เปิดโครงสร้างกม.ต่างประเทศ คุม "รัฐซื้อสื่อ-กำกับจริยธรรมวิชาชีพ"
"สำหรับกรณี การกำกับดูแลกันเอง ตามาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ ประเทศที่ใช้รูปแบบ การกำกับดูแลกันเองโดยสมัครใจ อาทิ เยอรมนี สหราชอาณาจักร เนเธอแลนด์ ฟินแลนด์ ส่วน ลักเซมเบิร์ก เป็นกฎบังคับให้ต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อ เพื่อการกำกับดูแลกันเอง ปัจจัยที่ทำให้สมาชิกสภาวิชาชีพในประเทศเหล่านี้ ยอมรับการกำกับดูแล ประกอบด้วย แรงกดดันจากภายใน จากสหภาพแรงงานสื่อและความน่าเชื่อถือของสภาวิชาชีพ ที่มีตัวแทนจากหลายฝ่าย ทำให้ไม่มีภาพพจน์ของการปกป้องพวกเดียวกัน..."
ผลงานวิจัยหัวข้อ “การซื้อสื่อของภาครัฐ” โดย รศ.ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และทีมงานแห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ถือเป็นงานวิจัยที่ตีแผ่กระบวนการ “รัฐซื้อสื่อ” ที่น่าสนใจ โดยมีการเปิดเผยงบประมาณและสัดส่วนการทุ่มงบโฆษณาในสื่อต่างๆ ที่อ้างอิงข้อมูลการคำนวณจากการสำรวจของ บริษัท Nielsen Company แล้วจำแนกออกมาเป็นรายกระทรวง-กรม รวมถึงแต่ละรัฐวิสาหกิจ ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอ ไปก่อนหน้านี้
( อ่านประกอบ : 'ออมสิน อสมท ปตท.' ติดอันดับรัฐวิสาหกิจใช้งบฯ ซื้อสื่อมากสุด )
( เจาะเบื้องลึกทีมวิจัย “รัฐซื้อสื่อ” : ชำแหละกรณีศึกษา “นสพ. 4 ฉบับ”)
("เดือนเด่น-ทีดีอาร์ไอ"เผยเบื้องหลังผลวิจัยรัฐซื้อสื่อ- นสพ.น่าห่วงสุด )
ทั้งนี้ นอกจากเปิดเผยข้อมูลรัฐใช้งบประมาณ 7,985 ล้านบาท หรือเกือบ 8 พันล้านแล้ว รายงานดังกล่าว ยังนำเสนอกฎระเบียบว่าด้วยการจ่ายงบประมาณประชาสัมพันธ์ของรัฐ โดยในส่วนที่ควบคุมเนื้อหามีกฎหมายที่น่าสนใจที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปมานำเสนอ ดังนี้
ออสเตรเลีย
กฎหมาย Guidelines on Information and Advertising Campaigns 2010
สาระสำคัญ
ข้อกำหนดเนื้อหา ห้ามสนับสนุนนักการเมือง / โฆษณา พรรคการเมือง
ห้ามมีเว็บไซต์ สโลแกน สัญลักษณ์ หรือภาพนักการเมือง ผู้ผลักดันให้เกิดการโฆษณานี้
ผู้ควบคุมดูแลเนื้อหา
คณะกรรมการอิสระด้านสื่ออนุมัติ ( กรณีมูลค่าเกิน 250,000 ดอลลาร์ )
แคนาดา ( รัฐออนแทริโอ )
กฎหมาย Government Advertising Act 2004
สาระสำคัญ
ข้อกำหนดเนื้อหา ห้ามมีรูปภาพหรือเสียงของนักการเมือง
-ไม่โฆษณาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้พรรคการเมือง
-ต้องระบุในโฆษณาว่าใช้งบของรัฐ
ผู้ควบคุมดูแลเนื้อหา
สตง. ( the Auditor General )
สหรัฐอเมริกา
(รัฐอิลลินอยส์)
กฎหมาย State Officials and Employees Ethics Act ( อิลินอยส์ )
สาระสำคัญ
ห้ามมีชื่อ รูป หรือเสียงของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ในสื่อโฆษณาที่ใช้เงินของรัฐ แม้แต่ในสติ๊กเกอร์หรือแถบแม่เหล็ก
ผู้ควบคุมดูแลเนื้อหา
คณะกรรมการกำกับจริยธรรมเจ้าหน้าที่รัฐ ( Ethics Commission )
( รัฐนิวยอร์ค )
กฎหมาย Public Officers Law
สาระสำคัญ หากฝ่าฝืน มีโทษปรับ 1,000-5,000 ดอลลาร์
ผู้ควบคุมดูแลเนื้อหา
คณะกรรมการกำกับจริยธรรมเจ้าหน้าที่รัฐ ( Ethics Commission )
ไทย
รายงานของ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่ากฎระเบียบด้านการควบคุมเนื้อหา ของไทย มีเพียงฉบับเดียว คือ
หนังสือกระทรวงมหาดไทย 0808.2/ ว 3475 ลงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2550 เรื่องขอให้ทบทวนและกำหนดมาตรการป้องปราม กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เงินงบประมาณของทางราชการจัดซื้อสิ่งของแจกให้ราษฎร โดยใส่ชื่อของตนลงบนสิ่งของ
ข้อกำหนดเนื้อหา สื่อประชาสัมพันธ์ ผลงานของ อปท. ถ้ามีภาพ ภาพนั้นต้องบ่งบอกถึงกิจกรรมที่ทำ
ผู้ควบคุมดูแลเนื้อหา
-ผู้ว่าราชการจังหวัด/นายอำเภอ
-สตง. ( พิจารณาความคุ้มค่า ของเงินที่ใช้ )
ขั้นตอนและกระบวนการซื้อสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์
นอกจากนี้ รายงานวิจัย การซื้อสื่อของภาครัฐ ยังมีเนื้อหาตัวอย่างขั้นตอนการผลิตสื่อโฆษณาของรัฐ ในต่างประเทศ
กรณี ตัวอย่างประเทศออสเตรเลีย
มีขั้นตอนและกระบวนการดังนี้
1.ขั้นตอนเสนอโครงการ
มีรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเป็นผู้อนุมัติ และกระทรวงการคลังรับทราบอนุมัติโครงการ
2.ขั้นตอนศึกษาและกำหนดยุทธศาสตร์
-หน่วยงานราชการเจ้าของโครงการ เตรียมรายละเอียดของโครงการให้บริษัทวางแผนสื่อโฆษณา ( Master Media Agencies )
-กระทรวงการคลังติดต่อบริษัทวางแผนสื่อโฆษณา
ส่วนในกรณีโครงการมีมูลค่าเกิน 250,000 ดอลล่าร์ กำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ตรวจดูแผนงานให้คณะกรรมการอิสระ ด้านการสื่อสาร ( ICC ) จากนั้น คณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบแผนการดำเนินงาน
3.ขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง
มีหน่วยงานราชการเจ้าของโครงการ จัดหาผู้ผลิตจากฐานข้อมูลของกระทรวงการคลัง ( CMUL ) และเปิดการจัดซื้อจัดจ้าง
4.ขั้นตอนก่อนการผลิต
หน่วยงานราชการเจ้าของโครงการ ตกลงและร่วมปรับปรุงแผนโฆษณากับผู้ผลิต และบริษัทวางแผนสื่อโฆษณา
ส่วนในกรณีโครงการมีมูลค่าเกิน 250,000 ดอลล่าร์
คณะผู้ทรงคุณวุฒิ ( PRG ) ตรวจดูการทำข้อตกลงให้คณะกรรมการอิสระด้านการสื่อสาร
จากนั้น คณะกรรมการอิสระ ด้านการสื่อสาร ตรวจสอบสัญญาและรายงานก่อนการผลิต
5.ขั้นตอนเมื่อการผลิตเสร็จสิ้น
หน่วยงานราชการเจ้าของโครงการ ตรวจรับงาน
ส่วนในกรณีโครงการมีมูลค่าเกิน 250,000 ดอลล่าร์
คณะกรรมการอิสระด้านการสื่อสาร ประเมินความถูกต้องตามกฎหมายและทำรายงานต่อหัวหน้าหน่วยงาน
6.ขั้นตอนอนุมัติการเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ ต่อสาธารณะ
หัวหน้าหน่วยงานรับรายงานจาก คณะกรรมการอิสระด้านการสื่อสาร ( ICC ) ก่อนรับรองการเผยแพร่สื่อ
จากนั้น รมต. รับเรื่องจากหัวหน้าหน่วยงานและสั่งให้เผยแพร่
ส่วนในกรณีโครงการมีมูลค่าเกิน 250,000 ดอลล่าร์
คณะกรรมการอิสระ ด้านการสื่อสาร มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนทางเว็บไซต์ของกระทรวงการคลัง หลังการเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์
การกำกับดูแลกันเอง ตามาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ
ในส่วนของการกำกับดูแลกันเอง งานวิจัยชิ้นนี้ เปิดเผยว่าประเทศที่ใช้รูปแบบการกำกับดูแลกันเองโดยสมัครใจ อาทิ เยอรมนี สหราชอาณาจักร เนเธอแลนด์ ฟินแลนด์ ส่วน ลักเซมเบิร์ก เป็นกฎบังคับที่ต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อเพื่อการกำกับดูแลกันเอง
