เจาะเบื้องลึกทีมวิจัย “รัฐซื้อสื่อ” : ชำแหละกรณีศึกษา “นสพ. 4 ฉบับ”
"หนังสือพิมพ์ที่เน้นข่าววิเคราะห์ และมีคนอ่านไม่มากเท่า 2 ฉบับแรก เขามีโฆษณาของรัฐมากถึง 27 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องถามว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ คือ ถ้าเขามีตัวเลือก เขาก็คงไม่พึ่งพางบจากรัฐ ที่น่าสังเกตคือหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ก่อนหน้านี้เขามีเนื้อหา ดี เน้นข่าววิเคราะห์ แต่ก็อยู่ไม่ได้ เพราะข่าวที่เขาทำไม่มีคนอ่าน นี่ถือเป็นอันตราย เมื่อสื่อที่เน้นการวิเคราะห์เชิงลึก เน้นข่าวสืบสวนสอบสวน กลับอยู่ไม่ได้ อย่างกรณีหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เป็นตัวอย่างที่ชัด ช่วง 10 ปี ให้หลัง เขาก็สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง..."
อาจกล่าวได้ว่าผลงานวิจัยหัวข้อ “การซื้อสื่อของภาครัฐ” โดย รศ.ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และทีมวิจัยแห่งมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่สั่นสะเทือนวงการสื่อและตีแผ่กระบวนการ “รัฐซื้อสื่อ” ได้อย่างน่าติดตาม
( อ่านประกอบ :"เดือนเด่น-ทีดีอาร์ไอ"เผยเบื้องหลังผลวิจัยรัฐซื้อสื่อ- นสพ.น่าห่วงสุด )
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จับเข่าคุยกับหนึ่งในกำลังหลักของงานวิจัยชิ้นนี้ "ธิปไตร แสละวงศ์" นักวิจัยของทีดีอาร์ไอ ผู้รับหน้าที่สุ่มตรวจหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับในช่วงเวลาของ 2 รัฐบาล ยุค “อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์” โดยทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาหนังสือพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 1,000 หน้า เพื่อวิเคราะห์หลักเกณฑ์ ช่องทาง และกระบวนการที่รัฐเข้าครอบงำด้วยวิธีการซื้อสื่อ เพื่อให้ประชาสัมพันธ์รัฐบาล-นักการเมือง โดยที่เนื้อหาในโฆษณานั้นๆ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรแก่ผู้อ่าน
เหล่านี้ คือคำอธิบาย ข้อสังเกตและความกังวลที่นักวิจัยหนุ่มมีต่อวงการสื่อหนังสือพิมพ์ที่ควรต้องเป็นปราการด่านสุดท้ายในการตรวจสอบการทุจริต คอร์รัปชั่น จะทำอย่างไร ไม่ให้ถูก “ซื้อ” จนสูญเสีย “จุดยืน” ในท้ายที่สุด
@ ช่วยเล่าถึงภาพรวมเกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้
ธิปไตร : เรานำเสนอสาระสำคัญในสองส่วน คือส่วนที่แสดงให้เห็นสถานการณ์ในห้วงเวลาปัจจุบันว่ารัฐซื้อสื่ออย่างไร และอีกส่วนคือเราทำข้อเสนอเป็นยุทธศาสตร์ว่าในต่างประเทศเขากำกับดูแลการใช้งบของรัฐและกำกับดูแลมาตรฐานจริยธรรมสื่ออย่างไร
@ นอกจากภาพรวมที่กล่าวมา คุณเห็นว่าอะไรคือประเด็นสำคัญและน่ากังวลที่สุด เกี่ยวกับการซื้อสื่อ
