- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- กาง รธน.ใหม่ ทำไมคงอำนาจ คสช.ใช้ ม .44-ประชามติแป้กจับตาร่างฯใต้ตุ่ม?
กาง รธน.ใหม่ ทำไมคงอำนาจ คสช.ใช้ ม .44-ประชามติแป้กจับตาร่างฯใต้ตุ่ม?
“…แต่ถ้ายังใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้อยู่ จะจัดทัพปรับแผนอย่างไรก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องพะวงหน้าหลัง เห็นได้จากความมั่นใจของ ‘บิ๊กตู่’ ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทำนองว่า เตรียม ‘แผนสำรอง’ ไว้แล้วถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ซึ่งเมื่อนำมาใช้ก็จะกลายเป็น ‘คำสั่ง’…”
ในที่สุด ’21 อรหันต์’ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ‘เนติบริกรพญาครุฑ’ เป็นประธานฯ ก็กำหนดคลอด ‘ร่างแรก’ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว
โดยร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีทั้งหมด 270 มาตรา รวมบทเฉพาะกาล มีประเด็นสำคัญนอกเหนือจากที่หลายฝ่ายทราบกันไปแล้วคือ นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ การเลือกตั้งใช้ระบบ ‘จัดสรรปั้นส่วนผสม’ เกลี่ยคะแนนทุกพรรค ส.ว.สรรหาล้วน
แต่เมื่อพลิกไปถึงบทเฉพาะกาล จะพบนัยแฝงที่น่าสนใจ และอาจมีแรง ‘กระเพื่อม’ การเมืองไทยถัดจากนี้ก็เป็นได้ ?
มีอะไรบ้าง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขมวดมาให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@เปิดช่อง ‘แม่น้ำ 4 สาย’ เป็นนักการเมืองได้ต่อ ไม่ถูกเว้นวรรคสองปี
ในบทเฉพาะกาลมาตรา 255 วรรคเจ็ด ระบุไว้ว่า มิให้นำมาตรา 107 มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขณะที่ในบทเฉพาะกาลมาตราอื่น ๆ เช่น มาตรา 257 วรรคสาม ระบุไว้ว่า ให้นำมาตรา 255 วรรคเจ็ด มาบังคับใช้โดยอนุโลม เช่นกัน
สำหรับมาตรา 107 ระบุว่า บุคคลที่เคยเป็น ส.ว. และสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปี จะเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้
นั่นเท่ากับว่า สนช. คสช. คณะรัฐมนตรี และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะไม่ถูกเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี แบบ กรธ. พร้อมกับสามารถโดดลงสนามเลือกตั้งได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. หรือเป็นรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ก็ได้
ตรงนี้เองที่ถูกบางฝ่ายครหาว่า เป็นการเขียนเพื่อเปิดช่อง ‘สืบทอดอำนาจ’ รัฐนาวาท็อปบู้ตต่อไป แม้นายมีชัย จะยืนยันว่า ที่เขียนเช่นนี้เพราะ ‘แม่น้ำ 4 สาย’ ไม่ได้เป็นคนเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่มีส่วนได้ส่วนเสียก็ตาม
@คงอำนาจ คสช. ใช้ ม.44 ต่อ ประชามติไม่ผ่านจับตา รธน.ใต้ตุ่มโผล!
มาตรา 257 ระบุทำนองว่า ให้ คสช. ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับการปฏิบัติหน้าที่ และให้มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เช่นเดิม
นั่นก็หมายความว่า ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จะสามารถใช้ ‘ดาบอาญาสิทธิ์’ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ดำเนินการกับอะไรก็ได้เหมือนเดิม ยกเว้นจะตีตกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เหตุด้วยเป็นฉบับถาวร
อย่างไรก็ดีหากมองให้ลึกมากขึ้น อาจเป็นไปได้ว่า ‘บิ๊กตู่’ และก๊วน คสช. กังวลกับการประชามติที่กำลังจะมาถึง ?
เพราะที่ผ่านมาเห็นได้จากร่างรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับเรือแป๊ะ’ ของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ถูก ‘ใบสั่ง’ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ชิงตีตก ก่อนถึงมือประชาชน ‘คว่ำ’ เอง ป้องกันไม่ให้เกิด ‘คลื่นใต้น้ำ’ ซัดโจมตี คสช. ได้โดยตรง
คราวนี้ในเมื่อไม่ได้บัญญัติให้ สปท. หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ‘สปช.สอง’ มีอำนาจหน้าที่ลงมติเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ก็จำเป็นจะต้องคงอำนาจตามมาตรา 44 เอาไว้ เพื่อปรับแท็กติค หากหยั่งเสียงแล้วพบว่า ไม่น่าจะผ่านประชามติอีกหน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูก ‘นักการเมือง’ แทบจะทุกฝ่ายโจมตีอยู่ตลอด ขณะเดียวกันพรรคการเมืองคือ ‘คีย์’ สำคัญที่จะบอกมวลชนฝั่งตัวเองว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
เพราะถ้าพรรคเซย์โน ประชาชนก็คว่ำ คสช. จะเดินเกมลำบากเป็นอย่างยิ่ง !
