สิทธิประชาชนในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรฯ หายไปจากรธน.ใหม่จริงหรือ ?
สิ่งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งสวยงาม แต่เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า มีปัญหาในทางปฎิบัติอย่างมากโดยเฉพาะการทำอีไอเอและเอชไอเอ มีนอกมีใน หาคนทำไม่ได้
หมายเหตุ:นายภัทระ คำพิทักษ์ หนึ่งในกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน โพสต์ข้อความบนเฟชบุคส่วนตัวถึงสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติหายไปจากรัฐธรรมนูญใหม่จริงหรือ ? หลังมีเสียงภาคประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เนื้อหาในรัฐธรรมนูญร่างแรก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประชาชน สิทธิชุมชนที่หายไปครึ่งต่อครึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายภัทระ ระบุถึงกรณีคนทำงานด้านสังคมบางท่านตั้งข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดเรื่องการมีส่วนร่วมในการของประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติน้อยลงจากรัฐธรรมนูญปี 2550
"ผมเข้าใจว่า คงเป็นเพราะรัฐธรรมนูญใหม่นี้ไม่ได้ใช้วิธีการเขียนแบบฉบับปี 2550 เลยทำให้เข้าใจไปแบบนั้น
รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้กำหนดให้มีส่วนที่เรียกว่า "สิทธิชุมชน" ไว้เป็นส่วนที่ 12 ในหมวดสิทธิเสรีภาพ
พูดง่ายๆ อีกทีคือ เขียนเรื่องนี้ไว้ที่เดียวเป็นสิทธิของประชาชนข้อที่ 14 โดยมีสาระอยู่ 2 มาตราๆแรกบอกว่า บุคคลรวมกันเป็นชุมชน และชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟู สิ่ง 3 สิ่งคือ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
นอกจากนี้ ยังรับรองสิทธิการมีส่วนร่วมใน 3 เรื่องคือ1.ทรัพยากรธรรมชาติ 2.สิ่งแวดล้อม 3.ความหลากหลายทางชีวภาพ ใน 3 รูปแบบคือ 1.มีส่วนร่วมในจัดการ 2.การบำรุงรักษา 3.การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน (มาตรา 66 ปี 2550)
พอรับรองสิทธิชุมชนไปแล้ว มาตราถัดมาเป็นการรับรอง "สิทธิของบุคคล" ว่า มีสิทธิที่จะร่วมกับ "รัฐ" และ "ชุมชน" ใน 3 รูปแบบคือ "อนุรักษ์-บำรุงรักษา-การใช้ประโยชน์"ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บนเงื่อนไขที่ว่า "เพื่อให้ดำรงชีพอย่างปรกติและต่อเนื่องที่จะไม่ก่ออันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน"
ในวรรคถัดมาได้กำหนดไว้ด้วยว่าการทำโครงการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงนั้นจะทำได้ต่อเมื่อได้ทำ 3 สิ่งเสียก่อนคือ 1.ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือที่เคยได้ยินกันติดหูว่า ทำ อีไอเอและเอชไอเอ 2.จัดรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย 3.ให้องค์กรอิสระ ทำอีไอเอและเอชไอเอให้ความเห็นประกอบด้วย ทั้งนี้ชุมชนทีสิทธิที่จะฟ้องหน่วยงานต่างๆของรัฐเพื่อให้ปฎิบัติตามนี้
นั่นคือ สิ่งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งสวยงามแต่เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า มีปัญหาในทางปฎิบัติอย่างมากโดยเฉพาะการทำอีไอเอและเอชไอเอ มีนอกมีใน หาคนทำไม่ได้ คนทำเป็นคนหน้าเดิมๆหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องและไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริงเป็นต้น