ธิปไตร : หนังสือพิมพ์ถือเป็นประเด็นหลักที่เราให้ความสำคัญ เพราะเราเห็นว่าหนังสือพิมพ์ควรต้องเป็นที่พึ่งสุดท้าย ถ้ายังไม่รวมอินเทอร์เน็ต แต่ปัจจุบันโมเดลทางธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงทำให้หนังสือพิมพ์ต้องแข่งขัน ทำให้อยู่ไม่ได้ ทั้งที่ถ้าเป็นนักธุรกิจ เจ้าของหนังสือพิมพ์ต้องรู้จักกระจายความเสี่ยง โดยไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง เมื่อหนังสือพิมพ์โดนรัฐซื้อได้ง่าย คือจ่ายเงินไป แล้วก็สั่งให้รายงานยังไงก็ได้ งานวิจัยชิ้นนี้ เราจึงเสนอว่าควรต้องมีแนวทางกำกับผู้ซื้อ คือรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องการใช้งบประมาณ ขณะเดียวกัน งานวิจัยชิ้นนี้ก็เสนอแนวทางควบคุมผู้ขาย ซึ่งในที่นี้ก็คือ สื่อนั่นเอง แต่เรื่องนี้ก็ให้องค์กรวิชาชีพควบคุมกันเอง ซึ่งเราก็เสนอโมเดลว่าควรกำกับกันเองอย่างไร
@ วิธีการสำรวจข้อมูลรัฐซื้อสื่อ ประเภทหนังสือพิมพ์ มีวิธีเก็บข้อมูลอย่างไร
ธิปไตร : ผมเลือกสุ่มสำรวจหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับในช่วงวันที่ 1-15 กรกฎาคม 2552 กับ 1-15 กรกฎาคม 2555 เป็นช่วงเวลา ของ2 รัฐบาล คือ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ( ปี 2555 ) กับ รัฐบาลอภิสิทธิ์ ( ปี 2552 ) โดยเลือกสุ่มตรวจในช่วงที่การเมืองนิ่ง ไม่มีสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง และเป็นการสุ่มตรวจช่วงเวลาที่ตรงกันคือ 1-15 กรกฎาคม
@ หนังสือพิมพ์ที่สุ่มตรวจ มีกี่ฉบับ ฉบับอะไรบ้าง และเพราะเหตุผลอะไร
ธิปไตร : เราสุ่มหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับ โดยดูตามมาร์เกตแชร์หรือจำนวนผู้อ่านที่มากที่สุด ใน 4 อันดับแรก ก็สุ่มตรวจสี่ฉบับนี้และพบเกณฑ์การซื้อสื่อที่น่าสนใจ
@ สิ่งที่พบในหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับนี้ มีอะไรที่น่าสนใจ
ธิปไตร : เราพบว่ามีเกณฑ์การซื้อสื่อดังนี้ คือมีแบบที่ซื้อพื้นที่ 1 หน้าเต็มๆ , แบบที่ซื้อพื้นที่ทั้งด้านหน้า-หลัง, มีแบบพิมพ์สี, พิมพ์ขาวดำ ส่วนตำแหน่ง ขนาดและรายละเอียด เราก็พบทั้งแบบที่ข้อความไม่สื่ออะไร, เน้นหน้าคนทั้งพื้นที่ ซึ่งกรณีนี้แน่นอน ชัดเจนว่าเน้นนักการเมือง หรือมีแบบที่หน้าแรกกับหน้าหลังขนาดไม่เท่ากันก็มี นอกจากนี้ก็ดูตามเรทต่างๆ คือทั้งแบบที่เน้นหน้าคน แบบที่เน้นภาพนักการเมืองขนาด 1 ส่วน 3 ของพื้นที่
@ ตัวอย่างลักษณะการซื้อสื่อของรัฐบาลแต่ละชุดที่สำรวจ แตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร
ธิปไตร : การซื้อพื้นที่หนังสือพิมพ์ ในส่วนของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เราพบลักษณะโฆษณาเป็นภาพกระดาษโพสต์อิทแปะไว้ แล้วมีข้อความเขียนเหมือนเป็นการโปรโมท สร้างภาพลักษณ์ แบบนี้ก็เป็นการโฆษณาแบบเนียนๆ เท่าที่พบในช่วง 15 วันที่เราสำรวจของรัฐบาล อภิสิทธิ์ ยังใช้วิธีเนียนๆ เน้นการสร้างภาพลักษณ์ แต่แม้จะใช้วิธีแบบนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับกฎหมายเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ของแคนาดาเขาจะไม่ให้มีหน้าหรือมีเสียงของนักการเมืองและไม่ให้มีแม้แต่ชื่อ หรืออย่างในสหรัฐอเมริกา อะไรที่ใช้งบของรัฐบาล ห้ามมีแม้แต่ชื่อและหน้าของรัฐบาลและนักการเมืองปรากฎอยู่ ถ้าจะมีชื่อได้ ก็เฉพาะกรณีที่เป็นประกาศของทางราชการ อย่างบ้านเราก็เช่นกรณีที่มีตราครุฑ หรือมีภัยพิบัติที่ต้องแจ้งอย่างเร่งด่วน แต่ข้อความเหล่านี้ ที่เราพบไม่ได้แจ้งอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เหมือนเป็นการสร้างภาพลักษณ์ โปรโมทโครงการของรัฐบาล ส่วนรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ก็จะเน้นหน้าข้าราชการและนักการเมืองเยอะกว่ารัฐบาลคุณอภิสิทธิ์
@ พบข้อมูลอะไรอีกบ้าง เกี่ยวกับการซื้อพื้นที่ประชาสัมพันธ์ในสื่อหนังสือพิมพ์
ธิปไตร : ประเด็นหลักในการสุ่มตรวจหนังสือพิมพ์คือเราพบว่าหนังสือพิมพ์ ต่างพึ่งพางบโฆษณาจากทั้งรัฐ และเอกชน ถ้าเทียบกับพื้นที่ทั้งหมด ที่มีทั้งพื้นที่เนื้อหาข่าว และพื้นที่โฆษณา
และเราพบว่า หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ต้องพึ่งพางบของรัฐมาก เพราะว่าเรทติ้งหรือจำนวนผู้อ่านเขาไม่ดี การครอบคลุมคนอ่านยังน้อย ขณะที่อีกเล่มหนึ่งที่มีคนอ่านเยอะมาก เขาก็มีตัวเลือกว่าจะรับโฆษณาจาก เอกชนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโฆษณาจากรัฐ มากเท่ากับเล่มที่มีคนอ่านน้อยกว่า ขณะที่ หนังสือพิมพ์อีกฉบับ ที่มีผลิตภัณฑ์สื่อหลายช่องทางในเครือ เล่มนี้จะมีโฆษณาของสินค้าในเครือตัวเองเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้น ข้อสังเกตที่เราพบคือ สื่อหนังสือพิมพ์ที่จะทำข่าวสืบสวนสอบสวนอย่างอิศรา ก็อยู่ไม่ได้ คือ เรทติ้งผู้อ่านเขาน้อย
@ แต่ละฉบับที่สุ่มตรวจ สัดส่วนพื้นที่ประชาสัมพันธ์ของรัฐมาก-น้อย ต่างกันอย่างไร
ธิปไตร : จากที่เราสำรวจตามสัดส่วนของหนังสือพิมพ์ที่มีคนอ่านมากที่สุด 4 อันดับ เราพบว่า หนังสือพิมพ์ที่มีคนอ่านมากที่สุด งบโฆษณาที่เขาได้จากทั้งหมด มีถึง 97 เปอร์เซ็นต์เป็นของเอกชนที่เหลือเป็นโฆษณาของรัฐ ส่วนหนังสือพิมพ์ที่มีผู้อ่านรองลงมา มีโฆษณาของรัฐ 12 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนังสือพิมพ์ที่เน้นข่าววิเคราะห์และมีคนอ่านไม่มากเท่า 2 ฉบับแรก เขามีโฆษณาของรัฐมากถึง 27 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องถามว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ คือ ถ้าเขามีตัวเลือกเขาก็คงไม่พึ่งพางบจากรัฐ ที่น่าสังเกต คือหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ก่อนหน้านี้เขามีเนื้อหา ดี เน้นข่าววิเคราะห์ แต่ก็อยู่ไม่ได้ เพราะข่าวที่เขาทำไม่มีคนอ่าน
นี่ถือเป็นอันตราย เมื่อสื่อที่เน้นการวิเคราะห์เชิงลึก เน้นข่าวสืบสวนสอบสวน กลับอยู่ไม่ได้ อย่างกรณีหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เป็นตัวอย่างที่ชัด ช่วง 10 ปี ให้หลัง เขาก็สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ส่วนหนังสือพิมพ์อีกฉบับที่มีการกระจายความเสี่ยงไปยังผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในเครือ หนังสือพิมพ์ของเขาจึงยังอยู่ได้
