวเองออกเป็นรัฐอิสระ นอกจากนั้นสิทธิในการกำหนดใจตนเองยังถูกใช้ในกรณีสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิมด้วย
"แยกดินแดน" มุมมองที่ยังโต้แย้ง
สำหรับประเด็นการกำหนดใจตนเอง หรือ Self-determination กับการแบ่งแยกดินแดนนั้น มีอธิบายไว้ในตอนท้ายของจุลสาร ระบุว่า "สิทธิในการกำหนดใจตนเองภายนอก" หรือ "การแบ่งแยกดินแดน" (secession) ถือว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากในการอภิปรายเกี่ยวกับคำแถลงการณ์ว่าด้วยความสัมพันธ์ฉันท์มิตร กล่าวกันว่ามีสถานการณ์ 3 แบบที่อาจทำให้เกิดสิทธิในการแบ่งแยกดินแดนขึ้น สองสถานการณ์แรกที่เกี่ยวกับสถานการณ์ของการตกเป็นอาณานิคมและการเข้าครอบ ครองของต่างชาติ สองสถานการณ์นี้ได้รับโดยฉันทามติว่าสิทธิการแบ่งแยกดินแดนในกรณีเหล่านี้เป็นกฎหมายจารีตประเพณี
ขณะเดียวกันก็มีความไม่เห็นด้วยกับคำแปลของข้อยกเว้นของแถลงการณ์ว่าด้วย ความสัมพันธ์ฉันท์มิตร (the Saving Clause of the Declaration on Friendly Relations) ซึ่งกล่าวว่า ข้อยกเว้นดังกล่าวได้รวมสิทธิการแบ่งแยกดินแดนที่ยอมรับโดยหมู่ชนหนึ่ง (a people) ซึ่งสิทธิในการกำหนดใจตนเองภายในของหมู่ชนดังกล่าวได้ถูกละเมิดอย่างสิ้นเชิงโดยรัฐบาลซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มชนทั้งปวงชน (peoples) ของหมู่ชนนั้น
ขณะที่กฎหมายระหว่างประเทศมิได้ให้สิทธิตามกฎหมายโดยเจาะจงในการแยกตัวออกมาเพียงฝ่ายเดียวจากรัฐ "แม่" แก่ส่วนต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นรัฐาธิปัตย์ และกฎหมายดังกล่าวก็มิได้ปฏิเสธสิทธิดังกล่าวอย่างชัดเจนอีกด้วย เหตุผลคือ กฎหมายระหว่างประเทศให้ความสำคัญแก่บูรณาการทางอาณาเขตของรัฐชาติ และโดยทั่วไปจะทิ้งภาระการสร้างรัฐใหม่ให้ตกอยู่ภายใต้ดุลพินิจของกฎหมายภายในประเทศของรัฐที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีดินแดนที่จะแยกตัวออกไปเป็นส่วนประกอบ
ขณะเดียวกันเป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า การแบ่งแยกดินแดนเป็นหนึ่งในรูปแบบของการใช้สิทธิการกำหนดใจตนเองนั้น โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ปัญหาเช่นนี้เป็นการเผชิญหน้าของสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศที่สร้างขึ้นมา อย่างรอบคอบกับสิทธิในการกำหนดใจตนเอง ในบางสถานการณ์รัฐจึงมีหน้าที่ทางอ้อมในการยอมรับความชอบธรรมในการเรียกร้องขอแบ่งแยกดินแดน แต่ประเด็นสำคัญก็คือ กฎหมายระหว่างประเทศตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า การใช้สิทธิในการกำหนดใจตนเองจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของรัฐาธิปไตยที่ดำรงอยู่และสอดคล้องกับการดำรงไว้ซึ่งบูรณาการทางอาณาเขต
นอกจากนี้ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้กำหนดขอบเขตของสิทธิในการกำหนดใจตนเองในแง่ที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ภายใต้กรอบของรัฐที่ดำรงอยู่ แม้จะไม่อ้างอิงโดยตรงกับการคุ้มครองการบูรณาการอาณาเขตก็ตาม