ที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อมีปัญหาขึ้นโรงขึ้นศาล แม้รัฐธรรมนูญจะให้สิทธิชุมชนในการฟ้องหน่วยงานรัฐแค่การกล่าวอ้างในศาลถึงเรื่องสิทธิชุมชนนั้นอ่อนกว่าการใช้สถานะความเป็นบุคคลกันชนิดคนละเรื่องกันเลย
สภาพปัญหาเหล่านี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีการปรับปรุงเนื้อหาเรื่องดังกล่าวใหม่ โดยหวังว่า จะให้เป็นประโยชน์กับประชาชนและจับต้องได้และเกิดผลในทางรูปธรรมมากขึ้น
รัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้แบ่งหมวดหรือแบ่งส่วนแบบฉบับเดิม ฉะนั้น ถ้าจะดูเรื่องนี้ให้ครบต้องดูเนื้อหาในหลายแห่งประกอบกัน ดังนี้
1.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้ประชาชนชาวไทยทุกคนมี "หน้าที่ ร่วมมือและสนับสนุนการปกป้องและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม"
ความหมายตรงนี้คือ เรื่องการดูแลไม่ใช่เป็นแค่สิทธิของบุคคลหรือชุมชนที่สนใจเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องเอาใจใส่และเป็นธุระเรื่องนี้
2.หนึ่งในแนวคิดที่ใช้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้คือ สิทธิใดที่ประชาชนควรจะได้และเป็นสิ่งที่จำเป็น ให้ย้ายออกจากหมวดสิทธิ ไปอยู่หมวดใหม่ที่ยังไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญใดมาก่อนนั่นคือ หมวดว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ
หมวดหน้าที่ของรัฐ เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่า เรื่องใดเป็นสิทธิของประชาชน ไม่ต้องรอให้ประชาชนร้องขอ แต่ให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องปฏิบัติจะหลีกเลี่ยง โยกโย้ มิได้
สิ่งใดบัญญัติไว้ในหมวดนึ้ รัฐบาลใดมาก็ต้องนำไปปฎิบัติ ถ้าไม่ทำถือว่า ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
ถ้าไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญก็เข้าสู่กระบวนการที่จะเป็นเหตุนำไปสู่การสิ้นสภาพได้
พูดง่ายๆ อีกทีคือ ให้เป็นสิทธิที่กินได้ จับต้องได้
3.เรื่องที่นำไปไว้ในหน้าที่รัฐในกรณีนี้ ปรากฎอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 53 และ 54
สองมาตรานี้มีสาระสำคัญคือ รัฐต้องทำหน้าที่ 4 อย่างคือ 1.อนุรักษ์ 2.คุ้มครอง 3.บำรุงรักษา 4.ฟื้นฟู 5.บริหารจัดการ 6.ใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จาก 3 สิ่งคือ 1.ทรัพยากรธรรมชาติ2.สิ่งแวดล้อม และ 3.ความหลากหลายทางธรรมชาติ ใน 4 ลักษณะคือ 1.ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยมีเงื่อนไขด้วยว่า ต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม ที่สำคัญคือ 2.ให้ประชาชนและชุมชนได้รับประโยชน์ตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา 53)
3.เมื่อรัฐจะดำเนินโครงการใด หรืออนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ แล้วการนั้นอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบสุข วิถีชีวิตหรือสุขภาพของ "ประชาชน หรือ ชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม" ในเรื่องนี้รัฐ"ต้อง"ดำเนินการการสองอย่างคือ หนึ่ง ดำเนินการให้ประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง"มีส่วนร่วม"และ "รับฟัง ความคิดเห็น" เพื่อมาประกอบการพิจารณาตามกฎหมายบัญญัติ
