ป้องกันรัฐซื้อสื่อ 'ดร.เดือนเด่น' แนะรวมศูนย์ระบบจัดจ้างพีอาร์รัฐไว้ ก.คลัง
ทีดีอาร์ไอเผยผลวิจัย ปี 56 รัฐใช้งบฯ ซื้อโฆษณา 7.9 พันล้านบาท รัฐวิสาหกิจมากสุด พบ ก.อุตฯ จ่ายให้โรงหนังสูง 84% 'เดือนเด่น' หนุนกม.ควบคุมเนื้อหาโฆษณาภาครัฐ ห้ามมีภาพ เสียง สัญลักษณ์ นักการเมือง-ขรก.
วันที่ 1 ธันวาคม 2557 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดเวทีนำเสนอผลการวิจัย ‘การครอบงำสื่อสาธารณะของรัฐ’ ณ โรงแรมสวิสโฮเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ
นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยถึงผลการวิจัยว่า ปี 2556 รัฐมีการใช้จ่ายงบประมาณในการโฆษณาของภาครัฐ ทั้งสิ้น 7,985 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7% ของค่าโฆษณารวมทั้งหมด โดยใช้กับสื่อโทรทัศน์มากที่สุด 50% โรงภาพยนตร์ 18% หนังสือพิมพ์ 16% วิทยุ 11% และอื่น ๆ 5%
ส่วนหน่วยงานที่ใช้จ่ายงบประมาณสูงเป็นอันดับ 1 คือ รัฐวิสาหกิจ 3,788 ล้านบาท หรือคิดเป็น 48% รองลงมา คือ กระทรวง 3,119 ล้านบาท หรือคิดเป็น 39% ที่น่าสนใจ คือ กระทรวงอุตสาหกรรมกับธนาคารออมสินนำไปใช้ในสื่อโรงภาพยนตร์มากสุด 84% และ 74% ตามลำดับ
“หน่วยงานราชการที่ใช้จ่ายงบฯ โฆษณามาที่สุด คือ สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงอุตสาหกรรม 7% และ 6% ตามลำดับ” นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่า รัฐวิสาหกิจ คือ ธนาคารออมสิน อสมท. และปตท. 9% 6% และ 5% ตามลำดับ
นายธิปไตย ยังกล่าวถึงผลการสำรวจขนาดและลักษณะของตลาดการโฆษณาของรัฐสำหรับหนังสือพิมพ์ ปี 2552 และ 2555 พบว่า สัดส่วนโฆษณาที่เน้นนักการเมืองสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีเพียง 7% ซึ่งน้อยกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีถึง 18% ทั้งนี้ คงไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าใครมากกว่าใคร เพราะผลสำรวจดังกล่าวมาจากข้อมูลช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
“หนังสือพิมพ์มีรายได้ที่มาจากรัฐประมาณ 12% ของรายได้จากการขายพื้นที่โฆษณาโดยรวม ซึ่งส่วนใหญ่จะปรากฏการโฆษณาที่เน้นนักการเมืองหรือข้าราชการในรัฐบาลทั้งสองสมัย” นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ทิ้งท้าย
ด้านดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงแนวทางกำกับการซื้อสื่อจากประสบการณ์ต่างประเทศ คือ ออสเตรเลีย แคนาดา และสหรัฐอเมริกา (รัฐอิลินอยส์-รัฐนิวยอร์ค) ว่า ต่างมีกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเนื้อหาโฆษณาจากงบของรัฐและควบคุมการเบิกจ่ายงบโฆษณา ซึ่งห้ามให้มีภาพ เสียง สัญลักษณ์ สโลแกน ของนักการเมือง ข้าราชการ หรือผู้จ่ายเงิน ปรากฏบนโฆษณา พร้อมระบุให้ชัดเจนว่า ใช้งบประมาณของรัฐ และต้องโฆษณาให้ตรงกับภารกิจที่รับผิดชอบเท่านั้น ไทยจึงควรผลักดันให้เกิดกฎหมายลักษณะนี้
หากไม่มีกฎหมายควบคุมเนื้อหาโฆษณาจากงบของรัฐเหมือนต่างประเทศ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า รัฐจะเกิดความอิสระในการซื้อสื่อ ดังเช่น การจ้างบริษัทอีเวนท์ไปซื้อสื่ออีกรอบ จะไม่มีราคากลาง ทำให้ตรวจสอบข้อมูลยาก ไม่เหมือนกับการก่อสร้างถนนที่มีราคากลางชัดเจน ดังนั้นช่องโหว่เลยเกิดขึ้น จึงเสนอให้จัดตั้งศูนย์กลางประชาสัมพันธ์ของรัฐ เพื่อป้องกันการโฆษณาของรัฐที่ซ้ำซ้อนและเกิดความมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ จะต้องรวมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับงานประชาสัมพันธ์ภาครัฐไว้ที่กระทรวงการคลังแห่งเดียว ทำหน้าที่จัดหาบริษัทอีเวนท์ที่มีประสบการณ์ ชื่อเสียง และเปิดเผยต่อสังคม ซึ่งจะช่วยตัดสายสัมพันธ์ระหว่างคนซื้อกับคนรับได้ .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
อ่านประกอบ:เฉียด 8 พันล.งบโฆษณาภาครัฐ 6 องค์กรจี้ออกกม.เข้ม สกัดนักการเมืองหาเสียง-ซื้อสื่อ
เจาะเบื้องลึกทีมวิจัย “รัฐซื้อสื่อ” : ชำแหละกรณีศึกษา “นสพ. 4 ฉบับ”
เปิดโครงสร้างกม.ต่างประเทศ คุม "รัฐซื้อสื่อ-กำกับจริยธรรมวิชาชีพ"
"เดือนเด่น-ทีดีอาร์ไอ"เผยเบื้องหลังผลวิจัยรัฐซื้อสื่อ- นสพ.น่าห่วงสุด