การดำรงไว้ซึ่งการบูรณาการอาณาเขตของรัฐที่ดำรงอยู่ และสิทธิของ "หมู่ชนหนึ่ง" เพื่อให้บรรลุมาตรการที่ครบถ้วนของสิทธิในการกำหนดใจตนเองจึงมิใช่สิทธิที่สามารถเลือกเพียงอย่างเดียวได้ จากคำพิพากษาของศาลสูงสุดแห่งแคนาดา (ในคดีว่าด้วยการแบ่งแยกดินแดนของควิเบก) คำกล่าวนี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อรัฐปกครองโดยใช้หลักการของตัวแทนของ ประชาชน (people) หรือกลุ่มชน (peoples) ที่พำนักในอาณาเขตดังกล่าวโดยเท่าเทียมกัน และโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ดังนั้นวิธีการปกครองจะต้องเป็นไปตามหลักการของสิทธิในการกำหนดใจตนเองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการภายในรัฐดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้ เมื่อรัฐได้ปฏิบัติตามปัจจัยเหล่านี้อย่างครบถ้วนแล้ว จึงจะถือว่ารัฐมีสิทธิได้รับความคุ้มครองภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยการบูรณาการ อาณาเขตของกฎหมายระหว่างประเทศ
แต่ในทางกลับกันก็เป็นไปได้ว่าจะมีการสร้างสิทธิในการกำหนดใจตัวเองโดยที่หมู่ชนหนึ่ง (a people) ที่ถูกปกครองอย่างกดขี่ หรือโดยที่กลุ่มชนที่สามารถแสดงให้เห็นถึงการถูกปฏิเสธในการเข้าถึงรัฐบาลเพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม มีสิทธิในการกำหนดใจตนเองภายนอก (external self-determination) เนื่องจากประชาชนถูกปฏิเสธความสามารถในการใช้สิทธิในการกำหนดใจตนเองเป็นการภายใน ซึ่งหมายถึงสิทธิในการแบ่งแยกดินแดนนั่นเอง
"ติมอร์-ซูดานใต้" ตัวอย่างตั้งรัฐใหม่?
แหล่งข่าวซึ่งเป็นนักวิชาการของกองทัพ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า กระบวนการ Self-determination ต้องเดินตามกรอบของยูเอ็น และส่งเรื่องไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งค่อนข้างยากสำหรับกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย แต่ก็ความอ่อนไหวอยู่บางประเด็น กล่าวคือ เราไม่เคยทำวิจัยอย่างแท้จริงเลยว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการอย่างไร มีแต่พูดกันว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดแบ่งแยกดินแดน แต่ยังไม่เคยมีการทำสำรวจอย่างชัดเจนเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน
"แน่นอนว่ากระบวนการนี้มีการพูดถึง เพราะมีความเคลื่อนไหวที่ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายกรณี เช่น ติมอร์ตะวันออก หรือติมอร์-เลสเต ที่แยกตัวจากอินโดนีเซีย รวมถึงสาธารณรัฐเซาท์ซูดาน หรือซูดานใต้ ที่แยกตัวเป็นเอกราชจากประเทศซูดานด้วยกระบวนการลงประชามติ แต่กระบวนการที่เกิดขึ้นล้วนมีเงื่อนไข อย่างกรณีของติมอร์-เลสเต ชัดเจนว่าอินโดนีเซียส่งกำลังทหารเข้าไปยึดครองในช่วงไม่กี่ทศวรรษมานี้เอง ขณะที่เซาท์ซูดานมีปัญหาเรื่องสงครามกลางเมือง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เมื่อเริ่มกระบวนการสันติภาพแล้ว Self-determination ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่นำมาใช้แก้ไขปัญหา"
ระแวงประชามติปิดช่องปกครองพิเศษ
แหล่งข่าวรายนี้ย้ำด้วยว่า แม้การใช้กระบวนการ Self-determination จะเป็นเรื่องยากสำหรับกรณีประเทศไทย แต่ความวิตกกังวลต่อกระบวนการนี้ของฝ่ายความมั่นคงไทยก็ทำให้การจัดการปัญหาในมิติการเมืองการปกครองไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เพราะเชื่อว่าเป็นก้าวแรกสู่การแยกตัวเป็นเอกราช
"เรื่องการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ บ้านเราแทบจะไม่หยิบมาพูดกันจริงๆ จังๆ เลย เพราะกลัวกันว่าจะก้าวไปสู่การตั้งเขตปกครองตนเอง หรือ Autonomy และนำไปสู่ Self-determination ขอตั้งประเทศใหม่ในที่สุด เรื่องนี้ทำให้การพัฒนารูปแบบการพูดคุยเจรจาโดยมีฐานทางการเมืองการปกครองหยุดชะงัก ซึ่งเป็นผลเสียต่อสถานการณ์โดยรวมอยู่เหมือนกัน เนื่องจากไม่มีความยืดหยุ่นหรือออพชันในการเจรจามากพอ" แหล่งข่าวระบุ
คน กอ.รมน.เชื่อ"จีน-สหรัฐ"ขวางแยกตัว
