อดีตส.ว. ชี้ผันงบฯ แลนด์มาร์คใหม่ริมเจ้าพระยา ไปสะสางคูคลองคุ้มกว่า
สุรจิต ชิรเวทย์ ชี้กรุงเทพกำลังจมน้ำ ทรุดตัวปีละ 3-5 ซม. แนะเอางบฯ สร้างทางเดินจยย.ริมเจ้าพระยา ไปสู้น้ำหลาก สู้น้ำขึ้นน้ำลง สะสางคูคลองแนวนอนต่างๆ จะดีกว่า ด้านรสนา ปลุกคนกรุงเทพฯ ตื่นตัว หยุดยั้งโครงการพัฒนาริมเจ้าพระยา ยันไม่ควรให้เกิดขึ้น เพราะจะสร้างปัญหาให้มากกว่าป้องกันน้ำท่วม
วันที่ 27 มีนาคม Friends of the River จัดกิจกรรม "งานเทศกาลเพื่อนแม่น้ำ " ตอนเสียงจากชุมชนริมน้ำ โดยตั้งแต่ช่วงบ่ายมีกิจกรรมล่องเรือ ชมทัศนียภาพแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมเดินรับชมมรดกวัฒนธรรม และผลงานศิลปะที่ซุกซ่อนอยู่ในชุมชน
ขณะที่บริเวณใต้สะพานพระราม 8 สถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมจัดกิจกรรม Installation and Painting Art กิจกรรมประดิษฐตุงใยแมงมุม โดยมีเด็กๆ จากชุมชนบ้านปูนเข้าร่วม
จากนั้นมีเวทีเสวนา "คำตอบจากริมน้ำ" นายยศพล บุณสม ตัวแทนกลุ่ม Friends of the River กล่าวถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กิโลเมตร ยืนยันไม่ได้คัดค้านพื้นที่สาธารณะหรือการพัฒนา แต่คัดค้านโครงการที่ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 โดยเฉพาะการเปิดเผยขอบเขตของงาน (TOR) ฉบับแรก ปี 2558 ของสำนักการโยธาฯ กทม. มีความชัดเจนโครงการนี้ถนนจะมีความกว้าง 19.5 เมตร เป็นถนนคอนกรีตเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา และจะก่อสร้างเดือนตุลาคม 2558
“สถานะโครงการปัจจุบัน ได้มีการว่าจ้าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษาเเละออกแบบโครงการ ระยะเวลา 7 เดือน”นายยศพล กล่าว และว่า TOR ที่ออกมาปี 2558 มีความชัดเจน แต่สำหรับ TOR ฉบับล่าสุดที่มีการปรับแล้ว ยังไม่เห็นอย่างเป็นทางการ แต่ทราบมาว่า ไม่ได้ทำแค่ 14 กม. เท่านั้น แต่ยาวไปถึงบางกระเจ้า “ TOR ล่าสุดก็กำกวม ไม่บอกว่าสิ่งที่คุณกำลังจะทำต่อจากนี้คืออะไร แม้มีกระบวนการทำประชาพิจารณ์เชื่อว่า ยังไม่ตอบโจทย์ชุมชนริมน้ำ”
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำอย่างบูรณาการ กล่าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ซึ่งในมติคณะรัฐมนตรี สิงหาคม 2543 ก็ระบุไว้ชัด โครงการใดๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุ่มน้ำ ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมติครม. พฤศจิกายน 2552 ก็ห้ามหน่วยงานใดยึดครองหรือไปใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด ต้องสงวนไว้เป็นพื้นที่สีเขียว และเป็นแหล่งน้ำเท่านั้น แต่ตอนนี้มีการยกเลิกมติครม.เมื่อปี 2558
“แม่น้ำไม่ใช่คลองส่งน้ำ แม่น้ำมีระบบนิเวศ มีชีวิต มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ฉะนั้นการใช้เวลาศึกษาโครงการนี้เพียง 7 เดือน ยังไม่พอ ไม่มีทางพบรากเหง้าชุมชนริมน้ำได้ จำนวนคนไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือการศึกษาจะได้ข้อมูลครบหรือไม่ นำสู่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง เพื่อลดผลกระทบจากโครงการได้อย่างไร”