@ ยังมีประเด็นอะไรอีกที่น่าห่วงกังวลเกี่ยวกับการที่รัฐซื้อสื่อหนังสือพิมพ์
ธิปไตร : คือการที่สื่อสูญเสียความเป็นตัวเอง ทั้งที่สื่อนั้นเคยมีคุณภาพในแง่ของการนำเสนอข่างเชิงลึก ในแง่มุมหนึ่งมันก็สะท้อนว่าสังคมเป็นอย่างไร ผู้อ่านเป็นอย่างไร ทำไมผู้อ่านเขาจึงน้อย และถ้าผมเป็นรัฐที่หัวหมอ ผมก็จะหาช่องทางเจาะเข้าไปในองค์กรนี้ แล้วเอาเงินฟาดหัว เพราะรู้ว่าเขาอยู่ไม่ได้
@ การที่หนังสือพิมพ์ถูกซื้อพื้นที่ประชาสัมพันธ์แบบนี้ ทำลายกระบวนการตรวจสอบภาครัฐอย่างไร
ธิปไตร : นั่นเป็นเรื่องของมาตรฐานจริยธรรมของสื่อ คือผมเข้าใจว่าเอกชน ยังไงก็ต้องหารายได้ เราก็ไม่ได้ห้าม คือถ้าสื่อหนังสือพิมพ์ เขาสามารถอยู่ได้ก็เป็นเรื่องดี แต่ต้องไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง คือถ้าจะมีการแข่งขัน มีการประมูลพื้นที่ประชาสัมพันธ์ของรัฐอย่างเป็นธรรม ทำแบบนี้ได้ก็ดี แต่ก็ขึ้นอยูกับว่าบรรณาธิการจะมีจริยธรรมแค่ไหน
เช่นใน ต่างประเทศ ธุรกิจสื่อจะมีการรายงานว่า เขาทำกำไรได้เท่าไหร่ คือนี่แสดงให้เห็นว่าสื่อต้องอยู่ได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าสื่อก็ต้องทำหน้าที่ที่แท้จริงด้วยคือการตรวจสอบและเปิดเผยข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับรู้
ดังนั้น จึงต้องมีอีกด่านที่ต้องมีการผลักดัน ช่วยให้สื่อได้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง
@ ในต่างประเทศ มีการกำกับดูแลมาตรฐานจริยธรรมในกรณีนี้อย่างไร
ธิปไตร : งานวิจัยชิ้นนี้ จะเสนอให้เห็นว่าในต่างประเทศ รูปแบบการกำกับดูแลมาตรฐานจริยธรรม เขาเน้นที่องค์กรวิชาชีพที่มีทั้งการกำกับดูแลกันเอง และร่วมกันกำกับดูแล โดยในส่วนของการการร่วมกันกำกับดูแล เขาก็จะมีภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วย เช่น สวีเดน กับ อังกฤษ จะมีนักวิชาการด้านสื่อ มีตัวแทนจากสมาคมเด็กและสตรี เช่น ในกรณีที่มีข่าวบางข่าวละเมิดสิทธิเด็กก็จะมีตัวแทนด้านสิทธิเด็กมาด้วย หรือ กรณีต้องสอบสวนสื่อที่ไปแช่กล้องถ่ายภาพเด็กไว้นานๆ องค์กรเหล่านี้ก็จะเข้ามาเป็นปากเป็นเสียงให้เด็ก หรือกรณีที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็อาจจะมีเอ็นจีโอเข้ามาร่วมกำกับดูแล
งานวิจัยของเราเสนอยุทธศาสตร์ที่เราเห็นว่าจะช่วยสร้างความชอบธรรมให้องค์กรวิชาชีพสื่อมีความชอบธรรมด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการตั้งคำถาม ว่าสื่อดูแลกันเอง พวกเดียวกันหรือสื่อมาทะเลาะกันเองเพราะ ถ้าภาค ประชาชนเข้ามาร่วมกำกับดูแล จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ทำให้การตัดสินมีความชอบธรรม และเข้ามาร่วมกำกับดูแลมาตรฐานจริยธรรมด้วย เช่น อาจมีคณะกรรมการเพื่อผู้บริโภค อาจเข้ามาดูว่าสื่อหนังสือพิมพ์โฆษณาอะไรที่ไม่ดีกับผู้บริโภคหรือเปล่า คือเราเห็นว่าต้องมีคนกลางที่มาคอยช่วยสื่อด้วย เพื่อไม่ให้ ถูกมองว่าองค์กรวิชาชีพเป็นเวทีให้สื่อมาทะเลาะกันเอง
