ดร.บัณฑูร ติงกรมเจ้าท่าเปลี่ยนกฎ เอื้อหน่วยงานราชการรุกล้ำลำน้ำได้
กรมเจ้าท่า เล็งเปลี่ยนกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 เกี่ยวกับการขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร หรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ เอื้อโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ชี้ยุคการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาครัฐกับออกคำสั่งลดมาตรฐานดูแลจัดการสิ่งแวดล้อม ให้ถูกกฎหมายได้
วันที่ 22 มีนาคม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดปาฐกถาพิเศษศาสตรเมธี ดร.พงศ์พิศน์ ปิยะพงศ์ เนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี 2559 ณ ห้องประชุมศาสตรเมธี ดร.พงศ์พิศน์ ปิยะพงศ์ อาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ภายในงานมีเสวนาวิชาการ เรื่อง “เจ้าพระยาของเรา” โดย ดร.รัชดา ธนาดิเรก อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นายสุรจิต ชิรเวทย์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสมุทรสงคราม และรศ.ดร.กัมปนาท ภักดีกุล คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.รัชดา กล่าวถึงโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้การจัดการของกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่า การไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ แล้วมาสรุปต่างประเทศมีทางเลียบแม่น้ำเขาทำได้ แล้วประเทศไทยจะทำไม่ได้ ซึ่งควรดูบริบทภูมิประเทศที่แตกต่างกันด้วย
“การพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา แม้จะมีข้อดี คือ เป็นเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ปิดพื้นที่ให้คนนอกได้เข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ความยาวของโครงการนี้ 14 กิโลเมตร ฝั่งละ 7 กิโลเมตรนั้น โดยเฉพาะในส่วนของฝั่งธนบุรีจะอยู่ระหว่างซอบจรัญสนิทวงศ์ 42-98 พบว่า ไม่มีซอยไหนที่ปลายซอยเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนนอกนำรถไปจอด หรือเข้าไปสู่ทางเลียบแม่น้ำได้เลย ท้ายซอยเป็นบ้าน เป็นคอนโดมิเนียม วัด มัสยิด ที่มีจำกัดมาก ฉะนั้น ความคิดพัฒนาเจ้าพระยาจึงมองเพียงบางส่วน หรือมองเป็นท่อนๆ ไม่ได้ อีกทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานคร”
ด้านดร.บัณฑูร กล่าวถึงกรณีกรมเจ้าท่า กำลังเปลี่ยนกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 เกี่ยวกับการขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร หรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ หมายความว่า หน่วยงานราชการสามารถสร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำกีดขวางลำน้ำได้อย่างถูกกฎหมาย
“เป็นยุคที่เราแปลกใจ การพัฒนาที่ยั่งยืนแต่เรากลับออกคำสั่งมาลดมาตรฐานที่เราเคยดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมให้ถูกกฎหมายได้”
ดร.บัณฑูร กล่าวว่า แม้แม่น้ำเจ้าพระยาจะมีปัญหาการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ คูคลองมีสภาพเสื่อมโทรม เน่าเสีย แต่วิธีการแก้ไขด้วยโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กิโลเมตร ใช่หรือไม่ มีทางเลือกอื่นหรือไม่
สำหรับคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 9/2559 ที่ให้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คู่ขนานไปกับการหาผู้รับเหมาเอกชน เพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินโครงการนั้น ดร.บัณฑูร กล่าวว่า หากคำสั่งคสช.ฉบับที่9/2559 ยังคงมีต่อไป และมีรัฐธรรมนูญออกมา หวั่นว่า คำสั่งคสช.ฉบับที่9/2559 จะขัดรัฐธรรมนูญ เพราะในมาตรา 54 ในร่างรัฐธรรมนูญล่าสุดก็ยังใช้กติกาอันเดิม ให้ก่อนการดำเนินโครงการใดๆ ต้องจัดทำ EIA จัดรับฟังความคิดเห็นก่อนดำเนินโครงการ
“หากคำตอบไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะมีบทเฉพาะกาลเขียนไว้รองรับการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น หมายความว่า คำสั่งคสช.ฉบับที่9/2559 เป็นการประกาศยกเว้น มาตรา 54 ทุกหน้าของรัฐธรรมนูญ และถูกยกเว้นล่วงหน้าหรือไม่ วันนี้จะมี 70 โครงการที่จะเกิดขึ้นโดยไม่รอ รายงาน EIA และโครงการพัฒนาเจ้าพระยา 14 กิโลเมตร ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย”
ด้านนายสุรจิต กล่าวถึงรูปแบบโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความสูงท่วมบ้านเรือนผู้คน นอกจากเสียภูมิทัศน์แล้ว หวั่นจะเปลี่ยนกระแสน้ำ และเกิดการกัดเซาะ เช่นเดียวกับที่จังหวัดสุโขทัย
“เราอยู่กับนิเวศที่มีความหลากหลายสูงมาก แต่กลับทำลายทุกวัน ซึ่งควรใช้โครงสร้างอ่อน เพื่อไม่ให้น่าเกลียด ผมนึกไม่ออกเรือข้ามฟากจะทำอย่างไรกัน หรือคูคลองต่างๆ จะเข้าไปสะสาง ขุดลอกกันอย่างไรต่อไปในอนาคต”
สุดท้าย รศ.ดร.กัมปนาท กล่าวว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ควรเปิดฟังข้อมูลให้รอบด้านก่อน ออกแบบอย่างไรให้สอดรับกับระบบนิเวศวิทยา ไม่ควรใช้ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งนำ เช่น เอาวิศวกรรมนำอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่า มีแต่พัง เช่นเดียวกับโครงการโฮปเวลล์