นายหาญณรงค์ กล่าวถึงโครงการนี้ไม่ควรลดขนาดของแม่น้ำ ขณะเดียวกันแบบก็ต้องสอดคล้องกับระบบนิเวศด้วย เอาภูมิสถาปัตย์ฯ จับกับวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งการเร่งรีบจะทำให้เกิดความเสียหายตามมา
“โครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะนี้กับแม่น้ำเจ้าพระยา เหมือนเรากำลังบังคับ รุมโทรมแม่น้ำ หากแม่น้ำพูดได้คงไม่อยากได้แบบนี้”
ด้านนางบุญมา เบญญศรี อดีตผู้อำนวยการ สำนักศิลปวัฒธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ตัวแทนชุมชนบ้านปูน กล่าวว่า น้ำคือชีวิต หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง เสียดายบรรยากาศชุมชนริมน้ำจะมีอันเป็นไป แม้ในที่สุดจะเปลี่ยนโครงการนี้ไมได้ แต่ก็ยังอยากให้ความเป็นชุมชนคงอยู่ไม่ถูกผลกระทบจากการพัฒนานี้
นายสุรจิต ชิรเวทย์ นักต่อสู้จากลุ่มน้ำแม่กลอง อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวถึงสิ่งที่กรุงเทพมหานครควรทำเร่งด่วนกว่าการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กิโลเมตร คือ กรุงเทพกำลังจมน้ำ มีการทรุดตัวปีละ 3-5 เซ็นติเมตร การสู้น้ำหลาก สู้น้ำขึ้นน้ำลง และการไปสะสางคูคลองแนวนอนต่างๆ
“สมัยก่อนกทม.เป็นน้องๆ เวนิส มีคูคลองกว่า 2,500 คูคลอง แต่เราถมคลองจนเหลือ 1,125 คูคลองเท่านั้น ความยาวรวมกัน 2,200 กิโลเมตร วันนี้กทม.จะรักษาคูคลองไว้ให้ได้ ทำอย่างไร ขณะที่เข้าสู่ฤดูแล้ง แต่ไม่ได้แขวนประตูระบายน้ำ ทำให้คลองเน่าเสีย แทนที่จะทำทางจักรยาน เอางบฯ ไปสะสางคูคลองจะดีกว่า”
นางสาวรสนา โตสิตระกูล เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการพัฒนา หรือทำโครงการใดๆ ก็แล้วแต่ ควรมีการไปพูดคุยกับชาวบ้าน เพราะชาวบ้านรู้ และดูแลสิ่งเหล่านี้ แต่ปัญหาคือผู้บริหารบ้านเมืองไม่เชื่อสติปัญญาชาวบ้าน จึงทำด้วยวิธีการขาดการมีส่วนร่วม
“หากเป็นไปได้ คนกรุงเทพฯ ต้องตื่นตัว หยุดยั้งโครงการพัฒนาริมเจ้าพระยาไม่ควรให้เกิดขึ้น เพราะจะสร้างปัญหาให้มากกว่าป้องกันน้ำท่วม”
นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบ กล่าวถึงการออกแบบโครงการใดๆ การศึกษาระดับเมือง คนออกแบบต้องลงไปคุยกับชาวบ้านก่อน เพื่อให้รู้ว่า แต่ละชุมชนริมแม่น้ำอยากได้อะไร และให้ชาวบ้านขีดเส้น ทำแบบขึ้นมา
“ความจริงๆ เราต้องย้อนกลับไปถามถึงความจำเป็นโครงการนี้ จำเป็นต้องมีหรือไม่ การจะหยุดยั้งโครงการนี้ ต้องไปคุยกับสจล. ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษา คุยในเชิงวิชาการ ทำไปทำไม ได้ผลลัพท์อะไร ถูกต้องหลักวิชาการชีพหรือไม่ เพื่อให้เห็นว่า สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ การศึกษาไม่สามารถทำได้ภายในเวลา 7 เดือน”นายดวงฤทธิ์ กล่าว และว่า ชุมชนที่รกรุงรัง งดงามในสายตานักท่องเที่ยว นี่คือบุคลิกเฉพาะของเมือง ที่อื่นก็ไม่มีเหมือนเรา ซึ่งอยากให้รักษาเอาไว้ การสร้างโครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อว่า จะทำให้ภาพแบบนี้หายไปหมด จึงอยากให้รัฐจะลงทุนใดๆ ขอให้คิดถึงผลตอบแทนกลับมาด้วย ทั้งในแง่สังคม เศรษฐกิจ หากตอบตรงนี้ไม่ได้ก็ไม่ควรลงทุน