‘ไพโรจน์’ ชี้ร่าง รธน.ฉบับใหม่ละเลยสิทธิจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า
‘ไพโรจน์ พลเพชร’ ชี้ร่าง รธน.ฉบับมีชัย ให้ความสำคัญน้อย สิทธิจัดการทรัพยากร ดิน-น้ำ-ป่า ยันเขียนไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐ เหมือนริบ ‘สิทธิชุมชน’ กลับไปเป็นของรัฐใหม่ ลดอำนาจ ปชช. หวั่นอนาคตเกิดปัญหา
นายไพโรจน์ พลเพชร อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงประเด็นเนื้อหาสิทธิชุมชนในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ว่าสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการตรวจสอบโครงการและกิจกรรมของรัฐที่มีผลกระทบต่อชุมชนไม่ถูกให้ความสำคัญเท่ากับรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550
เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่เขียนไว้ในหมวดสิทธิเสรีภาพ จึงไม่มีหลักประกันอย่างเพียงพอที่สิทธิดังกล่าวจะดำรงอยู่ แม้อ้างว่า ได้เขียนไว้ในหมวดว่าด้วยหน้าที่ของรัฐก็ตาม ซึ่งวิธีคิดนั้น หมายถึง สิทธิชุมชนจะเกิดขึ้นต่อเมื่อรัฐประทานให้เกิด หรือรัฐต้องทำให้เกิด แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 หมายถึง สิทธิชุมชนมีอยู่ก่อนแล้ว
“การเขียนสิทธิชุมชนไว้ในหมวดว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ ส่งผลให้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐ กล่าวคือ รัฐมีอำนาจเหนือกว่าสิทธิชุมชน จึงเหมือนกับการริบสิทธิชุมชนกลับไปเป็นของรัฐใหม่”
ทำให้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อดีตกรรมการ คปก. กล่าวยกตัวอย่าง ปัจจุบันมีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน น้ำ ป่า ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะให้หน่วยงานของรัฐจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ เท่ากับว่ายังไม่มีการรับรองสิทธิ เมื่อในรัฐธรรมนูญไม่มี ฉะนั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้ แม้จะอ้างมาตรา 25 ที่ว่า
“สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”
นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า หากประเมินตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 พบประชาชนเข้าถึงสิทธิชุมชนโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น สิทธิชุมชนในการจัดการป่า สิทธิชุมชนในการจัดการทะเล รวมถึงสามารถตรวจสอบโครงการของรัฐที่มีผลกระทบชุมชน ที่สำคัญ ศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม ยังนำหลักการนี้เป็นเหตุผลในคำพิพากษาหลายคดีด้วย ดังนั้น หากไม่กำหนดในร่างรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน ประชาชนจะอ้างสิทธิเหล่านี้ไม่ได้ กระทบต่ออนาคตกรณีเกิดความขัดแย้ง โดยเฉพาะการจัดการทรัพยากร .
อ่านประกอบ:ร่างรัฐธรรมนูญเเห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์
รัฐธรรมนูญฉบับทุนขุนนาง ทางออกหรือวิกฤติของประเทศไทยรอบใหม่?
สิทธิประชาชนในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรฯ หายไปจากรธน.ใหม่จริงหรือ ?
วิวาทะ...เดชรัต สุขกำเนิด สิทธิชุมชน: สิ่งที่หายไปในร่างรัฐธรรมนูญฉบับภัทระ
กาง รธน.ใหม่ ทำไมคงอำนาจ คสช.ใช้ ม .44-ประชามติแป้กจับตาร่างฯใต้ตุ่ม?