นอกจากนี้ ในบ้านเราที่มีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในต่างประเทศเขายังมีภาคบังคับ คือมีกฎหมายกำหนดว่าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ต้องเข้าเป็นสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปรียบเหมือนบัตรนักข่าว คือถ้าไม่มีบัตรนี้ จะบอกว่า เป็นนักหนังสือพิมพ์ไม่ได้ เราก็อยากผลักดันเรื่องนี้ด้วย เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะเป็นเหมือนกรณีที่ใครนึกอยากลาออกก็ออก หรือพอจะไปสอบสวนก็หนีแล้ว
@ คาดหวังอะไรอีกบ้าง กับงานวิจัยชิ้นนี้
ธิปไตร : งานวิจัยนี้มุ่งเสนอให้เห็นว่าในกระบวนการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น สื่อถือเป็นผู้เล่นที่สำคัญมาก นอกจากการตรวจสอบโดยภาคประชาชนแล้ว ถ้าสื่อไม่ดี ประชาชนก็รับรู้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากสื่อ ที่ไม่สามารถเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชนได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือหนังสือพิมพ์ เพราะเป็นธุรกิจที่แข่งขันกันสูง ทำให้หนังสือพิมพ์ต้องโดนซื้อไปจากรัฐ ด้วยวิธีที่ไม่ตรงไปตรงมา ดังนั้น แนวทางหนึ่งที่เราให้ความสำคัญคือการตั้งคำถามว่าเราจะช่วยสื่อหนังสือพิมพ์อย่างไร เพื่อคานอำนาจรัฐ หรือทำอย่างไร ในฐานะคนนอก เราจะเป็นที่พึ่งให้สื่อหนังสือพิมพ์ได้บ้าง เราจึงเสนอแนวทางในงานวิจัยชิ้นนี้ว่าต้องไปจัดการกับรัฐที่ใช้เงินกับสื่อ จัดการกับรัฐที่ใช้เงินฟาดหัวสื่ออย่างไร นี่คือสิ่งที่เราผลักดันและอยากเห็น เพราะหนังสือพิมพ์โดนซื้อเยอะที่สุด ขณะที่สื่อประเภทอื่น โดยส่วนใหญ่โดนควบคุมอยู่แล้ว แต่สำหรับหนังสือพิมพ์ที่เป็นของเอกชน ทำอย่างไรจะให้มีการกำกับดูแลกันที่เข้มแข็ง เราเข้าใจว่าสื่อดีๆ ก็มี แต่ก็มีเงื่อนไขทางธุรกิจ ก็เขาก็ต้องใช้เงิน ดังนั้น ก็ต้องมีคนคอยช่วยเขา
ขณะเดียวกัน บริษัทสื่อเอง คุณต้องบอกให้ชัดว่าบริษัทคุณทำอะไรบ้าง เช่น ถ้าบริษัท เอ ที่รับจัดอีเวนท์เป็นบริษัทในเครือเดียวกับหนังสือพิมพ์ บี คุณก็ต้องบอกด้วยว่าคุณเป็นเจ้าของดียวกับ นสพ. บี คุณต้องบอกให้ชัด ไม่เช่นนั้นคนจะคิดว่า นสพ. บี ไปทำข่าวนี้ คือในส่วนของสื่อ เราก็เสนอว่าสื่อก็ต้องโปร่งใส ต้องบอกให้รู้ว่าธุรกิจที่คุณทำ มีอะไรบ้าง
ในส่วนของรัฐ ก็ควรต้องมีกฎหมาย หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ของรัฐ คือ ควบคุมเนื้อหา เช่น ห้ามมีภาพนักการเมืองปรากฎ และควบคุมการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์ กล่าวคือต้องโปร่งใส และมีกระบวนการขั้นตอนเหมือนการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ ที่ต้องมีการเปิดเผย และแข่งเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ส่วนสื่อก็ต้องอยู่ได้ แต่ต้องไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง
ขอบคุณภาพกราฟฟิกจาก : TDRI
บุคคลในภาพ : ธิปไตร แสละวงศ์