"เดือนเด่น-ทีดีอาร์ไอ"เผยเบื้องหลังผลวิจัยรัฐซื้อสื่อ- นสพ.น่าห่วงสุด
รศ.เดือนเด่น -ทีมงานทีดีอาร์ไอ เผยเบื้องหลังงานวิจัยการซื้อสื่อของภาครัฐ ชี้ นสพ.น่าห่วงสุด เพราะเป็นธุรกิจของเอกชน ต่างจากโทรทัศน์-วิทยุที่ส่วนใหญ่่รัฐควบคุมได้ จี้ แต่ละกระทรวงเปิดงบลับที่ไม่ระบุว่าใช้เพื่ออะไร ย้ำภาคปชช.ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลองค์กรวิชาชีพสื่อ
เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ( TDRI ) และนายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยของ TDRI ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงเบื้องหลังและแนวคิดในการทำงานวิจัยหัวข้อ "การซื้อสื่อของภาครัฐ"
รศ.ดร.เดือนเด่นกล่าวว่า แนวคิดหลักในการวิจัยเรื่องการซื้อสื่อของภาครัฐ เนื่องจากเป็นประเด็นหนึ่ง ที่ส่งผลกระทบต่อการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะเดิมที ตามเจตนารมณ์การเกิดขึ้นขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เคยหวังกันว่า จะช่วยตรวจสอบการทำงานของภาครัฐไม่ให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น เป็นการตรวจสอบแบบโครงสร้างจากบนลงล่าง ที่ภาคประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม การตรวจสอบการคอร์รัปชั่นไม่ได้ผลนัก
“เราเชื่อว่าการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น จากฐานล่างขึ้นบน คือ การให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาจะเป็นการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ งานวิจัยชิ้นนี้ ต่อเนื่องมาจากการศึกษาปัญหาของการใช้ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร โดยในงานวิจัยชิ้นนี้ เราดูถึงการตรวจสอบสื่อ ดูว่าสื่อให้ข้อมูลที่เป็นกลางหรือไม่ ดูที่การซื้อสื่อ เพื่อให้เห็นภาพในกระบวนการแทรกแซงสื่อนั้น รัฐทำอย่างไร” รศ.ดร.เดือนเด่น ระบุ
ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่าการที่รัฐซื้อสื่อ แยกได้เป็นสามประเภท หลักๆ คือการเป็นเจ้าของสื่อ, การให้สัมปทาน และการซื้อสื่อ โดยในกรณีหลังสุดมักเกิดขึ้นกับสื่อหนังสือพิมพ์ที่เป็นของเอกชน ขณะที่สื่อโทรทัศน์ รัฐมีช่อง 5 และ ช่อง 9 ที่รัฐเป็นเจ้าของ ส่วนช่อง 3 และ ช่อง 7 รัฐให้สัมปทาน รัฐจึงมีอำนาจในการกำกับ
“เหล่านี้ รัฐก็มีส่วนคอนโทรลถึงร้อยละ 96 ส่วนช่องอิสระมีเพียง ช่องเดียวคือ ไทยพีบีเอส ดังนั้น รัฐก็สามารถเข้ามาครอบงำได้ในสื่อโทรทัศน์” ศ.ดร.เดือนเด่นระบุ
ส่วนนายธิปไตรระบุว่า นอกจากสื่อโทรทัศน์แล้ว สื่อวิทยุที่มีอยู่รวมทั้งสิ้นกว่า 500 สถานี มีสถานีที่รัฐเป้นเจ้าของมากกว่า 200 สถานี รัฐจึงสามารถแทรกแซงได้ ขณะที่สื่อประเภทหนังสือพิมพ์ ทั้งหมดเป็นของเอกชนที่รัฐไม่สามารถแทรกแซงได้มากนัก รัฐจึงต้องใช้วิธีซื้อ