งานวิจัยระบุด้วยว่า ปัจจัยที่ทำให้สมาชิก ยอมรับการกำกับดูแล ประกอบด้วย แรงกดดันจากภายใน จากสหภาพแรงงานสื่อและความน่าเชื่อถือของสภาวิชาชีพที่มีตัวแทนจากหลายฝ่าย ทำให้ไม่มีภาพพจน์ของการ “ปกป้องพวกเดียวกัน”
ข้อดี-ข้อด้อย ของการเข้าร่วมเป็นสมาชิก เพื่อการกำกับดูแลกันเอง
ข้อดี คือ ลดการครอบงำของภาครัฐ ทำให้สื่อยอมรับการกำกับดูแลและบทลงโทษ
ข้อด้อยคือ การกำกับดูแลและบทลงโทษไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีผลทางกฎหมาย
ตัวอย่าง ประเทศที่ใช้แนวทาง การกำกับดูแลร่วม
ได้แก่ สวีเดน โดยมีสมาคมวิชาชีพสื่อออกจรรยาบรรณวิชาชีพให้ และมีผู้ตรวจการแผ่นดินด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ( Press Ombudsman และสภาการหนังสือพิมพ์สวีเดนบังคับใช้
เดนมาร์ก
รัฐร่างจรรยาบรรณวิชาชีพให้สภาการหนังสือพิมพ์บังคับใช้
โดยสภาการหนังสือพิมพ์ของเดนมาร์ก ถูกแต่งตั้งโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบของสื่อ ( Media Liability Act 1991 )
ตัวอย่างโครงสร้างสภาวิชาชีพสื่อในต่างประเทศ
-สหราชอาณาจักร ( Press Complaint Commission )
ประกอบด้วย ตัวแทนอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์
ตัวแทนภาคประชาชน และตัวแทนบรรณาธิการสื่อ
-สวีเดน ( Pressens Opinionsnamnd )
ประกอบด้วย ตัวแทนจากภาครัฐ ตัวแทนภาคประชาชน และภาควิชาชีพสื่อ
-ไทย
ข้อบังคับ ว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2541
รูปแบบการบังคับใช้ กำกับดูแลกันเองแบบสมัครใจ
เนื้อหาจรรยาบรรณวิชาชีพ สอดคล้องตามมาตรฐานสากล
โครงสร้างสภาวิชาชีพสภาการหนังสือพิมพ์ ของไทย
มีแต่ตัวแทนภาควิชาชีพสื่อ ขาดตัวแทนภายนอก เช่น ภาคประชาชน นักวิชาการ หรือ ภาครัฐ เป็นต้น
เจ้าของสื่อ และบรรณาธิการได้รับสิทธิมากกว่าสื่อระดับปฏิบัติการ
โครงสร้าง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีดังนี้
คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ รวม 21 คน ในจำนวนนี้ มีกรรมการผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ รวม 14 คน และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน
กรรมการผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทั้ง 14 คน ประกอบด้วย เจ้าของบริษัทสื่อเลือกกันเอง เหลือ 5 คน บรรณาธิการสื่อ เลือกกันเอง เหลือ 5 คน และทั้ง 10 คน เลือกนักข่าวหนังสือพิมพ์ อีก 4 คน รวมเป็น 14 คน
…
เหล่านี้ คือ ข้อมูลจากรายงานวิจัย “การซื้อสื่อของภาครัฐ” โดย ทีดีอาร์ไอ ที่นอกจากเปิดเผยงบประมาณที่หน่วยงานรัฐทุ่มซื้อพื้นที่สื่อหลายแขนงเพื่อการประชาสัมพันธ์แล้ว โครงสร้างกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ในการควบคุมกการใช้จ่ายงบของภาครัฐ รวมถึงโครงสร้างการกำกับดูแลมาตรฐานจริยธรรมของสภาวิชาชีพสื่อ เมื่อเทียบทั้งไทยและต่างประเทศแล้ว ล้วนสะท้อนความเข้มข้น-เข็มแข็งของโครงสร้างการบังคับใช้กฎหมาย และการกำกับดูแลกันเองที่มีความแตกต่างอย่างน่าสนใจ
*หมายเหตุ
ขอบคุณข้อมูลจาก ทีดีอาร์ไอ
ภาพประกอบจาก : TDRI , stang.sc.mahidol.ac.th และ THAIPUBLICA