TIJ ชูโปรตุเกสโมเดลแก้ยาเสพติดชะงัด ไม่เอาโทษทางอาญามาใช้กับผู้เสพ
โปรตุเกสโมเดล ยาเสพติดยังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมายอยู่ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เสนอไทยให้ใช้วิธีที่เหมาะสมกับผู้เสพ ทำอย่างไรแยกผู้เสพออกจากผู้ค้าให้ได้อย่างจริงๆ เพื่อไม่ให้กระบวนการยุติธรรมเป็นอัมพาต หามาตรการบำบัดที่มีประสิทธิภาพ และกลับสู่สังคมได้
วันที่ 5 กรกฎาคม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดงานเสวนาวิชาการ "โปรตุเกสโมเดล: กรณีศึกษาทิศทางใหม่นโยบายยาเสพติด" ณ ห้องศาลาแดง โรงแรมดุสิตธานี โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหลากสาขามาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยน ถึงแนวทางการปรับใช้โปรตุเกสโมเดลในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวถึงโปรตุเกสโมเดล กับการแก้ไขปัญหายาเสพติด อาจไม่เหมาะกับทุกประเทศ แต่มีความคล้ายคลึงกับปัญหายาเสพติดในประเทศไทย น่าจะลองนำมาเป็นกรณีศึกษาในช่วงที่เรากำลังมีการแก้ประมวลกฎหมายยาเสพติด
ดร.กิตติพงษ์ กล่าวถึงการปราบปรามยาเสพติดอย่างเคร่งครัด และมีการลงโทษอย่างรุนแรงมาโดยตลอด ช่วงหนึ่งมีการประกาศให้ 'ยาม้า' เป็น 'ยาบ้า' ซึ่งก็มีเหตุผล เพราะช่วงเวลานั้นการผลิตแอมเฟตามีนบริเวณประเทศไทยผลิตจำนวนมาก จึงมีการยกระดับแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดประเภท 1 ปราบปรามอย่างเต็มที่ แต่ปราบไปปราบมา คุกล้น แสดงให้เห็นว่า Criminalisation ทำให้เกิดปัญหาแบบนี้
ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวอีกว่า โปรตุเกสก่อนหน้านั้นมีปัญหาผู้เสพยาเสพติดระดับต้นๆ ในยุโรป และมีปัญหาคนเสียชีวิตสูง ติดเชื้อ HIV จนปี 2001 มีนโยบายแก้ปัญหายาเสพติด โดยการไม่เอาโทษทางอาญามาใช้ (Decriminalisation) สำหรับผู้เสพ และโปรตุเกสไม่ได้ทำให้ยาเสพติด (เฮโรอีน) เป็นเรื่องถูกกฎหมาย ยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่ เพียงแต่ไม่นำโทษทางอาญามาใช้ เน้นมาตรการทางปกครอง ทางสาธารณสุขเป็นหลัก รวมถึงมีการตั้งคณะกรรมการยับยั้งการใช้ยาเสพติดโดยมิชอบ ประกอบด้วย คณะกรรมการ 3 คน ด้านการแพทย์ หรือสาธารณสุข ด้านบริการสังคม เช่น นักจิตวิทยา หรือสังคมสงเคราะห์
“ตัวอย่างการบังคับโทษทางปกครอง เช่น การเตือน การห้ามเข้าออกสถานที่ ห้ามพบบุคคล รายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่เป็นระยะ และการเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพหรือใบอนุญาต ซึ่งจะใช้ควบคู่กับการบำบัดแบบสมัครใจ ขณะเดียวกันการลงโทษผู้ค้ายาเสพติดยังรุนแรงเหมือนเดิม แต่จะไม่ลงโทษทางอาญากับผู้เสพ”
ดร.กิตติพงษ์ กล่าวถึงกลุ่มผู้เสพ กรณีโปรตุเกสโมเดล คือผู้ที่ครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพส่วนตัวปริมาณ 10 วัน โดยคนเหล่านี้จะไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางอาญาเลย จะถือเป็นผู้เสพ มีการโน้มน้าวให้ไปสู่การบำบัด
“โปรตุเกสไม่ได้มองปัญหายาเสพติดร้ายแรงแบบไทย การยอมรับเขาสูงกว่า ซึ่งตัวชี้วัดความสำเร็จของโปรตุเกส คือ ปริมาณการใช้ยาเสพติดที่ลดลง เมื่อเทียบระหว่างปี 2000,2007 และ 2012 โดยเขากล้าประกาศไม่มีใครเสียชีวิตจากยาเสพติด” ผู้อำนวยการ TIJ กล่าว และว่า “วันนี้เราไม่ได้ต้องการทำให้ยาเสพติด ยาบ้า เป็นสิ่งถูกกฎหมาย โปรตุเกสโมเดล คือ ยาเสพติดยังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมายอยู่ เราเสนอให้ใช้วิธีที่เหมาะสมกับผู้เสพยาเสพติด ทำอย่างไรแยกผู้เสพออกจากผู้ค้าให้ได้อย่างจริงๆ และแยกให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ลดการเหวี่ยงแหไม่ใช่ผู้เสพติด พึ่งพายาและเป็นเหยื่อ ทำอย่างไรไม่ให้อีรุงตุงนังจนทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นอัมพาต รวมถึงให้มาตรการบำบัดมีประสิทธิภาพ และกลับสู่สังคมได้ ที่โปรตุเกสทำสำเร็จ เพราะตำรวจเห็นความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย
สุดท้าย ดร.กิตติพงษ์ กล่าวถึงการใช้งบประมาณ และทรัพยากรแก้ไขปัญหายาเสพติด งบประมาณกระทรวงยุติธรรมกว่าครึ่งใช้กับกรมราชทัณฑ์ ขณะที่งบฯ ป้องกัน ปราบปราม บำบัดยาเสพติดกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งประเทศไทยทุ่มเทไปเท่าไหร่ และได้ผลกลับมาอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องคิดกันต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เมื่อสังคมไทยสุดโต่ง 2 ข้าง กับแนวคิดแก้ปัญหา 'ยาเสพติด'
ถึงเวลาเปลี่ยนเมทแอมเฟตามีน จากบัญชียาเสพติด หรือยัง ?
ค้นทางออกของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก "ผู้ต้องขังล้นคุก"
เข้าคิวรอ...พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 ขัดหลักนิติธรรม ?
ยาไอซ์-ยาบ้าระบาด! ‘พล.อ.ไพบูลย์’ ชี้ศูนย์ฟื้นฟูล้มเหลว ลั่นควรถูกยุบ