ขณะที่ แหล่งข่าวระดับสูงจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า เรื่อง Self-determination ต้องอยู่ในกรอบที่ว่าประชาชนในประเทศนั้นมีปัญหาชัดเจน เช่น สงครามกลางเมือง ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่สำคัญเมื่อแยกออกไปแล้วต้องมีกระบวนการที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าสามารถบริหารจัดการประเทศหรือรัฐใหม่ให้เดินหน้าไปได้ ฉะนั้นจึงต้องมีตัวแทนชัดเจน อาจจะเป็นพรรคการเมืองหรือผู้นำ ไม่ใช่ปล่อยให้แยกตัวออกไปแล้วฆ่ากันเองต่อ
"ของบ้านเรายังไม่มีการประกาศตัว ก็เลยยาก กฎบัตรของยูเอ็นคือการไม่แทรกแซงอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ตลอดจนความเป็นเอกภาพของชาติสมาชิก นอกจากจะได้รับการร้องขอและมีมูลเหตุที่สำคัญมากพอ เช่น มีสถานการณ์บางอย่างที่ร้ายแรงมาก อาทิ สงครามกลางเมืองที่ควบคุมไม่ได้ อย่างเช่นซีเรีย หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ถ้าอยู่กันปกติ ยูเอ็นคงเข้ามาแทรกแซงไม่ได้"
"ที่สำคัญการเข้าแทรกแซงต้องผ่านมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หากมีบางชาติใช้สิทธิวีโต้ ก็ไม่สามารถเข้ามาได้ เหมือนกรณีของซีเรียซึ่งเข้าข่ายควรถูกแทรกแซงมากกว่าไทยมาก ก็ยังเข้าไม่ได้ เรายังเชื่อว่าถ้ามีการเสนอจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จีนและสหรัฐซึ่งเป็น 2 ชาติในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติคงไม่ยอม" แหล่งข่าวจาก กอ.รมน.ระบุ
"ปณิธาน" ตั้ง 3 คำถาม...ฟันธงฝันไกลที่ไปไม่ถึง
นายปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การขอประชามติเพื่อปกครองตนเองหรือเพื่อแบ่งแยกประเทศใหม่ ที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Self-determination มีการพูดคุยกันในแวดวงวิชาการมาหลายปีแล้ว ประเด็นก็คือการจะดำเนินการได้ต้องมีเงื่อนไขพร้อมและจังหวะเวลาที่เหมาะสม แต่ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยว่าขณะนี้เงื่อนไข พร้อมหรือยัง และผลที่ตามมาจะเป็นไปในทางบวกหรือลบ
ยกตัวอย่าง ติมอร์-เลสเต แยกตัวจากอินโดนีเซียแล้ว แต่ความรุนแรงก็ยังไม่ยุติ ทำให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ต้องส่งกองกำลังนานาชาติเข้าไป และยังมีสงครามกลางเมืองต่อเนื่อง
นายปณิธาน อธิบายต่อว่า จากการพูดคุยในแวดวงวิชาการและความมั่นคง พบว่าเรื่อง Self-determination มีความเห็นแตกต่างกัน 2 แนวทาง กล่าวคือ ฝ่ายที่เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ ก็จะชี้ว่าหากเศรษฐกิจไม่เข้มแข็ง จัดระบบการเมืองการปกครองไม่ดีและไม่ชัดเจนพอ เมื่อแยกตัวออกไปแล้วก็จะเกิดปัญหาตามมา และเป็นปัญหาหนักยิ่งกว่าตอนที่ยังไม่แยกตัวออกไปเสียอีก
ส่วนอีกฝ่ายคือฝ่ายที่เห็นว่ามีแนวโน้มเป็นไปได้ ฝ่ายนี้ไม่สนว่าจะเกิดอะไรตามมา เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่ความเห็นของประชาชนต้องเป็นใหญ่ หลักๆ ก็คือต้องถามประชาชนว่าต้องการอยู่กับใคร ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญ
อย่างไรก็ดี ในทัศนะของนายปณิธาน เขาเห็นว่ายังมีคำถามอย่างน้อย 3 ข้อที่ต้องตอบให้ได้เสียก่อน หากจะดำเนินการเรื่อง Self-determination ในกรณีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จริงๆ
หนึ่ง คือ การไปลงประชามติในบางเรื่องที่ประชาชนอาจไม่ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด ผลของประชามติจะได้รับการยอมรับหรือมีความแม่นตรงน่าเชื่อถือจริงหรือไม่ สะท้อนทัศนคติของประชาชนจริงหรือเปล่า