“หนังสือพิมพ์ถือเป็นประเด็นหลักที่เราให้ความสำคัญ เพราะเราเห็นว่าหนังสือพิมพ์ควรต้องเป็นที่พึ่งสุดท้าย ถ้ายังไม่รวม อินเทอร์เน็ต แต่ปัจจุบัน โมเดลทางธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงทำให้หนังสือพิมพ์ต้องแข่งขัน ทำให้อยู่ไม่ได้ ทั้งที่ถ้าเป็นนักธุรกิจ เจ้าของหนังสือพิมพ์ต้องรู้จักกระจายความเสี่ยงโดยไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง เมื่อหนังสือพิมพ์โดนรัฐซื้อได้ง่าย คือ จ่ายเงินไป แล้วก็สั่งให้รายงานยังไงก็ได้ งานวิจัยชิ้นนี้ เราจึงเสนอว่าควรต้องมีแนวทางกำกับผู้ซื้อคือรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องการใช้งบประมาณ ขณะเดียวกันงานวิจัยชิ้นนี้ ก็เสนอแนวทางควบคุมผู้ขาย ซึ่งในที่นี้ก็คือสื่อนั่นเอง แต่เรื่องนี้ก็ให้องค์กรวิชาชีพควบคุมกันเอง ซึ่งเราก็เสนอโมเดลว่าควรกำกับกันเองอย่างไร"
นายธิปไตรกล่าวด้วยว่าองค์กรวิชาชีพ ต้องกำกับมาตรฐานจริยธรรมให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ควรต้องมีกฎหมาย หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ของรัฐ คือ ควบคุมเนื้อหา เช่น ห้ามมีภาพนักการเมืองปรากฎและควบคุมการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์ กล่าวคือต้องโปร่งใส และมีกระบวนการขั้นตอนเหมือนการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่างๆ ที่ต้องมีการเปิดเผยและแข่งเสนอราคาอย่างเป็นธรรม
นอกจากเสนอแนวทางกำกับดูแล นายธิปไตรระบุด้วยว่า เนื้อหาของงานวิจัย เปิดเผยข้อมูลงบประมาณการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐ พบว่ารัฐทุ่มงบประมาณการประชาสัมพันธ์กับสื่อโทรทัศน์มากที่สุดเพราะเข้าถึงคนมากที่สุด โดยงานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลอ้างอิงจากผลการสำรวจของ เอซี นีลสัน เพื่อศึกษาว่าหน่วยงานไหนซื้อสื่อมากที่สุด โดยจะดูแต่ละกระทรวง แต่ละหน่วยงาน พบว่าหน่วยงานที่มีการใช้งบประมาณมากสุดคือสำนักนายกฯ และ รองลงมาคือกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ก็มีรัฐวิสาหกิจ มีองค์กรอิสระด้วย ส่วนในภาพรวมรวมกระทรวงศึกษาฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็ใช้เยอะ กสทช. ,ธนาคารออมสิน และการบินไทยก็ใช้ไปไม่น้อย
นายธิปไตรกล่าวว่าแต่ละกระทรวง มีช่องทางรายจ่ายที่ไม่เหมือนกัน เช่น ธนาคารออมสิน เน้นการทำโฆษณาในโรงภาพยนตร์ แต่โดยภาพรวมงบประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐในปี พ.ศ.2556 ถือว่าเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ผ่านมา คือใช้งบไปถึง 8 พันล้านบาท ที่น่าสังเกตุคือ หน่วยงานของรัฐ เมื่อไปดูการจัดอันดับของเอซี นีลสัน พบว่าเมื่อแข่งกับงบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์กับของบริษัทเอกชน ปรากฏว่า สำนักนายก ฯ ติดอันดับท็อปเทนของผู้ใช้งบประชาสัมพันธ์ในตลาดโฆษณา ขณะที่ข้อมูลการใช้งบประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐในต่างประเทศ จากข้อมูลของเอซี นีลสัน หน่วยงานรัฐ มักติดอันดับร้อยขึ้นไป
“เราก็เลยสงสัย ว่าหน่วยงานรัฐของไทยทำพีอาร์แข่งกับใคร” นายธิปไตย ระบุ และอธิบายเพิ่มเติมว่า การแบ่งตามประเภทของหน่วยงานที่ซื้อสื่อ ยังแบ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการ องค์กรระดับจังหวัด องค์กรส่วนท้องถิ่น กทม. นอกจากนี้ ก็มีองค์กรอิสระตามรัฐรรมนูญ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ,ผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึง กสทช. และ สสส. ด้วย ขณะที่กรมการศาสนา, ราชบัณฑิตยสถาน และกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานที่มีสัดส่วนการใช้งบประมาณที่ได้มาไปกับการประชาสัมพันธ์เยอะเป็นลำดับต้นๆ
