กทม.ยัน 1.4 หมื่นล.ไม่ใช้งบฯ แลนด์มาร์คเจ้าพระยา-สร้างเสร็จแน่กลางปี'61
ปลัดกทม. เปิดไทม์ไลน์ แลนด์มาร์คเจ้าพระยา ใช้เวลาศึกษา 7 เดือน จากนั้นจ้างผู้รับเหมา - ก่อสร้าง 18 เดือน คาดว่า ได้เห็นกลางปี 2561 ยืนยันไม่ใช่โครงการก่อสร้างถนนสำหรับรถวิ่ง ขณะที่กลุ่ม FOR เรียกร้องต่อ สจล. เปิดเผยคณะทำงานต่อสาธารณชน เพื่อให้แน่ใจว่า ทีมงานมีความเชี่ยวชาญ และเป็นที่ยอมรับ
วันที่ 29 มี.ค. นายพีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ผศ.นพปฎล สุวัจนานนท์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. สถาปนิกโครงการฯ และนายรณฤทธิ์ ธนโกเศศ ภูมิสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ชุมชน ร่วมกันแถลงข่าวการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้แนวคิด “เจ้าพระยาเพื่อทุกคน” (Chao Phraya for All) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน หลังจาก กทม. ได้ลงนามสัญญาจ้างสถาบันการศึกษา ได้แก่ สจล. และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นที่ปรึกษางานสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมระยะเวลา 7 เดือน งบประมาณ 120 ล้านบาท เมื่อวันที่ 29 ก.พ.59 และลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ปลัดกทม. กล่าวถึงการดำเนินงานของที่ปรึกษา แบ่งเป็น 3 ส่วน 1.ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 57 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสุดเขตกทม. 2. งานสำรวจและออกแบบรายละเอียดและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (EIA) พื้นที่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพื่อก่อสร้างเป็นโครงการนำร่อง และ 3.งานประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยหลังการศึกษาเสร็จสิ้น จากนั้นจะมีการจ้างผู้รับเหมา และใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน เริ่มก่อสร้างต้นปี 2560 คาดว่าโครงการฯ จะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2561 พร้อมยืนยันว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ใช่โครงการก่อสร้างถนนสำหรับรถวิ่ง แต่จะเป็นทางเดินและทางจักรยาน
สำหรับความห่วงใยจากหลายฝ่ายต่อโครงการฯ นี้ รวมถึงข้อคิดเห็นจากนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ ถึงรูปแบบนั้น ปลัดกทม. กล่าวว่า จะเป็นประโยชน์ต่อทีมที่ปรึกษาโครงการฯ ในการนำมาประยุกต์ในการออกแบบรายละเอียดและจัดทำแผนแม่บทเพื่อให้โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของประเทศไทยและของโลกต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตอนท้าย นายพีระพงษ์ ตอบคำถามถึงผลกระทบต่อชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและความเหมาะสมของระยะเวลาในการสำรวจและออกแบบโครงการ 7 เดือน ทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ว่า ในส่วนของผลกระทบต่อชุมชนกว่า 200 ครอบครัวใน 31 ชุมชน กทม.และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้ช่วยเหลือด้านการจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนรุกล้ำ อีกทั้งทีมที่ปรึกษาฯ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อพบปะและพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินโครงการ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น ความต้องการ และข้อเสนอแนะเพื่อนำมาเป็นแนวคิดในการออกแบบรายละเอียด โดยประชาชนในชุมชนมีความเข้าใจต่อโครงการมากขึ้นและยินดีให้ความร่วมมือ
“ส่วนระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษา สำรวจ และออกแบบโครงการฯ เพียงแค่ 7 เดือน นั้น เป็นระยะเวลาที่ได้มีการหารือกับสจล.แล้ว โดยจะเป็นการบริหารโครงการแบบบูรณาการทั้งด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม รวมถึงรับฟังความคิดเห็นคู่ขนานกันไป ทำให้สามารถเดินหน้างานสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทโครงการฯ ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งสจล.มีความพร้อมและมีศักยภาพในการบริหารโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ปลัดกทม. กล่าว และว่า ตัวเลขวงเงินงบประมาณ 14,000 ล้านบาทตามที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ยังไม่ใช่งบประมาณโครงการที่แท้จริง กทม.ยังไม่ได้จัดทำคำของบฯ เนื่องจากต้องรอผลการศึกษาและออกแบบให้เสร็จสิ้นก่อน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่ม Friends of the River (FOR) ได้จัดกิจกรรมคู่ขนาน พร้อมมีข้อเรียกร้องต่อ สจล. ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ อาทิให้เปิดเผยคณะทำงานต่อสาธารณชน เพื่อให้แน่ใจว่า ทีมงานมีความเชี่ยวชาญตามข้อกำหนด (TOR) และมีใบประกอบวิชาชีพตามกฎหมาย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม ว่าโครงการได้ศึกษารอบด้านโดยผู้เชี่ยวชาญ, เปิดเผยแผนการทำงานต่อสาธารณะ โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้สาธารณชนสามารถเข้าไปตรวจสอบและแสดงความเห็นได้อย่างเปิดเผย และทั่วถึง, เปิดเผยรูปแบบที่ดีกว่ารูปแบบเดิมต่อสาธารณชน รวมถึงการสร้างแนวร่วมในการทำงานสาธารณะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
อดีตส.ว. ชี้ผันงบฯ แลนด์มาร์คใหม่ริมเจ้าพระยา ไปสะสางคูคลองคุ้มกว่า
โฆษกโครงการริมฝั่งเจ้าพระยา ยัน TOR ไม่ระบุสร้างถนนคอนกรีต-มีตอม่อตลอดลำน้ำ
ดร.บัณฑูร ติงกรมเจ้าท่าเปลี่ยนกฎ เอื้อหน่วยงานราชการรุกล้ำลำน้ำได้
‘ประวิตร’ ขีดเส้นก่อสร้างโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ม.ค. ปี 2560
มท.1 ยันทางเลียบเจ้าพระยา งบฯ ไม่ถึง 1.4 หมื่นล้าน โครงสร้างสูงน้อยกว่าเขื่อนริมฝั่ง
โครงการเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 'สุ่มเสี่ยง' ผิดกฎหมายหลายฉบับ ?
Friends of The River เดินหน้าสร้างชุมชนต้นแบบในพท.ริมน้ำเจ้าพระยา