สอง คือ ถ้าลงประชามติแล้วปรากฏว่าประชาชนไม่อยากแยกตัวตั้งรัฐใหม่ ฝ่ายที่ก่อความรุนแรงอยู่จะยอมยุติความรุนแรงหรือไม่ สมมติรัฐบาลไปรณรงค์อย่างกว้างขวางจนประชาชนลงมติไม่ไป กลุ่มผู้ก่อการจะยอมยุติหรือเปล่า ถ้าไม่ยอมก็จะส่งผลเสียตามมาอีก เพราะกระบวนการนี้จะไม่ได้รับการยอมรับไปเลย
สาม คือ การลงประชามตินั้น ต้องใช้เสียงจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทย หรือเฉพาะประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะจนถึงปัจจุบันยูเอ็นก็ยังยอมรับว่าดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นของประเทศไทย แล้วจะไม่ให้คนไทยทั้งประเทศออกเสียงลงคะแนนด้วยหรือ
"ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่มีน้ำหนักมากพอ เพราะการทำงานด้านการต่างประเทศของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระดับนานาชาติ เนื่องจากมีการฆ่าพี่น้องมุสลิมด้วยกันเอง ขณะที่โอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) ยังมองว่ากลุ่มเหล่านี้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่ได้เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับเหมือนปาเลสไตน์ วิธีการที่ใช้ก็รุนแรง สร้างความสูญเสีย"
"หากไล่ดูเสียงสนับสนุนในโอไอซีก็พบว่ามีไม่มาก อาจจะมีบางประเทศที่แอบๆ สนับสนุนเท่านั้น และยังไม่มีสถานภาพหรือมีที่นั่งทั้งในโอไอซีและยูเอ็น อาจจะมีบางประเทศให้ความสนใจและสนับสนุนบ้าง แต่ก็ไม่มากพอ แม้จะมีความพยายามส่งสัญญาณให้รับฟังข้อเรียกร้อง แต่ทางกลุ่มไม่มีผู้แทนที่ชัดเจน บทบาทในเวทีนานาชาติจึงยังน้อยอยู่"
"สำหรับกลุ่มพูโล และบีอาร์เอ็น ที่เคลื่อนไหวในเวทีต่างประเทศอยู่แล้วก็คงเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ เพราะมีบางฝ่ายสนับสนุน เพียงแต่จังหวะ เวลา และโอกาสยังไม่เอื้อ แต่ก็ยังไม่ยุติ"
แนวโน้มกระจายอำนาจ...ผลข้างเคียงเชิงบวก
กระนั้นก็ตาม นายปณิธาน ชี้ว่า การต่อสู้ของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ได้สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลไทยให้ความสนใจเรื่องรูปแบบการปกครองแบบพิเศษและการกระจายอำนาจอย่างจริงจัง ซึ่งถือเป้นแง่ดี และรัฐบาลไทยก็ไม่ได้ถูกมองว่าพ่ายแพ้
"การเคลื่อนไหวจะนำไปสู่การสร้างพื้นที่พิเศษรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง อำนาจการปกครองที่สร้างการมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ไม่ถึงกับปกครองตนเอง เพราะปัญหาชายแดนใต้ได้ทำให้เกิดแรงกดดันทำให้รัฐต้องสนใจเรื่องการกระจายอำนาจอย่างจริงๆ จังๆ ที่ผ่านมามีการพูดถึงมหานครปัตตานี และการกระจายอำนาจรูปแบบใหม่ๆ การให้ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) มีอำนาจมากจขึ้น มีสภาที่ปรึกษา มีกฎหมายรองรับ"
"เหล่านี้ถือเป็นแนวโน้มที่ดีทั้งสิ้น เป็นการเพิ่มอำนาจการปกครองและการบริหารจัดการตนเองที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง รัฐไทยก็ไม่ได้ถูกมองว่าพ่ายแพ้ ถือเป็นผลข้างเคียงในทางที่ดีจากปัญหาภาคใต้ และประเด็นเหล่านี้คงต้องเกิดต่อไป คงไม่หายไปไหนแน่นอน" นายปณิธาน สรุป
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพกราฟฟิกโดย "ทีมกราฟฟิก" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
หมายเหตุ : บางส่วนของสกู๊ปชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้า 1-2 และ 4 ฉบับวันอาทิตย์ที่ 12 ส.ค.2555