“ในส่วนของธนาคารออมสินที่ใช้งบประชาสัมพันธ์มากที่สุด ในปีที่ผ่านมา ช่องทางที่ใช้ เช่น ธนาคารออมสินมีสปอร์ตโฆษณาใน ช่อง 5 ด้วย โดยสปอตโฆษณานี้ มีทั้งค่าผลิตด้วยไม่ใช่เพียงแค่ค่าเผยแพร่เท่านั้น ซึ่งค่าผลิต อย่างน้อยก็ 5 แสนบาทขึ้นไป และในบ้านเราการผลิตสื่อโฆษณาก็ไม่มีมาตรฐานราคากลางว่ากี่บาท เมื่อจะทำ หน่วยงานก็ไปติดต่อกับเอกชนเอง ขณะที่ในต่างประเทศจะมีฐานข้อมูลกลางว่าหน่วยงานรัฐที่เคยจ่ายค่าโฆษณาไปแล้ว ที่ผ่านมาเขาจ่ายกันที่ราคาเท่าไหร่”
นายธิปไตรกล่าวว่า กรณีรัฐวิสาหกิจ หรือ กระทรวงต่างๆ พบว่ามีสำนักนายกฯ ใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์เยอะที่สุด แต่งบประมาณที่เอซี นัลสัน สำรวจมา ยังแยกย่อยไปถึงสำนักงาน หรือกรมต่างๆ แต่ปัญหาคือ พบว่ามีงบประมาณจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ได้ระบุว่าเป็นของกรมอะไร
“เวลาที่เราแยกข้อมูลมาดูเป็นรายกรม เราจะเห็นว่ามีงบประมาณเท่าไหร่ แต่จริงๆ แล้ว ยังมีจำนวนเงินที่ไม่ระบุอยู่อีก ซึ่งเราไม่รู้ว่างบประมาณที่ไม่ระบุนี่ สรุปแล้วยังรวมอยู่ในงบของกรมอะไรอีกบ้างไหม คือ เราไม่รู้ว่างบส่วนนี้คืออะไร มันอาจจะเข้าไปเพิ่มให้กับงบประมาณที่ใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์ก็ได้ เช่น หากระบุว่า เป็นของกระทรวงพลังงาน แต่จริงๆ แล้ว ก็อาจจะมีแยกไปในระดับกรมอีก”
นายธิปไตรกล่าวทิ้งท้ายว่า งานวิจัยนี้มุ่งเสนอให้เห็นว่าในกระบวนการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น สื่อถือเป็นผู้เล่นที่สำคัญมาก นอกจากการตรวจสอบโดยภาคประชาชนแล้ว ดังนั้น ถ้าสื่อไม่ดี ประชาชนก็รับรู้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากสื่อ ที่ไม่สามารถเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชนได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือหนังสือพิมพ์ เพราะเป็นธุรกิจที่แข่งขันกันสูง ทำให้หนังสือพิมพ์ต้องโดนซื้อไปจากรัฐ ด้วยวิธีที่ไม่ตรงไปตรงมา
"แนวทางหนึ่งที่เราให้ความสำคัญคือการตั้งคำถามว่าเราจะช่วยสื่อหนังสือพิมพ์อย่างไร เพื่อคานอำนาจรัฐ หรือในฐานะคนนอก เราจะทำอย่างไร เราจึงจะเป็นที่พึ่งให้สื่อหนังสือพิมพ์ได้บ้าง เราจึงเสนอแนวทางในงานวิจัยชิ้นนี้ว่าต้องไปจัดการกับรัฐที่ใช้เงินกับสื่อ จะจัดการกับรัฐที่ใช้เงินฟาดหัวสื่ออย่างไร ส่วนแนวทางสำหรับสื่อ เราก็อยากให้สภาวิชาชีพ มีความชอบธรรม และมีคนกลางที่คอยช่วยเหลือสื่อ ไม่ใช่แค่เป็นเวทีที่ถูกมองว่าสื่อมาทะเลาะกันเอง"
“สื่อก็ต้องอยู่ได้ แต่ต้องไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง ซึ่งในต่างประเทศจะมีองค์กรภาคประชาชน เข้ามาร่วมเป็นกรรมการจากหลายภาคส่วน เข้ามากำกับดูแลสื่อด้วย ซึ่งเรื่องนี้ เราก็เคยเสนอสภาวิชาชีพสื่อไปแล้วและมีเสียงสะท้อนจากองค์กรสื่อว่าเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ” นายธิปไตรระบุ