- Home
- South
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวภาคใต้
- จบ! ปมเสื้อแยกดินแดน นายกฯ-โฆษกรัฐแจงแค่เรื่องเข้าใจผิด
จบ! ปมเสื้อแยกดินแดน นายกฯ-โฆษกรัฐแจงแค่เรื่องเข้าใจผิด
ประเด็นการแชร์ภาพและข้อความเกี่ยวกับเสื้อยืดสกรีนแผนที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมภาษายาวีและภาษามาเลย์ว่าเป็น "เสื้อแบ่งแยกดินแดน" นั้น น่าจะยุติความสับสนลงได้แล้ว หลังจากผู้นำรัฐบาลออกมาบอกว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า “เขาชี้แจงมาแล้วในโชเชียลฯ พวกคุณยังไม่ได้ดูกันเหรอ เด็กคนนั้นก็ตกใจ (หมายถึงแกนนำภาคประชาสังคมที่จัดทำเสื้อ) เขาไปซื้อเสื้อมาจากตรงโน้น อันตรงโน้นก็บอกว่าเขาทำเพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของกลุ่มตาดีกา เพื่อเป็นการบ่งบอกให้อนุรักษ์การเรียนภาษาของกลุ่มมุสลิม เราต้องไปสอบสวนตรงโน้น เด็กก็คือเด็ก”
“นี่แหละเขาเรียกว่าการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนของเราเอง ว่าเราจะต้องมีภูมิคุ้มกันอย่างไร อะไรถูกอะไรผิด อะไรควรไม่ควร หลายๆ คนไม่ได้ตั้งใจ มันอยู่ที่คนไปทำให้มันเกิด วันนี้ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และตำรวจชี้แจงออกมาแล้ว เราต้องใช้มาตรการทางสังคม นอกจากการใช้กฎหมายและกำลัง บวกกับการพัฒนาต้องเอาข้างนอกเข้าไปข้างใน และเอาข้างในออกไปสู่ข้างนอก แล้วไปปิดพื้นที่การเคลื่อนไหวของคนที่มีอยู่ไม่มากนัก การใช้อาวุธต้องทำอย่างระมัดระวัง อย่าให้บ้านเมืองเราเป็นอย่างหลายๆ ประเทศที่เกิดอยู่ นั่นแหละคือสิ่งสำคัญเพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน”
“ท่านก็รู้ว่าอะไรมันเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ท่านอยากให้เป็นอย่างนั้นหรือ ถ้าอยากให้เป็นก็ขยายความไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็เกิดเองแหละ ไม่มีใครเขาทำได้หมดร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ถ้าเราไม่ระวังตัวเอง”
ผู้สื่อข่าวถามว่าทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ชี้แจงหรือไม่ เพราะเมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา มีข่าวเชิญบุคคลในภาพถ่ายที่สวมเสื้อยืดที่เป็นปัญหาไปพุดคุย นายกฯกล่าวว่า “ที่ผมพูดไง เขารายงานผมมาแบบนี้ เขารายงานทางโทรศัพท์มาเมื่อวาน (7 ก.ค.) เมื่อกี้นี้ เดี๋ยวผมสอบเอง เขารู้หน้าที่ของเขาอยู่แล้ว เดี๋ยวเขาไปสอบต่อว่าต้นตอใครพิมพ์ แล้วพิมพ์ว่าอย่างไร ถ้าพิมพ์แล้วไม่มีความผิดก็ไม่มีความผิด เจตนาว่าอย่างไรล่ะ กฎหมายเขียนไว้ว่าอย่างไร เจตนาหรือไม่ หลายคนก็อ้างว่าไม่เจตนา”
“อย่างวันนี้อยากมีสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย แล้วก็ฟังเขาอยู่ได้ ขยายความให้เขาอยู่ได้ วันนี้ต้องการอะไรกับประเทศชาติ เราต้องการเดินไปข้างหน้าหรืออยู่ที่เดิม หรือจะถอยหลังกลับไปที่เก่า ไปถามต่อให้ผม ช่วยกันทำให้สงบแล้วกัน”
โฆษกรัฐย้ำไทยเป็นหนึ่งเดียว แบ่งแยกไม่ได้
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เสื้อที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์นั้น จัดทำโดยมูลนิธิศูนย์ประสานงานโรงเรียนตาดีกา มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดจำหน่าย และนำทุนไปใช้ทำกิจกรรมรณรงค์ให้คนในท้องถิ่นอนุรักษ์ภาษามลายูไม่ให้เลือนหายไป ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด
“ท่านนายกฯ อยากให้นำกรณีนี้มาเป็นบทเรียนว่า การรับข่าวสารและการส่งต่อกันในสื่อสังคมออนไลน์เป็นเรื่องที่ต้องใช้วิจารณญานไตร่ตรองให้รอบคอบอย่างมาก เพราะเป็นช่องทางการสื่อสารที่ทำง่ายและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หากเป็นเรื่องผิดพลาดคลาดเคลื่อน เป็นเรื่องเท็จ ก็อาจทำให้เกิดความตระหนกตกใจหรือความเสียหายต่อสังคมโดยรวมได้”
“ขอย้ำอีกครั้งว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ ดังนั้นการแสดงความคิดเห็นหรือกระทำการใดๆ ที่ไม่เหมาะสม อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย และทำให้ประชาชนเกิดความสับสน โดยท่านนายกฯได้กำชับให้หน่วยงานด้านความมั่นคงเฝ้าติดตามตรวจสอบพฤติกรรมที่บ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะช่วงที่ใกล้วันลงประชามติ และหากพี่น้องประชาชนมีข้อมูลหรือเบาะแสการกระทำผิดขอให้รีบแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เพื่อร่วมกันรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น” โฆษกรัฐบาล กล่าว
อดีต ส.ส.สตูล ออกตัวยันไม่เกี่ยวแยกดินแดน
ก่อนหน้านั้น ทีมโฆษกของพรรคประชาธิปัตย์ ได้เผยแพร่ข้อความทางแอพพลิเคชั่นไลน์ของ นายฮอชาลี ม่าเหร็ม อดีต ส.ส.สตูลของพรรค ว่า เป็นเสื้อของชมรมโรงเรียนตาดีกาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีชื่อตาดีกาของแต่ละจังหวัดกำกับอยู่เป็นภาษายาวี ไม่ใช่เสื้อแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด ฉะนั้นหากไม่เข้าใจภาษายาวี กรุณาตรวจสอบกับผู้รู้ก่อนโพสต์ข้อความ มิฉะนั้นจะเป็นการสร้างความไม่เข้าใจและเพิ่มความขัดแย้งในบ้านเมือง
สำหรับข้อความบนอกเสื้อที่เขียนว่า TANAH PERKASA MELAYU UTARA นั้น แปลว่า “ความสามัคคีกันใน 5 จังหวัดมลายูตอนเหนือ” ไม่เกี่ยวกับแบ่งแยกดินแดน
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์รัฐบาลไทย