แต่ถ้ายังใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้อยู่ จะจัดทัพปรับแผนอย่างไรก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องพะวงหน้าหลัง เห็นได้จากความมั่นใจของ ‘บิ๊กตู่’ ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทำนองว่า เตรียม ‘แผนสำรอง’ ไว้แล้วถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ซึ่งเมื่อนำมาใช้ก็จะกลายเป็น ‘คำสั่ง’
ตรงนี้อาจเป็นไปได้ว่า หากท้ายสุด กรธ. เข็นร่างรัฐธรรมนูญยังไงก็เข็นไม่ขึ้น พรรคการเมืองยังคง ‘เซย์โน’ แผนสุดท้ายที่จะใช้อาจจะเป็นร่างรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับใต้ตุ่ม’ ของ คสช. เอง โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44
เพราะก่อนหน้านี้เคยมีข่าวปล่อยออกมาทำนองว่า คสช. มีร่างรัฐธรรมนูญของตัวเองเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว แต่เรื่องนี้เงียบหายไปจากการปฏิเสธของบรรดาขุนพล คสช. ทั้งหลาย
หากเกมเดินออกมาในอีหรอบนี้ พรรคการเมืองอาจเข้าตาจน และจำเป็นต้อง ‘เซย์เยส’ ให้กับร่างรัฐธรรมนูญที่พวกเขาไม่เห็นด้วย แต่ก็มีโอกาสได้ ‘อ่าน’ หรือถ้าไม่เอาก็ต้องเจอกับร่างรัฐธรรมนูญที่ ‘ไม่มีโอกาสได้อ่าน’ และจะบัญญัติไว้อย่างไร ไม่มีใครรู้ได้ ?
นี่คือเหตุผลและความจำเป็นที่ กรธ. ต้องคงอำนาจ คสช. ไว้ค้ำประกันหากประชามติไม่ผ่าน
@ปิดประตูแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคเดียว
ในหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น มาตรา 153 วรรคหก (3) ระบุทำนองว่า การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา
และในจำนวนนี้ต้องมี ส.ส. จากพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าสิบคน เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมืองดังกล่าว
และ ส.ส. ของพรรคการเมืองทุกพรรคการเมืองที่มีสมาชิกอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่าพรรคการเมืองคนละสิบ ถ้ารวมกันทุกพรรคแล้วมีจำนวนตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของจำนวน ส.ส. ทุกพรรคดังกล่าว และมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวน ส.ว. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
อธิบายให้ง่ายขึ้นคือ ต่อไปนี้หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องใช้เสียงเห็นชอบจาก ‘ทุกพรรค’ ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ไม่ว่าจะพรรคใหญ่ พรรคกลาง หรือพรรคเล็ก ก็ตาม โดยใช้เสียงไม่น้อยกว่าสิบคนเห็นชอบ ไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวน ส.ส.
สมมติว่า พรรค A มี ส.ส. 200 คน พรรค B มี ส.ส. 150 คน พรรค C มี ส.ส. 140 คน พรรค D มี ส.ส. 10 คน ถ้าพรรค A ต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องใช้เสียง ส.ส. อย่างต่ำได้ 20 คน พรรค B และพรรค C ใช้เสียง ส.ส. อย่างต่ำ 15 คน ส่วนพรรค D ใช้เสียง ส.ส. แค่ 1 คน ถึงจะมีสิทธิ์ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ดีหากมองตามความเป็นจริง การเขียนกติกาไว้เช่นนี้ อาจเป็นการไว้คานอำนาจระหว่างพรรคใหญ่ 2 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ มากกว่า
เพราะต่อไปนี้หากพรรคเพื่อไทยได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย ก็เป็นอันว่า ‘เกมโอเวอร์’ ไม่สามารถทำอะไรได้อีก แม้จะดีลกับพรรคขนาดกลางหรือพรรคขนาดเล็กแล้วก็ตาม
แน่นอนหากพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าฟากเพื่อไทยไม่เห็นด้วย ก็แก้ไขไม่ได้ !
ปิดประตูแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคเสียงข้างมากอีกต่อไป
ทั้งหมดคือนัยสำคัญที่ถูกเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หากผ่านประชามติออกไปจนกระทั่งมีผลบังคับใช้
แต่ท้ายสุดจะชนะใจประชาชนหรือไม่ติดตามกันต่อไปช่วง ก.ค. ที่จะมีการลงประชามติ
อ่านประกอบ :
ให้ คสช. คง ม.44 จนมีรัฐบาลใหม่ - กรธ.ทำ กม.ลูกไม่เสร็จ 8 เดือนพ้นเก้าอี้
INFO: เลือกตั้ง‘จัดสรรปั้นส่วน’ เกลี่ยคะแนนทุกพรรค-เสียง ปชช.ไม่ถูกทิ้ง
หมายเหตุ : ภาพอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยจาก wikipedia, ภาพ คสช. จาก peopleunitynews.com