4.การที่รัฐจะดำเนินโครงการใดหรืออนุญาตให้ใครดำเนินโครงการใดต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อ ประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ "น้อยที่สุด" และต้องเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า
สิทธิชุมชนยังอยู่
รัฐหรือผู้ที่รัฐอนุญาตให้ทำโครงการใดในข่ายที่ว่า และไม่ทำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ชาวบ้านมีสิทธิฟ้องร้องหน่วยงานรัฐได้เมื่อถูกละเมิด (มาตรา 41)
กรรมการร่างรัฐธรรมนูญอยากให้สิทธิของประชาชนในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่จับต้องได้จริงๆ เพราะเห็นว่า มีชุมชนและประชาชนที่ต้องเจอปัญหาและต้องเผชิญความทุกข์จากการพัฒนาที่ไม่เปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมจำนวนมากจริงๆ
ตอนพิจารณา เรายกเอาเรื่องที่ คุณไมตรี จากชุมชนน้ำเค็ม มาเสนอแนะไว้ตอนจัดรับฟังความเห็นที่รัฐสภาว่า ชาวบ้านเจ็บช้ำมากที่อยู่กันมานมนาน ตั้งแต่บรรพบุรุษไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่นแต่วันหนึ่งชาวบ้านต้องควักเงินจ่ายค่าผ่านเข้าไปยังน้ำตกที่พวกเขาดูแลกันมาตั้งแต่เกิด เรื่องนี้เป็นภาพย่อยของการตัดขาดประชาชนและชุมชนออกจากการเป็นเจ้าของทรัพยากร
เราถึงเขียนชัดๆว่า ต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วย
พูดแบบบ้านๆ คือ ถ้ารัฐไปเก็บเงินเข้าน้ำตกที่ชุมชนไหน ก็ต้องปันรายได้เข้าท้องถิ่นนั้นด้วย ที่สำคัญจู่ๆจะไปเก็บเงิน การจะไปอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหาร หรือใช้ประโยชน์ต้องให้ "ประชาชน" และ "ชุมชน" มีส่วนร่วมดำเนินการด้วยครับ
คำถามตามมาคือ แล้วจะมีส่วนร่วมดำเนินการอย่างไร และประชาชนกับชุมชนจะได้ประโยชน์แบบไหนอย่างไร ?
อันนี้กำหนดให้มีกฎหมายขึ้นมาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน ทุกฝ่ายก็ต้องส่งตัวแทนมาตกลงกัน ยกร่างกันต่อไป
อีกจุดที่ควรอ่านให้ดีคือ มาตรา 54
อ่านแล้วจะชัดว่า ถ้ารัฐจะเอาโรงไฟฟ้าไปตั้งที่หน้าบ้านเราหรือชุมชนเราทำได้หรือเปล่า ?
อย่าว่าแต่โรงไฟฟ้าเลย ต่อไปการสร้างตึกสูงแล้วเป็นเหตุให้มาทะเลาะกับเพื่อนร่วมซอยที่เกิดขึ้นเนืองๆนั้น มันไม่หมูแบบก่อนอีกแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีการเขียนไว้ในมาตรา 43 อีกคือ บอกว่า "บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นหรือรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของทัองถิ่นและของชาติ"(มาตรา 43)อีกด้วย
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้แยกหรือยกเรื่องสิทธิชุมชนออกมาเป็นหมวด แต่มิได้หายไปครับ ยังมีอยู่และสิทธิฟ้องร้องของชาวบ้านก็ยังอยู่แต่รัฐต้องมีหน้าที่ต้องทำเกิดการมีส่วนร่วมจริงๆ รับฟังจริงๆและได้ประโยชน์จริงๆ
ถ้าเห็นว่า เท่านี้ยังไม่พอก็แลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุด้วยผลครับ เพราะจากนี้อีกครึ่งเดือนสังคมทั้งสังคมช่วยกันเสนอแนะได้เพราะรัฐธรรมนูญเป็นของทุกคนครับ
ช่วยกันอ่านนะ วิจารณ์ได้ เสนอแนวทางที่คิดว่าดีกว่าให้นำไปพิจารณาแก้ไขได้ ต่อว่าก็ได้ หรือจะตำหนิก็ไม่ว่ากันแต่ขอเพียงช่วยกันอ่านก่อน ถ้าไม่กระจ่างตรงไหน ไม่แน่ใจตรงไหนสอบถามได้
ร่วมกันร่าง ร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญของเรา